หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ในจังหวัดต้นแบบ : กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง (๕)



(๕)


               ทพญ.สุมิตรา โยธา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ร.พ.เกาะคา จ.ลำปาง หนึ่งในสมาชิกของผู้เข้าร่วมประชุมทันตบุคลากรของ จ.ลำปาง นั่งนิ่งฟังการนำเสนอประสบการณ์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุอย่างมีโยนิโสมนสิการ แม้การรับรู้เรื่องราวนี้จะมิใช่คราวแรกแต่เธอก็ให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง

            ไม่เพียงการรับรู้เรื่องราวการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุภายใน จ.ลำปางเท่านั้น ทพญ.สุมิตรา โยธา ยังมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวดังกล่าวนี้จากพื้นที่อื่น ๆ จากการเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานต้นสังกัดอีกหลายครั้งคราว

            การปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชนที่คลุกคลีอยู่กับประชาชนในพื้นที่ เธอพบว่าปัญหาผู้สูงอายุเริ่มส่ออาการให้เห็นบ้างแล้ว และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมแล้วก็พบได้ว่าปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพช่องปาก การหาทางออกจากปัญหารวมทั้งการป้องกันปัญหาในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่เธอให้ความใส่ใจ การได้รับฟังแนวทางในการจัดการกับปัญหาจากพื้นที่อื่นซึ่งสามารถดำเนินการได้จริง ด้วยกระบวนการที่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งถือเป็นปีที่ ๒ ของการดำเนินงานใน จ.ลำปาง

            ปี ๒๕๕๐ เป็นปีเริ่มต้นงาน ทพญ.สุมิตรา โยธา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายทันตฯ ได้เริ่มต้นลงมือขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งได้เลือกชมรมผู้สูงอายุบ้านศิลา เป็นชมรมฯ ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง มี อ.พิสมัย ฉันทะ ข้าราชการครูเกษียณเป็นประธานชมรมฯ

            ในขณะนั้นทางชมรมฯ มีกิจกรรมช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชมรมที่เจ็บป่วย มีการรวมกลุ่มออกกำลังกาย มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในทุกวันพระ และที่สำคัญมีกิจกรรมแปรงฟันทุกครั้งหลังการออกกำลังกาย ฯลฯ

            การเริ่มต้นดำเนินงาน เป็นไปตามแนวทางที่ได้รับรู้/เรียนรู้มา คือการจัดประชุมกลุ่มให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก ตามด้วยการระดมสมองกับชมรมว่าจะขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพในช่องปากในชมรมและในพื้นที่อย่างไร จนเป็นที่มาของ “โครงการเสริมพลังผู้สูงอายุรักษ์เหงือก-ฟัน”

            ในปีแรก ทพญ.สุมิตรา โยธา จะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานร่วมกับทีมงานในฝ่ายทันตฯ และในปีถัดมางานจะถูกถ่ายโอนไปยัง ทพญ.อภิญญา สาปคำ และ พนอจิต สว่างวงศ์ โดยที่เธอยังคอยให้คำปรึกษาแนะนำอยู่อย่างใกล้ชิด

            กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุมีค่อนข้างหลากหลาย เช่น การแปรงฟันร่วมกันหลังการออกกำลังกาย การตรวจฟันในบรรดาสมาชิกผู้สูงอายุ การเข้าไปตรวจฟันให้กับเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็ก การเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากกับนักเรียนในโรงเรียน การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากแก่ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในกิจกรรมเยี่ยมบ้าน การให้ความรู้กับบรรดาลูกหลานสมาชิกในครอบครัวของผู้สูงอายุ ฯลฯ

            การขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุบ้านศิลา ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการทำงานร่วมกันของฝ่ายทันตฯ และแกนนำชมรมฯ ทำให้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจ และดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนั้นยังสามารถขยายผลความรู้ไปสู่สมาชิกคนอื่น ๆ ในชมรมฯ ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

            และในปี ๒๕๕๓ นี้ ทางชมรมได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน ๖,๐๐๐ บาท ให้มาดำเนินกิจกรรมประกวดฟันในกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน

            สำหรับการดำเนินงานของฝ่ายทันตฯ ร.พ.เกาะคา ในปี ๒๕๕๓ นั้น ได้ขยายพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้นอีก ๑ หมู่บ้านคือ บ้านแม่หล่าย โดยมีชมรมผู้สูงอายุบ้านศิลาเป็นพี่เลี้ยง

            ทพญ.สุมิตรา โยธา กล่าวถึงปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพในช่องปากของชมรมผู้สูงอายุจนประสบผลเป็นที่น่าพอใจว่า มาจากการที่มีทีมงานที่เข้มแข็ง ความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งการได้รับความรู้/ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากหน่วยสนับสนุนทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง

....................

 

หมายเลขบันทึก: 389635เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2010 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท