การฝึกวินัยให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เป็นของขวัญที่ดีทั้งกับตัวเด็กเองและสังคม


ทำมาแล้วและเห็นผลดี จึงบอกต่อค่ะ

เปิดเทอมใหม่อีกแล้ว ยังจำความประทับใจที่มีต่อลูกชายโต 2 คนสมัยที่เขาอยู่อนุบาลได้อยู่ว่า เช้าขึ้นมาพี่วั้นและน้องเหน่นในวัยเพียง 5-6 ขวบจะตื่นขึ้นมาก่อนคุณพ่อคุณแม่ อาบน้ำแต่งตัวเอง (คุณแม่จะแขวนเสื้อผ้าเตรียมไว้ให้) แล้วก็นั่งดูทีวีรอคุณพ่อคุณแม่ตื่นมาทำอะไรให้ทาน หรือบางครั้งก็จะถามกันไว้ก่อนเลยว่าพรุ่งนี้อาหารเช้าเป็นอะไร ถ้าทานเองได้ก็จัดการเองได้เลย เป็นเรื่องที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าลูกเก่ง แต่พอเราได้ยินว่ามีแต่คนต้องเข็นลูกให้ตื่น ลากให้แต่งตัว เร่งให้ทำนั่นทำนี่ จึงทำให้รู้สึกว่า ลูกเราดีจัง

จะว่าไปสิ่งเหล่านี้มีที่มาที่ไปค่ะ และเชื่อว่าแนวทางนี้เป็นสิ่งที่ดีกับลูกหากเราให้เขาตั้งแต่ยังเล็กๆ เรา 2 คนจะเห็นเหมือนกันว่าในวัยที่ลูกยังเล็กยังคิด ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้มากนั้น เราจะมีกรอบให้ลูกเป็นอย่างมาก เราจะค่อนข้างบังคับในเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นลักษณะนิสัยที่ดี ให้ลูกทำจนติดเป็นนิสัย เช่น เราจะให้ทานอาหารเป็นที่ เป็นเวลา เรา 2 คนไม่เคยต้องตามป้อนข้าวลูก เราจะสอนให้ลูกทานข้าวให้หมดจาน ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทานหมดให้บอกตั้งแต่แรก หากตักเองก็ให้เริ่มจากน้อยๆที่มั่นใจว่าทานได้หมดเสียก่อน  ให้นอนแต่หัวค่ำ ให้รู้จักรับผิดชอบตัวเองเท่าที่จะทำได้ในแต่ละวัย กรอบเหล่านี้เป็นไปอย่างเคร่งครัดแต่อยู่บนพื้นฐานของความสามารถของลูกด้วย และเราทำเป็นตัวอย่างเสมอ

เมื่อเขาเริ่มคิดเองได้ เราจะเริ่มค่อยๆปล่อยขึ้น โดยบอกเหตุผลว่าสิ่งที่เรายังรักษากฎกันนั้น เพราะอะไร ถ้าลูกอยากจะทำสิ่งที่ต่างออกไปก็คุยกันได้ และถ้ามีเหตุผลดีก็สามารถจะเปลี่ยนกฎได้ เช่น ลูกอยากดูทีวีบางรายการที่เกินเวลานอน ก็ต้องรับผิดชอบตื่นให้ได้ทันเวลาในวันถัดไป หากทำไม่ได้ครั้งต่อไปก็อด

สิ่งต่างๆที่เราฝึกหัดเขาในวัยเด็กนั้น ติดตัวพวกเขามาจนโตอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งสามหนุ่มจะเป็นคนที่มีเหตุผล รู้จักรับผิดชอบตัวเองได้ดี เราพ่อแม่ก็ยังคงชื่นชมลูกเมื่อเขาทำสิ่งดีๆ ยืนยันให้ลูกรู้ว่าเรามองเห็น เชื่อว่านี่คือวิธีที่ดีในการอบรมเด็กๆค่ะ หากเราปล่อยเขาตามสบายในวัยที่เขายังคิดเองไม่เป็นมากนัก แล้วจะมาตั้งกรอบตั้งกฎเอาในยามที่เขาโตคิดได้เองเป็นแล้วนั้น หากเขาไม่ได้เป็นเด็กที่มีธรรมชาติติดตัวมาดีอยู่แล้วละก้อ น่าจะลำบากกันทุกฝ่ายนะคะ แต่วิธีที่เราใช้นี้ น่าจะได้ผลดีกับเด็กทุกๆแบบค่ะ  

ใครมีเทคนิคดีๆในการอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน น่าจะนำมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันนะคะ เรื่องพวกนี้หากเราช่วยๆกัน อนาคตของบ้านเมืองเราก็จะสวยงามแน่นอนค่ะ

หมายเลขบันทึก: 97093เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
คุณโอ๋ อโณคะ อ่านเรื่องราวของสามหนุ่มสามมุมแล้ว รู้สึกชื่นชมมาก ดิฉันเองส่วนใหญ่เลี้ยงลูกเอง (คุณพ่อทำงานคนละจังหวัด)เมื่อเขาเด็ก ๆ ต้องมีพี่เลี้ยงเพราะเราต้องไปทำงาน การมีพี่เลี้ยงที่รักลูกเราก็ดีไปอย่าง แต่ก็ไม่ดีอีกหลายอย่าง พี่เลี้ยงคนนี้นิสัยดี ซื่อสัตย์ ขณะเดียวกันก็ตามใจลูกเรา โดยมักจะบริการเด็ก ๆ จนเคยชิน (แกเคยบอกยินดีทำเพราะรัก) ซึ่งบางอย่างขัดกับความเชื่อของเราที่ต้องการให้ลูกพึ่งตนเองให้มากเท่าที่จะทำได้ พอโตเข้าโรงเรียนเราจึงได้เลี้ยงเองอย่างเต็มที่ จึงต้องปรับตัวกันมากเช่นกัน อาจไม่แลกเปลี่ยนเทคนิคดี ๆ อย่างที่คุณโอ๋ต้องการ แต่ขอแลกในความเป็นจริงที่เกิดกับตัวเองค่ะ ขอบคุณค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณโอ๋มีแนวคิดในการเลี้ยงลูกแบบดิฉันเลย มีลูกชายคนเดียว ทุ่มเทมาก แต่ไม่หลง มีสติดีอยู่ค่ะ จะสนับสนุนลูกในสิ่งดีทุกสิ่ง แต่มีกรอบกติกาในสิ่งที่ควรมี เขาเป็นเด็กดีมาจนโต วันที่เขาเรียนจบปริญญาโท เขานอนไม่หลับ คิดถึงแม่ โทรมาจากอเมริกา บอกว่า รักแม่ที่สุดในโลก ที่เขามีวันนี้ได้ เพราะแม่ดูแลอบรมมาดี น้ำตาไหลเลยค่ะ เขาเป็นเด็กกตัญญู มาวันนี้ มีหลานเล็กๆ เขาบอกว่า จะเลี้ยงลูกเขาแบบที่ แม่เลี้ยงเขามาค่ะ ยินดีด้วย ที่ลูกๆคุณโอ๋น่ารักทุกคน ทำบุญมาดี ได้ลูกดีค่ะ ลองดู วิธีที่ดิฉันจะเลี้ยงหลานค่ะ แลกเปลี่ยนกันค่ะ http://gotoknow.org/blog/goodliving/83591

คุณ goahead ประชาสัมพันธ์ได้ดีจังค่ะ แต่น่าจะไปแปะตรงที่เป็นบล็อกเกี่ยวกับภาษาอังกฤษจะได้ตรงเป้าหมายกว่านะคะ แวะไปเยี่ยมแล้วค่ะ

ขอบคุณคุณ oddy ที่มาแลกเปลี่ยนกันค่ะ เราคงต้องเป็นคนสร้างวินัยและช่วยสอนพี่เลี้ยงอีกทีด้วยนะคะ ต้องบอกเหตุผลเค้าด้วย เค้าคงจะยิ่งภูมิใจถ้าทราบว่า การสอนให้น้องทำเป็น ทำได้โดยมีเค้าช่วยจะยิ่งเป็นผลดีต่อน้องในอนาคตด้วย คุณแม่คุณพ่อที่มีพี่เลี้ยงช่วย ก็คงจะอบรมลูกได้ด้วยการอบรมพี่เลี้ยงให้เข้าใจก่อนด้วยค่ะ

ตามไปอ่านบันทึกนั้นของคุณ sasinanda แล้ว เยี่ยมมากๆค่ะ แต่ลิงค์ข้างบนไม่ไปถึงค่ะ เลยทำไว้ตรงนี้ด้วย ขอแนะนำใครที่แวะมาอ่านบันทึกนี้แล้วยังไม่ได้อ่านบันทึกคุณ sasinanda ให้แวะไปนะคะ วิธีที่พิสูจน์แล้วด้วยหนุ่มใหญ่ลูกหนึ่งค่ะ แต่สังเกตจากจำนวนคนอ่านบันทึกต่างๆของคุณ sasinanda ก็บอกได้เลยค่ะ คงมีคนได้ประโยชน์มากมายแล้วล่ะค่ะ น่าดีใจ

อ่านบล็อกนี้ ตั้งใจจะ เพิ่มความคิดเห็น แต่ก็ขัดด้วย อยู่ที่ทำงาน พิมพ์ ภาษา อังกฤษ ไม่ได้ ค่ะ

มาคิดถึง บล็อกนี้ เพราะอ้างถึง ตอนแนะนำให้อาจารย์ ประเสริฐ

P

คุณ พ่อ น้องต้นหลิวมาอ่าน

อ่านแล้ว อยากยืนยันค่ะ ที่อาจารย์ เขียน เป็นอย่างนั้น จริงๆ

และจะต้องเรียน อาจารย์ โอ๋ ว่า สิ่งที่อาจารย์ เขียน พี่รวิวรรณ ก็ ปฏิบัติ แทบเรียกได้ว่าเหมือนกัน ราวกับ ทำสำเนากันมาแนะค่ะ

มีครั้งหนึ่งที่สรรพสินค้า  บอกให้ลูกชาย น้ำหนับ (นน2)

ให้หนับต่อคิวจ่ายเงิน แถวนู้นนะ แม่จะต่อแถวนี้ จะได้จ่ายเงิน แล้วรีบไป

เขาบอกว่า

แม่อย่าทำอย่างนี้เลย  รอ หน่อยไม่เป็นไร หรอก ดีกว่า เอาเปรียบ คนอื่น เอาตั้ง 2 คิวแนะ

 ลูกๆ เขาจะไม่เอาเปรียบคนอื่นค่ะ   รู้สึกว่าเขายอมให้คนอื่นได้เปรียบ ไม่แก่งแย่ง ไม่ชิงดี ชิงเด่น

   แต่สังเกตุว่าเขาไม่เสียเปรียบนะคะ  เขาได้กลับมาเยอะกว่าที่เสียไปอีก

คือพบว่า ใครๆ ก็รักเขา และเชื่อในความดี ความซื่อสัตย์ อดทน แน่นอน  ไม่เกเรของเขา  ค่ะ

 

 

คุณหมอหน่อยคะ ชอบใจพระเอกน้ำหนับจังค่ะ ดีใจที่วิถีปฏิบัติแบบนี้ได้รับการพิสูจน์นะคะ การเห็นตัวอย่างที่ดีเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่าการพูดด้วยปากมากมายค่ะ ชื่นใจแทนคุณหมอหน่อยจังเลย น้อง"นน2 "อยากเป็นหมอด้วยไหมคะ คงจะเป็นคุณหมอที่น่าชื่นชมเหมือนคุณแม่แน่นอนเลย

ขอบคุณสำหรับความเห็นนี้ที่คงจะทำให้มีความสุขได้ทั้งวันแน่เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท