ปาก คือ ประตูสู่สุขภาพผู้สูงอายุ (29) สุขภาพ กับสุขภาพช่องปาก ตอนที่ 2 อ.หมอพิช คุยเรื่องสุขภาพ


 

อ.หมอพิช หรือ พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ค่ะ ... อาจารย์บอกว่า อาจารย์เป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรง วันนี้อาจารย์มาคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ทางภาคกลางละค่ะ

อาจารย์ให้คำนิยามใหม่ผู้สูงอายุใหม่ ... เอาไปเลย วัยสูง-ยาว-ขาว-ตึง นั่นก็คือ ... สูง คือ สูงวัย ... ยาว คือ สายตายาว ... ต่อไป อะไรขาวดีคะ ... ผม ใครเคยเห็นคนคิ้วขาวบ้าง วันก่อนอาจารย์ค้นพบว่า คุณแม่อาจารย์ก็มีขนตาสีขาวด้วยละ กิ๊บเก๋มาก ... และอะไรตึง ก็คือ หูตึง ... แต่ความจริงเราไม่ใช่ทุกคนหรอกค่ะ ที่หูตึง เราพบว่า หูเราไม่ได้ตึง เพียงแต่ว่า เราจะไม่คุ้นกับเสียงที่มันสูงๆ หรือเสียงที่เบาๆ เท่าตอนที่เราอายุ 30 หรือ 13 ค่ะ

รู้ไหมว่า อายุเท่าไร ถึงจะจัดเป็นฃสูงยาวขาวตึง ของ สว. ... ก็คือ 60 ปีขึ้นไป

เพราะฉะนั้น สว. อยู่ที่ 60 ปี บางประเทศ อเมริกา อังกฤษ ก็บอกว่า ของเขา สว. อายุเยอะกว่าเรานิดหนึ่ง ของเขา 65 ก็เพราะว่า ของเขาแก่ง่าย ตายช้านิดหนึ่งค่ะ

อยากรู้ไหมว่า คนไทยอายุยืนแค่ไหน ตอนนี้ที่อาจารย์ดูแลอยู่คือ 100 กับอีก 9 ปี นะคะ ... เสียงคุณแม่บอกว่า 139 ปี ... มากที่สุดในโลกใช่ไหม คือ หลวงพ่อทองคำ เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว 100 กว่า เยอะขึ้น อีกหน่อยเราจะไปเป็นประชากรหลักของประเทศไทย อีกไม่กี่ปีข้างหน้า 10 กว่าปีข้างหน้า เราจะมากถึงเกือบ 20% ของประเทศ เพราะฉะนั้น ให้ดีใจไว้ อีกหน่อยสังคมจะกลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุแล้ว

 

จากกราฟนี้ สิ่งที่เจอก็คือ วัยรุ่น วัยทำงานจะมีน้อย ถ้าเทียบสูงอายุ ต่อไปข้างหน้า ประเทศๆ หนึ่งในเอเชียที่จะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนมีอายุยืนมาก และเราก็พบว่า คนญี่ปุ่นตอนนี้เริ่มมีประชากรสูงอายุเยอะ ในขณะที่เด็กเกิดน้อยลง

แล้วทำยังไงล่ะอาจารย์ แล้วใครจะเลี้ยงพวกเรา มีคำถามขึ้นมา ... คำตอบ อยู่ที่นี่ ไม่ต้องให้ใครเลี้ยง เราต้องดูแลตัวเองนะคะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราดูแลตัวเองให้ได้นานที่สุด บางคนไม่มีลูกหลาน บางคนบอกว่า กลัวจังเลย อีกหน่อยแก่แล้ว ใครจะดูแล ... จริงๆ แล้ว เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ดีที่สุด ให้ได้นานที่สุด สุขภาพของเราจะอยู่ได้นานที่สุด อย่างมีคุณภาพ และมีความสุข เราต้องแข็งแรง

อย่างคุณปู่เย็นแข็งแรง 100 กว่าปี อยู่ๆ วันหนึ่งปอดบวม ตายไปเลยนะคะ เราอยากตายแบบนั้นไหม อยาก เพราะว่าทุกคนอยากจะอยู่สบาย ตายอย่างมีความสุขทั้งนั้น

คนไทยอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 72 ปี เท่านั้นเอง ณ ปัจจุบัน แต่ผู้หญิงอยู่ที่ 75 ผู้หญิงเป็นพวก แก่ก็ยาก ตายก็ยาก เราไม่ว่าตัวเองนะ ว่า แก่ก็ง่ายตายก็ยาก เราต้องบอกว่า เราแก่ก็ยากตายก็ยาก ... เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรจะสวยให้นานที่สุด นะคะ

ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ถ้าผู้ชายอยู่ถึง 70 เราก็ว่าเก่งละ เท่าที่ดูค่าเฉลี่ยของชายไทยโดยทั่วไป ... หลักสำคัญของการเป็นผู้สูงอายุ เราต้องการอยู่ โดยที่เรามีสุขภาพแข็งแรง และมีภาวะพึ่งพา หรือพึงพาคนอื่นน้อยที่สุด ทุกคนละค่ะ อาจารย์ถามว่า จะอยู่ถึง 150 เอาไหม มีแต่บอกว่า ไม่เอาหรอกอาจารย์ นอนติดเตียง

รู้สึกไหม กลัวไหม ... ทุกคนอยากอยู่จนอายุพอสมควรไหมคะ พอเห็นว่า โลกร้อนเป็นอย่างไรบ้าง พอจะเห็นว่า หลาน เหลน เรารับปริญญา ใช่ไหมคะ แล้ววันหนึ่ง อยู่ๆ ก็หยุดหายใจ นอนหลับสบาย ตายไปเลย ... ทุกคนอยากอยู่แบบนั้น วันนี้จะมาเรียนรู้กันว่า สุขภาพกายที่ดี กับสุขภาพฟันที่ดีนั้น สำคัญอย่างไร กับการอยู่สบาย อยู่อย่างเป็นสุข และตายสบาย เป็นอย่างไร

อันที่หนึ่ง ฟันสำคัญอย่างไร

เราบอกว่า ฟันดี สุขภาพกายก็จะดี ... จะเห็นว่า ระหว่างสุขภาพช่องปาก และสุขภาพกาย และสุขภาพใจ สัมพันธ์กัน เป็นลูกศรที่วิ่งไปวิ่งมา ระหว่าง 2 อันเหล่านี้

 

สุขภาพกาย กับสุขภาพช่องปาก ถ้าฟันไม่ดี เคี้ยวอาหารก็ไม่อร่อย สังเกตดูว่า คนที่ใส่ฟันปลอม เรากินอาหารไม่อร่อย ใครที่ชอบกินของแข็งๆ กรุบๆ กรอบๆ มีบ้านหนึ่งชอบกินเม็ดมะขาม ซึ่งไม่ดี ทำอันตรายให้กับฟันได้

ถ้าฟันดี ก็จะรับประทานอาหารก็ได้ อ.ย. ภาษาของคุณปู่ของอาจารย์เอง คือ อะหย่อย ... ก็คือ รับประทานอาหารได้อร่อยขึ้น สังเกตไหมคะ ว่า คนที่มีฟันปลอม เขาจะไม่ค่อยทานอาหารประเภทหนึบๆ หนับๆ ยกตัวอย่างเช่น ปลาหมึกย่าง มะม่วงกวน สับปะรดกวน กินแล้ว ติดเข้าไปถึงฟัน ... ของพวกนี้นะคะ ใส่ฟันปลอมทานแล้วไม่สนุก เท่ากับฟันของเราเอง

ฟันมีผลอย่างไรอีก ... ฟันทำให้หน้าเราสวย ... ถ้าเราไม่มีฟัน หน้าเราก็จะยุบ โครงหน้าเราจะเปลี่ยน ถ่ายรูปออกมา หน้ารูปไข่ กลายเป็นหน้ากลมๆ เลย

ไม่มีฟันเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพกายอีก เราพูดไม่ชัด พูดไปเขาก็ฟังไม่รู้เรื่อง อาจารย์เคยมีคนไข้คนหนึ่ง ลูกบอกว่า คุณพ่อเป็นอะไรก็ไม่รู้ พูดไม่รู้เรื่อง สงสัยเป็นอัลไซเมอร์ อาจารย์ซักไปซักมา สุดท้าย อัลไซเมอร์ case นี้รักษาหายค่ะ อาจารย์เอาแกไปใส่ฟันปลอม Happy พูดแล้วรู้เรื่องเหมือนเดิมเพราะว่าจริงๆ แล้ว แกไม่มีฟันค่ะ ทำให้พูดไม่ชัด

เวลาที่เรามีฟันดี ใจเราก็ดี ที่มานี่ เป็นชมรมผู้สูงอายุฟันดีทั้งนั้นนะคะ เราก็ภูมิใจ โดยเฉพาะนางงามเขี้ยวงามของอาจารย์ มาหลายรอบ มาทีไรก็สวยเหมือนเดิมทุกครั้ง เรามีความมั่นใจ จะหัวเราะ ยิ้ม โชว์ฟันสวย ... การมีฟันช่วยให้เรามีความสุข ช่วยให้เรามั่นใจ สามารถเข้าสังคมได้ ไม่ใช่ไปหาเพื่อน ก็กินถั่วไม่ได้ เดี๋ยวฟันหลุด ... สุขภาพฟัน ปาก และกาย สัมพันธ์กันหมดเลย

องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันมากๆ เขาบอกว่า คนต่อไปนี้ ถือว่าได้คุณภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพฟันพอไหว ก็คือ ฟันที่มีใช้ได้อย่างน้อย 20 ซี่ มีฟันกรามที่สบกันอย่างน้อย 2 คู่ เพราะฉะนั้น เราจึงยังต้องมีฟันที่ดีดีอยู่ อาจจะอยู่ไม่ครบ มีหลุดไปบ้าง แต่ฟันสบกันได้ดี และฟันที่มีอยู่ก็มีคุณภาพที่ดีด้วย เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า ไม่ใช่แต่พวกเราในห้องประชุมนี้นะคะ ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพฟัน ทั่วโลกเขาก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันกันหมดเลย

เคยได้ยินคำนี้ไหม เหงือกจ๋า ฟันลาก่อน บ๊าย บาย เหลือแต่เหงือกอย่างเดียว ต้องใช้ฟันปลอม ไม่อยากให้แนวคิดนี้เกิดขึ้น ผู้สูงอายุต้องมีฟันไว้ใช้ให้เยอะที่สุด ให้ได้นานที่สุด และมีคุณภาพดีที่สุด ไม่ใช่พอแก่แล้วก็ต้องเหลือแต่เหงือกเท่านั้น ก็จะแปลว่า ชุมชนนั้น สุขภาพฟันไม่ดี แนวคิดที่เราต้องมี คือ ทุกคนควรจะมีฟันไว้ใช้งานได้ตลอดชีวิต จริงหรือ ... จริงค่ะ คุณปู่อาจารย์ตอนนี้อยู่ที่ 93 ปีนะคะ ฟันเต็มปากเลยค่ะ ... เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เรามีฟันอยู่ในปากไปจนอายุ 90 ก็ได้เลยนะคะ

เกิดอะไรขึ้น กับฟันของเรา กับเหงือกของเรา เมื่อเราอายุมากขึ้น

รู้สึกไหมคะ ว่า ฟันเราไม่ค่อยขาว เหมือนหลานๆ เหลนๆ 5 ขวบ ฟันของเราจะเหลืองหน่อยๆ แล้ว

นอกจากนี้ เหงือกบางคนจะร่น โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ ฟันจะยาวขึ้น ถ้าเหงือกของเราไม่ดี ก็จะร่นไปเรื่อยๆ ฟันก็จะยาว ... และพบว่า เหงือกที่ร่นไป ทำให้ช่องว่างระหว่างฟันเยอะขึ้น ... การรักษาสุขภาพเหงือกที่ดี ไม่ให้ร่นไปมาก ทำให้ฟันของเราดูสวย และอยู่ได้นานๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นได้อีกอันหนึ่ง พออายุมากขึ้นแล้วปากแห้ง บางทีรู้สึกแห้งผากๆ เลย เพราะว่า รู้สึกว่าผิวตัวเองแห้งไหม บางทีหน้าหนาวคันตั้งแต่หัวจดเท้าเลย ก็เพราะว่าผิวของเราเองก็ผลิตเหงื่อ น้ำมันที่เคลือบผิวออกมาน้อยลง การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากที่ผิวอย่างเดียว เหงือกกับช่องปาก ก็ผลิตน้ำลายออกมาน้อยลงด้วย ทำให้ปากของเราข้างในปากเราจะรู้สึกแห้งได้ง่าย

ริมฝีปากก็เช่นกัน สังเกตไหมคะ อายุเยอะขึ้นแล้วปากแตกบ่อยขึ้น ส่วนมากปากเราก็จะแห้งและแตกง่ายขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงตามอายุ เจอทุกคน ... ฟันจะนอนอยู่ในกระดูกเบ้าฟัน กระดูกของเราจะมีการยุบลงตามวัยด้วย กระดูกฟันก็ทรุดด้วย เราพบว่า กระดูกเบ้าฟันเองก็จะมีความเปลี่ยนแปลง อาจหลวม ทำให้เกิดการโยกคลอนของฟันมากขึ้น ... การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีโรค แต่การมีโรคทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เห็นชัดเจนขึ้น

สุขภาพกาย กับสุขภาพฟันสัมพันธ์กันอย่างไร

สุขภาพกายของเรา เวลาที่เรามีความสุข เราต้องกิน สุขภาพร่างกายก็จะมาจากอาหารการกินที่ดีด้วย กินก็ต้องเลือก เพื่อเหงือกและฟัน เราก็ต้องเลือกกินนิดหนึ่ง คืออันที่หนึ่ง

กินอะไรดี เพื่อให้สุขภาพกายแข็งแรง ส่งผลให้สุขภาพฟันแข็งแรง ... ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นมากที่ผักต่างๆ ชนิด และผลไม้ที่ไม่หวานจัด ผักผลไม้ควรจะทานให้ครบ 5 สี ก็คือ เขียว แดง ขาว เหลืองหรือส้ม และสีม่วง ส่วนใหญ่เราอยากทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นที่ผักและผลไม้ ถ้ามีสารอาหารครบ โรคฟันต่างๆ โรคต่างๆ ก็จะถามหาน้อยลง เราพบว่า การทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด ของพวกนี้จะมีเส้นใยอาหารอยู่ในนั้น ใยอาหารก็จะช่วยขัดฟันไปด้วย

แป้ง น้ำตาล ของหวาน ควรกินให้น้อย ... ทำไม ก็เพราะว่าน้ำตาลทำให้ฟันผุ ขนาดเล็กๆ ยังไม่ให้กินน้ำตาลเลย เราเป็น สว. แล้ว เราก็ต้องกินให้น้อยลง เพราะว่าน้ำตาลทำให้เกิดคราบหินปูนได้ง่ายด้วย

นอกจากที่เรารู้ว่า กินอย่างไร เพื่อให้สุขภาพกายของเราดี เพื่อที่จะส่งผลไปถึงสุขภาพฟันของเราแล้ว จะต้องดูด้วยว่า โรคประจำตัวบางอย่าง มีผลเสียกับฟันและเหงือก โรคเบาหวาน คนที่เป็นแผลที่เท้าจากการเป็นโรคเบาหวาน แผลใหญ่ๆ รักษากันเป็นเดือนๆ ไม่หาย แผลหรือเหงือกเน่าก็หายยากเช่นกัน เพราะในช่องปากของเรามีจุลินทรีย์เยอะ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งนั้น ทั้งความชื้น ทั้งน้ำลาย แถมยังได้น้ำตาลเข้าไปอีก เวลาเราเป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดจะสูง แบคทีเรียเจริญเติบโตงอกงาม เป็นแผลที่เหงือกเป็นแผลที่ฟัน เป็นโรคเหงือกอักเสบ คนเป็นเบาหวานรักษาหายช้ามาก เพราะฉะนั้น จะต้องดูแล ใครเป็นเบาหวาน จะต้องคุมน้ำตาลไว้ให้ดี ใครที่เพิ่งรู้ว่า ตัวเองเป็นเบาหวานต้องรีบพาไปหาหมอฟัน ตรวจสุขภาพฟันแต่เนิ่นๆ ฟันส่วนไหนที่เสียต้องรักษา

โรคเลือดบางชนิดทำให้เกิดปัญหาที่ฟันได้ ... คนไข้บางคนเป็นโรคมะเร็ง ต้องมีการรักษาโดยเคมีบำบัด ให้จนผมร่วง คิ้วร่วง พวกนี้ทำให้เยื่อบุในปาก น้ำลายแห้ง ทำให้ฟันผุ เพราะฉะนั้น คนไข้มะเร็งก่อนเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม หมออายุรกรรมอย่างอาจารย์จะส่งไปทำฟันก่อน ต้องทำให้ดีก่อน แล้วไปรับการรักษา เพราะว่า ถ้ารับการรักษาเหล่านี้แล้ว ภูมิต้านทานของคุณจะต่ำลง ถ้าไปรักษาโรคเหงือกจะหายช้าขึ้น

โรคบางอย่างทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมลง เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคข้อบางอย่าง ทำให้ข้อต่อต่างๆ เปลี่ยนแปลง สุขภาพฟันเปลี่ยนแปลงด้วย โรคหัวใจ โรคความดันสูง ถึงทำให้ฟันไม่ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่ดี เพราะว่าเวลาที่เราเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน เลือดจะมีการอุดตัน ฟันก็ต้องมีหลอดเลือดเล็กๆ ไปเลี้ยง ถ้าเรามีเลือดไปเลี้ยงไม่ดี ฟันก็จะผุได้ง่ายด้วย

สมัยก่อนในชีวิต ความยากลำบากของชีวิต ทำให้ฟันเป็นเรื่องรอง ตอนนี้เปลี่ยนแล้วนะคะ สังคมเปลี่ยน เรากำลังเป็น สว. เรามีเวลา ชีวิตเราเริ่มสบาย เราเป็นหัวหน้าคน มีลูกมีหลาน ถึงเวลาที่จะดูแลฟันของตัวเอง เพราะฉะนั้นแนวคิดต้องเปลี่ยน

มีอย่างอื่นอีก คือ พฤติกรรมบางอย่างที่มีผลเสีย เช่น การสูบบุหรี่ เวลาที่เราสูบบุหรี่ ทำให้เหงือกของเราไม่ดี และยังทำให้เป็นมะเร็งในช่องปากด้วย

การรับประทานยาในกลุ่มต่อไปนี้ คือ แอสไพริน วิตามินเสริมชนิดต่างๆ หรือที่อาจารย์พิชเรียกว่า ยาลูกกตัญญู โดยเฉพาะวิตามินอี ของพวกนี้ทำให้เลือดหยุดยากมากเลย เพราะฉะนั้น เวลาก่อนทำฟัน ให้ยุดก่อน แอสไพริน หรือวิตามินอี หยุดก่อนสัก 1 อาทิตย์

และเราพบว่า พอเราอายุเยอะขึ้น เราชักจะช่างเลือกขึ้น ไอ้นี่ไม่อยากกิน ไอ้นั่นก็ไม่ค่อยชอบ ... โถ อาจารย์ พ่อเหลืออีกไม่กี่ปี ขอกินไอ้ที่ชอบๆ เถอะ มีไหม มี เลือกไปเลือกมา ขาดสารอาหาร ขาดวิตามินหนัก เยื่อบุช่องปาก เหงือกต่างๆ มีปัญหา เพราะฉะนั้น พฤติกรรมเหล่านี้สำคัญ ทำให้สุขภาพไม่ดี และทำให้สุขภาพฟันไม่ดี สูบบุหรี่ถ้ายังสูบอยู่ ตอนนี้เลิกยังทันนะคะ

ปัญหาสุขภาพฟันที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เราจะเจอ เหงือกอักเสบ ฟันผุ เหงือกร่น มีแผลในช่องปากด้วย จะเจ็บขึ้นมาเลย ฟันสึก ฟันกร่อน เมื่อเราอายุมากขึ้น

ฟันดีมีผลกับร่างกายอย่างไร

เวลาฟันของเราไม่ดี สกปรก มีฟันผุ เหงือกอักเสบ มีเชื้อโรค คราบแบคทีเรีย เกาะอยู่ตามฟัน อยู่ในปาก แล้วเราก็จะกลืนลงไปได้ เมื่อเราก็กลืนสิ่งคราบจุลินทรีย์ที่สกปรกลงไป ถ้าเยอะเกินปริมาณ หลุดไปในเส้นเลือดในร่างกายก็มี หลุดไปจากฟันโดยตรงก็มี กลืนลงไปก็มี ไปไหน ไปหัวใจ ไปปอด ไปตับ ไปข้อต่อต่างๆ ก็มี เกิดอันนี้ได้ อันนี้เป็นจากฟัน จากเหงือกที่อักเสบ ลามไปถึงคอ คอบวมมาก หายใจไม่ได้ เห็นไหมคะ ... ต้องช่วยหายใจ จากคอบวม เป็นเพราะฟันผุแล้วไม่ได้รักษา

 

บางทีไปสมอง หลุดไปในเส้นเลือด ไปในสมอง ต้องไปผ่าเอาหนองในสมองอีก

 

คนนี้ได้จากเราไปแล้ว พุงเขาป่องกว่าปกติ ผ่าเข้าไปเจอเส้นเลือดที่ป่องกว่าผิดปกติ เป็นจากเชื้อโรคในปาก มันหลุดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ ที่ช่องท้อง

 

ฟันจึงสำคัญ และกายก็สำคัญด้วย

ฟันไม่ดีเคี้ยวอาหารก็ไม่อร่อย

ทำให้เราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ย่อยก็ไม่ค่อยดี เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ... เพราะฉะนั้น เราต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แต่เราเคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ได้ ถ้าเราไม่มีฟัน เราต้องมีฟันที่ดี เวลาเราปวดฟัน ก็จะทุกข์ มันปวดหนึบๆ ตึ๊บๆ รำคาญ และทุกข์ จนกว่าเราจะไปรักษาให้หายไปเสียก่อน ปวดมากก็ไม่อยากกินข้าว ก็ผอม เริ่มขาดอาหาร เริ่มโทรม โทรมมาก ใจเริ่มเศร้า เพราะว่าไม่อยากออกสังคม เพราะฉะนั้น ฟันก็สำคัญกับโรคทางระบบอย่างอื่น

อาจารย์พูดมาตั้งนาน จะสรุปแค่นี่ละค่ะ ว่า

... โรคฟันกับโรคเหงือกทำให้เกิดโรคต่างๆ ในร่างกาย
... และโรคต่างๆ ทางกายของเรา ก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันด้วย
... โรคต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีการควบคุมที่ดี ต้องมีการดูแลสุขภาพกายที่ดีเสมอ เพื่อให้สุขภาพฟันของเราแข็งแรง เป็นปฏิกิริยาต่อกันระหว่างฟัน กับกาย
... ถ้าเผื่อว่า คุณพ่อคุณแม่มีหมอฟันประจำ หมอตรวจความดันเบาหวาน ไขมัน อย่าลืมกระซิบบอกเขาหน่อยว่า 6 เดือนแล้ว ส่งพ่อไปหาหมอฟันหน่อย ไปตรวจสุขภาพฟัน ไปดูมะเร็งหน่อย บางคนสูบบุหรี่ ดูฟันปลอมนิดหนึ่ง และอย่าลืมขูดหินปูนด้วย
... และถ้าเราไปตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอ มีปัญหาของฟัน ก็ต้องซ่อม
... เราจะได้มีฟันสวยนานๆ กายจะได้ดี จิตจะได้ดี กายดี จิตดี ฟันก็ดีด้วย

รวมเรื่อง ปาก คือ ประตูสู่สุขภาพผู้สูงอายุ

   

หมายเลขบันทึก: 263474เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • โห..เขียนได้มากมาย
  • แต่ดีนะ
  • ที่กินข้าวมาก่อน
  • ไม่งั้นกินข้าวไม่ลงแน่ๆเลย  อิอิ
  • P
  • เจ๊เขี้ยว ไป ลปรร. กับ ทีม KM ศูนย์ฯ 12 หรือเปล่า
  • เสียดายมาก มาก เลย เพราะว่าต้องไปอำนาจเจริญ ตามงาน สว. เลยไม่ได้ไปด้วย
  • ฝากเก็บเรื่องมาเล่าด้วยน๊า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท