ตามไปดู กิจการผู้สูงอายุที่เมืองข้าวหอม (5) กิจกรรมของอำเภอลืออำนาจ


 

ทพญ.วีริณภิญา ช่วงชิง มาเล่าถึงกิจกรรมทันตฯ กับผู้สูงอายุที่ลืออำนาจค่ะ น้องเขากำหนดคลอดอาทิตย์หน้านะคะเนี่ยะ นัยว่าจะเป็นลูกสาวคนที่ 2

สำหรับ รพ.ลืออำนาจ เป็น รพช. 30 เตียง เปิดตั้งแต่ 2538 มี 7 ตำบล 8 สอ. ประชากร 38,611 คน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 3,590 คน มีสัดส่วนทันตแพทย์ 1:19,306

น้องบอกว่า เรื่องการใส่ฟันเทียม ในโครงการฟันเทียมพระราชทาน คาดว่าจะได้ทำครบตามเป้าหมาย แต่ละคนอาจมีช่วงเวลาการใส่ประมาณ 2 เดือน ใส่ไปแล้ว จะนัดมา recheck 1 สัปดาห์ เพราะว่าถ้าปล่อยเลยไป เขาเจ็บแล้วเขาจะไม่ค่อยมา ก็จะพูดต่อได้ว่า ไม่ดี จึงเลยนัดมาตลอดให้มา และถ้ามีปัญหาให้กลับมาได้เรื่อยๆ

และน้องเอื้องอรุณ สมนึก มาเล่าเรื่องโครงการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากตามชุดสิทธิประโยชน์ & โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งน้องบอกว่าทั้งสองอย่างเราทำเป็นโครงการเดียว

น้องบอกว่า ไม่เคยทำงานที่ลงไปสัมผัสผู้สูงอายุเลย พอกองทันตฯ จุดประกาย ก็คิดว่า ปัญหาในช่องปาก และการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุมีมาก เลยเข้าไปดูว่ามีมากแค่ไหน พบว่า โอกาสสูญเสียฟัน เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความคาดหวังที่เข้ามาก็คือ ให้ผู้สูงอายุมีฟันเคี้ยวอาหารอย่างเหมาะสม คือ 20 ซี่ขึ้นไป หรือฟัน 4 คู่สบ ลดการสูญเสียฟันเพื่อคงสภาพช่องปากที่ดีไว้ และให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้ ก็จะถือว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

จากนั้นก็มาคิดกันว่า จะทำอย่างไรดี เพราะไม่เคยทำมาก่อน จะลงไปอย่างไร จะเลือก case อย่างไร ก็เห็นตรงกันว่า เราจะลงไปที่ชมรมฯ ไม่เอาคนไข้ walk in ไปทำงานเบื้องต้นที่ชมรมผู้สูงอายุ แล้วจะเอาที่ไหนดี ก็เลยเลือกชมรมผู้สูงอายุผู้สูงอายุขึ้นมา 1 แห่ง คือ ชมรมผู้สูงอายุบ้านเปือยหัวดง มีสมาชิกประมาณ 100 กว่าคน เลือกเพราะอยู่ใกล้โรงพยาบาล และคุ้ยเคยกับประธานชมรม

ตอนแรกที่ลงไปในชมรม ได้ไปจุดประกาย ถ่ายทอดความคิด ไปดูว่า ชมรมเป็นอย่างไร เขาคือใคร เขาทำอะไรอยู่ เพราะว่าในชมรมผู้สูงอายุเขาจะมีกิจกรรมอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการไปค้นหาว่าตัวตนของเขาเป็นอย่างไร มีใจ มีศักยภาพแค่ไหน ... ก็พบว่า ชมรมผู้สูงอายุบ้านเปือยมีกิจกรรมที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง คือ รำไทเก้กตอนเช้า ตี 4 มีกิจกรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน การเลี้ยงไหม ทำผ้าไหม มีการสานแห และมีการทำบายศรี

เมื่อเรารู้ว่า เขาทำภารกิจอะไรอยู่บ้าง ต่อมาก็คือ จะเข้าไปทำอะไรดี ที่จะทำงานกับเขาได้ นั่นก็คือ คิดถึงรำไทเก้ก ก็ส่งน้องเข้าไปตี 4 ไปที่วัด ไปรำไทเก้ก กับผู้สูงอายุ ... พอเข้าไป เขาก็ให้การต้อนรับอย่างดี ก็เลยบอกว่า เรามีโครงการชุดสิทธิประโยชน์มานะ จะทำอะไรกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าบ้าง ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ตรงนั้นคือ จุดเริ่มต้นของประกายทุกอย่าง

ต่อไปสิ่งที่ทำคือ ติดอาวุธทางปัญญา จัดอบรม ให้ความรู้สมาชิกในชมรมผู้สูงอายุ และมีการตรวจสุขภาพช่องปากด้วย ตามแบบตรวจที่กองฯ ให้มา ใช้สถานที่ อบต.เปือย เชิญสมาชิกมาเข้ารับการอบรม ให้ความรู้ และตรวจสุขภาพช่องปาก

และเราไม่ได้เข้าไปคนเดียว ได้ชวนคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสมาธิบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ ฝ่ายแพทย์แผนไทย เภสัช ไปด้วย และได้ชวนพยาบาลที่อยู่งานเวชปฏิบัติครอบครัวฯ เข้าไปด้วย ผนวกกันเข้าไป ทำให้เกิดความหลากหลายแก่ผู้สูงอายุ เป็นการดูแลแบบองค์รวม และผู้สูงอายุชอบมาก

ต่อไป มีการจัดระบบให้บริการทันตกรรมผสมผสาน ไม่ได้เน้นงานป้องกันอย่างเดียว เราให้การรักษา และฟื้นฟูสภาพไปด้วย มีหลายคนที่ส่งต่อไปทำฟันเทียม รวมถึงฟันเทียมพระราชทานด้วย

จะมีมหกรรมผู้สูงวัยที่เราเข้าร่วมกิจกรรมทุกปี โดยบทบาทของเราคือ เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้สูงอายุ สำหรับทำกิจกรรม เราพบว่า "ผู้สูงอายุ เขาจะมีไฟ ใจเกินร้อย ให้ทำอะไร เขาทำได้หมด โดยที่เราไม่คาดคิดว่า เขาจะทำได้" ไอเดียเขากระฉูดกว่าเราอีก แค่เราไปกระตุ้น ให้การสนับสนุน อย่าทอดทิ้งเขา ไปอยู่เคียงข้างเขาเมื่อเขาต้องการ เขาอยากถามอะไรเขาก็ถาม เขามองว่าเราตอบเขาได้หมด

และที่ลืออำนาจทำ จะไม่ได้อยู่แต่ในชมรม จะทำงานครอบไปทั้งงานของฝ่ายการพยาบาลด้วย ก็คือ การดูแลผู้ป่วยในคลินิกโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก เพราะว่าผู้ป่วยใช้ยาพ่นชนิด Corticosteroid ประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก ... เวลามีคนไข้มาในคลินิกโรคหืด เขาก็จะส่งมาพบทันตกรรม ทันตแพทย์จะตรวจให้คำแนะนำ สอบถามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก swab ลิ้นไปตรวจเชื้อราในช่องปาก ถ้าพบว่ามีการติดก็จะจ่ายยา แนะนำการปฏิบัติตัว ถ้าพบว่าไม่ติด ก็จะแนะนำการปฏิบัติตัวตามมาตรฐาน

อันที่สอง คือ คลินิกโรคเบาหวาน คือ ทั้งอำเภอเขาจะให้เข้ามาตรวจเฝ้าระวังเบาหวานที่ดวงตา และเขาจะให้เราเข้าไปตรวจช่องปากด้วย

สถานการณ์จากแบบตรวจสุขภาพผู้สูงอายุที่เราทำมา 2 ปี เราพบว่า ผู้สูงอายุเป็น Hypertension มีความเสี่ยงน้อย แต่เบาหวาน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้เราตระหนักว่า โรคทางระบบสองอย่างนี้เหมือนอยู่คู่กับคนแก่ และก็จะส่งผลให้มีแนวโน้มการเกิดโรคในช่องปาก การสูญเสียฟันมากขึ้น ถ้าเราไม่ทำการป้องกันไว้ก่อนเกิดโรค

จากผลการตรวจเราพบว่า ผู้สูงอายุยังมีโรคในช่องปาก และเข้าถึงบริการได้ไม่เท่าไร รากฟันผุก็มีเยอะขึ้น แสดงว่า จะต้องหาวิธีการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น แต่ที่ดูดีขึ้น จะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ พฤติกรรมการแปรงฟัน จากที่เยอะอยู่แล้ว แต่ว่าปีแรกอาจมีแปรงผิดแปรงถูก ก็เปลี่ยนใหม่ เป็นแปรงเช้า กับก่อนนอน เปอร์เซนต์ ก็จะเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 63 เป็นร้อยละ 80 ... ถือว่า สิ่งที่เราให้เขาไป เขาตระหนัก และเขาเอาไปปรับพฤติกรรมที่บ้าน

จากกิจกรรมที่เราได้ทำไป ผู้สูงอายุมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า

  • รู้สึกดีมาก ขอบคุณมาก
  • อยากให้มีการออกกำลังกายร่วมด้วย
  • อยากให้จัดทุกปีๆ ละ 2-3 ครั้ง
  • เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ให้ประโยชน์แก่ผู้สูงอายุอย่างยิ่ง
  • อยากให้ฝ่ายอื่นๆ มาร่วมด้วย
  • ได้ความรู้มากมาย ขอให้มีอีกต่อไป

สิ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้จากสองปีที่ผ่านมา ที่ได้ลงไปทำงานในชมรมผู้สูงอายุ คือ

  • การทำงานกับผู้สูงอายุ ไม่ต้องยึดติดรูปแบบ อย่างไรก็ได้ ขอให้มีเป้าหมายในใจว่า เราจะไปทางไหน ต้องการอะไร ก็เลือกตามที่ใจเราอยากจะทำ บริบทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ถึงจุดหมายปลายทาง
  • ควรจะขยายกลุ่มเป้าหมาย และคิดว่า จะขยายจาก 1 ชมรม เป็น 2, 3, .... ต่อไป และยังคงคุณภาพของชมรมเดิมที่เราทำอยู่
  • เข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุ มีเทคนิคการสื่อสารกับผู้สูงอายุ เขาจะมีแบบฉบับของเขา คุยกับคนแก่ก็แบบหนึ่ง คุยกับเด็กก็แบบหนึ่ง
  • เข้าในธรรมชาติของผู้สูงอายุ มีเทคนิคการสื่อสารกับเขา จะทำให้เราทำอะไรกับเขาด้หมด
  • ดูแลอย่างต่อเนื่อง
  • เข้าถึงให้ได้ใจ ต้องลงพื้นที่เอง ต้องเห็นหน้าเห็นตา ลงไปคลุกคลีกับผู้สูงอายุ เขาก็จะรักเราเหมือนลูกหลาน
  • เห็นคุณค่า และเชื่อในศักยภาพ ไม่ตีค่าว่า ผู้สูงอายุควรจะนอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่มองว่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีประสบการณ์เยอะที่เราจะได้ไปเรียนรู้กับเขา ถ้าเรากระตุ้น ศักยภาพนั้นก็จะโดดเด่นขึ้นมาทันที
  • และส่งเสริมการรวมกลุ่ม หนึ่งเดียวก็หนึ่งความคิด ร้อยคนก็ร้อยความคิด จึงมีความรู้สึกว่า ต้องทำในชมรม ถึงจะประสบความสำเร็จ

ชมรมผู้สูงอายุยังต้องการความเข้มแข็งอยู่ เขาก็เข้มแข็งระดับหนึ่ง ดูแลตัวเองได้บ้างในบางส่วน บางส่วนก็ยังต้องให้เราเข้าไปช่วยดูแล

ความภาคภูมิใจของเราที่ผ่านมาคือ ปี 2550 เข้าร่วมมหกรรม ได้ที่ 1 ในเรื่องการแสดง การประกวดฟันรุ่น 60-79 ปี นางจันที สุระสาย ได้รางวัลที่ 1 และรุ่น 80 ปี นางจู บุญหลง ได้ที่สาม ส่วนปี 2551 คุณยายนางได้ที่หนึ่ง รุ่น 80 ปี การแสดงได้ที่สอง

สิ่งที่จะทำต่อไป เพราะว่าโครงการนี้ดี ได้บุญ และสุขใจ ทำด้วยความสุข และจะถือเป็นงาน routine ที่เราควรจะทำ ก็คิดว่าจะ

  • ขยายกลุ่มเป้าหมาย จาก 1 ชมรม เป็นหลายชมรม ถ้าเป็นไปได้ คือ ทั้งอำเภอ
  • เพิ่มศักยภาพในชมรม ตอนนี้ผู้สูงอายุยังมีเพื่อนช่วยเพื่อนได้ในระดับการแนะนำดูแลสุขภาพช่องปาก แต่ยังไม่มีการส่งต่อมาถึงเรา ก็ต้องส่งเสริมเขาต่อไป
  • ดูแลระยะยาว ก็คือ ดูแลไปเรื่อยๆ เหมือนลงเรือลำเดียวกัน
  • เชื่อมโยงบริการ จากชมรมฯ ถึงโรงพยาบาล

รวมเรื่อง ตามไปดู กิจการผู้สูงอายุที่เมืองข้าวหอม

  

หมายเลขบันทึก: 271473เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท