หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ไร่เหล่า ไร่หมุนเวียน : ระบบนิเวศน์ที่มีมนุษย์


ไร่หมุนเวียน

      ชาวปกาเกอะญอจะเคร่งครัดกับการเลือกพื้นที่ทำไร่เป็นอย่างมาก การเลือกพื้นที่ทำไร่ในพื้นที่เดิมที่เคยทำเมื่อปีที่ผ่านมาปีแล้วปีเล่า จะทำให้พื้นที่ลดความอุดมสมบูรณ์ลง โรคพืช แมลงและวัชพืชจะมีมากจนทำให้ทำงานหนักมากขึ้น พืชผลที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์เต็มที่

      ในทางกลับกันการเลือกพื้นที่ป่าทึบทำไร่ ก็จะทำให้การทำงานในไร่ยากลำบาก เพราะป่าจะแน่นทึบ ต้องใช้แรงงานมาในการหักล้างถางพง ผืนดินเต็มไปด้วยรากไม้ใหญ่น้อย รวมทั้งมีความชื้นมากเกินไปไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหรือพืชไร่

      การเลือกพื้นที่ทำไร่ของชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคาแต่ละครอบครัวนั้น จะเลือกไร่เหล่าที่มีอายุราว ๖–๘ ปี มีลักษณะเป็นป่าย่อม ๆ ต้นไม้ไม่ใหญ่มากเหมือนป่าทึบ

      ชาวบ้านป่าคาแต่ละครอบครัวจะมีผืนดินซึ่งเป็นไร่เหล่าไว้สำหรับทำไร่ข้าวราว
๖–๘ แปลง กระจายกันอยู่ในพื้นที่รอบๆ หมู่บ้าน ใกล้บ้าง ไกลบ้าง เนื้อที่แปลงหนึ่งจะมีความกว้างพอที่จะปลูกข้าวและพืชผักเลี้ยงสมาชิกภายในครอบครัว ราว ๓–๕ ไร่

      การทำไร่ข้าวในแต่ละปี ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะเลือกพื้นที่ทำไร่เพียงแปลงเดียวเท่านั้น ส่วนปีถัดไปก็จะหมุนเวียนไปทำแปลงอื่น ๆ จนครบแล้วก็หมุนเวียนกลับมาทำที่เดิมหลังจากที่ผืนดินฟื้นความอุดมสมบูรณ์แล้ว

      การหมุนเวียนทำไร่ในลักษณะนี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำไร่ข้าวของชาวบ้าน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ จะใช้เพียงความอุดมสมบูรณ์ที่มีมาตามธรรมชาติ ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวก็ใช้ได้ผลดีเพียงปีเดียวเท่านั้น การโหมใช้พื้นที่มากกว่าหนึ่งปี จะทำให้ความสมบูรณ์ของผืนลดลงมากเกินไป และจะต้องใช้เวลาในการฟื้นคืนความสมบูรณ์ยาวนานออกไป การใช้ผืนดินเพียงปีเดียวแล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์จะทำให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ทำมาหากินได้อีกในราว ๖-๘ ปีถัดไป ถือเป็นการใช้ประโยชน์ผืนดินอย่างยั่งยืน

      ไร่หมุนเวียนที่กลายเป็นไร่เหล่าที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ฟื้นตัว ไม่เพียงชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากการเก็บพืชผลที่ยังหลงเหลืออยู่เท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย

      ไร่เหล่าที่ทำกินเมื่อปีที่แล้ว จะมีตอข้าวเหลืองซีดอยู่เต็มไร่ มีพืชผักหลายชนิดที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวไปกินได้ เช่น ถั่ว มัน เผือก ฟักทอง ฟักเขียว พริก ฯลฯ ไร่เหล่านี้นอกจากเป็นที่หากินของสัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควายของชาวบ้าน เนื่องจากยอดอ่อนของต้นไม้ใบหญ้าแตกกองดงาม ตอไผ่ที่ตัดแบบมิได้ขุดรากถอนโคนก็เริ่มแตกกอใหม่ เป็นที่อยู่ที่หากินของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น หนู ตุ่น อ้น ฯลฯ ในพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่หากินของบรรดาไก่ป่าที่อาศัยกินเม็กข้าวที่ร่วงหล่นจากการเก็บเกี่ยวอีกด้วย

      ไร่เหล่าที่ปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้ปีที่สอง ตอข้าวเริ่มเปื่อยผุพังกลายเป็นปุ๋ยคืนสู่ดิน ต้นสาบเสือกับต้นหญ้างอกงามปกคลุมแทนที่ ต้นไม้ที่เคยตัดตอหรือลิดกิ่งไว้ก็เริ่มแตกกิ่งก้านออกใบ สัตว์ป่าขนาดเล็ก พวก หนู ตุ่น อ้น นกชนิดต่าง ๆ เริ่มเข้ามาอยู่มากขึ้น อาศัยพืชผักที่หลงเหลืออยู่กินเป็นอาหาร หน้าดินเริ่มมีไส้เดือนเข้ามาอยู่อาศัยทำหน้าที่ไถพรวนดินให้ร่วนซุยตามธรรมชาติต่อไป วัวควายยังสามารถเบียดเข้าไปกินยอดอ่อนของต้นไม้ใบหญ้าได้ ชาวบ้านก็อาจยังเก็บพืชผลบางอย่างเช่น กล้วย มะละกอ มากินได้อีก

      ไร่เหล่าที่ปล่อยให้ฟื้นตัวเป็นปีที่สาม กอไผ่แตกหน่อออกกอลำเท่าแขนขา สูงลิ่วลู่ลม  ซึ่งในช่วงฤดูฝนชาวบ้านยังเข้าไปหาหน่อไม้นำไปจำหน่ายได้อีกด้วย กิ่งก้านของต้นไม้ที่ลิดไว้เมื่อสองปีที่แล้วแตกช่อออกใบมากขึ้นปกคลุมพืชล้มลุกพวกหญ้าและต้นสาบเสือจนเติบโตต่อไปลำบาก ทำให้เริ่มแห้งเหี่ยวตายไปเป็นส่วนใหญ่ แม้ยังมีต้นหญ้ารกรุงรังแต่ก็มีพื้นที่พอให้สัตว์ป่า พวก เก้ง หมูป่า เม่น ให้หลบภัยอยู่อาศัยและหากินได้ ในพื้นที่นี้หากชาวบ้านปลูกพืชจำพวกกล้วย มะละกอทิ้งไว้ตั้งแต่ปีแรก ๆ ก็ยังได้อาศัยเก็บผลกินได้

      ไร่เหล่าที่ปล่อยทิ้งไว้เป็นปีที่สี่ กอไผ่สูงใหญ่แน่นหนามากขึ้น ต้นไม้กิ่งก้านใหญ่โตขึ้นลำต้นโตเท่ากับโคนขา ต้นไม้บางชนิดเติบโตพอจะออกลูกออกผล เช่น มะขามป้อม พอได้เป็นอาหารให้แก่สัตว์ป่าจำพวกเก้งได้ ต้นไม้เล็กไม้น้อยพวกต้นสาบเสือและต้นหญ้าแห้งตายจนหมดเนื่องจากถูกบดบังแสงจากต้นไม้ใหญ่ ป่าเริ่มโปร่งขึ้นจนไม่อาจเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่เคยอยู่ในปีที่ผ่านมา ยกเว้นพวกไก่ป่าและนกต่าง ๆ ที่มาอาศัยคอนทำรัง แพร่ขยายพันธุ์

      ไร่เหล่าที่ถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นปีที่ห้า ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ต้นหญ้าต้นสาบเสือที่เคยมีสองสามปีก่อนเปื่อยผุพังแล้ว ทำให้ใต้ร่มไม้โล่งเตียนมากขึ้น ผู้คนสามารถเดินเข้าออกได้ง่าย จึงไม่มีสัตว์ป่ามาหลบอาศัยในป่านี้อีก ยกเว้นสัตว์จำพวกเก้ง กวางที่มักอบมาหลบหากินลูกมะขามป้อมในตอนกลางคืน

      ไร่เหล่าที่ปล่อยไว้จนถึงปีที่หก กิ่งก้านจากตอที่เหลือทิ้งไว้จากการทำไร่คราวที่แล้ว มาบัดนี้ลำต้นอวบใหญ่พอที่จะทำเสาเรือนและซ่อมบ้านได้ กิ่งก้านสาขายังนำไปทำฟืน และล้อมรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงสัตว์ป่า เศษกิ่งไม้ใบหญ้าเมื่อเผาแล้วก็เป็นเถ้าธุลีเป็นปุ๋ยบำรุงให้ต้นพืชที่เพาะปลูกเติบโตงอกงามให้ผลดี สภาพพื้นดินร่วนซุยไม่จำเป็นต้องขุดไถพรวนจนลึก เพราะธาตุอาหารอยู่เพียงผิวหน้าดิน การลงมือปลูกพืชผักก็ไม่ใช่งานที่หนักจนเกินไป

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 291169เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท