หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เปลี่ยนแปลง ปรับตัว รายได้ รายจ่าย


เปลี่ยนแปลง ปรับตัว รายได้ รายจ่าย

      พ่อเฒ่าชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านท่านหนึ่งกล่าวว่า

      “...สมัยก่อนคนไม่เยอะ การทำมาหากินไม่ลำบาก ที่ทำไร่มีมาก จะไปทำที่ไหนถ้าไม่ผิดประเพณีก็ไม่มีใครว่า แต่เดี๋ยวนี้คนเยอะขึ้น ที่ทำมาหากินมีอยู่เท่าเดิม การทำมาหากินไม่สะดวกเหมือนเดิม...”

      ชาวบ้านจำนวน ๑๗ ครอบครัว กว่า ๒๐ คนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่อยู่และที่ทำกินมีเท่าเดิม อีกทั้งความจำเป็นในการปฏิบัติตามคำสั่งทางราชการในการอนุรักษ์ผืนป่า เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จึงเป็นข้อจำกัดในการทำมาหากินดังที่พ่อเฒ่าชาวปกาเกอะญอสะท้อน

      นอกจากนั้นการรุกคืบเข้ามาของทุนและโลกาภิวัตต์ ที่ทำให้ชาวบ้านต้องติดต่อกับสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น การปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองของประเทศ การส่งลูกหลานเข้าเรียนหนังสือให้พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชาวบ้านมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น การหารายได้เพื่อจับจ่ายจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลีกเลี่ยงไม่ได้

      แม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชน แต่การทำมาหากินของชาวบ้านยังคงทำไร่หมุนเวียนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่เป็นเพราะชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้เงินทองมากขึ้น ผลผลิตจากไร่บางอย่าง เช่น พริก นอกจากการบริโภคภายในครัวเรือนแล้ว เจ้าของไร่จะเพิ่มปริมาณการปลูกให้มากพอเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว พริกที่ปลูกในไร่หมุนเวียนนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึงปีละ ๓ ครั้ง ยาวนานถึง ๒ ปี

      ในไร่ของชาวบ้านนอกจากจะปลูกพริกเก็บเกี่ยวขายได้แล้ว ผืนดินก็อุดมสมบูรณ์สามารถปลูกพืชผักหลายชนิดที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น ผักกาด กล่ำปลี มะระหวาน ฯลฯ แต่เนื่องจากระยะทางจากหมู่บ้านออกสู่ตลาดที่ค่อนข้างลำบากและห่างไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขนส่งสินค้าออกไปสู่ภายนอกโดยมิให้พืชผักที่บอบบางบอบช้ำ

      พริกที่ปลูกในไร่หมุนเวียนมิใช่รายได้ทางเดียวของชาวบ้าน แต่เพราะความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทำให้ชาวบ้านสามารถหาผลิตผลจากป่านำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกหลายอย่าง เช่น หน่อไม้ ลูกเนียง และน้ำผึ้งป่า ฯลฯ

      สำหรับหน่อไม้ จะเริ่มแตกหน่อออกกอในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะกำหนดกติกากันภายในหมู่บ้านว่าจะใช้เวลาหาหน่อไม้เพียงสองเดือนเท่านั้น เพื่อให้หน่อไม้ที่แตกออกมามีโอกาสเติบโตเป็นไม้ไผ่ เป็นหลักประกันการใช้อย่างยั่งยืน

      พื้นที่ที่ชาวบ้านหาหน่อไม้นั้นนอกจะเป็นกอไผ่ที่อยู่ในป่าทึบแล้ว ยังมีกอไผ่ในไร่เหล่าที่ชาวบ้านเคยใช้พื้นที่ทำเป็นไร่หมุนเวียนที่ถูกปล่อยให้พักฟื้นตามธรรมชาติในปีที่ ๓ เป็นต้นไป ที่เริ่มแตกหน่อออกกอให้ชาวบ้านเข้าไปขุดหาได้

      ส่วนลูกเนียงนั้น มีขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งในป่าทึบและพื้นที่ไร่เหล่า ต้นลูกเนียงในพื้นที่ไร่เหล่า ชาวบ้านจะไม่โค่นต้นทิ้ง การทำไร่ในแต่ละปีจะลิดกิ่งพอให้แสงแดดส่องลงบนพื้นไร่ ให้ต้นข้าวได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ ไร่เหล่าที่มีต้นเนียงที่ถูกลิดกิ่ง ภายในเวลา ๑-๒ ปี ก็สามารถออกลูกให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวไปขายได้

      กรณีน้ำผึ้งป่านั้น ในผืนป่าของหมู่บ้านมีต้นผึ้งอยู่จำนวนมาก ต้นผึ้งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ผึ้งไปเกาะทำรัง ซึ่งแต่ละต้นจะมีผึ้งไปเกาะทำรังนับสิบรัง ชาวบ้านที่จะขึ้นไปตีผึ้งจะต้องเป็นผู้มีวิชา เพราะต้องใช้คาถาในการไล่ผึ้ง ในการตีผึ้งเพื่อนำน้ำผึ้งมาจำหน่ายนั้น ชาวบ้านจะมีกฏกติกาในการนำผึ้งลงจากต้นไม้ ไม่ให้มีปริมาณมากกว่าที่ยังเหลืออยู่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้มีกินมีใช้ได้อย่างยั่งยืน

      นอกจากนั้นรายได้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของชาวบ้านคือ ใบพลู ซึ่งชาวบ้านจะไปปลูกบริเวณโคนไม่ใหญ่ในหุบเขาที่มีความชื้นสูง โดยมากมักเป็นบริเวณริมลำห้วย

      ในการใช้ประโยชน์จากป่าของชาวบ้านนั้น มีคำสั่งสอนจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้รู้จักใช้อย่างรู้คุณค่า รู้จักรักษาเพื่อให้ได้เก็บเกี่ยวใช้สอยได้ตลอดไป ดังบทลำนำหนึ่งซึ่งเป็นคำสอนที่สืบทอดมาว่า

      ปา มี เละ เปลอ เอาะ หม่า เลาะ     ผู้เฒ่าสมัยก่อนได้สั่งไว้
      ปา ปก่า เลอะ เปลอ อะ หม่า เลาะ     ผู้แก่สมัยก่อนได้สั่งไว้
      โดล่ โข่ เก่อ ซี เดาะ เก่อ ต่อ     หัวไม้จะตายช่วยรักษา
      หว่า โข่ เก่อ ซี เอาะ เก่อ ตอ     หัวไผ่จะตายช่วยรักษา
      เอาะ ซู่ ลอ ดิ อ่า ซอ     ใช้แล้วปลูกทดแทนใหม่
      มา ดิ อ่า เญอ หยี่ ญอ ฆอ     ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

      สำหรับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ หากชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนโต เช่น การสร้างบ้าน รักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของลูกหลาน ฯลฯ ก็จะจำหน่ายนำเงินมาใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

      แม้ดูเหมือนว่าที่มาของรายได้ของชาวบ้านจะมาจากหลายทาง แต่เป็นเพราะความห่างไกลจากตลาด การนำสิ่งของออกไปจำหน่ายจึงมิใช่เรื่องง่าย ครอบครัวที่ไม่มีรถจักรยานยนต์จึงแทบไม่สามารถนำสิ้นค้าออกไปจำหน่ายได้ เว้นการเข้ามารับซื้อของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีไม่บ่อยนัก ชาวบ้านบอกว่ารายได้ที่ที่หาได้ตลอดทั้งปีของทั้งครอบครัว ไม่น่าจะเกิน ๓,๐๐๐ บาท

      การอยู่ในหมู่บ้านของชาวบ้านมีรายจ่ายไม่มากนัก แต่รายจ่ายของชาวบ้านมักใช้ไปกับการต้องเดินทางไปติดต่อราชการภายนอกหมู่บ้าน เช่น ไปติดต่อกับอำเภอ การไปรักษาโรคภัยที่โรงพยาบาล รวมทั้งรายจ่ายของลูกหลานที่ไปเรียนหนังสือ ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 291555เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ธุค่ะ..

เวลาเจอปัญหาหนักๆ ต้อมมักจะนึกในใจว่า "อยากจะหนีเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า"    แต่มานึกถึงความเป็นจริง..อยู่ที่ไหนๆ ก็มีปัญหาได้

รายได้ของครอบครัวต่อปีไม่เกินสามพันบาท.. เขาอยู่ได้จริงๆ หรือคะ?

ต้อมครับ

จริง ๆ ครับ ชาวบ้านมีรายได้ต่อปีประมาณนั้นจริง ๆ

เขาอยู่แบบนี้กันมานานแล้วครับ

เงินมิใช่คำตอบและความมั่นคงของชีวิต

ธรรมชาติและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนต่างหากคือความมั่นคง

ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทำให้ทำมาหากินได้ เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้

ความสัมพันธ์ที่ดีก็ทำให้ฝ่าพันปัญหาร่วมกันไปได้

เงินที่มีแทบไม่ได้ใช้ เพราะข้าวและอาหารอยู่ในไร่และในป่า

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตินำบทความนี้ไปประกอบข้อมูลรายงานนะคะ

สองเดือนก่อนไปลงพื้นที่บ้านห้วยบง อำเภอแม่ออน

เห็นพี่น้องปวากะญอที่นั่นมีความสุข..เพราะธรรมชาติสมบูรณ์ คนอยู่ร่วมกับป่า..มีซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ อาหารสดๆตามฤดูกาล

 มีป่าชุมชนใช้ไม้จากป่าชุมชน  ชาวบ้านนำมาปลุกบ้าน เห็นแล้วอึ้งเลยค่ะ ไม้ราคาต้นละ๑๐บาทและชุมชนเป็นเจ้าของมีการจัดการที่ดีมาก

ชาวบ้านกำลังร่วมกันฟื้นฟู..กลับไปหารากเหง้าภูมิปัญญาของตนเอง บนเวที ของ สกว.

เป็นชุมชนที่เข้มแข็งกำลังพัฒนา..ไปในทิศทางที่ดีมาก

แต่เยาวชนรุ่นใหม่..กำลงต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

คุณคำแสนดอยครับ

ยินดีครับที่จะนำเนื้อหางานเขียนไปใช้ประโยชน์

บ้านห้วยบง ที่ อ.แม่ออน ผมเคยไปเยี่ยมเยียนมาเมื่อเกือบจะสิบปีแล้วเห็นจะได้

แถบนั้นมีบ้านปกาเกอะญอหลายหมู่บ้าน

ผมว่าปกาเกอะญอที่ไหน ๆ ก็น่ารักเหมือนกันหมดแหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท