ลปรร. สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมในผู้สูงอายุ '52 (5) กิจกรรมผู้สูงอายุ ที่บ้านควน 2


 

คุณสุกัญญา กับคุณหมอจิตรกร หรือที่ทีมเราชอบเรียกว่า หมอหน่อง จากเมืองสตูลค่ะ หมอหน่องทำงานอยู่ รพ.สตูล ส่วนน้องสุกัญญา จะประจำอยู่ที่ สอ.บ้านควน 2 ซึ่งเป็น PCU ในเครือของ CUP รพ.สตูล ทั้งสองมาเล่าถึงกิจกรรมผู้สูงอายุที่ทำกันมาค่ะ ... มีเคล็ดมากมาย เกี่ยวกับการทำงาน ที่มาเล่าสู่กันฟังละค่ะ

ทีม สอ.บ้านควนค่ะ

ที่สตูล ทีมส่วนกลางเคยไปเยี่ยมมาแล้วครั้งหนึ่ง ตามเรื่องเล่าได้ที่นี่ค่ะ เครือข่ายผู้สูงวัย ที่สตูล (5) ส่งเสริมสุขภาพ สว. ที่ สอ.บ้านควน 2

วันนี้น้องสุกัญญา และหมอหน่อง ตามมาเล่าให้ฟังต่อ ที่กรุงเทพฯ ใน โครงการเครือข่ายผู้สูงวัย ร่วมใจดูแลสุขภาพช่องปาก ของบ้านควน 2 นั่นก็คือ

โครงการฯ นี้ทำให้กับผู้สูงอายุหมู่ 1 และหมู่ 4 โดยเข้าร่วมโครงการปี 2551 เริ่มทำในหมู่ 4 มีสมาชิก 80 คน และปี 2552 ขยายต่อในหมู่ 1 มีสมาชิก 80 คนเช่นกัน

ชมรมผู้สูงอายุได้รับประโยชน์จากโครงการ ก็คือ

  • มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ และขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก ชมรมสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยสาขาสตูล
  • จากที่ว่า ชมรมผู้สูงอายุของบ้านควนไม่มีกิจกรรมใดๆ ... หลังจากที่จัดตั้งชมรมมา ก็ได้มีการวางแผนว่า จะนัดประชุม หรือเจอกันประมาณ 2 เดือนครั้ง
  • มีการออกกำลังกาย
  • พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  • จากการสอบถามสมาชิกส่วนใหญ่ว่า ถ้าทำแบบที่ว่าไปนี้ สมาชิกเห็นด้วยหรือไม่ ... ทุกคนก็พยักหน้ารับ เพราะว่าผู้สูงอายุเวลามาเจอกันเยอะๆ เขาจะมีความสุข ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  • สมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมของส่วนรวม
  • เมื่อเป็นชมรมฯ เป็นกลุ่ม มีกันหลายๆ คน ชุมชนก็จะให้ความสำคัญ
  • มีแกนนำการแปรงฟันก่อนการละหมาด ในวันศุกร์
  • ข้อที่สำคัญ ก็คือ ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการพื้นฐานทางสาธารณสุข มีการดูแลสุขภาพช่องปาก และให้บริการทางทันตกรรม ... จากตอนแรกที่ผู้สูงอายุไม่กล้าทำฟัน ตอนหลัง จากการที่เจ้าหน้าที่ให้ความเป็นอันเอง ก็สามารถที่จะให้เขาอุดฟัน ทาฟลูออไรด์ และตรวจฟันได้
  • มีกิจกรรมคัดกรองความดัน เบาหวาน ผสมผสานกับงานส่งเสริม

ในส่วนของหมู่ 4 ลงไปทำที่มัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชน ส่วนหมู่ 1 มีทั้งไทยพุทธ และอิสลาม จะนัดกันไปทำที่โรงเรียน

ตอนนี้ ชมรมฯ เปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ ในเรื่องการรักษาทางทันตกรรม ... ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากมากขึ้น เมื่อเราได้ให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การแปรงฟัน หรือแนะนำให้ผู้สูงอายุได้ขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ... ตอนนี้ก็ได้บอกกันปากต่อปากกันว่า จะไปขูดหินปูน บางคนที่ทำแล้วก็บอกว่า ฟันจะกระชับขึ้น ก็จะชักชวนกันมา ตอนนี้ถ้าเรานัดผู้สูงอายุมาขูดหินปูน ก็จะมาตามวันที่นัด และการนัดจะเปิดทางด่วนให้ผู้สูงอายุด้วย

ปัจจุบันที่บ้านควน 2 มีผู้สูงอายุมารับบริการทันตกรรมมากขึ้น

เหตุผลที่เลือก ชมรม หมู่ 1 และ หมู่ 4 เข้าร่วมโครงการ

  • อันดับแรกคือ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และทีมงาน เพราะว่าในการทำงานชุมชน ต้องร่วมกันเป็นทีม และในชุมชนที่รับผิดชอบ มีหมู่ 4 ที่พูดภาษายาวี เจ้าหน้าที่ทั้งหมด ไม่มีใครพูดได้เลย นอกจากหัวหน้าสถานีอนามัย หัวหน้าก็จะเป็นตัวหลักที่จะเข้าหมู่บ้าน
  • ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทันตบุคลากร มีเจ้าหน้าที่ทันตฯ ประจำ และคุณหมอจิตรกร มาช่วยให้บริการ และช่วยในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยด้วย
  • และที่ขาดไม่ได้เลย คือ อสม. จะเป็นทุกอย่าง เราจะทำอะไร ต้องเรียก อสม. ตั้งแต่การนัดประชุม การหากลุ่มเป้าหมาย อสม. ทำได้หมด รวมทั้งทำหน้าที่ต้อนรับเวลามีกิจกรรมของ สอ. ด้วย
  • ให้โอกาสชมรมได้พัฒนาศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของเครือข่าย
  • ชมรมฯ เป็นชมรมที่ไม่มีใครรู้จัก ยังไม่มีกิจกรรมใดๆ
    ... แต่ทำไมเราเลือกที่จะทำชมรมนี้
    ... มันเป็นงานที่ท้าทาย ถ้าเกิดว่า ชมรมที่ไม่มีกิจกรรมใดๆ เลย แล้วเราลงไป เราก็ทำได้
    ... เป็นงานที่ท้าทายว่า เราผ่านมาแล้ว
    ... ถ้าเกิดว่าที่ไหนยังลังเลว่าจะเลือกชมรมไหนอยู่ ก็เล็งที่ไม่มีกิจกรรมบ้างก็ได้ เพราะว่าบางทีชมรมที่เข้มแข็ง เขามีกิจกรรมเยอะ เราไปร่วมกับเขา เขาก็จะไม่มีเวลาให้มากนัก

คุณหมอหน่อง เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมว่า

ผมอยากให้เห็นว่า การทำงานบริการแบบผสมผสาน ขึ้นกับหลายๆ แบบ หลายๆ ปัจจัย

  • อันแรก คือ ของอำเภอเมือง ... เรามีการวางแผนตั้งแต่ตอนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า อำเภอเรามีหลายตำบล การ flow เจ้าหน้าที่ทันตฯ ไปทุกตำบลทำไม่ได้ เลยนำเก้าอี้ 5 ตัว ไปไว้ตามอนามัยรอบๆ รพ. มีตำบลบ้านควน 2 ตำบลฉลุง ตำบลเจ๊ะบิลัง ตำบลกำมะลัง และเทศบาล
    ... สตูลมีปัญหาเรื่องทันตบุคลากร เราก็มาจัดระบบ Flow เจ้าหน้าที่ทั้งหมด
    ... เราทำทุกอย่างได้ ทั้งเรื่องการเคลือบหลุมร่องฟัน บริการในเด็กนักเรียน และอื่นๆ
    ... การบริการแบบผสมผสาน คือทำหมด ตามโครงการของกองฯ ก็จะมีขูดหินปูน  เคลือบฟลูออไรด์ ให้ทันตสุขศึกษา
    ... เราทำโดย add ไปกับงานปกติ เราไม่ได้ใช้คำว่า ทำงานมากขึ้น เราผสมไปกับงาน routine ก็คือ หมอออก PCU อยู่แล้ว ที่ PCU มีทันตาฯ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ยังไงก็ได้
  • การส่งเสริมป้องกัน เราต้องนึกก่อนว่าผู้สูงอายุ เราจะไปเอาอะไรจากเขา ถ้าไม่ได้คิดถึงหัวใจของเขา เช่น จะไปให้เขาทำอย่างนั้น อย่างนี้ เขาไม่ยอมทำ เราต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ... จะเข้าไป contact อย่ารีบร้อน รีบเร่งเอางานของเราก่อน ไม่ว่าที่ไหน ... ต้องเข้าไปหาเขาก่อน ยิ่งผู้นำชุมชนของมุสลิม จะต้องไปหาศูนย์กลางของเขาก็คือ ผู้นำ โต๊ะอีหม่าม และสถานที่ที่เขานัดประชุมไม่ใช่ชมรม แต่เป็นที่มัสยิด เพราะเขาจะทำกิจกรรมต่างๆ ที่นี่หมด
  • ถ้าได้รู้วิถีชีวิตของเขา ก็ต้อง flow ตามเขา ... เพราะฉะนั้น ต้องหาทางเข้า หาเขาให้เจอ ถ้าหาเจอ ก็ไปกับเขาได้หมด เช่น เมื่อการละหมาดเสร็จ เขาจะมีข่าวสารอะไร แจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์อะไร จะอยู่หลังละหมาด เราก็เข้าไปให้ทันตสุขศึกษาได้เลย ก็จะง่าย ไม่ต้องนัดเองด้วย เพราะว่าเขามาอยู่แล้ว
  • เสร็จแล้วต่อไปทำอะไร
    ... วิถีชีวิตของเขาก็คือ ก่อนละหมาด ก่อนทำศาสนกิจ จะต้องทำความสะอาดร่างกาย รวมทั้งช่องปาก ฟัน เขาจะมีการแปรงฟัน มีแปรงสีฟันของเขาเอง เป็นรากไม้ นำมาทุบและถูฟัน เราก็ต้อง add กับเขา เรามีแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ก็เข้าไปเสนอให้เขา
    ... วิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา เราจะต้องจับให้ได้ก่อน เช่น คุณป้าไม่ยอมอ้าปาก เราก็ไปนั่งคุยกันก่อน ให้สนิทก่อน ถามไถ่ เขามีปัญหาอะไรไหม ลูกหลานอยู่ช่วยไหม มีปวดอะไรมั่ง บางคนร่ายยาวเป็นชั่วโมงเลย ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคอะไรมีบอกหมด เลยหมอฟันเป็นพระเจ้า ขอให้เป็นหมอเถอะ ฉันไม่สนใจ ฉันจะบอกหมด
    ... ถ้าเราตอบได้ OK เลย วันหลังมาตรวจฟัน ให้ไปทำอะไร ก็ง่ายดายมาก เพราะเมื่อเราสนิทกับเขาแล้ว ก็พูดกันง่าย

"... ไม่ใช่คิดว่า อยู่ที่ รพ. ก็รับมาทำแต่ รพ. ... ขอให้คิดถึงอนามัย กับทันตาฯ ใช้ให้ครบนะครับ อย่าลืมว่า เราอยู่ข้างนอก เราไป contact กับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะไม่ค่อนชินกับเรามาก เท่ากับเจ้าหน้าที่พื้นที่เอง ฉะนั้น แนะนำว่า การไปทำงานที่ไม่ใช่ชมรม ผส. รพ.ต่างๆ เป็นชมรมที่อยู่นอกๆ กรุณาให้เจ้าหน้าที่อนามัย ร่วมในทีมด้วย จะง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่า ทำในงานที่มีแต่ทันตาฯ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ลงไป อาจจะ fail ได้ เขาไม่รู้จักหน้า เราก็อาจหมดสิทธิทำฟันให้เขา ..."

ที่ผมทำ ช่วงแรกอาจมีปัญหาเหมือน รพ. อื่นๆ เจอ ก็คือ กลัวอย่างนั้นอย่างนี้ ถอนฟันแล้วจะประสาทเสียไหม เลือดออกไหม หรืออุดฟัน ขูดหินปูน จะเสียวไหม ฟันจะโยกเพิ่มขึ้นไหม ... เราจะต้องจับให้เจอ ว่าผู้สูงอายุคนไหนเป็นหัวหน้าทีม เราก็เข้าหาเขาก่อน เสร็จแล้ว พูดคุยกันไปมา อ้าว คุณลุงเป็นแผลอยู่ในปาก มีฟันปลอม เจ็บ มันกด เสร็จเรา ปิ๊งไอดีย กรอฟันปลอมให้ ใส่ kenelog ไปเรียบร้อย อีกวัน มาเป็นสิบเลย ป่าวประกาศทั่วหมู่บ้านเลย เขาก็ตามกันมา

ฉะนั้น ไม่ต้องกลัว เพราะว่า ถ้าคุณทำคนหนึ่งคนใดได้แล้ว ทีนี้เขามีความรู้สึกดีดีกับเราแล้ว ไปพูดต่อ รับรองผุ้สูงอายุอื่น ก็จะตามมาเอง ง่ายๆ

ถ้าคนไหนมีปัญหาเรื่องรถรา ถ้าอยู่ใกล้อนามัย เราจะมี อสม. เป็นหลัก (อสม. เป็นหลักของอนามัยที่เข้มแข็งมาก) เพราะฉะนั้น ถ้าไปตาม แล้วปรากฎว่าผู้สูงอายุคนนี้ติดลบอยู่ ความรู้สึกไม่อยากทำอะไร ก็จะมีวิธีโน้มน้าว เพราะว่า อสม. ก็คือ ลูกหลานเขา คุยกันง่าย แป๊บเดียวก็มาได้

ปัจจัยสำเร็จ ผม Weight ตามน้ำหนักละครับ ก็คือ

  • อันที่หนึ่ง - ทีมงาน บางคนบอกว่า ชมรมต้องเข้มแข็ง ไม่ต้องก็ได้ครับ ถ้าทีมงานเราเข้มแข็ง แล้ว ชมรมไหนก็เอาอยู่หมด จับได้หมด ทีมงานก็ไม่ใช่ว่า แค่ทันตฯ นะครับ แต่รวมเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เขตชมรมนั้น โดยเฉพาะ อสม. เพราะว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ ลูกหลาน ของผู้สูงอายุเอง
  • ความร่วมมือของชุมชน - อิสลาม ง่ายมาก เข้าทางต๊ะอีหม่าม ผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน เข้าได้หมดครับ เข้าทางเวลาที่เขานัด ที่มัสยิดครับ พุทธก็ต้องไปวัด ต้องหาให้พบนะครับ ของใครของมันนะครับ อีสาน เหนือ ไปหามาให้เจอนะครับ
  • แกนนำชมรมผู้สูงอายุ - ไม่ต้องห่วง เหมือนที่บอก คือ ถ้าเราเจอแกนนำ เป็นแผลจากฟันปลอม ถ้าเราแก้ได้เรียบร้อย ในปาก เราหาให้ได้หมด ครับ ไม่ต้องสาธยาย ไปชักชวนกันมาก แกนนำจะช่วยเรา
  • เครื่องมืออุปกรณ์การทำงาน บอกแล้วว่า เราวางแผน นำเก้าอี้และอุปกรณ์ ไว้ตามที่ต่างๆ แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงาน sealant อุดฟันเด็ก ป.3 100% 3 ปี หรืออื่นๆ เราก็ทำได้หมด มีเก้าอี้พร้อม
  • การบริหารจัดการระบบ เมื่อเจ้าหน้าที่น้อย ก็ต้องมีการปรับผังการปฏิบัตงาน ก็คือ จัดตารางการปฏิบัติงาน ทั้งของ รพ.สตูล ของอนามัย เอาเจ้าหน้าที่มารวม และมาเรียงว่าใครจะออกอย่างไร ไม่ใช่ว่า อยู่ รพท. แล้วไม่ออก ต้องออกหมดครับ
  • งบประมาณ - แน่นอน ไม่ว่าจะ อบต. หรือที่ไหน เราคุยได้หมดครับ ถ้าได้เงิน เราก็สามารถจะไปหาชมรมได้ เขาก็จะได้มีกิจกรรมต่างๆ นอกจากกิจกรรมของเราด้วย

นอกจากนี้ ที่เจอมาตามประสบการณ์ ก็คือ ชุมชนได้อะไร

พอทำๆ ไป ก็จะเห็นว่า ปู่ย่าตายายก็จะเริ่มพาเด็กมาทำฟันเหมือนกัน แค่นี้ก็ไม่ต้องอธิบายมากว่าเพราะอะไร ก็เพราะ เขารู้สึก positive กับเรา เขาก็จะบอกลูก บอกหลาน บอกคนนั้นคนนี้ อายุ 50 ก็มี เด็ก 3 ขวบ 5 ขวบ ก็มา ... เขาเริ่มรู้สึกว่า การบริการและการดูแลเป็นอย่างไร ไม่ต้องมาเปลี่ยนอะไรแล้ว เพราะว่าสิ่งที่เขาทำ ก็คือเขาเชื่อ ถ้าเขาไม่เชื่อคงไม่มา

ยกตัวอย่าง ... ความเชื่อที่เปลี่ยนไป

คนนี้เขาบอกว่า "... พอชมรมประกาศว่า ให้มาตรวจฟันกับคุณหมอ ... ผมนึกในใจ ไม่ไป ... แต่พอเจ้าหน้าที่อนามัย กับหัวหน้าอนามัยมาพูดที่บ้าน จึงยอมมา ... ตอนแรกๆ ด้วยความเกรงใจ แต่พอมาแล้ว ก็มาตลอด"

อีกอันหนึ่ง ... คนนี้บอกว่า "... พอ อสม. ไปบอกให้มาตรวจฟันตามโครงการ เขาก็บอกทันที ใส่ฟันปลอมแล้วไปตรวจอะไรอีก เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ไปให้หมอดูก็ได้ ว่ามีอะไรในช่องปากหรือเปล่า ไม่ใช่แต่ฟันปลอม อย่างอื่นก็ต้องตรวจดูด้วยนะ พอหลังจากนั้น พอหมอแก้ฟันปลอม ฟันปลอมก็มาอีกเป็นสิบ ให้แก่ และนอกจากฟันปลอมแล้ว อื่นๆ ก็ตามมา ... "

สุดท้าย หมอหน่องฝากบอกว่า ... "ก่อนอื่นนะครับ อย่าเริ่มเร่งรีบทำอะไรที่เป็น treatment เลย โดยไม่ดูคนไข้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คุณบังคับหมือนเด็กไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้น ต้องพูด คุยให้สนิทกันสักหน่อย ถ้ามาหนแรก แล้วเห็นหน้าตาไม่อยากทำ อย่าเพิ่ง จะเริ่มถอนฟัน ขูดหินปูน ก็อาจไม่มาอีกเลยนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาสนิทสนมกับเราแล้ว เขาอาจจะมาต่อไปเรื่อยๆ ..."

รวมเรื่อง ลปรร. สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมในผู้สูงอายุ '52

   

หมายเลขบันทึก: 281668เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2009 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท