หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

อ่อบื๊อซอโข่ ตอนที่ ๔ (จบ)


“อ่อบื๊อซอโข่” เป็นทั้งการแสดงสถานภาพของความสัมพันธ์ ๓ เส้าของชุมชน และเป็น การ รักษา ตอกย้ำ เพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลนั้นไว้ ด้วยความสัมพันธ์ ๓ เส้าที่เกื้อกูลกันนั้น จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้ชุมชนดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน...

๙...

      ผมกลับออกมาจากหมู่บ้านมาหลายวันแล้ว ความประทับใจยังอยู่ในความทรงจำไม่ลืมเลือน ไม่เพียงผมเท่านั้นผู้ร่วมทางผมอีก ๓ คนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน รอคอยวันเวลาที่จะกลับไปเยือนอีกครา

      จากการทบทวนเหตุการณ์ที่ผมเข้าร่วมหมู่บ้าน ก็ตั้งคำถามในใจว่า ประเพณีอ่อบื๊อซอโข่ นี้มันมีความหมายและความสำคัญกับชุมชนอย่างไร ? แล้วก็ค่อย ๆ นึกคำตอบด้วยตัวเอง ได้คำตอบหยาบ ๆ สำหรับตัวเองอย่างนี้ครับ

      ชุมชนบ้านป่าทีจอชีนี้ ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ด้วยการผลิตที่เรียกกันว่าไร่หมุนเวียน เป็นการผลิตเพื่อการยังชีพ ไม่เน้นการค้าขายในเชิงพาณิชย์ พืชหลักคือข้าว มีพืชผักอาหารอีกหลายชนิดที่ปลูกไว้เป็นอาหารและยา แต่ละครอบครัวเลี้ยงสัตว์จำพวกหมู ไก่ บ้างครอบครัวละเล็กน้อย ไว้เพื่อประกอบพิธีกรรม นอกจากนั้นบางครอบครัวยังเลี้ยงวัว ควายเอาไว้ใช้งานและขายเมื่อยามจำเป็นต้องใช้เงิน

      สำหรับไร่หมุนเวียนนั้น ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอท่านหนึ่งเคยพูดกับผมว่า ปกาเกอะญอกับไร่หมุนเวียนคือสิ่งเดียวกัน ปกาเกอะญอที่ไม่ทำไร่หมุนเวียนหาเป็นปกาเกอะญอที่สมบูรณ์ไม่ ความเป็นปกาเกอะญอนั้นสถิตย์อยู่ในไร่หมุนเวียน ทั้งวิถีการผลิต วิธีคิดและโลกทัศน์

      ชาวปกาเกอะญอบ้านทีจอชีครอบครัวหนึ่ง จะมีพื้นที่ที่เป็นไร่หมุนเวียนอยู่ราว ๔ - ๕ แปลง โดยจะใช้พื้นที่สำหรับการทำไร่หมุนเวียนกันไปปีละแปลง ไร่ที่ปล่อยให้ฟื้นตัวเรียกว่า ไร่ซากชาวบ้านจะหมุนกลับไปทำไร่ซากเมื่อปล่อยให้ดินฟื้นความสมบูรณ์ราว ๔ ๕ ปี เพราะจะทำให้ได้ข้าวและพืชผักงาม ไม่มีแมลงรบกวน ไม่สะสมเชื้อโรค ที่สำคัญคือไม่ทำลายความอุดมของผืนดินมากเกินไป

      การใช้ประโยชน์พื้นที่ไร่หมุนเวียนและไร่ซากทุกแปลงเป็นไปอย่างคุ้มค่า นอกจากจะได้ผลผลิตข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วยในไร่หมุนเวียนแล้ว ไร่ที่ทิ้งไว้ให้ฟื้นตัวในปีแรกชาวบ้านก็ยังได้อาศัยเก็บกินพืชผักที่ปลูกไว้เมื่อตอนปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็น พริก ฟักทอง ฟักเขียว แตง เม็ดข้าวที่หล่นจากการเก็บเกี่ยวก็เป็นอาหารของสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เช่น กระรอก กระแต ไก่ป่า นกนานาชนิด ไร่ซากปีถัดมาจะเกิดพืชล้มลุกหลายชนิด ที่นำมาทำเป็นอาหารสัตว์ได้ บางอย่างเป็นพืชสมุนไพรนำมาปรุงเป็นยา ปีถัดมาป่าเริ่มโต เป็นที่หลบภัยของสัตว์ป่า รวมทั้งอ้นและตุ่น ปีต่อมาจึงจะหมุนเวียนกลับมาทำไร่ที่เดิมอีกครั้ง พื้นที่นี้จะกลับฟื้นมีความอุดมสมบูรณ์เต็มที่ เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าวไร่

      การทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญออาศัยปัจจัยหลัก ๓ ประการ คือ คน ธรรมชาติ และสิ่งสูงสุดหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ

      ประการแรก การทำไร่หมุนเวียน เป็นการผลิตอาหารเลี้ยงครอบครัวในรอบปีนั้นถือว่าเป็นงานหนัก เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ การแผ้วถางไร่ การเผาไร่และทำแนวกันไฟ การปลูกข้าว การบำรุงดูแลให้ต้นข้าวงอกงาม การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง

      งานทั้งหมดที่ว่ามาไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพังเพียงครอบครัวเดียว แต่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจากเครือญาติและเพื่อนบ้าน ในการทำไร่จึงเห็นผู้คนมากมายมาช่วยเอามื้อเอาแรง กันทั้งเด็ก หนุ่มสาว พ่อบ้านแม่บ้านและคนเฒ่าคนแก่ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากอย่างเช่น การเฝ้าระวังไฟจากการเผาไร่ไม่ให้ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การปลูก (หยอด) ข้าว การเก็บเกี่ยว เรื่อยไปจนถึงการขนย้ายข้าวเข้าหลองข้าว

      ประการถัดมา ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติส่งผลอย่างยิ่งต่อผลิตผลที่จะได้ ดังนั้นชาวปกาเกอะญอจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาธรรมชาติให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นหลักประกันในการผลิตของชุมชน การทำไร่หมุนเวียนด้านหนึ่งของการใช้ผืนดินและผืนป่าแต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและรักษาควบคู่กันไปด้วย พื้นที่หนึ่ง ๆ จะถูกใช้เพียง ๑ ปีเป็นที่ทำกิน เวลาอีก ๓ ๔ ปีที่เหลือพื้นที่จะเริ่มปรับสภาพเป็นป่าก่อนที่จะหมุนเวียนเป็นที่ทำกิน

      กล่าวได้ว่าไร่หมุนเวียนเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนในชุมชน ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าธรรมชาติดิน น้ำ ป่า จะยังคงอยู่อย่างยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต อีกทั้งยังเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับผืนป่า ซึ่งสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น สัตว์ป่าเล็กน้อยต้องการอยู่ในป่าที่รกชัฏอย่างไร่ซากปีแรก ๆ ไร่ซากปีต่อ ๆ มาก็จะเป็นที่หลบพายุฝนของสัตว์ใหญ่จำพวกเก้งกวาง ฯลฯ การทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นการเกื้อกูลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย นอกจากนั้นความจำเป็นในการใช้ไม้ของชาวบ้านเช่น การซ่อมบ้าน ฟืนหุงต้ม ฯลฯ ก็ยังได้จากไร่เหล่าแก่ที่จะกลายเป็นที่ทำกินในปีถัด เป็นการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

      ประการสุดท้าย การฝากความหวังการผลิตไว้กับธรรมชาติ ฟ้า ฝน นั้นคาดหวังไม่ได้เต็มที่นัก เพราะบางปีฝนแล้ง บางปีฝนมากเกินไป ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสิ่งสูงสุด ที่เป็นผู้คอยปกป้องดูแลผู้ทำการผลิตตลอดจนการดลบันดาลให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บป่วย มีข้าวปลาอาหารเพียงพอ สัตว์เลี้ยงไม่เจ็บป่วยชาวปกาเกอะญอจะมีพิธีกรรมมากมายที่แสดงความเคารพ การตอบแทนคุณผ่านพิธีกรรมมากมาย เช่น พิธีมัดมือต้นปี, พิธีหมายไร่, พิธีปักไร่, พิธีนึ่งไร่, พิธีสะเดาะเคราะห์ไร่, พิธีเลี้ยงไฟ, พิธีขอพร, พิธีปัดรังควาญ, พิธีป้องกันไร่, พิธีมัดมือกลางปี ฯลฯ รวมไปถึงพิธีกินข้าวใหม่ หรือ อ่อบื๊อซอโข่

      จากที่ว่ากิจกรรมทั้งหมดในไร่หมุนเวียนจึงเป็นความสัมพันธ์ ๓ เส้า ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งสูงสุด

      อ่อบื๊อซอโข่เป็นพิธีกรรมที่สำคัญหนึ่งของชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของไร่หมุนเวียน ข้าวใหม่ที่นำมาทำพิธีก็คือข้าวที่ได้จากไร่หมุนเวียนที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จเมื่อไม่นาน หัวเผือกหัวมันรวมทั้งดอกหงอนไก่และดอกดาวเรืองก็ได้จากไร่หมุนเวียน สัตว์ป่าเช่นอ้นและนกคุ้มก็ไปหาในพื้นที่ไร่ซาก ในพิธีมีการส่งนกโถ่บีข่ากลับคืนสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นนกที่ชาวบ้านเรียกลงมาจากสวรรค์เพื่อคุ้มครองผลผลิตในปีที่ผ่านมา

      และที่สำคัญอ่อบื๊อซอโข่เป็นกิจกรรมที่ทั้งแสดงและกระชับความสัมพันธ์ ๓ เส้า ทั้งคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งสูงสุด ซึ่งเห็นได้ในพิธีกรรมนี้อย่างชัดเจน

      ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เราเห็นกิจกรรมระหว่างผู้คนในชุมชนมากมายตั้งแต่วันที่เข้าไปถึงหมู่จวบจนกระทั่งเราออกจากหมู่บ้าน

      ในวันเตรียมงานทั้งที่ลานกลางบ้านเราเห็นพ่อบ้าน เด็กหนุ่มและเด็กน้อยมารวมตัวกันตระเตรียมสถานที่ ตัดไม้ จักตอก สานตะแกรง สร้างหลองข้าวจำลอง ทำเวทีชั่วคราว ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับการละเล่นหลายอย่าง ทำไปคุยไป บ้างก็หยอกล้อกัน เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านทั้งรุ่นราวคราวเดียวกันและต่างรุ่นให้แน่นแฟ้น

      วันรุ่งขึ้นที่ริมลำห้วย ชาวบ้านนับร้อยทั้งชายหญิง คนเฒ่าคนแก่ พ่อบ้านแม่บ้าน หนุ่มสาวและเด็ก ๆ มารวมตัวกันเพื่อเผาข้าวหลาม ตั้งแต่กรอกข้าว หยอดน้ำ ปิดฝาและเผาไฟ บรรยากาศเป็นกันเองและสนุกสนาน เสียงพูดคุย เสียงหัวเราะดังร่วนตลอดเวลา

      และในค่ำคืนก่อนวันทำพิธีกรรม มีกิจกรรมรื่นเริงของชุมชน ชาวบ้านทั้งหมดมารวมตัวกันที่นี่ ผลัดกันเป็นผู้ชม ผลัดกันเป็นผู้แสดง ในการละเล่นและการแสดงหลายอย่าง ได้มาอยู่ร่วมกัน พูดคุยกัน หัวเราะรื่นเริงร่วมกัน ทำให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

      ไม่เพียงการเตรียมงานที่ลานและการเผาข้าวหลามเท่านั้น ในหมู่บ้านยังมีกิจกรรมร่วมกันอีกมากมาย ทั้งการเข้าป่าหาสัตว์ การลงห้วยจับสัตว์น้ำ รวมกลุ่มกันไปตัดไม้ไผ่ การต้มเหล้า ตำข้าวปุ๊ก สิ่งเหล่านี้เป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต่างเพศ ต่างวัย ต่างความคิดได้มาทำอะไรร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

      ประการที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ในพิธีอ่อบื๊อซอโข่เราเห็นความสัมพันธ์ที่ เกื้อกูลกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

      ก่อนวันทำพิธีหลายวัน ชายหนุ่มในหมู่บ้านเกือบ ๑๐ คน รวมตัวกัน ๓ กลุ่ม แยกย้ายออกไป หาสัตว์ป่าเพื่อประกอบพิธีกรรม แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักจะเป็นการออกไปหาสัตว์ แต่การกระทำนั้น ก็เป็นการออกไปสำรวจธรรมชาติแวดล้อมว่ามีสภาพเช่นไร การหาสัตว์ยากสะท้อนว่าธรรมชาติแวดล้อม เป็นอย่างไร ถึงคราวที่จะต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อให้ธรรมชาติแวดล้อมคงความอุดมสมบูรณ์

      การนำสิ่งของในธรรมชาติมาประกอบอาหาร เป็นการใช้สัญลักษณ์เป็นคติสอนใจหลายประการ กล่าวได้ว่าธรรมชาติป่าเขาและสัตว์ป่าเป็นครูสอนของชาวบ้าน ให้ขยันและอดทนเหมือนอ้น/ตุ่น อย่า หลงลืมตัวเองและเห็นคุณค่าผืนดินอย่างนกคุ้ม การปรับตัวให้อยู่รอดภายใต้ข้อจำกัดอย่างปลากั้ง เป็นต้น

      ประการสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งสูงสุด ในพิธีอ่อบื๊อซอโข่เป็นการติดต่อระหว่าง ชาวบ้านกับสิ่งสูงสุดผ่านพิธีกรรม เป็นการแสดงความขอบคุณที่สิ่งสูงสุดได้คุ้มครองชาวบ้าน ชุมชน และอำนวยให้ได้ผลผลิตที่ดีในปีที่ผ่านมา

      การตอบแทนสิ่งสูงสุดและนกโถ่บีข่า ชาวบ้านแสดงออกด้วยการตั้งใจทำอาหารตะกะโป่อย่างประณีตรอบคอบ เอาข้าวมารวมกันเพื่อต้มเหล้า ทำข้าวปุ๊กและทำข้าวหลามเพื่อถวายท่าน

      ในตอนท้ายของพิธีกรรมมีการมัดข้อมือ และข้อพรให้สิ่งสูงสุดได้คุ้มครองให้ดำรงชีวิตอย่าง อยู่เย็นเป็นสุข

      จากคำถามที่ผมถามตัวเองไว้ข้างต้น ผมจึงได้คำตอบสำหรับตัวเองว่า

      อ่อบื๊อซอโข่เป็นทั้งการแสดงสถานภาพของความสัมพันธ์ ๓ เส้าของชุมชน และเป็น การ รักษา ตอกย้ำ เพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลนั้นไว้ ด้วยความสัมพันธ์ ๓ เส้าที่เกื้อกูลกันนั้น จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้ชุมชนดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน...

หมายเลขบันทึก: 291816เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

คน.ธรรมชาติ.พิธีกรรม (สิ่งเหนือธรรมชาติ)..ชีวิตของปกาเกอะญอ.

ขอบคุณครับ..กับความเข้าใจเรื่องบ้านทีจอซี

ความสัมพันธ์ ๓ เส้า ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งสูงสุด

      ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์นะหว่างคนกับสิ่งสูงสุด   ผมขออนุญาตเรียกตามความคิดของผมเองนะครับ(อาจจะผิด)  ว่า สิ่งสูงสุ คือ ผี

       ผี   จะเป็นระบบในการจัดการสังคมให้อยู่กันด้วยความสงบสุข

       ปัจจุบันในบางท้องถิ่น    เมื่อความเชื่อเรื่องผี หายไป  ความวุ่นวายก็ตามมา ครับ

 

P

อาจารย์ครับ

ใช่ครับ ชาวบ้านเขาเรียกสิ่งนั้นว่า "ผี"

"ผี" เป็นสิ่งอยู่เหนือคำอธิบายของชาวบ้าน มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่ง ที่ไหนผียังเข้มแข็งชุมชนก็จะเข้มแข็งและสงบสุขตามไปด้วย

 

เรื่องเล่าดีๆ มีเพื่อเพิ่มเติมความรู้

  • ธุค่ะ..

ต้อมค่อยๆ ไล่สายตาอ่านตามตัวหนังสือที่ปรากฏตรงหน้า   ทำแล้วพยายามทำความเข้าใจไปด้วย    ทุกความสัมพันธ์นี้จะเกื้อกูลต่อวิถีชีวิตของชนชาวเผ่าใช่ไหมคะ  ไม่ว่าจะต่ออะไร

P ต้อมครับ

ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นครับ

ในหมู่บ้านปกาเกอะญอที่ผมแวะเวียนไปเยี่ยมหลายแห่ง ในหมู่บ้านที่ยังยึดธรรมเนียมที่ส่งต่อมาจากบรรพชน มักจะมีลักษณะอย่างที่ผมเขียน

 

มาชม

มาเชียร์

มาทักทายนะครับ

ตามมาอ่านเรื่องเล่าประเพณีวัฒนธรรมชนเผ่าที่น่าสนใจมากทุกตอน ..มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เคยสนับสนุนการประกวดสารคดีและหนังสั้นเกี่ยวกับชีวิตของชนเผ่า ที่ weblink นี้ค่ะ :

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/269292

         20090619161307_171 

รักษา ตอกย้ำ เพิ่มพูน

จำรูญ พูนสุข หมู่อาศัย

เกื้อกูล หนุนนำ กำลังใจ

ตลอดมา ตลอดไป ให้จีรัง

...

วิถีชีวิต เอกลักษณ์ ภาคภูมิ

อ่อบื๊อซอโข่เป็นทั้งการแสดงสถานภาพของความสัมพันธ์ ๓ เส้าของชุมชน 

เป็นกำลังใจให้ชุมชนเข้มแข็งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท