KM0054 : มีเวลาว่างมากนักเหรอถึงมานั่งเขียน GotoKnow


ผมคิดว่าหากย้อนไปสมัยก่อน การบอกเรื่องราวต่อด้วยการเล่า น่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการส่งต่อเรื่องราว
"มีเวลาว่างมากนักเหรอถึงมานั่งเขียน GotoKnow" ประโยคนี้เราอาจได้ยินจากคนใกล้ชิด หรือเพื่อนที่ค่อนข้างสนิท แต่หากเป็นเพื่อนที่สนิทกันมากอาจถามว่า "มึงว่างมากนักเหรอ" สั้นๆ แค่นี้แต่ก็พอเข้าใจได้ หรือบางครั้งเราอาจได้ยินจากคนอื่นที่มาเล่าให้ฟังว่า "พี่ๆ มีบางคนเขา (ออกเสียงว่า เค้า) บอกว่าสงสัยพี่ว่างมากกกกกกก" ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้มาเพราะได้ไปอ่านหนังสือของคุณประภาส ชลศรานนท์ ที่บอกว่า "คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีนิสัยชอบเขียนบันทึก" ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพราะเรื่องการเขียนนี่ผมเองก็เพิ่งมาเริ่มเขียนอย่างเกือบจะจริงจังไม่นานเท่าไหร่ (หมายถึงโดยรวมๆ ครับ เพราะก็เขียนบ้าง หยุดบ้าง เป็นไปตามอาชีพขณะนั้นซะมากกว่า) คำถามผมก็คือทำไมเป็นเช่นนั้น
ผมมานั่งลองนึกดู ตามความเชื่อและความคิดของผม ก็อาจเป็นไปได้ว่า "เนื่องจากสังคมไทยในสมัยก่อนเป็นสังคมแบบครอบครัวขนาดใหญ่" แล้วมันมาเกี่ยวอะไร ผมนึกไปถึงตอนผมเด็กๆ ถึงแม้จะเป็นเด็กที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ แต่ผมก็จำได้ว่าครอบครัวที่ผมอยู่เป็นครอบครัวที่มีทั้ง ปู่ ยา ลุง อา ลูกของลุงและป้า เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ก็ว่าได้ สิ่งที่ผมชอบมากในตอนเด็ก คือ ให้ปู่หรือย่า เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ สมัยต่างๆ ทั้งสมัยก่อนที่ปู่หรือย่าจะเกิด (เข้าใจว่าปู่และย่าก็คงฟัง พ่อหรือแม่ของปู่และย่า หรือ ปู่ของปู่ หรือ ตาของย่า ฯล เล่าต่อมา) เรื่องแบบนี้ยิ่งฟังยิ่งสนุก พร้อมๆ กับสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างไม่รู้ตัว ไม่มีเด็กหรือหลานคนไหนที่จะบอกว่า "ปู่ครับวันนี้ขอให้ปู่เล่าเรื่อง...........หน่อย ผมจะจดบันทึกครับ" ปู่คงทำหน้าแปลกๆ และคิดว่าจะเล่ายังไงดี ความสนุกหรืออรรถรสในการเล่าคงหมดไป หรือเวลาย่าทำกับข้าวให้เรากิน ตอนนั้นหากนั่งจดว่าใส่อะไรเท่าไหร่ ต้มกี่นาที ใช้ไฟแรงแค่ไหน ป่านนี้ผมคงมีสูตรทำกับข้าวเยอะแยะไปหมดแล้ว
ปัญหาคือ แล้วหลังจากปู่เล่าจบแล้วทำไม่เราไม่บันทึกไว้ คำตอบคือ ไม่มีใครสอน หรือ ทำให้ดูเป็นตัวอย่างครับ ผมไม่ได้คิดโทษคนอื่น แต่ตอนนั้นผมเป็นเด็กครับ หากไม่มีใครสอนหรือทำให้ดูก็ยากที่เด็กจะรู้ว่าควรทำเช่นไร
ทั้งหมดนี้เป็นการยกตัวอย่างครับ ว่านี่ขนาดคิดไปไม่ไกลจากปัจุบันมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าหากย้อนไปสมัยก่อน การบอกเรื่องราวต่อด้วยการเล่า น่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการส่งต่อเรื่องราว เพราะสังคมไทยสมัยก่อนเป็นสังคมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน เลยทำให้คิดว่าอยากจะรู้อะไรก็ถามกัน มีผู้รู้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งก็คือพระทีวัด เป็นต้น ทั้งหมดนี้อาจเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการไม่ค่อยชอบเขียนบันทึกสำหรับคนไทย (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)
นอกจากนี้นิสัยคนไทย ไม่ค่อยชอบอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก "ทำตามๆ กันไป เถอะ น่าจะดี" หรือ "ทำแบบที่คนส่วนใหญ่เขาทำกันเถอะ" เราคงเคยได้ยินคำนี้บ่อย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครคนหนึ่งในสังคม หรือองค์กร ลุกขึ้นมาเขียนอะไรต่อมิอะไร ซึ่งปกติไม่มีใครค่อยทำจึงมักถูกถามว่า "มีเวลาว่างมากนักเหรอถึงมานั่งเขียนโน่นเขียนนี่"
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 429832เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2011 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

เขียนเถอะครับ...เขียน

การเขียนเป็นการพัฒนาทั้งตัวเอง รวมถึงองค์กรด้วย

คนทำงานที่ใช้พลังส่วนหนึ่งไปกับการเขียนถือว่าเป็นความเสียสละเเละสร้างคุณูปการต่อองค์กรไปด้วยครับ

อย่างที่คุณคิดคมได้เขียนมาครับ การบันทึกถือว่าเป็นการจัดการความรู้ที่ชัดเจน รวมไปถึงการใช้ความรู้ที่บันทึกไว้เป็นต้นทุน ในการขับเคลื่อนองค์กรต่อ..

ผมเขียนงานเริ่มต้นปี ๔๗ เขียนจริงจังเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน บอกได้ว่า "การเขียน" ทำให้ผมเติบโตครับ ...

ให้กำลังใจครับ

สวัสดีครับคุณ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร เห็นด้วย เขียนเถอะครับ เขียน ผมก็กำลังส่งต่อแนวคิดนี้ไปให้คนรอบข้างครับ โดยการทำให้ดู และสอนให้ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยได้รับตอนเด็กๆ จริงๆ ไม่ได้ท้ออะไรหรอกครับ เพียงแต่พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุครับว่าเป็นเพราะอะไร อะไรคือปัจจัยเห่งเหตุ ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

ผมไปทำ workshop หลายเเห่ง เพื่อกระตุ้นให้คนเขียน หรือ มีกิจกรรมใดก็ตามที่ทำให้วงจรการจัดการความรู้ได้ไหลไป..

ปัญหาก็คือ "คนไม่ชอบเขียน" นี่เป็นปัญหาหลัก พอไม่เขียน องค์ความรู้บางอย่างก็ขาดหายไป ตรงนี้ถือว่าเป็นความสูญเสียมหาศาลไปด้วย

อีกไม่กี่วัน ผมจะทำเวทีเรียนรู้กับผู้บริหารการศึกษาพิเศษครับ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่คุณคิดคมเขียนมา...โจทย์ก็คือ เครือข่ายการศึกษาพิเศษที่มีพัฒนาการเติบโตเรื่อยมาในสังคมไทย เเต่ไม่มีระบบการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ เราจะสร้างกระบวนการเหล่านั้นได้อย่างไร...

ก็จะไปเปิดวงช่วยกันขบคิดครับ

สวัสดีค่ะคุณคิดคม  สเลลานนท์ เป็นคนหนึ่งค่ะที่มีเวลาว่างมาก เลยนั่งเขียนประสบการณ์ต่างๆเป็นการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ค่ะ

สวัสดีครับ มาสนับสนุนให้ท่านเขียนครับ ยิ่งเขียนบ่อยๆก็ยิ่งดี อย่างน้อยการที่เราได้บันทึกอะไรไว้ วันดีคืนดีอาจหลงลืมไป บันทึกนั้นจะช่วยเราได้แน่นอน

ตามความคิดผม สมองไม่ได้มีไว้จำ สมองมีไว้สำหรับคิด ถ้ากลัวว่าจะลืมก็คงต้องจดต้องบันทึกกันละครับ

สวัสดีครับ ดร. พจนา - แย้มนัยนา เมื่อเริ่มคิดที่จะเขียนก็ไม่ว่างแล้วครับ ขอบคุณที่เป็นแบบที่ดีคนหนึ่งครับ

สวัสดีครับ ลุงชาติ เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่งครับ

  • ตามมาเชียร์การเขียน
  • นึกว่าโดนถามคนเดียว
  • จริงด้วย บ้านเราไม่ค่อยได้เขียน
  • เขียนอะไรก็ได้ที่มีความสุข เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆครับ
  • การเขียนเป็นการลำดับความคิด การวางแผนอย่างมีระบบ
  • ว่าแล้วก็เอาเรื่องมาฝาก
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/428208
  • 555
  • ได้ผลทันที 555

สวัสดีครับคุณ ขจิต ฝอยทอง ผมก็เป็นแฟนข้อเขียนคุณคนหนึ่งครับ จากประเด็นนี้สงสัยผมต้องต่อตอนที่ 2 ซะแล้ว ครับ

โดนใจมากเลยค่ะ
เป็นคำถามที่ครูแอ้ก็เจอบ่อย ๆ และก็ได้แต่ส่ง "ยิ้มหวาน" กลับคืนไป
แต่ก็มีบางคนที่ถามว่าทำอะไร และในที่สุดคนนั้นก็มาเป็นสมาชิก Gotoknow
แลอื่น ๆ ที่เขาสนใจ

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ขจิต ฝอยทอง เป็นที่สุด
และสิ่งที่ทำได้ก็คือพยายามหาวิธีการหรือใช้คะแนน
เป็นแรงจูงใจฝึกให้นักศึกษาได้เขียน
และอธิบายถึงประโยชน์ของการเขียน
จนนักศึกษาบางคนก็เริ่มเขียนและเห็นความสำคัญของการเขียน
เพราะเขาเริ่มเห็นความสำคัญของการเขียนเมื่อสอบแบบอัตนัย
และการจัดลำดับของข้อมูลเมื่อต้องไปสอบสัมภาษณ์นอกสถานศึกษา

แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะจัดการเวลาในการเขียนได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
เพราะเหตุผลของการเขียนของแต่ละคน
หรือจะเรียกว่าเป็นแรงจูงใจในการเขียน
ย่อมแตกต่างกันและน่าจะมีส่วนสำคัญใช่มั้ยคะ

สวัสดีครับ ครูแอ้ ในสถานศึกษาก็อาจแก้ปัญหาได้บ้าง ถึงแม้ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการให้คะแนน แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามต้องระวังว่าเด็กบ้างคนอาจฝังใจว่าโดนบังคับแล้วพาลไม่ชอบเอา ส่วนในที่ทำงานที่สิครับ ผมยังนึกกลวิธีไม่ค่อยออก ใครพอมีวิธีลองช่วยแบ่งปันบ้างนะครับ

ฮี่ๆๆ มาด้วยข้อความโดนใจจริงๆ  เถอะน่ะถามกันจังว่า " ชอบเจาะแจะมากเหรอจึงมีบล็อกก่ะเค้า"  ว้ายๆๆ ตายๆๆๆ นู๋ก็ยิ้มว่าเปิดโลกทัศน์ให้สายตาและ "อ่องออ" (คำเมืองเหนือ)จะติดตามตอนต่อไปค่ะ  ชอบๆๆ

สวัสดีครับคุณ Rinda นานาจิตตังครับ

สวัสดีค่ะ

ไม่ได้มีเวลาว่างมากนัก  แต่มีเวลา ที่จะเขียน เพราะบล็อกของ ครูอ้อยคือชีวิต  ไม่ว่า จะเป็นเรื่อง ครอบครัว  การศึกษา การบ้าน  การเมือง  เขียนไปได้ทุกเรื่อง  ไม่ได้สนใจว่า ใครจะอ่าน เขียนแล้ว ก็อ่านเอง ยิ้มยิ้ม กับตัวเอง ช่างมีความสุขดี นะคะ

สวัสดีครับ ครูอ้อย แซ่เฮ ถูกต้องแล้วครับ สุขหรือทุกข์ จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ใจของเราเองครับ

". . ตอนเย็นๆ นั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน" . . เห็นภาพเลยครับเพราะในสมัยที่ผมเป็นเด็กนั้นเป็นอย่างที่คุณคิดคมเขียนไว้จริงๆ . . ซึ่งค่อนข้างต่างจากตอนนี้ ที่ในบ้าน (ผม) แต่ละคนนั่งอยู่หน้าเครื่อง (ทีวี คอมพิวเตอร์) กันคนละเครื่อง. .

เห็นด้วยครับว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบพูดจามากกว่าชอบเขียนครับ . . แต่จากประสบการณ์ (อีกเช่นกัน) ผมว่าการเขียนเป็นการจัดระบบความคิดที่ดีมาก . . แวะมาให้กำลังใจ เขียนต่อไปครับ อย่าไปสนใจอะไรกับเสียงนกเสียงกาเลย  

สวัสดีครับ

ขอยืมคำท่านอาจารย์ประพนธ์ มาตอกย้ำ มาให้กำลังใจว่า .. เขียนต่อไปเถอะครับ อย่าไปสนใจอะไรกับเสียงนกเสียงกาเลย 

สวัสดีครับ อ.ประพนธ์ ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ ที่เขียนหัวข้อนี้ก็ไม่ได้หมดกำลังใจหรอกครับ แต่ต้องการสะท้อนและพยายามหาเหตุผลที่คนเราไม่ค่อยชอบเขียนครับ

สวัสดีครับ อ.พินิจ ตามที่อาจารย์ว่าครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท