ส่งเสริมสุขภาพ สว. พื้นที่ ศูนย์ฯ 8 (22) ไปเยี่ยม ชมรมผู้สูงอายุอำเภอบ้านหลวง ตอนที่ 1 กิจกรรมของชมรมฯ


 

บ่ายวันแรกของการประชุม คุณหมอกมล และคณะ ได้เตรียมพื้นที่เพื่อการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำกิจกรรมของผู้สูงอายุกันในชุมชน ด้วยเวลาเดินทาง 1 ชม. ค่ะ มีแต่โค้งซ้าย กับโค้งขวา เท่านั้นเอง ... แต่ก็พาคณะเรามึกตึ๊บกันไปบ้างเล็กน้อย ก็มีผู้สำรองกินยาแก้เมากันไปมั่ง ... นี่ละค่ะ พื้นที่เมืองน่าน เดินทางกันลำบากหน่อย แต่สวยสงบมาก

ก่อนที่จะไปศึกษาดูงานกัน คุณหมอก้องให้การบ้านกับทีมงาน ไปเก็บเกี่ยวสิ่งดีดี จากการทำงานในชุมชนกัน ดังนี้คือ

ทีมจังหวัดนครสวรรค์ ... ศึกษา/บันทึก รายละเอียด ในหัวข้อ กิจกรรม นวัตกรรม หรือสิ่งที่ภาคภูมิใจของชมรมผู้สูงอายุบ้านหลวง ว่า มีอะไรบ้าง

ทีมจังหวัดพิจิตร ... ศึกษา/บันทึก รายละเอียดในหัวข้อ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จของชมรมผู้สูงอายุ มีปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมบ้าง

ทีมจังหวัดกำแพงเพชร ... ศึกษา/บันทึก รายละเอียดในหัวข้อ ชมรมมีความสามารถ มีต้นทุน ในพื้นที่อะไรบ้าง

ทีมจังหวัดอุทัยธานี ... ศึกษา/บันทึก รายละเอียดในหัวข้อ สิ่งที่ชมรมฯ เขาได้รับ ไม่ว่าจากชุมชนที่อยู่ ที่อยู่ใกล้เคียง หรือในชมรมฯ เป็นอย่างไร เขาได้ประโยชน์อะไร จากการที่เขาจัดชมรมนั้นๆ

ที่บ้านหลวง ด.ต.เชวง (เลขาชมรมผู้สูงอายุ) เป็นพิธีกร ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ นำเข้าสู่กิจกรรมต่างๆ

การศึกษาดูงานที่บ้านหลวง เริ่มพิธีการด้วยการทำพิธีกรรมการสวดมนต์ก่อนค่ะ ทางชมรมฯ บอกว่า ที่นี่จะมีกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีการสวดมนต์ก่อนทุกครั้ง

ท่านสุนทร มหาวงศ์นันท์ นายอำเภอบ้านหลวง ค่ะ กล่าวต้อนรับ

ท่านนายอำเภอเล่าว่า สภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อยู่อย่างง่ายๆ อาชีพหลักข้าวโพด ... ผมคิดว่า ที่นี่จะเป็นแบบอย่างของคนเหนือที่ดีที่สุด เพราะว่าในพื้นที่ของคนบ้านหลวง จะเป็นการรวมกลุ่มระหว่างคนในหมู่บ้าน มีความเหนียวแน่นมาก การรวมกลุ่มจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการสานตะกร้า สานเข่ง อื่นๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมอาชีพ ของ อบต. และ กศน.

อ.กมล อรุณโชคสมศักดิ์ ประชาสัมพันธ์ชมรมนำเสนอกิจกรรมค่ะ

ชมรมผู้สูงอายุบ้านหลวง เป็นชมรมผู้สูงอายุดีเด่นของจังหวัดมาหลายปี มีประธานชมรมฯ คือ นายจำนง หาวีระ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุดีเด่น ของสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2550

ชมรมฯ เป็นเครือข่ายสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำจังหวัดน่าน เริ่มก่อตั้ง ปี 2542 สมาชิก 2,978 คน

วิสัยทัศน์ของชมรม

ผู้สูงอายุของอำเภอบ้านหลวงต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยตัวเองได้ มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

พันธกิจ

ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมบริการต่างๆ ให้แก่ ผส. ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อชีวิตที่ยืนยาว เป็นจุดประสานงานระหว่างภาครัฐ และเอกชน มีบทบาทในการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นจุดประสานงานของสมาชิกผู้สูงอายุในอำเภอบ้านหลวง รวมทั้งเพื่อเกิดการประสานงานกับภาครัฐ และเอกชนอื่นๆ
  2. เพื่อให้ ผส. ได้พบปะสังสรรค์ และส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ
  3. เพื่อช่วยเหลือและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สมาชิกผู้สูงอายุตามหมู่บ้านต่างๆ
  4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพสุขภาพกายที่พึงประสงค์ สามารถดูแลตนเองได้
  5. เพื่อให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิต และมีหลักประกัน
  6. เพื่อเป็นแกนหลัก และมีบทบาทร่วมในการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น

การประสานงานของเครือข่าย ชมรมหมู่บ้าน ประสานมาที่ชมรมตำบล จากตำบล ไปอำเภอ จากอำเภอ ไปเครือข่ายของสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดน่าน และเป็นเครือข่ายของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯ

เขาสั่งมาเราไม่ทำก็ได้ เราทำไปไม่รายงานก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา ... เราทำงานด้วยใจ

การประสานงานระดับอำเภอ จะมี ประธานหมู่บ้าน มาประธานตำบล และมาประธานชมรมฯ ของอำเภอ

แผนที่ภูมิประเทศ ท่าหลวงถึงน่าน ทางโค้ง 45 กม. มีแต่โค้งซ้าย และโค้งขวา ดอยไม่มี มีแต่ทางขึ้นกับทางลง แผนที่ตั้ง อำเภอเรามี ตำบลบ้านพี้ ตำบลสวด ตำบลบ้านหลวง และตำบลบ้านฟ้า

เริ่มก่อตั้งเป็นทางการเมื่อ 2542 จดทะเบียนเมื่อ 10 ธค.48 สมาชิก ณ วันที่ 31 ธค. 2,978 คน มีเครือข่ายตำบล 4 ชมรม และหมู่บ้าน 26 ชมรมฯ

กิจกรรมที่ดำเนินการปีที่ผ่านมา

  1. การประชุมประจำเดือน ประชุมทุกครั้งจะมีการสวดมนต์ มีเจ้าหน้าทีจาก รพ. บ้าง สาธารณสุขบ้างมาให้ความรู้ วัดความดัน ตรวจสุขภาพ เป็นการประชุมเครือข่าย 30 กว่าคน
    ผู้ที่มาประชุม เป็นกรรมการระดับอำเภอ กรรมการเครือข่ายตำบล เครือขายหมู่บ้าน ตัวแทน รพ.บ้านหลวง ตัวแทน สสอ. ตัวแทน อบต.
  2. การทำบุญประจำปี ทำทุกปี ประมาณต้นมกราคม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสมาชิกที่เสียชีวิต
  3. กองทุนสงเคราะห์ศพ ไม่มีการเก็บเงินล่วงหน้า ตายเมื่อไรก็บอก และให้เก็บเงินส่ง ศพที่ 1 จะได้รับ 4,095 บาท ศพปัจจุบันได้รับ 12,000 บาท และระดับตำบลอีกประมาณ 3,300 บาท และจะมีเงินระดับหมู่บ้านอีก ประมาณ 300 บาท แต่มีเงินสงเคราะห์ระดับหมู่บ้านอีก บางหมู่เก็บ 15 หรือ 20 แล้วแต่หมู่บ้าน แล้วแต่ตำบล
  4. การร่วมงานศพผู้เสียชีวิต และมอบเงินสงเคราะห์ศพให้ทายาท เมื่อมีผู้เสียชีวิต ก็บริจาคงบฯ เก้าอี้ ให้ชมรม อำเภอ 1 ตัว เราก็ให้ชมรมตำบลต่อไป เป็นธรรมเนียม ขอเก้าอี้ 1 ตัว ผู้หญิงตายมากกว่าผู้ชาย
  5. กิจกรรมตามประเพณี ได้แก่ การถวายเทียนจำนำพรรา การถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่วัดต่างๆ ในพื้นที่อำเภอบ้านหลวง การจัดทำบายศรี ร่วมประเพณีบวงสรวง และสรงน้ำพระแก้วมรกต วัดหลวง เป็นต้น
  6. การบายศรีสู่ขวัญ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เนื่องในวันสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง)
  7. การเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน / ผู้สูงอายุที่ป่วย โดยอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
  8. การรักษาโรคแผนโบราณ ได้แก่ อบสมุนไพร ยาสมุนไพร ย่ำขาง เป็นต้น
  9. การอบรมอาชีพระยะสั้น ได้แก่ จักสาน ทำไม้กวาด เครื่องเขิน เป็นต้น
  10. การประชุมสัญจร และการเยี่ยมเครือข่าย ปีละ 4 ครั้ง

เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุอำเภอบ้านหลวง

  1. เครือข่ายระดับตำบล จำนวน 4 ชมรม
  2. เครือข่ายระดับหมู่บ้าน จำนวน 26 ชมรม

ผู้สูงอายุมีอายุ ถึง 100 ปี คือ นายเสาร์ น้ำพี้ เกิดวันที่ 5 มกราคม 2451 ปัจจุบันอายุ 102 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 4 บ้านพี้เหนือ ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ... ภรรยา นางอุ่น น้ำพี้ เกิด 8 ธค.2462 อายุ 91 ปี

 

การย่ำขาง

เป็นการรักษาอาการปวดเมื่อย ตามร่างกาย โดยใช้เท่าเหยียบแทนการใช้มือ ก่อนเหยียบร่างกายคนไข้ หมอจะใช้เท้าเหยียบน้ำยาสมุนไพรให้เปียก แล้วเหยียบบนแผ่นขาง หรือผาล ที่ตั้งไฟให้ร้อน เวลาเหยียบตามร่างกาย คนไข้จะได้ความร้อน น้ำยาสมุนไพร และความแรงกดของเท้า ถ้าเปรียบกับการนวดด้วยมือ ก็เสมือนคนไข้ได้ทั้งน้ำยาสมุนไพร การประคบด้วยลูกประคบ และการนวดที่มีน้ำหนักมากกว่ามือ ที่สำคัญเบื้องหลังของการย่ำขาง คือ ความเชื่อศรัทธาของคนไข้ที่มีต่อหมอ ยอมนอนให้หมอเหยียบ

คนไข้ที่มารักษาแบบย่ำขาง คือ คนที่ปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกไขสันหลัง เส้นเอ็นพลิก เป็นอัมพฤกษ์ ฯลฯ ที่พบมากที่สุด คือ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามแข้งขา ปวดเมื่อยที่อื่นๆ เช่น ที่คอ ไหล่ ต้นแขน เท้า สะโพก ฯลฯ

รวมเรื่อง ส่งเสริมสุขภาพ สว. พื้นที่ ศูนย์ฯ 8

  

หมายเลขบันทึก: 343482เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2010 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากไปนวดบ้างจังค่ะ....เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว  ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดหัว(ใจ)....อุ๊ป!!!  แม่หมอนน ช่วยลูกทีจ้า

  • P
  • อ้าว ใครทำอะไรลูกอิงหรือคะ
  • ชบาสวยจัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท