๔.บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ : ร.พ.นาโยง (๔)


การเดินทางร่วมกัน

            การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพวกเราทีมจังหวัดตรัง  หนึ่งในเก้าของจังหวัดต้นแบบ  ที่มีสมาชิกจากโรงพยาบาลนาโยงคือทันตแพทย์และทันตาภิบาล  ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรี  ตัวแทนชมรมผู้สูงวัย  ได้เล่าถึงเบื้องหลังของความสำเร็จที่เริ่มต้นมาจากการกระทำด้วยจิตสาธารณะหรือจิตวิญญาณของวิชาชีพ  สู่โครงการผู้สูงอายุถ่ายทอดประสบการณ์สอนลูกหลานรักฟัน และเติบโตสู่การเป็นโครงการพัฒนาเครือข่าย 

         ทัศนคติอันเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับชาวบ้านหรือคนในชุมชน  เมื่อครั้งเริ่มลงภาคสนามครั้งแรก ๆ คือชาวบ้านมีความเชื่อฝังใจว่าเรื่องของฟันเป็นเรื่องธรรมชาติ  “ป้าหรือลุงแก่แล้ว ไม่เปลี่ยนไม่ถอนมันหรอก ปล่อยให้มันหลุดเองตามธรรมชาติ”  หรือไม่เห็นความสำคัญของการใส่ฟันเทียมฟันปลอมจะเชื่อว่า “ป้าหรือลุงไม่ใส่หรอกฟันปลอม รำคาญ รักษายาก”  และที่สำคัญและน่าเห็นใจที่สุดก็คือ “พวกเขาอ้างว่าไม่มีเวลาว่างพอที่จะมาใส่ใจ  ต้องออกไปทำมาหากินค่ะ”  คำบอกเล่าเหมือน ๆ กันจากทุกคน

           การแก้ปัญหาเชิงรุกทำได้โดยสร้างแรงจูงใจหลากหลายรูปแบบ  อันได้แก่การไปพูดคุย หาจังหวะอธิบาย  วันแล้ววันเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า “คือ..พวกหนูต้องเข้าไปกันบ่อย ๆ ค่ะไปจนกว่าชาวบ้านจะเข้าใจค่ะ” ทันตภิบาลสองท่านช่วยกันบอกด้วยท่าทางแข็งขันและยืนยันด้วยแววตาว่ามุ่งมั่น  “และ...บางเวลาเราต้องไปช่วยเหลือและสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านเมื่อเขามีงานส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ต้องไปร่วม  เพื่อให้เขาไว้วางใจค่ะ”  เก็บความรู้สึกจากการที่ได้รับฟังและทำให้มองเห็นความตั้งใจจริงในการฟันฝ่าอุปสรรค

           ภายหลังเมื่อได้ดำเนินโครงการฯ แล้ว จะพบปัญหาเรื่องเวลา  เพราะเวลาของกำหนดในแผนปฏิบัติงานไม่ตรงกับเวลาว่างของชาวบ้าน  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพไม่แน่นอนทำไร่ ทำนา ทำสวนและค้าขายหรือรับจ้าง  ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต  “บางวันนัดเขาแล้วเขาลืมบ้างและเจ็บป่วยหรือมีกิจธุระกะทันหันก็มี”  สำเนียงเสียงแหลงใต้ของคุณป้าสุคนธ์  ที่เล่าด้วยความเต็มใจ  จ้องหน้าครูคิมขอเวลาที่อยากจะเล่าตลอดเวลา  แม้ว่าจะฟังไม่เข้าใจทั้งหมดแต่ก็พอจับใจความได้อย่างนี้  เมื่อพบปัญหานี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องทำการนัดหมายเวลากับชาวบ้านเป็นการล่วงหน้าหลาย ๆ วัน และได้ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานให้ตรงกับเวลาว่างของชาวบ้าน  ถือเวลาที่ชาวบ้านว่างเป็นสำคัญ

            สถานที่เป็นปัญหาสำหรับการเดินทางของชาวบ้าน  เพราะถ้าหากไกลเกินไป  ชาวบ้านเดินทางลำบาก และทำให้เสียค่าใช้จ่าย  จะต้องหาสถานที่ใกล้ ๆ กับชุมชนและสะดวกต่อการเดินทาง  ประหยัดค่าใช้จ่าย “ป้าไปชวนเขา  เขาจะต้องถามก่อนว่าจัดกันที่ไหนหากไปไกลก็จะไม่ไปค่ะ”  เสียงจากป้าเรียมประธานกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี  พูดเสริมขึ้น “ป้าไปชวนใครเขาก็ไม่อยากจะสนใจ แต่ป้าก็สู้ค่ะ ไม่มีใครทำป้าก็จะทำคนเดียว และทำไปเรื่อย ๆ ช่วยคุณหมอค่ะ  เพราะป้าทำแล้วมีความสุขค่ะ” เสียงที่มาจากการเปิดใจของป้าสุคนธ์ 

          ปัญหาอีกด้านหนึ่งคือจำนวนบุคลากร  เริ่มแรกจะมีจำนวนบุคลากรน้อยเฉพาะที่รับผิดชอบตามหน้าที่  ภายหลังได้ขอความร่วมมือจากสาธารณสุขอำเภอ  อาสาสมัครหมู่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล “ได้รับความร่วมมือจากการที่ไปติดต่อทีละคนสองคน  จนเมื่อเขาเห็นว่าเราทำจริงก็เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”  ทันตาภิบาลสาวสองท่านช่วยกันกล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงที่บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

        การเปลี่ยนผู้บริหารเมื่อครบวาระ อันเป็นปัญหาขององค์กรปกครองท้องถิ่นเช่นการเปลี่ยนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามวาระ  ทำให้นโยบายไม่สอดคล้องกันและไม่เข้าใจความเป็นมาของโครงการต่อเนื่อง  “ถือเป็นปัญหาแต่เป็นเรื่องไม่ยากนักต่อการชี้แจงและเล่าความเป็นมาของการดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ต้น  และไม่มีโครงการใดเลยที่ไม่สนองรับ  เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรีมีนโยบายเพื่อสุขภาพของผู้สูงวัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว  ครับผม”  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรีได้ให้คำยืนยันหนักแน่นในความเข้มแข็งขององค์กร  ทิ้งท้าย “ผมถามจริง ๆ เถอะพี่คิม เขาถอดบทเรียนเอาไปทำไมครับ”  เมื่อเราทำความเข้าใจอันดีกันแล้ว  ทำให้วง (ไร้น้ำชา) ของเราเป็นไปอย่างราบรื่นและมีเรื่องเล่าบอกกันมากมาย ลืมพักลืมเบรคไปเลยก็มี

         สำหรับป้าสุคนธ์และป้าเรียม  ใช้ความพยายามทุกโอกาสได้พูด ได้คุยและได้บอกกล่าวกับทุกคนทั้งในเวลาและนอกเวลา  เสียงจากใจของคุณป้าทั้งสองบอกว่า “พวกป้าเข้าไปในโรงเรียนครั้งแรกเด็กวิ่งหนีและกลัว  เด็ก ๆ สงสัยว่าป้าเป็นแม่บ้านไม่ใช่ครูจะมาสอนได้อย่างไร  เมื่อลงไปทำงานร่วมกับคุณหมอบ่อย ๆ ได้มีโอกาสพูดกับเด็กจนคุ้นเคย  ทำให้เด็กเข้าใจบทบาทของป้ามากขึ้น ป้าภูมิใจค่ะ

           งบประมาณนับเป็นปัจจัยที่จะขาดไม่ได้ในการดำเนินงานทุกงาน ทุกกิจกรรม  ซึ่งงบประมาณที่ได้รับมากหรือน้อยก็พยายามบริหารการใช้อย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทันตาภิบาลกล่าวถึงงบประมาณว่า “งบประมาณที่ได้รับจาก สปสช.เพื่อดำเนินโครงการฯ นี้และมี อบต.ช่วยสนับสนุนตามที่เราขอไปก็จะได้รับการดูแลทุกครั้ง  หากไม่ถือเป็นปัญหาก็ไม่เป็นค่ะ” 

           กระบวนการทำงานนับเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ  เนื่องจากแผนปฏิบัติงานโครงการทับซ้อนกับงานประจำ  ซึ่งทันตแพทย์หญิงของโรงพยาบาลนาโยงเล่าว่า “ตอนแรกก็วุ่นวายสับสนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง  เพราะงานประจำเป็นหน้าที่ตามระเบียบราชการ  ส่วนงานโครงการฯ แม้จะมาทีหลัง แต่ก็ทอดทิ้งไม่ได้ อย่างไรก็ต้องทำให้ได้”  การรับฟังคุณหมอได้สร้างบรรยากาศซึมลึกลงไปในจิตสำนึกหน้าที่ความรับผิดชอบและความตั้งใจจริงของผู้มีอุดมการณ์  “ในที่สุดเราก็ต้องปรับรูปแบบการทำงาน เรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรม” คุณหมอกล่าวเพิ่มเติมบทสรุป

          ป้าสุคนธ์ตัวแทนผู้สูงอายุและเป็นแกนนำรุ่นบุกเบิกพร้อมกับป้าเรียม  กล่าวด้วยสำเนียงเสียงแหลงใต้เช่นเคย คราวนี้น้ำตาคลอ “ตอนแรกป้าไปบอกชาวบ้าน และเด็ก ๆ เรื่องการรักษาฟันเขาไม่เชื่อป้า  ภายหลังเมื่อเจอเด็ก ๆ เขาบอกป้าว่าฟันเขาดีแล้วไม่ผุ ไม่กินขนมหวาน และแม่บ้านบางคนเข้ามาร่วมโดยไม่ต้องบอกก็มี”  ทันตแพทย์หญิงกล่าวเสริมว่า “เพราะเราทำจริง สัมผัสและแตะต้องได้  ไม่ล้มเลิกกลางคัน”  ส่วนทันตาภิบาลกล่าวย้ำว่า “เมื่อมีปัญหาเราหันหน้าเข้าหากันค่ะ เราไม่ทอดทิ้งกันค่ะ”  มาถึงตอนนี้คุณหมอคงไม่ได้เดินคนเดียวแล้ว  แต่กลับเดินไปพร้อม ๆกันกับคนหลายกลุ่มในเส้นทางเดียวกัน

          การที่จะได้มาซึ่งผลผลิตของการดำเนินโครงการฯ ใด ๆ แม้ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม  จะต้องมีองค์ประกอบของการดำเนินงานด้านสภาพบริบทแวดล้อม  ด้านปัจจัยป้อน และด้านกระบวนการ  ดังที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยกันถ่ายทอดอย่างเป็นขั้นตอน ครบถ้วนของการได้มาซึ่งข้อสนเทศ  เพื่อนำไปสู่การพัฒนา

         การแสดงออกของเจ้าหน้าที่ทันตบุคลากร  มีส่วนผลักดันและจูงใจทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้ ความเข้าใจ มีความตระหนักในจิตสำนึกของการดูแลสุขภาพปากและฟัน โดยการสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านนั้น  นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมงานกับชุมชน เพราะทำให้ชาวบ้านเกิดความไว้วางใจ ที่จะทำงานร่วมกัน  โดยวิธีการที่ช่วยให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจและไว้วางใจ อันเป็นการแสดงออก ถึงความจริงใจ ที่ต้องการดูแลสุขภาพของชาวบ้าน อย่างสม่ำเสมอและไม่ละเลยทอดทิ้ง  รวมทั้งการเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ชุมชน เป็นการเพิ่มสมรรถนะ (enabling) ให้กับชาวบ้าน สามารถควบคุมสภาวะสุขภาพปากและฟัน สามารถจัดการสิ่งแวดล้อม รู้จักคิด  รู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน .....  ในการสร้างโอกาสเพื่อนำไปสู่ความฝันใหม่

        การเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนเป็นการสะสมความรู้ และประสบการณ์ จากการปฏิบัติจริง (learning by doing) เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ (interactive learning process) จะเห็นได้จากการเล่าตั้งแต่ การวางแผน การเขียนโครงการ การสร้างทีมงาน จัดทำแผนปฏิบัติงาน ดำเนินงานควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา

       การสะท้อนความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วมในครั้งนี้  เพื่อเป็นการจัดเก็บข้อมูลย้อนกลับ ในการปรับปรุงพัฒนาโครงการ ฯ  ทำให้รับทราบความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วมหรือการมีส่วนได้เสีย (steakholder) ซึ่งมีความสำคัญและมีส่วนสนับสนุนองค์กรและชุมชน ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป

 

ป้าเรียมและป้าสุคนธ์ : ตัวแทนผู้สูงวัย ผู้ทุ่มเทกายและใจ

 

หมายเลขบันทึก: 387368เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

เก่งจัง ...

คำปันยังไม่ได้ลงมือเลยเลย เยี่ยมมากๆพี่คำเอ้ยเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเเล้ว

สวัสดีค่ะคำปัน

กลับมาอ่านใหม่ดิน้องคำปัน  ตอนนี้บันทึกสมบูรณ์แล้วค่ะ  ไม่สามารถลงภาพได้  เพราะอยู่ที่โรงเรียน สัญญาณไม่เอื้ออำนวยค่ะ

พี่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ นับเป็นงานที่ยาก แต่คุ้มค่ามากค่ะ..

  • อ่านแล้ว เห็นเนื้อเห็นหนังเลยค่ะ ครูพี่คิม
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ครูคิมมาอ่านก่อนค่ะ จะรอชมภาพต่อไปนะคะ บันทึกได้สุดยอดเลยนะคะ กะจะโชว์เสื้อจิตอาสา แต่ รอไปก่อน อิอิ ทำสวยแล้วจะมาทักทายค่ะ นำบัวงามมาให้พี่ชมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ค่ะเป็นงานยาก และน่าสนใจทำมากค่ะ  นับเป็นโอกาสดีที่ได้รับใช้คุณหมอนนทลีค่ะ

ขอขอบพระคุณสำหรับกำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอเพื่อนร่วมทาง

ขอขอบคุณค่ะ  ดูเหมือนจะข้ามไปบ้าง  อ่านตรงไหนขาดก็พยายามเพิ่มเติมค่ะ หากมากไปก็ยกไปตั้งเรื่องใหม่ ตอนใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องRinda

เปลี่ยนภาพเสียจนจำไม่ได้ค่ะ  ขอขอบคุณที่แวะมาอ่าน  ช่วยติติงได้นะคะหากอ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจ  พี่คิมจะได้ปรับปรุงค่ะ

สวัสดีค่ะน้องกานดา น้ำมันมะพร้าว

น่าสงสารมากค่ะ  ไม่น่าเลยนะคะ ประมาทไปหน่อย  ขอขอบคุณที่นำภาพมาให้ชมค่ะ

สวัสดีค่ะน้องนาง...มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์

น้องสบายดีนะคะ  ขอขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ คิดถึงเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะพี่ครูคิม

มาให้กำลังใจค่ะ ^^

หนึ่งก็ทำ thesis เกียวกับช่องปากเหมือนกันค่ะ

แต่เป็นช่องปากผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ ระหว่างได้รับรังสีรักษา

สวัสดีค่ะน้องหนึ่งHana

ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องหนึ่งค่ะ

พี่คิมถอดฯ หมอฟัน ซะเกลี้ยงทุกมุม เลยนะคะ ซูฮกจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะน้องpoo

กลับใต้หรือยังคะ  เป็นอย่างไรบ้าง  การผ่านด่านอรหันต์  เล่าให้ฟังทางสายบ้างนะคะ

ยังมีเรื่องของกระบวนการ และ SARs ค่ะ รออ่านนะคะ 

แวะมาส่งยิ้มให้กำลังใจคนตั้งใจทำงานค่ะ

  ทำงานจนกว่าจะถึงเวลายิ้มของเรานะคะพี่คิม

สวัสดีค่ะน้องkrugui Chutima

การทำงานเพื่อการเรียนรู้สำหรับพี่คิมค่ะ ขอขอบคุณที่มาส่งกำลังใจค่ะ 

คุณครูคิมบันทึกเรื่องราวได้ละเอียด อ่านสนุกทำให้เห็นภาพชัดเจน แม้เพียงแต่อ่าน ได้ข้อคิดและกำลังใจในการทำงานกับชุมชน แม้จะต่างบริบทกันครับ

สวัสดีค่ะพี่ครูคิม

ขอบคุณมากๆนะคะที่แบ่งปันบันทึกค่ะ

  • สวัสดีตอนเช้าครับพี่คิม
  • ถือว่าเป็นโครงการดูแลสุขภาพปากฟันแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเน้นที่การป้องกัน การดูแลตนเองได้ครับ
  • ปวดอย่างอื่นพอทำเนา แต่ปวดฟันสุดแสนทรมาน เพราะกินไม่ได้นอนไม่หลับ
  • การทำงานเชิงรุกนั้นค่อนข้างยากเพราะต้องยึดผู้รับบริการเป็นหลัก จึงต้องหมุนไปตามแรงต้านครับ ดังนั้นคนทำงานต้องขาลุยจริงๆ
  • งานนี้พระเอกนางเอก ไม่ใช่ใคร คือทีมเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่มีความตั้งใจทั้งหมดครับ

สวัสดีค่ะหนุ่มเอม

งานนี้พี่คิมมีความสุขค่ะ ที่ได้มีส่วนร่วมและเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์  ทุกงานที่สามารถจัดการบริบทได้นับว่าสุดยอดนะคะ

สวัสดีค่ะกระแตมาตายี

ขอให้สุขภาพดี หายป่วยหายไข้เร็ว ๆนะคะ  พี่คิมยังต้องเขียนถอดบทเรียนอีกยาวค่ะ

สวัสดีค่ะน้องชำนาญ เขื่อนแก้ว

งานนี้ "ขาลุย" ของคนทุกวัยเลยค่ะ  ผู้สูงวัยยิ่งทุ่มเทใจมากเลยค่ะ  รออ่านปัจจัยเกื้อหนุนของความเร็จนะคะ

  • สวัสดีค่ะพี่คิม
  • บันทึกนี้ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงาน ของคุณหมอ และทีมงานเพิ่มขึ้นเยอะเลยรวมถึงคนไข้ และปัญหาต่างๆ ที่มีให้แก้ได้ทุกเวลาด้วย แต่ก็เพื่อการแก้ไขพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น...
  • ขอบพระคุณพี่มาก คิดถึงนะคะ
  • มาตกหลุม ตั้งแต่บันทึก ๑ ถึง ๔ สุดท้าย
  • ได้รู้ถึงการพัฒนา ยุทธวิธีการทำงาน มากขึ้นจริงๆ
  • ขอบพระคุณคุณครูมากครับ

สวัสดีค่ะ พี่คิม

บันทึกนี้เขียนเรื่องราวได้รายละเอียดดีจัง

จะขอศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง

เพราะตัวเองเขียนอะไรที่มีสาระแบบนี้ไม่ค่อยเป็น

การถอดบทเรียนก็ยังต้องศึกษาอีกค่ะ

สวัสดีค่ะน้องnana งาน พสว.ศอ.8

ขอขอบคุณค่ะ  พี่คิมเองต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยค่ะ  เพราะเป็นเรื่องสำคัญกับการสื่อมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท