หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บ้านห้วยปลาหลด : ดนตรี วิถี ชาติพันธ์ (๑)


ดนตรี วิถี ชาติพันธ์

ลักษณะทั่วไป

ในแถบดอยมูเซอนี้มีหมู่บ้านชาวลาหู่หลายแห่ง ที่อพยพโยกย้ายมาตั้งรกรากอยู่แถบนี้เมื่อราว ๕๐ ปีที่แล้ว ชาวบ้าน ๔ ครอบครัว เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้ชาวบ้านอพยพย้ายตามเข้ามาอยู่มากขึ้น ต่อมาได้จัดตั้งเป็นชุมชน และได้เป็นหมู่บ้านทางการ คือหมู่บ้านห้วยปลาหลด ม.๘ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก

บ้านห้วยปลาหลด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ห่างจากตัวเมืองตากไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๕  เส้นทางสายตาก-แม่สอด ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร จนถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๘ เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังเป็นระยะทาง ๗ กิโลเมตร

ทางเข้าหมู่บ้านระยะทาง ๗ กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามไหล่เขา ปกคลุมด้วยแมกไม้นานาพรรณ บางช่วงก็เป็นสวนพืชผักเศรษฐกิจอาศัยน้ำจากลำธารที่ไหลลัดเลาะไปตามหุบเขาหล่อเลี้ยง บางช่วงก็เป็นสวนวนเกษตรที่มีสภาพไม่ต่างจากผืนป่าด้วยความหลากหลายของไม้สวนทั้งกาแฟ ลูกเนียง ไม้ไผ่ ฯลฯ

เข้าไปถึงใจกลางหมู่บ้าน ก็ยังเห็นผืนป่าเขียวครึ้มไปทั่ว ผืนป่าที่อยู่ในระยะสายตาจะเป็นสวนวนเกษตรแหล่งรวมของต้นไม้ธรรมชาติและไม้สวน มองไกลออกไปลิบๆ ก็จะเป็นป่าทึบเป็นหย่อมๆ มีทั้งป่าต้นน้ำซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชน พื้นที่ป่าช้า และพื้นที่ป่าศาลเจ้า

ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน มีสวนผักกระจายอยู่เป็นหย่อมตามที่ราบเล็กๆ ชายเขาและมีลำห้วยเล็กไหลผ่าน บางช่วงชาวบ้านจะกั้นฝายชั่วคราวกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในหน้าแล้ง  เลยออกไปก็จะเห็นพื้นที่ทำไร่ข้าวกระจายตัวอยู่ทั่วไป ในพื้นที่ที่ลาดชันไม่มากและไม่ได้อยู่ใกล้กับป่าต้นน้ำ ถัดออกไปไกล ๆ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกพืช ชาวบ้านกันไว้สำหรับเป็นที่เลี้ยงวัว

แม้จะอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่ไกลนัก เป็นเพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ทางการเคยมีพยายามจะอพยพชาวบ้านออกแต่ไม่สำเร็จ หมู่บ้านจึงถูกจำกัดการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ ถนนเข้าหมู่บ้านยังเป็นทางดินอัด ใช้ได้ดีเฉพาะหน้าแล้ง เข้าออกหมู่บ้านแม้ไม่ลำบากนักแต่ก็ไม่ถึงกับสบาย ชาวบ้านจะเข้าออกแต่ละทีก็ต่อเมื่อมีธุระจำเป็น เหตุนี้น่าจะเป็นปราการกั้นความทันสมัยเข้าสู้หมู่บ้านทางหนึ่ง

ชาวบ้านลาหู่ที่นี่ ยังค่อนข้างรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ค่อนข้างมากเมื่อเปรียบกับชนเผ่าอื่น ๆ ในแถบนี้ ชาวลาหู่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ยกเว้นภาษาพูดที่ชาวบ้านใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้าน และใช้ภาษาไทยกลางสื่อสารกับพี่น้องต่างเผ่าและชาวเมือง การแต่งกายยังคงแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ชาวบ้านจะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตบางอย่างค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วิถีการผลิตที่เริ่มผสมผสานระหว่างวิถีดั้งเดิมกับสมัยใหม่

 

ครอบครัวและบ้านเรือน

ครอบครัวชาวลาหู่ที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก แต่มีบ้างบางหลังที่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย โดยเฉพาะบ้านที่ยังไม่ให้ลูกเขย หรือลูกเขยยังไม่ยอมย้ายออกไปตั้งเรือน ในครัวเรือนจึงประกอบไปด้วย ตา ยาย พ่อแม่และลูกของหลายครอบครัว

ในการแต่งงาน ชาวลาหู่บ้านห้วยปลาหลด ยังถือธรรมเนียมที่สืบทอดมาแต่โบราณคือชายแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิง ต้องเปลี่ยนมานับถือผีฝ่ายหญิง อยู่ช่วยพ่อแม่ฝ่ายหญิงทำงานจนกว่าจะพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเห็นควรให้แยกเรือนออกไป เมื่อแยกบ้านออกไปฝ่ายชายจึงจะเป็นหัวหน้าครัวเรือนอย่างแท้จริง

บ้านเรือนของชาวลาหู่บ้านห้วยปลาหลด เป็นบ้านยกพื้น หลังคาจั่ว ซึ่งยังคงรูปแบบ/แบบแผนของบ้านเรือนตามธรรมเนียมที่สืบทอดมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตัวเรือนแต่ละหลัง ชานบ้าน และการจัดวางองค์ประกอบภายในบ้าน ฯลฯ

เนื่องจากการตั้งหลักแหล่งที่ค่อนข้างถาวร มิใช่มีลักษณะการหมุนเวียนไปตามลักษณะการผลิตเช่นในอดีต บ้านเรือนของชาวบ้านมีจึงมีลักษณะมั่นคงถาวรมากขึ้น มีการเปลี่ยนวัสดุบ้านให้คงทนแข็งแรงมากขึ้น เช่น หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้องแทนหญ้าคาหรือใบก่อ พื้นบ้านเปลี่ยนจากไม้ไผ่สับฟากเป็นไม้พื้นกระดาน เช่นเดียวกับฝาบ้าน เป็นบ้านยกพื้น หลังคาจั่ว บ้านบางหลังเริ่มมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้าน

ภายในบ้านเรือน ยังคงองค์ประกอบและการวางตำแหน่งไว้เช่นเดิม ทั้ง กระบะดินสำหรับใช้ก่อไฟหุงหาอาหาร หิ้งบนเตาไฟ ห้องผี ฯลฯ ส่วนใต้ถุนของบ้าน ใช้ทั้งเป็นที่เก็บฟืน ตั้งครกตำข้าว บ้างก็เป็นเล้าหมู

สำหรับห้องผีนั้น ลักษณะเป็นห้องเล็ก ๆ ในบ้าน บางบ้านอาจไม่มีห้องผีก็ได้เนื่องจากมีภาระรับผิดชอบมากขึ้น ต้องมีสมาชิกในครอบครัวและมีฐานะดีพอสมควร มีคนในบ้านที่สวดมนต์ได้ อย่างไรก็ตามการมีห้องผีแสดงถึงความมีหน้ามีตาของครอบครัว

ผู้คนไม่คุ้นเคยกับการขึ้นเรือนลาหู่ อาจต้องใช้เวลาปรับตัวบ้าง เนื่องจากกลิ่นควันจากเตาไฟที่ใช้หุงหาหาอาหารและให้ความร้อนจะตลบอบอวนไปทั่วทั้งเรือน กลิ่นผ้าห่มที่ใช้ห่มนอน รวมทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์ก็มักจะเป็นกลิ่นควันไฟ ควันไฟอาจเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์จากแขกเมือง แต่เป็นสิ่งจำเป็นของชาวบ้าน เนื่องจากควันไฟจะช่วยรมมิให้วัสดุเช่นไม้ หญ้าคา เครื่องใช้จากไม้ รวมทั้งเครื่องดนตรี ถูกกระทำมิดีมิร้ายจากมอด ปลวก อีกทั้งไฟจากกองฟืนในบ้านยังช่วยบรรเทาความหนาวเย็น สร้างความอบอุ่นให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย

บ้านเรือนบางหลังมีการสร้างห้องน้ำไว้แยกต่างหากจากตัวบ้าน แต่มีไม่ครบทุกหลัง อาจกล่าวได้ว่าในทัศนะของชาวบ้านห้องน้ำมิใช่สิ่งจำเป็นนัก และโดยมากถูกใช้เพื่อรับแขกชาวเมืองมากกว่าการใช้เองในครัวเรือน จะว่าไปแล้วชาวบ้านใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเทือกสวนไร่นา เวลาขับถ่ายคือเวลานั้น ห้องส้วมจึงจำเป็นไม่มาก สำหรับการอาบน้ำ ก็มักอาบกันบนบ้าน เนื่องจากมีประปาภูขาต่อขึ้นถึงบ้านเรือน

เนื่องจากพื้นที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวน ทางการจึงไม่อนุญาตให้ชาวบ้านต่อไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน แต่เนื่องจากรัฐพึงจัดสวัสดิการนี้ให้ในประชาชนของประเทศ ชาวบ้านจึงได้รับการช่วยเหลือจากทางการให้มีไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้งาน โดยชาวบ้านออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง

แสงจากดวงอาทิตย์ กระทบลงบนแฝงโซลาเซลล์ ถูกบรรจุเป็นไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ มีเครื่องแปลงให้เป็นไฟบ้านให้ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านใช้เพียงให้แสงสว่างยามค่ำคืนเท่านั้น มีบางครัวเรือนที่ใช้ดูโทรทัศน์บ้าง แต่ก็ไม่มากเนื่องจากข้อจำกัดของพลังงานที่มี

 

สังคมและการปกครอง

ตามความเชื่อแต่ดั้งเดิมของชาวลาหู่นั้น จะตั้งหมู่บ้านได้นั้นนอกจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ คนและพื้นที่

องค์ประกอบเกี่ยวกับ “คน” คนที่หนึ่ง คือ “ปู่จารย์” เป็นหัวหน้าชุมชน เป็นผู้กำหนดเวลาและประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชน คนที่สองคือ “หมอผี” เป็นผู้ประกอบพิธีเกี่ยวกับการปัดเป่ารังคราญต่าง ๆ และคนที่ สาม คือ ช่างตีเหล็กที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร เช่น มีดพร้า จอบเสียม

องค์ประกอบเกี่ยวกับ “พื้นที่” พื้นที่แรกคือพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน พื้นที่ถัดมาคือ “ลานจะคึ” เป็นลานโล่งในชุมชนสำหรับประกอบพิธีกรรม โดยมากจะเลือกพื้นที่อยู่ใกล้กับบ้านปู่จารย์ และพื้นที่ที่สามคือ “ป่าช้า” สำหรับฝังร่างไร้วิญญาณเมื่อล่วงลับของชาวบ้านในชุมชน

หากพิจารณาชุมชนจากเกณฑ์ทางวัฒนธรรม บ้านห้วยปลาหลดจึงเป็นหมู่บ้านที่ประกอบไปด้วยชุมชน ๓ ชุมชน แม้ว่าในทางการจะถูกให้กำหนดเป็นหมู่บ้านหลัก ในนามหมู่บ้านห้วยปลาหลด ม.๘ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีหมู่บ้านลาหู่อีก ๑ หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านบริหาร คือ บ้านใหม่ ที่มีผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลร่วมกัน

ดังนั้น การปกครองในหมู่บ้าน จึงเป็นการปกครอง ๒ ระบบ คือ การปกครองแบบจารีตและการปกครองแบบทางการ

การปกครองแบบจารีต มี “ปู่จารย์” เป็นหัวหน้าผู้ปกครอง คอยสอดส่อง กำกับ ดูแลสมาชิกในชุมชนให้เป็นไปตามจารีตประเพณี มิให้มีการผิดผี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน

ส่วนการปกครองแบบทางการมี “ผู้ใหญ่บ้าน” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นกลไกของรัฐในหมู่บ้าน คอย ประสานงานระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอ จังหวัด กำกับดูแลลูกบ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง รวมทั้งมีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นกลไกการพัฒนาส่วนท้องถิ่น ที่คอยเป็นปากเสียงให้ราษฎรในหมู่บ้านได้รับโอกาสและทรัพยากรการพัฒนาจากรัฐ

การเลือกผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสมาชิก อบต. ชาวบ้านจะเลือกคนรุ่นใหม่ ที่ได้รับการศึกษา สามารถจะติดต่อสื่อสาร เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชาวบ้านได้ แต่ทั้งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิก อบต. ก็มิใช่คนสำคัญที่สุดของหมู่บ้าน “ปู่จารย์” และ “ผู้อาวุโส” ต่างหากคือบุคคลสำคัญที่ชาวบ้านให้ความเคารพยำเกรง

 

การทำมาหากิน

ระบบการผลิตของชาวลาหู่ห้วยปลาหลด เป็นการผสมผสานกันระหว่างการผลิตแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ การผลิตแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาแต่เดิมนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการยังชีพในครัวเรือนและประกอบพิธีกรรม ส่วนการผลิตสมัยใหม่เป็นการผลิตเพื่อการค้าขาย ประกอบด้วยกิจกรรมการผลิตดังนี้

การทำไร่ ถือเป็นการการผลิตเพื่อการยังชีพ โดยชาวบ้านจะปลูกข้าวไว้กินเอง ครอบครัวหนึ่งจะมีไร่ข้าวราว ๓ แปลง ปลูกหมุนเวียนไปในแต่ละแห่งในแต่ละปี เพื่อให้ผืนดินคืนความสมบูรณ์ก่อนจะกลับมาทำใหม่ ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวไร่พันธ์พื้นบ้าน เป็นข้าวจ้าวเมล็ดอ้วนสั้น เคียวหนึบเหมือนข้าวญี่ปุ่น ข้าวแบบนี้ชาวบ้านบอกกินแล้วอยู่ท้อง มีแรงทำงาน ไม่เหมือนข้าวสารจากตลาดที่กินแล้วไม่อยู่ท้อง ทำงานไม่ทน

ในไร่ข้าวไม่เพียงปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ แซมไปด้วยหลายชนิด ทั้งข้าวโพด ถั่ว มะเขือ พริก ฟักเขียว ฟักทอง ฯลฯ ข้าวไร่และพืชไร่เหล่านี้ นอกจากปลูกไว้บริโภคในครอบครัวแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับพิธีกรรมกินข้าวใหม่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชน

การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงสำคัญของชาวบ้าน ได้แก่ ม้า วัว หมู และไก่

ในอดีตชาวบ้านเลี้ยงม้าไว้เป็นพาหนะสำหับการเดินทางและขนส่งพืชผักจากไร่มาสู่บ้าน หรือออกไปขายภายนอก ภายหลังม้าลดความจำเป็นลงเรื่อย ๆ เมื่อรถจักรยานยนต์เข้ามาแทนซึ่งชาวบ้านเกือบทุกหลังใช้มันแทนม้า ม้าจึงลดจำนวนลงไปมาก ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังเลี้ยงม้าอยู่

สำหรับวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการออมทรัพย์ของชาวบ้าน ในช่วงนอกฤดูการผลิตชาวบ้านมักเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเอง มีเวลาไปดูบ้างเป็นครั้งคราว แต่ในช่วงฤดูกาลผลิตก็มักจะเลี้ยงแบบขัง วัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จะถูกนำไปขายหรือเลี้ยงพ่อค้าภายนอกเข้ามาซื้อ เมื่อชาวบ้านจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน เช่น ค่าเทอมลูกหลานที่ไปเรียนในเมือง ซื้อรถจักรยานยนต์ สร้างบ้านใหม่ การรักษาพยาบาล เป็นต้น

ส่วนหมูและไก่นั้น ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต้องเลี้ยงไว้ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรม การเลี้ยงผีในครัวเรือนจะใช้หมูและไก่เป็นหลักในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งปีหนึ่ง ๆ ชาวบ้านในแต่ละครอบครัวต้องกระทำหลายครั้ง หมูและไก่ที่เลี้ยงไว้นั้น หากเลี้ยงไว้มากชาวบ้านก็จะนำไปขายเป็นรายได้ทางหนึ่งของครอบครัว

สวนวนเกษตร พื้นที่นี้หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะนึกว่าเป็นผืนป่า เนื่องจากรกครึ้มไปด้วยแมกไม้นานาชนิด แท้จริงแล้วบริเวณนี้เป็นสวนวนเกษตรที่ประกอบด้วยไม้ผล เช่น กาแฟ ลูกเนียง อโวคาโด้ แทรกตัวอยู่ร่วมกับต้นไผ่นานาชนิดและไม้ธรรมชาติอื่น ๆ สวนวนเกษตรนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้หมู่บ้านแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังเป็นรายได้ก้อนโตที่สม่ำเสมออีกด้วย

สวนผักเศรษฐกิจ ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการปลูกผักเศรษฐกิจที่เป็นพืชเมืองหนาวหลายชนิดจำหน่าย เช่น ซาโญเต้ (ฟักแม้วทั้งลูกและยอด) ผักคะน้า หอมญี่ปุ่น ฯลฯ พื้นที่ที่ชาวบ้านบุกเบิกเป็นสวนผัก ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน กระจายอยู่เป็นหย่อมตามที่ราบเล็กๆ ชายเขาและมีลำห้วยเล็กไหลผ่าน บางช่วงชาวบ้านจะกั้นฝายชั่วคราวกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในหน้าแล้ง ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านปลูกพืชผักจำพวกนี้ได้ดี คือ ระดับความสูง ภูมิอากาศ รวมทั้งน้ำจากลำธารที่มีมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของผืนป่า

ค้าขาย เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ไม่ห่างจากตลาดชาวไทยภูเขามากนัก ผู้หญิงสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งจะเป็นผู้นำสิ่งของจากไร่ สวนของตนเอง ไปนั่งขายที่ตลาดดังกล่าว บางคนไม่เพียงขายผลผลิตจากไร่สวนของตนเองเท่านั้น บางคนก็จะรับเอาของเพื่อนบ้านไปขายให้ด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 291641เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เทพเจ้าแห่งเขา
  • เคยเข้าป่า
  • นอนฟังเสียงป่า
  • กู่ป่า
  • บางครั้งอบอุ่น
  • บางครั้งหนาวเยือก
  • บางครั้งกลับสงบนิ่ง
  • ขอบคุณค่ะ

ถ้ามีภาพประกอบจะดีมาก ๆ เลยค่ะ

  • ธุ  คุณหนานเกียรติค่ะ..

อยากไปเห็นด้วยตาตัวเองค่ะ.. ว่าวิถีชีวิตของชนชาวเผ่าต่างๆ มีรายละเอียดต่างกันมากน้อยอย่างไร ^^

 

P คุณหญิงต่วน ครับ
ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ

ต้องเวลาค้นหน่อยนะครับ ไม่รู้ว่าไปอยู่ซอกหลืบใด

P ต้อมครับ

แต่ละชนเผ่ามีเรื่องราวแตกต่างกันไป งดงามไปคนละแบบ

การเดินทางไปเยี่ยมเยือน นอกจากจะได้เรียนรู้และเข้าใจแล้ว

มันยังเป็นรางวัลให้กับคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขา วิถีชีวิตเรียบง่าย ด้วยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท