หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เรื่องเล่าของ “เตหน่า”


เรื่องเล่าของ “เตหน่า”

ปว่า มี เลอ เปลอ เหน่ จิ แว ปวา ปว่า เลอ เปอ จิ หน่า

โข่ ที บ่อ ซะ นะ ปว่า บู เอาะ เต่อ เล่ โช โหม่ เต่อ ปู

ปว่า มี เล เปลอ โส่ เก ปวา ปว่า เล่อ เปลอ โส่ เก ปวา

แค อี เยอ เก่อ แต๊ ยือ นา โอะ ค๊อ กส่า หล่า โด เก่อ หน่า...

ผู้เฒ่าเมื่อนั้น ได้สั่งเรา ผู้แก่เมื่อก่อน ได้สอนเรา

หัวกะโหลกยังอ่อน หน้าอกยังบาง ยังกินไม่ครบ ยังรู้ไม่หมด

ผู้เฒ่าเมื่อก่อน สอนเอาไว้ เราลูกหลาน ได้ยินได้ฟัง

ฉันจะมาบอกอีกครั้ง ฟังเสียงเตหน่าก่อน เดี๋ยวฉันจะเล่าต่อ..

 

บทกวีข้างต้นเป็นการ ขับลำนำ หรือ อื่อธา โดย ชิ สุวิชาน ศิลปินหนุ่มชาวปกาเกอะญอ ผมขออนุญาตนำมาเกริ่นในเรื่องเล่านี้

ลำนำ หรือ ธา เป็นวรรณกรรมของชาวปกาเกอะญอ เนื้อหาใน ธา เป็นการแสดงออกถึงความเป็นปกาเกอะญอ ทั้งวิถีชีวิต วิธีคิด โลกทัศน์ มีคนเคยบอกกับผมว่าถ้าจะเข้าใจปกาเกอะญอ อย่างแจ่มแจ้ง ก็ให้ไปดูที่ ธา คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามีมากมาย มากกว่าใบไม้ในป่าเสียอีก

ชาวปกาเกอะญอจะถ่ายทอด สั่งสอน ธา ผ่านการ ขับลำนำ หรือ อื่อธา สู่ลูกหลาน เพื่อนฝูง ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในการดำเนินชีวิตปกติ และโอกาสพิเศษ เช่น ในพิธีกรรมและเทศกาล ซึ่งการ อื่อทา ให้ไพเราะ น่าฟัง มักจะใช้ เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีประกอบการอื่อธาเสมอ

เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ มีมาแต่โบราณกาล รูปร่างและลักษณะคล้ายพิณ ฐานทำด้วยขอนไม้นำหนักเบา เจาะเป็นโพรง คันมีลักษณะโค้งงอ ระหว่างฐานและคันจะขึงสาย ๖ เส้น

 

เมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้กับคนเฒ่าคนแก่ชาวปกาเกอะญอไม่ว่าที่ไหน ๆ พวกเขาจะนึกถึง เต๊อะหน่าตุ๊จ่อ บรรพบุรุษนักรบของชาวปกาเกอะญอ ผู้ใช้เตหน่าเป็นอาวุธพิชิตข้าศึก

เล่ากันว่าในสมัยที่ปกาเกอะญออพยพหนีการรุกรานลงมาแถบลุ่มน้ำแยงซีเกียงและถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ การอพยพลงมาต้องเจอกับศัตรูมาตลอดทาง ส่วนใหญ่กำลังพลของข้าศึกจะแข็งแกร่งกว่า เมื่อเจอเข้ากับกองทัพข้าศึก เต๊อะหน่าตุ๊จ่อ ก็จะคว้าเตหน่า ๑๒ สายมากรีดสายบรรเลงเพลง ศัตรูที่ได้ยินเสียงก็เคลิบเคลิ้มหลับใหล หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทหารปกาเกอะญอได้ทีก็ไล่ฟาดฟันศัตรู เอาชนะมาได้ทุกคราวไป

พี่ประยุทธ์  สาธุสถิตย์ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านพะเด๊ะ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก เล่าให้ผมฟังว่า

...เมื่อก่อนเตหน่าอาจจะใช้ในการสู้รบในช่วงที่ชาวปกาเกอะญอต้องหลบหนีอพยพจากผู้รุกราน เมื่อเหตุการณ์สงบ เตหน่าเป็นเครื่องดนตรีแห่งความรักและสันติ...

...เสียงของเตหน่าจะช้า เย็น ฟังไม่เร้าใจ ไม่รกหู ได้ยินแล้วจะสบายใจ คนฒ่าคนแก่บอกว่าในสมัยก่อนคนที่ดีดเตหน่าเก่ง ๆ นกกำลังบินอยู่ยังลืมบิน หนูกำลังกินลูกไม้อยู่ก็ลืมกิน...

 

ในอดีตชายหนุ่มปกาเกอะญอจะต้องมีเตหน่าไว้เป็นดนตรีประจำกายทุกคน เพราะว่าเป็นเครื่องมือในการจีบสาว ใครที่เล่นเก่ง เล่นเพราะ ก็จะมีสาว ๆ มาชอบมาก

หลังสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน ชายหนุ่มมักจะคว้าเตหน่าคู่ใจ มุ่งหน้าไปสู่บ้านหญิงสาวที่ชอบพอ กรีดสายบรรเลงเตหน่าพร้อมกับการขับลำนำเกี้ยวตอบโต้กันไปมากับผู้สาว สมัยก่อนใครเล่นเตหน่าไม่เป็น ขับลำนำไม่ได้ มีหวังต้องอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิต

ชายหนุ่มที่ไม่ประสงค์ไปเกี้ยวสาว หรือพ่อบ้านที่แต่งงานมีลูกเมียแล้ว ก็อาจจะดีดเตหน่าอยู่กับบ้าน ในยามพักผ่อนหลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยมาแต่ละวัน

นอกจากนั้นคนเฒ่าคนแก่ก็ยังใช้เตหน่าประกอบการเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง เล่าไปถึงตอนที่จะสอดแทรกคติสอนใจ ก็จะขับลำนำ เสียงจากเตหน่าทำให้การขับลำนำนั้นน่าฟังยิ่งขึ้น

เตหน่าถือเป็นเครื่องดนตรีที่เฉพาะตัว เจ้าของจะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ความยาวของสาย ระยะห่างระหว่างสายของเตหน่า ต้องพอดีกับมือของเจ้าของ

 

ในอดีตการทำเตหน่าค่อนข้างเคร่งครัดและใช้เวลายาวนาน เล่ากันว่าเตหน่าตัวนึงต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี กว่าจะแล้วเสร็จ

ก่อนจะเริ่มลงมือทำเตหน่า เจ้าของจะต้องเที่ยวเสาะหาไม้ในป่าสำหรับการทำฐาน พบแล้วก็หมายตาจับจองเอาไว้ ถึงวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนลา-ปรือ หรือวันลอยกระทง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๒ เจ้าตัวจะต้องไปตัดไม้ที่เลือกเอาไว้

ตัดเสร็จแล้วต้องรีบเอาไปฝังไว้ในดินบนทางสามแพร่ง หรือทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีผู้คนใช้สัญจรเดินผ่านไปผ่านมา คนเดินผ่านไปผ่านมาเยอะเท่าไรยิ่งดี การนำไม้ไปฝังดินนี้ห้ามมิให้ใครรู้ใครเห็นโดยเด็ดขาด มีคนรู้เท่ากับไม่เป็นความลับ ต้องไปหาที่ฝังใหม่ ไม้ฝังดินอยู่จนครบ ๗ วัน ก็ขุดขึ้นมาเก็บไว้ที่บ้าน ในระหว่างนี้ก็จะเหลาเป็นฐานเตหน่า แล้วเก็บรักษาไว้

ในระหว่างที่รอวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนลา-ปรือ ปีถัดไป ต้องไปเที่ยวเสาะหาและหมายตาไม้สำหรับมาทำคันเตหน่าไว้ ลักษณะไม้ต้องโค้งงอพอดิบพอดี เหมาะและตรงกับที่เจ้าตัวต้องการ ถึงวันกำหนดก็ไปตัวมาเหลาแล้วเก็บไว้

วันเพ็ญเดือนลา-ปรือปีถัดมา ต้องไปตัดต้นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งชื่อ จอจื่อ แล้วเอาเปลือกออก ค่อยบรรจงลอกเอาเส้นใยภายในมาทำเป็นสายเตหน่า หลังจากใช้เวลาก่อนหน้านั้นเสาะหาและหมายตาไว้เช่นเดียวกับฐานและคัน สายเตหน่าที่ทำจาก จอจื่อ นี้จะให้เสียงที่ไพเราะเยือกเย็น ดังที่ธาพูดถึงสายเตหน่าที่ทำจากจอจื่อไว้ว่า

เตหน่าปลี่เลอจอจื่อ  ตะบ้าจอจื่อเสาะตะมึ

สายเตหน่าทำจากจอจื่อ ถ้าไม่ใช่จอจื่อเสียงจะไม่ไพเราะ

ในระหว่างที่รอส่วนประกอบต่าง ๆ ผู้ทำก็จะเที่ยวหาสิ่งของอีกหลายสิ่งสำหรับนำมาใส่ไว้ในตัวเตหน่า เช่น ขนนกบิ๊เบ (นกพญาไฟ) และเศษชิ้นส่วนของโกล๊ะ (กลองมโหระทึก)

ขน นกบิ๊เบ หรือ นกพญาไฟ เชื่อกันว่าถ้าใส่เข้าไปในเตหน่าแล้วจะทำให้มีคนมาฟังมาก พะตีชาวปกาเกอะญอบอกผมว่า นกบิ๊เบเป็นนกที่มีเพื่อนมาก เวลาบินไปไหนจะมีนกอื่น ๆ บินตามไปเป็นฝูง บิ๊เบตัวผู้ตัวหนึ่งจะมีบริวารเป็นนกบิ๊เบตัวเมียถึง ๓๐ ตัว สำหรับขนนกที่จะนำมาใส่ในเตหน่านั้นจะต้องเป็นขนนกจากนกที่ตายเองตามธรรมชาติ หรือเป็นขนที่นกบิ๊เบสลัดทิ้งไว้

ของสำคัญอีกอย่างที่มักจะใส่ในเตหน่า คือ ชิ้นส่วน โกล๊ะ

โกล๊ะ หรือกลองของชาวปกาเกอะญอถือเป็นของศักดิ์สิทธิ ในบรรดาทรัพย์สินที่ชาวปกาเกอะญอแสวงหาและต้องการครอบครองนั้น กล่าวได้ว่า โกล๊ะ นั้นสำคัญกว่า เงิน เสียอีก ดังคำกล่าว คือโกล๊ะ คือเจ๊ะ แปลว่า หาโกล๊ะกลอง หาเงิน นอกจากนั้น โกล๊ะ ยังเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่า ลูกหลานคนใดได้รับโกล๊ะเป็นมรดกสืบทอดจากบรรพบุรุษถือว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต

ดังนั้นการใส่ชิ้นส่วน โกล๊ะ ลงใน เตหน่า จึงจะทำให้เตหน่ามีคุณค่า มีจิตวิญญาณ และเป็นมากกว่าเครื่องดนตรี

 

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ชายหนุ่มผู้หนึ่งหลังจากฝึกเล่นจนชำนาญ และได้เรียนรู้การทำเตหน่าแล้ว ก็เริ่มลงมือทำเตหน่าตามขั้นตอนวิธีการที่ผมเล่าไว้ข้างต้น จน ๓ ปีก็แล้วเสร็จ ความที่ชอบเล่นเป็นชีวิตจิตใจ ว่างเมื่อใดเป็นต้องคว้าเตหน่ามากรีดสาย-อื่อธาอยู่ร่ำไป คราใดที่เล่นเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยินเสียงเหมือนกับต้องมนต์สะกด (คาดว่าคงจะคล้าย ๆ กับได้ยินเสียงปี่ของพระอภัยมณี) ใครที่ได้ยินทำการงานอะไรค้างคาอยู่ก็จะละพาตัวเองมาสู่ต้นเสียงนั้น ฟังด้วยความเคลิบเคลิ้มหลงใหล

ไม่รู้ว่าศิลปินหนุ่มผู้นี้จะเบื่อผู้คนที่มาฟังกันเยอะแยะ หรือเป็นเพราะบริเวณบ้านคับแคบ จึงได้ย้ายตัวเองและเตหน่าคู่ใจไปเล่นบนภูเขา  กระนั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับแม่บ้าน เด็ก ๆ และคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ไกลแค่ไหนก็ยังดั้นด้นตามไปฟัง งานการที่ต้องทำต้องรับผิดชอบก็ทิ้งเอาเสียดื้อ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหุงหาหาอาหาร การออกไปดูเทือกสวนไร่นา

เรื่องเล่าไม่ได้บอกไว้ว่าพ่อบ้านได้ยินเสียงเตหน่ารึเปล่า หรือว่าฟังแล้วแต่ไม่ยิน หรืกว่าได้ยินแล้วแต่ไม่อิน แต่ที่แน่ ๆ  พากันเดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้าน ก็ไม่มีใครหุงหาอาหารให้กิน บ้านเรือนไม่มีคนดูแล ลูกเต้า เมีย แม้แต่พ่อแม่ ก็หายหัวไปกันหมด ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกครับ...

วันหนึ่งความอดทนถึงที่สุด ตกลงกันว่าถ้าปล่อยพ่อหนุ่มศิลปินเอกคนนี้ไว้พวกเราพ่อบ้านแย่แน่ ๆ เราต้องไปฆ่ามันทิ้งซะ ว่าแล้วพอได้จังหวะเหมาะก็รวมตัวกันไปฆ่าชายหนุ่มผู้นั้นทิ้ง เหตุการณ์ก็กลับมาเป็นเช่นเดิม

พะตี (ลุง) แห่งบ้านพะเด๊ะที่เล่าเรื่องให้ฟัง ย้ำให้ผมฟังว่า เตหน่าที่ทำตามขั้นตอนแบบที่ผมเล่าข้างต้น มันมีมนต์ขลังอย่างนี้ ใคร ๆ ได้ฟังก็ต่างพากันหลงใหล...

 

หมายเลขบันทึก: 291649เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • มาเรียนรู้ ธา และ เตหน่า ค่ะ
  • ถ้ามีรูปประกอบก็จะดีนะคะ
  • ขอบพระคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ

P คุณครู ลีลาวดี ครับ

ขอบคุณที่สนใจแวะมาอ่านครับ

เหตุหนึ่งที่ผมสนใจวัฒนธรรมปกาเกอะญอก็มาจากการเรียนรู้เรื่องธานี่แหละครับ

เป็นคำสอนที่ล้ำลึกมาก

ผมลองเอาเปรียบเทียบกับคำสอนของชาวอินเดียนแดง ปรากฏว่ามีหลายเรื่องที่สอดคล้องต้องกัน

ขอบคุณครับ

ตอนนี้บ้านแม่ขี้มูกน้อย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม ชม.เรียนและทำเตหน่า เพราะสนใจวัฒนธรรมชุมชนมากขึ้น โดยกลุ่มปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนา (สมควร) วันที่ 18-19 เดือนสิงหา จะไปแสดงที่อุตดิส

อยากให้บอกตำแหน่งเสียง ในแต่ละสาย และวิธีการเล่นครับ

หนานเกียรติค่ะ

ปีนี้รู้สึกว่าพี่กระติก เริ่มอายุเยอะขึ้นแล้วค่ะ

ดังนั้น  อยากให้ขยายตัวหนังสือ ให้ใหญ่ขึ้น จะได้มั้ยค่ะ

สงสาร  ส.ว.

ขอบคุณค่ะ

ปล. ฝากความคิดถึงเฌวาด้วย

55555+ อยากเอิ้นบอกมานานว่า ตัวหนังสือทรมารคนสายตายาวๆๆ หนานจะให้มีแว่นขยายด้วยสิ คงเหมือนการขับลื้อ ขับซอบ้านเราก้าน้อ คิดถึงน้องเฌวานะคะ

ขอบคุณมากคับ กับการได้แบ่งปันประสบการดีๆให้แก่กัน

....ขอให้พี่แนะนำการตั้งเสียงเตหน่าให้หน่อยคับ

ทวีศักดิ์ เที่ยงธรรม

ขออนุญาตแชร์ข้อมูลดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท