หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บุญสัญจรที่วัดจันทร์ ตอนที่ ๑


ก่อนแสงแรกแห่งวันจะโผล่พ้นทิวไม้ปกคลุมฟากฟ้า เสียงธรรมจากเทปบันทึกเสียงผ่านออกลำโพงที่ผูกติดไว้บนยอดสนสูงลิ่วข้างวิหารภายในบริเวณวัดจันทร์ แผดก้องไปทั่วหมู่บ้านแข่งกับเสียงครกกระเดื่องตำข้าวและเสียงไก่ขันเจื้อยแจ้วนับสิบนับร้อยตัว

     บ้านวัดจันทร์ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนลา-นวี (มิถุนายน)

     ก่อนแสงแรกแห่งวันจะโผล่พ้นทิวไม้ปกคลุมฟากฟ้า เสียงธรรมจากเทปบันทึกเสียงผ่านออกลำโพงที่ผูกติดไว้บนยอดสนสูงลิ่วข้างวิหารภายในบริเวณวัดจันทร์ แผดก้องไปทั่วหมู่บ้านแข่งกับเสียงครกกระเดื่องตำข้าวและเสียงไก่ขันเจื้อยแจ้วนับสิบนับร้อยตัว

     เสียงธรรมเป็นเสมือนเสียงปลุก ที่นอกจากจะให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตแล้วก็ดังพอที่จะปลุกผู้คนจากหลับไหลให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ชีวิตในรุ่งอรุณวันใหม่

     ชาวบ้านทั้งลูกเล็กเด็กแดงและคนเฒ่าคนแก่ ที่ได้ยินเสียงนี้จากทางวัดก็จะเข้าใจตรงกันว่าวันนี้คือวันพระหรือวันศีลซึ่งถือว่าเป็นวันหยุดพักผ่อน และช่วงเช้าชาวบ้านโดยมากจะไปทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัดในหมู่บ้าน

     วันศีลนี้ต่างไปจากวันศีลที่ผ่านมาสามครั้งในรอบเดือนนี้ นั่นเป็นเพราะบุญสัญจรธรรมเนียมการทำบุญแบบใหม่ซึ่งกำหนดเอาวันพระข้างแรมของทุกเดือน ที่ชาวพุทธในตำบลบ้านจันทร์นัดหมายมาทำบุญร่วมกันในหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง หมุนเวียนไปจนครบทุกหมู่บ้านในตำบล งานบุญนี้จัดต่อเนื่องมาราวปีเศษ

     วันนี้จึงเป็นวันพิเศษในรอบเดือนของชาวบ้านวัดจันทร์ ที่นอกจากจะได้ทำบุญที่วัดในหมู่บ้านแล้วยังจะได้ไปทำบุญร่วมกับชาวบ้านจากต่างบ้านทั่วทั้งตำบลที่บ้านห้วยบง ที่อยู่ห่างออกไปราว ๓ กิโลเมตรด้วย

     ทันทีที่แสงแรกแห่งวันโผล่พ้นทิวไม้ปกคลุมทั่วฟ้าบ้านวัดจันทร์ เสียงธรรมจากลำโพงบนยอดสนเงียบลงแล้ว ชาวบ้านผู้เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาก็เริ่มย่างกรายเข้าสู่อาณาบริเวณวัดจันทร์ มาพร้อมกับปิ่นโตที่บรรจุภัตตาหารที่จะนำไปถวายพระสงฆ์

     ภายในวิหารหลังน้อยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งเด็ก พ่อบ้าน แม่บ้าน และคนเฒ่าคนแก่ กลิ่นข้าวสุกหอมกรุ่นคละคลุ้งปะปนกับกลิ่นอาหารนานาชนิดไปทั่วทั้งวิหาร

     ใครมาถึงก่อนก็จะกราบพระแล้วนำข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาพระพุทธรูป จากนั้นก็จะนำข้าวสุกที่เพิ่งหุงสุกมาจากบ้านใส่บาตรที่ตั้งอยู่หน้าพระประธาน ถ่ายกับข้าวในปิ่นโตลงถ้วยชามที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ เสร็จแล้วนั่งรอเพื่อนบ้านคนอื่นๆ อีกสักครู่ก็จะถึงเวลาประกอบพิธีสงฆ์

     “...นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ...

     เสียงไหว้พระอาราธนาศีลดังแว่วมาจากวิหาร พิธีสงฆ์เช้านี้เริ่มต้นแล้ว

 ..........

     “...อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ...

     เสียงไหว้พระสวดมนต์ยังดังแว่วมาจากวิหารหลังเดิม แต่เสียงเปลี่ยนไปเป็นเสียงใสของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านวัดจันทร์กว่า ๑๐๐ คน ที่เบียดเสียดกันอยู่ภายใน

     ทุก ๆ วันศีลที่มิใช่วันหยุดเรียน นอกจากการทำบุญของชาวบ้านในช่วงเช้าแล้ว สายวันเดียวกันหลังจากการเคารพธงชาติที่โรงเรียนสิ้นสุดลงแล้ว นักเรียนก็จะเข้าแถวเดินมาวัดซึ่งอยู่ห่างเพียงบ้านสองหลังขั้นกลาง

     นอกจากเด็กนักเรียนจะได้ฝึกปฏิบัติศาสนพิธีในทางพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังจะได้รับฟังพระธรรมเทศนาจากพระนิคม  กิจฺจสาโร เจ้าอาวาสวัดจันทร์

     เด็กนักเรียนเหล่านี้รู้จักและคุ้นเคยกับท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างดี บ้างก็เคยเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ บ้างก็ได้เรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนที่ท่านได้กรุณาเข้าไปสอน บ้างก็มาร่วมทำวัตรสวดมนต์เย็นในทุกวันพระ เป็นต้น

     วันศีลข้างแรมวันนี้ หากเป็นวันปิดเทอมหรือตรงกับเสาร์อาทิตย์ พวกเขาก็จะได้ไปร่วมงานบุญสัญจรร่วมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายไปด้วย แต่วันนี้เขามีภารกิจที่จะต้องเรียนหนังสือ จึงมิอาจไปร่วมงานบุญดังกล่าวนั้นได้

..........

     ยามสายตะวันโผล่พ้นทิวไม้...

     วันนี้เป็นวันพิเศษที่ตะวันสาดแสงหลังจากหยุดมาหลายวันด้วยอำนาจแห่งวสันตฤดู เหมือนกับมีใจจะร่วมอนุโมทนาบุญที่ชาวบ้านได้ออกจากบ้านมาทำบุญที่นี่และต่อด้วยบุญสัญจรที่บ้านห้วยบงตอนสายวันเดียวกันนี้

     ใต้ร่มโพธิ์อายุนับร้อยปียืนตระหง่านอยู่หน้าวัด แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาดูร่มรื่น ร่มเงาของต้นโพธิ์เป็นที่รวมตัวของชาวบ้านทั้งพ่อบ้าน แม่บ้านและคนเฒ่าคนแก่อีกครั้ง หลังจากตอนเช้าตรู่ได้ร่วมกันทำบุญในวัด สายวันนี้พวกเขาจะเดินทางไปบ้านห้วยบง ซึ่งอยู่ห่างไปราว ๓ กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

     หากใครผ่านไปผ่านมาแถวนี้ยามนี้จะพบเห็นผู้คนแต่งชุดประจำเผ่าปกาเกอะญอที่มีสีสันสดใส พ่อบ้านใส่เสื้อสีแดงสด แม่บ้านใส่เสื้อสีดำบ้างสีน้ำเงินบ้าง หญิงสาวใส่ชุดเชวาสีขาว แต่ละคนสะพายย่ามสีสันต่างกันไป สีสันสดใสของเสื้อผ้าของหลายผู้คนตัดกับสีเขียวขจีของต้นหญ้าและใบไม้ที่แตกยอดออกใบรับฝนแรกแห่งปี ผนวกกับแสงแดดรำไรลอดผ่านกิ่งก้านสาขาต้นโพธิ์ลงมายิ่งทำให้ภาพที่เห็นดูงดงามยิ่งนัก

     รถปิคอัพบุโรทั่งวิ่งตามกันมาสองคันจากบ้านหนองแดงซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกราว ๘ ก.ม. บรรทุกชาวบ้านเกือบ ๓๐ คน เพื่อไปร่วมงานบุญสัญจรที่บ้านห้วยบง โชเฟอร์ทั้งสองจอดรถทักทายชาวบ้านวัดจันทร์ที่ยืนรอรถเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอก่อนที่จะล่วงหน้าไปก่อน

     รถปิคอัพกลางเก่ากลางใหม่สองคัน เป็นของชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งคันและอีกคันเป็นแขกเยือนจากต่างถิ่น เป็นพาหนะที่จะนำชาวบ้านไปร่วมงานบุญ

     ทันทีที่รถจอดใต้ร่มโพธิ์ ชาวบ้านเกือบ ๓๐ คนก็เบียดเสียดกันขึ้นรถจนแน่นขนัด แม้จะแออัดยัดเยียดแต่ใบหน้าแต่ละคนต่างก็เปื้อนยิ้ม ถึงจะคับที่แต่ไม่คับใจ ต่างอิ่มอกอิ่มใจที่จะได้ไปร่วมงานบุญสัญจร งานบุญที่สำคัญของชาวปกาเกอะญอแถบนี้

     แดดจ้าหน้าฝนไม่ร้อนแรงเหมือนหน้าร้อน แสงแดดอุ่น ๆ ไล่ตามรถยนต์ทั้งสองที่นำพาชาวบ้านไปงานบุญ ทิ้งฝุ่นฟุ้งไว้เบื้องหลัง

     ชั่วเวลาอึดใจยานพาหนะจากบ้านวัดจันทร์ทั้งสองคันจอดกลางลานวัดบ้านห้วยบงร่วมกับอีกหลายคันที่มาจากหลายหมู่บ้าน

     ทันทีที่รถจอด ชาวบ้านต่างลงจากรถแล้วขึ้นไปไหว้พระบนศาลาหลังใหม่ ที่สร้างยังไม่แล้วเสร็จ ศาลาหลังนี้เริ่มสร้างเมื่อราวสองปีที่แล้วโดยการนำของพระนิคม  กิจฺจสาโร ขณะที่ท่านยังจำพรรษาอยู่ที่อาศรมฯ ห้วยบงก่อนที่จะย้ายไปปฏิบัติศาสนกิจที่บ้านจันทร์

     บนศาลาหลังใหญ่ แม้จะกว้างขวางใหญ่โตกว่าวิหารวัดจันทร์มาก แต่ก็ดูคับแคบไปถนัดตา ด้วยชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเริ่มเดินทางมาถึง เมื่อมาถึงต่างก็ขึ้นมากราบพระ ถวายข้าวตอกดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย

     พระนิคม  กิจฺจสาโร กล่าวไว้ว่า ชาวปกาเกอะญอเวลาทำบุญก็จะพร้อมใจและตั้งใจกันทำ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยจะใช้ข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีพระคุณอันสูงสุดเป็นสิ่งบูชาพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพบูชา เวลาทำบุญจะมีการหว่านข้าวสาร ข้าวตอกตามพระธาตุหรือสถานที่ที่เคารพบูชา ดังบทลำนำ

    

     มาบุต่า พีลอฮือนิ   เหน่บุปกา เดอโดะเดอชิ     มาบุต่า พีลอฮือซะ   เหน่บุปกา เดอปริเดอซวา

     (ทำบุญ หว่านปลายข้าว  ได้บุญทั้งคนใหญ่คนน้อย     ทำบุญหว่านข้าวสาร  ได้บุญทั้งเล็กทั้งใหญ่)

    

     นอกจากข้าวแล้ว สิ่งของที่ชาวปกาเกอะญอมักนำมาทำบุญนั้น จะเป็นสิ่งของที่ตนเองลงแรงทำมากับมือ และถือกันว่าหากปฏิบัติเช่นนี้ก็จะได้บุญมาก ดังบทลำนำ

    

     มาบุต่า พวีลอ ฮ่อพวี   เหน่บุปกา ตือเหน่อปก่าซี     มาบุต่า พวีลอ พอกฺอ   เหน่บุปกา ตือเหน่อปก่าลอ

     (การทำบุญด้วยพืชผักที่ปลูกเอง เป็นสิ่งของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จะได้บุญอันยิ่งใหญ่ผลบุญจะติดตัวจนแก่ชราจนกระทั่งตายจากไป)

    

     เสียงทักทายของผู้คนบนศาลายังได้ยินแว่วตลอดเวลา บางคนที่สิ้นสุดการไหว้บูชาพระแล้วก็เดินลงจากศาลาพาตัวเองหายเข้าไปในหมู่บ้าน

     วันนี้พวกเขาจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนญาติและเพื่อน รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นธรรมเนียมเก๊าะปอเส่อมีเอาะเมหรือเรียกแขกกินข้าวธรรมเนียมดั้งเดิมชาวปกาเกอะญอที่จะชักชวนแขกต่างบ้านขึ้นบ้านกินข้าว หลังจากธรรมเนียมนี้จางหายไปจากหลายหมู่บ้าน

 

..........

 

หมายเลขบันทึก: 292085เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชอบศึกษา ชอบอ่าน วิถีชีวิตแบบชาวบ้านทั่วไป ได้สาระ และความรู้เรื่องที่เราไม่รู้

แต่เวลาตัวหนังสือเล็กๆ อ่านไม่ไหว...สว. ค่ะ..สว.

 

คุณครูครับ

ขออภัยครับ คราวหน้าจะทำตัวให้ใหญ่กว่านี้ครับ

ขอบคุณที่มาแวะอ่านครับ

ตัวเล็กเกินค่ะอ่านไม่ค่อยชัด

P คุณ จอยเด็กใต้
ขอบคุณครับ จะลองแก้ไขดูนะครับ

กัลยาณมิตรครับ

ขยายตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้นแล้วครับ

ขอบคุณทุกคำแนะนำครับ

  • ธุค่ะ..

น่าจะมีการรวบรวมตีพิมพ์จัดเป็นหนังสือหรือเอกสารไว้นะคะ  ^^  เพราะตัวหนังสือ  เพราะวิถีชีวิตแบบนี้ น่าสนใจมากๆ ค่ะ

 

มาอ่านบันทึกที่มีชีวิต เปี่ยมด้วยชีวา ค่ะ

มาบุต่า ให้ชาวบ้านมีสิ่งยึดเหนี่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน ... สร้างสรรค์ สามัคคี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท