แลกเปลี่ยน และ เรียนรู้ เรื่องเล่าชมรมฯ ภาคใต้ (17) ผู้สูงอายุ รพ.ปาดัง


 

รอบนี้ คุณพัชณี และคุณหมออุษณีย์ มาเล่าให้ฟังค่ะ

"โอ้ผู้สูงวัย ฟันหลุดร่วงไป หรืออยู่ในปากแน่ๆ ... จะฟันใคร ซี่ใด ให้ดีแท้ ก็ต้องดูแลให้ดี" ... เสียงเพลงมาเลยจากคุณพัชณี ต้อนรับเข้าสู่ชมรมผู้สูงอายุ รพ.ปาดัง ค่ะ

เธอบอกว่า คำขวัญของปาดัง แต่งโดยรองประธานชมรมฯ คือ "ปาดังเบซาร์ เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ถามทักลือไกล พัฒนาเมืองใหม่ ติดกับประเทศ เขตมาเลเซีย" ... ชมรมผู้สูงอายุเริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พย.47 วัตถุประสงค์ของชมรม

  • เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่พึงประสงค์ สามารถดูแลตนเองได้
  • ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัว และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
  • ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับโอกาสแสดงศักยภาพ ในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชน
  • ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาเฝ้าระวังโรค ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้สูงอายุ
  • เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานของผู้สูงอายุ

ตอนนี้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุมีทั้งหมด 103 คน ชาย 23 หญิง 80 มีกิจกรรมคือ

  • เฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุทุกคนจะมีสมุดบันทึกสุขภาพ
  • มีการตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจวัดความดัน ตรวจปัสสาวะ ชั่งน้ำหนัก ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจมะเร็งปากมดลูก  และเต้านม
  • กิจกรรมให้ความรู้ เดือนละ 1 ครั้ง โดยตัวแทนของผู้สูงอายุที่เป็นแกนนำ ซึ่งจะไปอบรมวิชาการ ที่จังหวัดสงขลา ในเรื่องต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพช่องปาก การใช้สมุนไพร การออกกำลังกาย ธรรมชาติกับชีวิต สุขภาพจิตในผู้สูงอายุ การปฏิบัติตัวในผู้สูงอายุ การใช้ยา โรคสมองเสื่อม อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อุบัติเหตุ การนวดแผนไทย

กิจกรรมเด่นในชมรม

  • จัดตั้งคณะกลองยาว
  • จัดรำวงย้อนยุคเพื่อสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุ
  • แกนนำอบรมการรำไม้พลองป้าบุญมี ไทเก้ก
  • ผู้สูงอายุของ รพ. ปะดัง ได้รับรางวัลประกวดผลงานเด่นในเวที ลปรร. เมื่อปี 2551
  • ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น วันสงกรานต์ วันปีใหม่ รดน้ำผู้สูงอายุ ร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย
  • บรรยากาศ และจุดเด่นของกิจกรรมนี้ จะมีความเป็นกันเอง ความสามัคคี การช่วยเหลือกันและกัน

ภาพรวมการทำงานของชมรม

  • กิจกรรมหลักเกิดขึ้นได้โดยการประชุมร่วมกัน ของคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุร่วมกับผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ
  • ผู้นำชมรมคือ ประธานชมรม ร่วมกับผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ
  • เทคนิคการทำงานที่ให้ความเป็นกันเองกับเพื่อนสมาชิก ความโอบอ้อมอารี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทพญ.อุษณีย์ หรือหมอแอร์ เล่าต่อในเรื่องของกิจกรรมค่ะ ว่า

การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมฯ ก่อนที่จะดำเนินงาน เราดูที่เป้าหมายก่อน โดยที่เป้าหมายของจังหวัดจังหวัดสงขลา คือ ให้การเผยแพร่ทันตสุขศึกษาในชมรม อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ก่อนที่เราจะไปถึงเป้าหมาย เราต้องการเข้าไปถึงเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ โดยคิดว่า เราจะต้องรู้ปัญหาก่อน และจะต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุ

  • เรื่อง การรู้ปัญหา - เราหาจากข้อมูลการตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า มีปัญหาเรื่องโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ และไม่มีฟันหลังในการบดเคี้ยว
  • เรื่อง ธรรมชาติของผู้สูงอายุ - เราได้ลงไปสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมของชมรมฯ ที่จัดในวันพฤหัสสุดท้ายของเดือน เห็นว่าผู้สูงอายุชอบทำกิจกรรมร้องรำทำเพลง ความสนุกสนาน ดังนั้น
  • เมื่อรู้ปัญหาและเข้าใจธรรมชาติ จึงจัด "โครงการให้ทันตสุขศึกษาแก่ผุ้สูงอายุในชมรม" โดย
    - ให้ความรู้เรื่องโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ ผ่านทางภาพพลิก
    - สอนวิธีการดูแลช่องปากและฟันเทียม โดยใช้โมเดล โดยให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการฝึกแปรง
  • จากการประเมินความรู้ความเข้าใจจากการเข้าร่วมกิจกรรม ทราบว่า ผู้สูงอายุเข้าใจเนื้อหาที่สอน

เมื่อ สสจ. นัดประชุม ทันตบุคลากร ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบชมรมฯ สรุปได้ว่า ให้ทันตสุขศึกษาปีละ 1 ครั้ง ยังไม่พอ จึงร่วมกันคิดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกิจกรรมด้วย จึงเกิด "โครงการจิตอาสา" ขึ้น ให้แต่ละโรงพยาบาล แต่ละชมรม ไปคิดกันต่อว่า เขาจะทำอะไร

ของปาดังฯ เราขออาสาสมัครตัวแทนผู้สูงอายุได้ 4 คน ประชุมกับตัวแทน จึงเกิดมีกิจกรรม "จิตอาสาพาฟันดี" ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก และมีวิธีการสอนการแปรงฟันแบบ modified bass ให้แก่กลุ่มผู้รอรับบริการหน้าห้องฟัน

มีการอบรมจิตอาสา โดยเน้นเรื่อง โรคฟันผุ และโรคปริทันต์ ประกอบเกม ตัวแทนผู้สูงอายุมีส่วนร่วม (two ways communication) และสอนด้วยรูปภาพ

ตัวแทนจิตอาสาที่เราคิด จะต้องมีคุณสมบัติคือ

  • เขาน่าจะต้องจำแนกฟันผุออกจากฟันปกติได้
  • ทราบสาเหตุการเกิดฟันผุ และปัจจัยส่งเสริม
  • จำแนกอาหารที่ก่อให้เกิดฟันผุและอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุได้
  • สามารถแปรงฟันด้วยวิธี Modified Bass ได้

การจัดอบรมจิตอาสาแบ่งเป็น 5 ฐาน ได้แก่

  1. Jigsaw รูปฟัน - ผู้สูงอายุรับซอง Jigsaw ไปคนละอัน แข่งขันกันต่อ Jigsaw เป็นภาพของฟันปกติ ฟันผุ ฟันสึก หลังจากทำเสร็จแล้ว ผู้สูงอายุจะบรรยายลักษณะที่เห็น ฐานนี้ทำให้ผู้สูงอายุทราบลักษณะของฟันปกติ ฟันผุ ฟันสึก และเหงือกอักเสบ
  2. ภาพสื่อฟันผุ - มีทันตแพทย์สอน บรรยาย การเกิดฟันผุอย่างง่ายๆ จากรูปภาพ
  3. รู้จักน้องฟันตัวจริง - ให้ผู้สูงอายุเอาฟันจริงๆ มาจับคู่กัน และช่วยกันแยกฟันปกติ กับฟันผุออกจากกัน และจะเอา dentoform มาเปิดให้ดู และให้เทียบว่า ฟันซี่นี้คือ ฟันหน้า ฟันซี่นี้คือ ฟันหลัง
  4. อ่านฉลากซักนิด ก่อนคิดจะกิน - มีอาหารที่ก่อให้เกิดฟันผุ และไม่ผุวางอยู่รวมกัน ให้ผู้สูงอายุฝึกแยกอาหารออกจากกัน และฝึกการอ่านฉลากปริมาณน้ำตาล ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์บนฉลากด้วย
  5. แปรงเอ๋ย แปรงฟัน - สอนผู้สูงอายุแปรงฟันในโมเดล ให้เขาแปรงได้ถูกต้อง หลังจากนั้นให้ลองแปรงจริง ที่คิดว่าตัวเองแปรงได้ถูกวิธี และสะอาด มีการย้อมสีฟัน และให้ผู้สูงอายุดูว่า บริเวณไหนที่เขาคิดว่าแปรงดีแล้ว แต่จริงๆ แล้วยังไม่สะอาด ยังมีติดสีฟันอยู่ได้บ้าง

ต่อมาจึงนัดจิตอาสามาปรึกษาหารือกันว่า จะสอนเรื่องอะไรก่อน ซึ่งทุกคนก็ลงความเห็นตรงกันว่า สอนเรื่องแปรงฟัน ... จิตอาสาก็เริ่มลงมือสอนคนไข้ที่มารอทำฟันที่หน้าห้องทันตกรรม แรกๆ ก็จะมีตื่นเต้นบ้าง แต่หลังๆ ก็เริ่มคล่อง และมีการให้คนไข้หน้าห้องฟันแปรงฟันให้ดู และมีการไปแนะนำด้วย

จากงานนี้ เราก็เห็นว่า จิตอาสาของเราเริ่มเข้าเป็นรูปร่างแล้ว เราก็เลยมีการขยายผลเข้าสู่ชมรมผู้สูงอายุ ...

จากการสังเกตที่ชมรมผู้สูงอายุจะมีการรับประทานของว่างเป็นขนมหวาน และจากการสอบถามผู้รับผิดชอบงานคนก่อน พบว่าผู้สูงอายุยังแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี จึงเกิด "โครงการแปรงฟันหลังอาหารว่างในชมรมผู้สูงอายุ" จะมีจิตอาสามาสอนการแปรงฟันแบบ Modified bass ในโมเดลก่อน และให้ผู้สูงอายุฝึกแปรงตาม

จากการดำเนินกิจกรรม 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ถ้าต้องการทำกิจกรรมต่อไปกับผู้สูงอายุ ต้องอาศัยความสนิทสนม หรือเข้าไปให้ถึงใจของเขาให้มาก น้องๆ จึงไปร่วมกิจกรรมกับผู้สํงอายุ ก็คือ รำไม้พลอง ไปชมสวนผัก ผลไม้ของคุณลุง และล่าสุดก็ไป trip ทะเลน้อยที่จังหวัดพัทลุงกับผู้สูงอายุด้วย

สุดท้ายขอฝากไว้ว่า

  • การประสบความสำเร็จของการรักษาฟัน แม้ว่าเราจะเป็นหมอฟัน แต่การรักษาคงไม่ได้เน้นแค่ที่ฟัน แต่คงต้องเข้าไปให้ถึงใจของผู้ป่วยด้วย
  • การที่เราเป็นแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสูงกว่าผู้ป่วย
  • การรักษาที่ดีนั้น จะต้องมีการเรียนรู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน อย่างเรื่องของความรู้ฟัน ผู้สูงอายุก็อาจจะแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตของเขา
  • แล้วคำว่า holistic approach คงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไปสำหรับเรา

รวมเรื่อง แลกเปลี่ยน และ เรียนรู้ เรื่องเล่าชมรมฯ ภาคใต้

  

หมายเลขบันทึก: 289592เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท