สังคม สว. เข้มแข็ง ที่ลำปาง (2) สว. ดูแลสุขภาพกันอย่างไรดี? ตอนที่ 1 ดูแลสุขภาพ สไตล์แพทย์แผนไทย


 

คุณเอกรินทร์ พรอุดมสุข จาก คลินิกเอกรินทร์ การแพทย์แผนไทย ที่ถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมือง เชียงใหม่ค่ะ อาจารย์มาคุยให้ สว. ที่ลำปางฟัง เรื่อง "การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน" ... น่าเรียนรู้มากค่ะ

แพทย์แผนไทย เดิมเรียก แพทย์แผนโบราณ แพทย์แผนไทยจริงๆ มาเปลี่ยนในรัชกาลที่ 9 เดิมการรักษาของคนส่วนใหญ่ จะรักษาแพทย์แผนโบราณ แพทย์แผนปัจจุบันที่รักษากัน มานิยมเมื่อประมาณ 100 กว่าปีนี่เอง

การแพทย์แผนไทย เวลารักษาโรค จะมีข้อเด่นคือ จะดูแลสุขภาพในเรื่องของกาย และเรื่องของใจ ... ทำไมถึงมองเรื่องใจร่วมด้วย ... อาจเคยได้ยินคำว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หลายๆ คน ถ้าไม่สบาย เจ็บป่วย ถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็ง โรคภัยก็จะไม่ค่อยมาก แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าจิตใจไม่ดี ร่างกายก็จะทรุดไปด้วย จิตใจมองเห็นได้ค่อนข้างยาก เวลาที่เกิดความทุกข์ ในกายเราจะมองไม่เห็น เช่น เวลาเรากลุ้มใจ เราจะกินข้าวได้น้อยลง ไม่ค่อยอยากกิน ก็จะเกิดปัญหาตามมา ก็คือ สุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี โรคที่จะเกิดคือ โรคกระเพาะ เพราะว่าไม่กินข้าว กินไม่ตรงเวลา และจะลามกลับเข้ามา ก็คือ เวลาจิตใจไม่สบาย กายไม่สบาย ก็ย้อนกลับมาที่ใจ ก็จะยิ่งถาโถมเข้าไป

แพทย์แผนไทย จึงไม่ได้มองด้านร่างกายอย่างเดียว เวลาที่เป็นโรคกระเพาะเข้ามา ไม่ได้เอายาโรคกระเพาะไป แต่จะมีการถามประวัติ แล้วให้คำแนะนำเรื่องของจิตใจด้วยเหมือนกัน

การแพทย์แผนไทยจะมีสมุตรฐานของโรค คือ

  • ธาตุ
    - ดิน (ปฐวี) ... ธาตุที่มีความแข็ง เช่น ผม ฟัน หนัง
    - อาโป คือ ธาตุน้ำ เช่น น้ำลาย เลือด น้ำเหลือง
    - วาโย คือ ธาตุลม มีความสำคัญเยอะ หลายๆ คนอาจรู้สึกวิงเวียนหัว ท้องอืดเฟ้อ พวกนี้จะเกี่ยวกับเรื่องลม ทางแพทย์แผนไทยบอกว่า มีลมกองละเอียด กับกองหยาบ ถ้าลมกองละเอียด จะอยู่บริเวณสมอง หลายคนอาจมีอาการวิงเวียน ... เรื่องท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นลมกองหยาบ
    - เตโช ธาตุไฟ ที่สำคัญคือ ไฟที่ย่อยอาหาร จะมีชื่อว่า ไฟปริณามัคคี ถ้าเปรียบกับปัจจุบันคือ น้ำย่อย จะมีส่วนสำคัญในการย่อยอาหาร และเป็นจุดที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือไม่แข็งแรงด้วย
  • อุตุ (ฤดู)
    - ฤดูร้อน (คิมหันตฤดู) คนเป็นโรคอะไรเยอะ และการรักษา รักษาอย่างไร
    - คนเป็นโรคในฤดูฝน (วสันตฤดู) เป็นอะไร จะให้คำแนะนำ และดูแลเขาในเรื่องใดบ้าง
    - ฤดูหนาว (เหมันตฤดู) เวลาหนาว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร
    - ในแต่ละฤดู ก็จะมีการดูแลตัวเองต่างกัน
  • อายุ ก็เช่นเดียวกัน จะมี
    - ปฐมวัย (1-16)
    - มัชฌิมวัย (16-32) และ
    - ปัจฉิมวัย คือ 32 ขึ้นไป
    - ในแต่ละช่วงอายุจะมีลักษณะการก่อเกิดโรคแตกต่างกัน
  • เรื่องของกาล
    - ยามหนึ่งเป็นช่วงเช้า 6 โมง – 9 โมง คนจะป่วยด้วยอะไรเยอะ ส่วนใหญ่ช่วงนี้จะป่วยเรื่องเสลด เช่นเดียวกับปฐมวัย ส่วนใหญ่เวลาป่วย จะป่วยเรื่องของเสลด
    - ช่วงสายๆ (ยามสอง) 9 โมง ถึงเที่ยง จะเกี่ยวกับระบบย่อย เรากำลังจะเริ่มกินอาหาร ระบบย่อยก็จะเริ่มทำงาน ถ้าเราไม่กินก็จะเกิดปัญหา
    - ยามสาม หลังจากเที่ยงไป เมื่อร่างกายย่อยอาหารแล้ว เลือดก็จะมาหล่อเลี้ยงกระเพาะ ... หลายๆ คนที่หลังจากกินข้าวเสร็จ เริ่มเหมือนกับหนังท้องตึง หนังตาหย่อน ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า เลือดมาหล่อเลี้ยงกระเพาะให้ทำงาน ทำให้หลายๆ คน ตอนช่วงบ่ายจะเริ่มง่วงนอน
    - ถ้าถามต่อไปว่า แล้วถ้าง่วงนอน และเราจะนอนดีไหม ... ดีครับ แต่ว่า นอนในระยะช่วงเวลาสั้นๆ อย่างเช่น ประมาณ 5 นาที 20 นาที จะดี เป็นการงีบหลับนิดเดียว ... และการนอนไม่ใช่นอน 180 องศา เพราะว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่นอน 180 องศา ก็จะเกิดโรค ... กรดไหลย้อน ... เวลานอนก็ให้เหมือนกับเอนนอน สมองจะได้พักผ่อนช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า
    - ยามสี่ ตอนเย็นจะเกิดเรื่องลม
    - ช่วงเช้าเรามีเสลด ช่วงสายๆ กำลังจะกินอาหาร จะมีระบบย่อย พอหลังจากกินอาหาร เลือดต้องไปหล่อเลี้ยงกระเพาะ พอตอนเย็น ย่อยเสร็จก็จะมีลม หรือแก๊สขึ้นมา
    - เมื่อเรารู้ในแต่ละช่วงเวลา เราก็จะประมาณได้ว่า เวลาไหน เราควรทำอะไร

การแพทย์แผนไทย จึงเป็นมองเรื่องของร่างกาย และจิตใจ

รวมเรื่อง สังคม สว. เข้มแข็ง ที่นครลำปาง

 

หมายเลขบันทึก: 376576เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2010 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท