ส่งเสริมสุขภาพ สว. พื้นที่ ศูนย์ฯ 8 (3) ลปรร. การทำงานกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 1 แนวคิดในการทำงาน


 

วันนี้ ดิฉันเดินทางไปร่วมแจม กิจกรรมการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ กับคุณหมอก้อง ที่เมืองน่าน ค่ะ ไปเล่าเรื่องการทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ผ่านมา กับเครือข่ายผู้สูงอายุในที่ต่างๆ ตั้งใจมาเล่าให้เครือข่ายในพื้นที่ศูนย์อนามัยที่ 8 ฟัง

เริ่มด้วย แนวคิดการทำงานเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

การทำงานเรื่องผู้สูงอายุ เริ่มแรกด้วย การทำโครงการฟันเทียมพระราชทาน เพื่อตอบความต้องการให้กับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฟันเทียม และมีการคิดต่อกันว่า การใส่ฟันเทียมแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตอบสนองสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ร่วมไปด้วย และเรื่องการป้องกันโรคก็เป็นเรื่องที่คิดกันต่อมา เพื่อให้ครบวงจรของการรักษาสุขภาพช่องปาก ในกลุ่มผู้สูงอายุ

ปัจจุบัน นโยบายรัฐบาลได้มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของนโยบายมุ่งเน้นพิเศษ พร้อมหลัก 3 หลัก ก็คือ โปร่งใส สามัคคี และมีส่วนร่วม และจะมีเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในนโยบายเมืองไทยเข้มแข็ง นั่นก็คือ การทำกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  และการบูรณาการบริการผู้สูงอายุระดับตติยภูมิ ซึ่งเชื่อมโยงระบบจากบริการส่งเสริมป้องกันระดับปฐมภูมิ สู่การรักษา ฟื้นฟูสภาพ

ส่วนของกรมอนามัย ก็จะมีเป้าประสงค์ "ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ"

สุขภาพผู้สูงอายุที่พึงประสงค์ กำหนดไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. มีสุขภาพดี ทั้งกาย จิตใจ และสังคม
    - คือ สุขภาพกายดี ไม่มีโรค หรือว่า มีแต่ควบคุมได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ในผู้สูงอายุอาจยอมให้สูงได้ถึง 140-90 mmHg เบาหวานก็จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเกณฑ์ต่ำกว่าร้อยละ 126 mm/dl
    - สุขภาพจิตดี คือ
      ... การได้ร่วมทำกิจกรรมกับครอบครัว หรือเพื่อนบ้านเป็นประจำ
      ... เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ ก็สามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่
      ... ลูกหลานให้ความเคารพนับถือ ลูกหลานมาเยี่ยมเยียนเอาใจใส่ดูแล
    - สุขภาพสังคมดี คือ เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ และร่วมทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน
  2. มีฟันใช้งานได้อย่างเหมาะสม อย่างน้อย 20 ซี่ (หรือ อย่างน้อย 4 คู่สบ)
  3. ดัชนีมวลกาย หรือรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    - ดัชนีมวลกาย ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็คือ 18.5-24.9 กก./ตร.ม.
    - รอบเอว หญิงไม่เกิน 80 ซม. ชายไม่เกิน 90 ซม.
  4. สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ตามอัตภาพ
    - ถ้าแบ่งตามสมรรถภาพ อาจจะแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
      ... ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ ก็คือ กลุ่มติดสังคม
      ... ผู้สูงอายุที่อาจจะต้องอยู่ในบ้าน ออกมาข้างนอกได้น้อยครั้ง คือ กลุ่มที่ติดบ้าน เนื่องจากภาวะที่เป็นโรคต่างๆ
      ... กลุ่มที่ติดเตียง ก็คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย
    - กลุ่มที่ติดสังคม เป็นกลุ่มที่เราจะชวนท่านมาทำประโยชน์ร่วมกันได้ ในชมรมผู้สูงอายุนี่เอง เพื่อที่จะไปช่วยเหลือกลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย
  5. การออกกำลังกายตามความเหมาะสม คือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

ผู้สูงอายุปัจจุบัน พบว่า จะเป็นอย่างน้อย 1 โรค ร้อยละ 72.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรคำนึงถึงในการทำกิจกรรมด้วย และเมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น จะพบมากขึ้นด้วย

ส่วนเรื่องของการช่วยเหลือตนเอง ในผู้สูงอายุที่ดีเป็นปกติจะมีค่อนข้างเยอะ กลุ่มนี้น่าสนใจที่ เขาสามารถมาช่วยทำกิจกรรมเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพด้วยตนเองได้ เพราะการดูแลตนเองได้ ก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

การใช้ฟันได้อย่างเหมาะสมในผู้สูงอาย มีข้อมูลว่า ผู้สูงอายุมีฟันใช้งานได้เหมาะสม มากกว่า 20 ซี่ เป็นร้อยละ 51 ซึ่งบางจังหวัด อาจมากกว่า หรือบางจังหวัดอาจน้อยกว่า

แสดงว่า การทำงานในพื้นที่ ควรให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลพื้นฐาน เพราะจะสามารถทำให้เรากำหนดเป้าหมาย ของงานได้ชัดเจน และเพื่อที่จะทำให้งาน ทำไปอย่างมีคุณภาพด้วย

กรณีของฟันใช้งานได้อย่างเหมาะสม 4 คู่สบ พบว่า หลังจากที่ได้ทำโครงการฟันเทียมพระราชทาน เราก็จะมีการวัดผล ฟัน 4 คู่สบ ก็พบว่า มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปัจจุบันเราได้ประมาณร้อยละ 51

ในเรื่องการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ ที่พบว่ามีจำนวนมากกว่ากลุ่มวัยทำงานค่อนข้างเยอะ โดยวัดที่จำนวนฟันที่มากกว่า 20 ซี่ พบว่า กลุ่มวัยทำงานมีคนที่มีจำนวนฟันที่ใช้งานได้มากกว่า 20 ซี่ ประมาณ ร้อยละ 96 และในผู้สูงอายุ มีฟันใช้งานได้มากกว่า 20 ซี่ ประมาณร้อยละ 54 จึงน่าสนใจว่า ช่วงที่หายไปนั้นเกิดปัญหาอะไรขึ้น ที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุจึงมีฟันใช้งานได้มากว่า 20 ซี่ ลดน้อยลง

เรื่องของรากฟันผุ ก็มีความสำคัญในผู้สูงอายุ พบว่า การเกิดรากฟันผุในผู้สูงอายุ มีร้อยละ 20 จึงเป็นที่มาของเรื่องสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ที่เน้นการป้องกันในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงรากฟันผุ เพื่อลดการสูญเสียฟันจากฟันผุนั่นเอง

เรื่องของปริทันต์ ในผู้สูงอายุพบถึงร้อยละ 98 ซึ่งจะอยู่ในโครงการสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ด้วยการขูดหินปูนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ เพื่อป้องกันการเป็นโรคปริทันต์ในผู้สูงอายได้

เรื่องของคุณภาพชีวิต

  • อาจารย์เทพ หิมะทองคำ บอกว่า
    - สุขภาพช่องปากจะมีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบ
    - สุขภาพฟันมีความสัมพันธ์กับความสุข ประสิทธิภาพการเคี้ยว รวมทั้งความมั่นใจในการเข้ากิจกรรมด้วย
  • อ.พัชราวรรณ ให้ความเห็นตรงกันว่า
    - ความเจ็บปวดไม่สบายจากฟัน มีผลกับการพักผ่อนนอนหลับ การทำงาน การทำกิจกรรม
    -  จำนวนฟันที่เหลือในช่องปาก มีผลต่อการเคี้ยว ส่งผลต่อภาวะโภชนาการ
    - ผู้สูงอายุที่มีปัญหาจากการเคี้ยว มีโอกาสน้ำหนักน้อยเป็น 3 เท่า ของผู้ที่มีปัญหา

จากกระแสพระราชดำรัสจากในหลวงที่ว่า "เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" เป็นจุดเริ่มของโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไป และเข้าถึงผู้สูงอายุได้

และโครงการผู้สูงอายุที่ทำขึ้นมา จะมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ตั้งแต่ โครงการฟันเทียมพระราชทาน โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ โครงการป้องกันโรคในช่องปากตามชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม เป็นโครงการที่สามารถทำกิจกรรมบูรณาการเข้ากันได้ทั้งหมด รวมถึงเรื่องสุขภาพช่องปาก สุขภาพกายด้วย ซึ่งควรทำร่วมกันไป

และจากการสร้างกระแสฟันดี ด้วยการประกวด ผู้สูงอายุฟันดี วัย 80 ปี ซึ่งพบทุกปี และที่ผ่านมา เราพบว่า มีผู้สูงอายุ 91 ปี ที่มีฟันครบ 32 ซี่ ไม่มีฟันผุ ไม่มีฟันโยก แต่พบฟันสึกบ้าง และปัจจัยที่สำคัญที่สุขภาพช่องปากดี ก็คือ เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารของผู้สูงอายุ ที่กินอาหารพื้นบ้าน ไม่กินน้ำอัดลม ของหวาน

เรื่องของวิธีการทำกิจกรรม ที่ทำกับผู้สูงอายุ จะมี

  • กิจกรรมบริการ
    - ฟันเทียมพระราชทาน
    - บริการการส่งเสริมป้องกัน ได้แก่ การป้องกันโรคในช่องปาก ด้วยการหากลุ่มเสี่ยงฟันผุ เสี่ยงโรคปริทันต์ และให้บริการป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค
  • กิจกรรมตาม setting
    - ชมรมผู้สูงอายุ มีการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม และสามารถไปดูแลผู้อื่นได้
    - กลุ่มก่อนเข้าวัยสูงอายุต่างๆ

ร่วมกับการทำกิจกรรมในส่วนอื่นๆ เช่น การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้ การเฝ้าระวังสถานการณ์ การนิเทศติดตามประเมิน การสนับสนุนการจัดบริการ รณรงค์ สร้างกระแส และเรื่องข้อมูลและรายงาน

ทั้งหมดนี้ คือ เป้าหมายการดูแลสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ในส่วนของทันตฯ ก็คือ เราพยายามทำให้ผู้สูงอายุคงสภาพช่องปากที่ดีให้นานที่สุด ลดการสูญเสียฟัน และมีฟันเทียมทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยมีตัวชี้วัดผลลัพธ์ ก็คือ ผู้สูงอายุมีฟันเคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสม 4 คู่สบ

สุดท้าย คือ ข้อคิดวิธีการเข้าหาชุมชน ที่อาจารย์อุทัยวรรณได้ให้หลักการไว้ ก็จะมี 3 ประการ ก็คือ การที่จะทำงานกับชมรม ต้องคิดว่า เราจะทำแบบไหน

  • เราทำให้เขา
  • เราทำกับเขา
  • หรือ เราส่งเสริมให้เขาทำ

นั่นก็คือ เพื่อที่จะทำให้เขาเกิดการพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

รวมเรื่อง ส่งเสริมสุขภาพ สว. พื้นที่ ศูนย์ฯ 8

  

หมายเลขบันทึก: 342789เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท