ภาคีเครือข่าย + ชมรมผู้สูงอายุ กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ตอนที่ 3 กระบวนการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ทำได้อย่างไร


 

ชั่วโมงนี้ อ.พัชราวรรณ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเล่าสู่กันฟัง ถึงเรื่องที่ว่า สุขภาพช่องปากมีความสำคัญอย่างไร สำหรับผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเองจะช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเอง ของคนในชมรม ของคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ในชุมชนได้อย่างไร

ปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน ก็คือ จำนวนผู้สูงอายุมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชากรผู้สูงอายุจะมากขึ้นกว่า 300% ในอีก 30 ปีข้างหน้า และอีก 40 ปีข้างหน้า ประชาชนโลก 2,000 กว่าล้านคน จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ... มองไปทางไหนก็จะมีแต่ผู้สูงอายุ

ตอนนี้ เราทุกคนต้องช่วยกัน ผู้สูงอายุห้ามแก่ เพราะว่าเราต้องเน้นการดูแลตัวเอง … มีบทความเขียนไว้ว่า “แก่อย่างไทย VS แก่อย่างฝรั่ง” ฝรั่ง ... เขาไม่คิดว่าตัวเองแก่ ดูจากเขาจะแต่งหน้า ทำผม ไปเที่ยว ตลอด ... แต่อย่างไทย แก่แล้ว ไม่ไหว ต้องให้ลูกหลานนวด เพราะฉะนั้น ในอนาคต เราต้องไม่แก่อย่างไทย เพราะว่าต้องดูแลตัวเองได้ด้วย รวมทั้งต้องดูแลฟันด้วย

ช่องปากผู้สูงอายุเป็นอย่างไร

  • จากผลการสำรวจ ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันใช้งานได้เกิน 20 ซี่ มีเกิน 50% เป็นค่าที่ดีกว่าต่างประเทศ เราต้องทำให้ผู้สูงอายุมีฟันที่ดีเช่นนี้ต่อไป
  • ผู้สูงอายุเกือบ 70% มีฟันโยก เราต้องช่วยกันรักษา ดูแล ส่งเสริมไม่ให้เกิด โครงการที่ทำในเรื่องการแปรงฟัน จะลดปัญหานี้ลงได้
  • ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันเลย มีร้อยละ 10 และลดลงเรื่อยๆ ด้วยการได้รับการใส่ฟันเทียม
  • ผู้สูงอายุไทยในความเป็นจริง
    - กลุ่มที่มีสุขภาพดี มีฟันแท้เหลือเยอะ ฟันครบ แน่น สะอาด ไม่มีหินปูน ใช้งาน เคี้ยวอาหารได้ดี มีการใส่ฟันเทียมเรียบร้อย ฟันดี ในปากไม่มีแผล ดูแลความสะอาดดี ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
    - กลุ่มที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี จะมีฟันเหลือน้อย มีบ้างไม่มีบ้าง เหลือไม่กี่ซี่ ที่เหลือจะเป็นฟันโยก คลอน ทำให้ฟันใช้งานไม่ได้ และมักมีหินปูนเกาะติด ไม่ยอมรับการรักษา มีโรคเป็นๆ หายๆ ถ้ามีฟันผุ ก็จะเป็นรูใหญ่ กว้าง กินอะไรก็ไปอุดเสมอ หรือเป็นตอ จะกร่อนไปเรื่อยๆ ถ้าทำฟันเทียม ก็จะทำมานานแล้ว ถ้าเป็นฟันเทียมชนิดเกาะอยู่กับฟัน ส่วนมากจะหลวม ฟันเทียมมักจะบิ่น ฟันแท้ที่มีอยู่ก็จะโยกๆ ไปบ้าง ตามตำแหน่งที่ตะขอเกาะ และมักมีคราบติด เพราะว่า ฟันเทียม และฟันไม่สะอาด
  • การไปพบทันตแพทย์ ส่วนใหญ่จะพบว่า การไปพบหมอฟันเป็นเรื่องยาก บางครั้งการนั่งรถไปหาหมอ / หมอฟัน เป็นเรื่องยาก ไม่มีเงิน คิดว่าตัวเองไม่มีปัญหา พอมีปัญหา หมอก็จะบอกว่า ทำไม่ได้ ก็พันปัญหากันไป เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ ชั่วชีวิต ไม่เคยเจอหมอฟัน

ถ้าเจอสภาพปัญหาในช่องปากผู้สูงอายุ ทำให้คิดว่า เราต้องทำอะไร เพื่อแก้ปัญหานี้

  • ข่าวดี ... จะมีคนบางคนที่มีสุขภาพดี
  • ข่าวร้าย ... คนที่มีสุขภาพไม่ดี มีมากกว่า คนที่มีสุขภาพดี
  • ดังนั้น ... สำหรับแกนนำ เป็นผู้ที่สนใจแล้ว ก็น่าจะมีสุขภาพช่องปากที่ดี และที่เหลือในหมู่บ้าน ที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี ก็จะมีมากกว่า ที่จะต้องไปทำกิจกรรมส่งเสริมป้องกัน เพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี
  • เรื่องของความดัน เบาหวาน เรายังเห็นความสำคัญ ... สุขภาพช่องปากก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
  • ถ้ามีฟัน เราจะเคี้ยวข้าวได้ กินได้ สุขภาพกายดี แต่จากพระราชดำรัส บอกว่า เมื่อไม่มีฟัน ก็จะกินไม่ได้ เคี้ยวไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีฟัน ก็ต้องมาบูรณะ ให้หมออุดฟัน หรือใส่ฟันเทียม จึงจะเคี้ยวได้ และทำให้พูดได้ชัด
  • ดังนั้น สุขภาพกายมีความสำคัญ สุขภาพจิต ก็มีความสำคัญ คือ เมื่อไม่เป็นโรค ไม่ปวดฟัน ก็จะมีความสุข สุขภาพจิตดี
  • เราจึงต้องดูแลฟันให้เป็นปกติให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เป็นโรค เพราะว่าสุขภาพฟันดี สุขภาพจิตก็จะดีด้วย
  • และการที่มีฟันสวย ไม่มีปัญหากับการใช้งาน ก็จะมีความภาคภูมิใจ มั่นใจ เข้าสังคมได้ ไปวัด ไปกินข้าวร่วมกับคนอื่นได้ ... เป็นแกนนำก็ต้องมีฟันสวย
  • สรุป สุขภาพช่องปากดี สุขภาพกายก็จะดี สุขภาพจิตดี เพราะฟันแข็งแรง กินอาหารได้ดี ทุกอย่างก็จะเป็นวงจรที่ดี
  • อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การมีฟันดีหรือไม่ จะมีผลอย่างยิ่งต่อภาวะโภชนาการ
    - คนที่กินข้าวไม่ได้ จะได้รับสารอาหารไม่พอ ถ้าแข็งแรงอยู่ก็เป็นปกติ แต่ถ้ามีสุขภาพไม่ดี พอยิ่งไม่มีฟัน ก็ยิ่งแย่ ทำให้การรักษา ฟื้นฟูสขภาพร่างกายเป็นไปได้ช้าลง การหายจากโรคต่างๆ ช้า และพบว่า ถ้าผู้สูงอายุป่วย เข้าโรงพยาบาล คนที่ไม่มีฟัน จะฟื้นยาก และช้ามาก ดังนั้น ต้องมีฟันไว้ก่อน
    - นอกจากนั้น จะส่งผลต่อฟัน และทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เพราะถ้ากินอาหารที่เป็นแป้งเยอะขึ้น ก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวาน ส่งเสริมให้เกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย

มีความจริงที่บอกว่า สุขภาพช่องปากทำให้มีอายุยืน … เชื่อหรือไม่

  • เราจะแก่เร็ว เมื่อปล่อยให้เหงือกอักเสบ เป็นเพราะอะไร ... คำอธิบายคือ หากมีการอักเสบในช่องปาก เช่น เวลาปวดฟัน เราจะเกิดตัวร้อน ไม่สบาย หงุดหงิด และจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จากทฤษฎีของการอักเสบ โดยคุณหมอด้านอายุรวัฒน์ (ด้านการต่อต้านการชราภาพ) เรียกว่า สารตัวแก่ (อนุมูลอิสระ) เมื่อมีการอักเสบ สารตัวแก่จะออกมาเยอะ ทำให้เราแก่เร็ว ดังนั้น แต่ละครั้งที่มีการอักเสบ จะทำให้เราแก่เร็วขึ้นประมาณ 1 เท่า เช่น สารตัวแก่จะออกมาบ่อยเมื่อมีเหงือกอักเสบในปาก (จากการแปรงฟันแล้วมีเลือดออก)
  • โรคปริทันต์จึงมีความสัมพันธ์กับการมีอายุยืน ... งานวิจัยต่างประเทศ พบว่า คนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ จะมีอัตราตายสูงกว่าคนไม่เป็น ถึง 23-46%
  • และมีการวิจัยบอกว่า การแปรงฟัน หรือขัดฟันให้สะอาดทุกวัน ทำให้เรามีอายุยืนมากขึ้นประมาณ 6 ปี ... ด้วยเหตุผลที่ว่า การแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันให้สะอาด จะลดเชื้อโรค เพราะว่า เชื้อโรคคือสารตัวแก่ การแปรงฟันให้สะอาด จะลดเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อลดการอักเสบ จะลดการบวมของเส้นเลือด ไปลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดโรคหัวใจได้ด้วย
  • มีการศึกษาในคน 500 กว่าคน เป็นการศึกษาระยะยาว 5, 10, 15, 20 ปี พบว่า ในคนที่มีอายุ 70 ปี เปรียบเทียบคนที่มีฟัน 20 ซี่ หรือมากกว่า กับ คนที่มีฟันน้อยกว่า 9 ซี่ คนที่ไม่มีฟัน หรือมีฟันน้อยกว่า 9 ซี่ จะมีปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนไหว เดิน ขึ้นลงบันไดลำบาก เพราะว่าการเคี้ยวทุกวัน จะไปกระตุ้นกลไกของสมองบางอย่าง (เป็นหลักการใหม่ของอายุรวัฒน์) คนที่มีฟัน มีการเคี้ยวทุกวัน เป็นกฎธรรมชาติ ทำให้เส้นประสาททั้งหลายทำงานเป็นปกติสุข เหมือนกับคนอายุหนุ่มสาว พอเราไม่มีฟัน บางอย่างก็จะหายไป ... การมีฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ใครควรเป็นคนดูแลสุขภาพช่องปาก … ตัวเราเอง

เราคงไม่ได้รอแต่หมอ เพราะว่าหมอก็ยังมีคนมากมาย ที่ต้องไปดฃช่วยดูแล ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยกลางคน ... ผู้สูงอายุจึงต้องมีแนวคิดที่สำคัญ  คือ ผู้สูงอายุต้องไม่เป็นภาระให้หมอ … ดังนั้น ใครควรจะเป็นผู้ดูแล ก็คือ ผู้สูงอายุทุกคนต้องช่วยกันดูแลตัวเอง และอย่าให้มีสภาพฟันที่ไม่ดี

การส่งเสริมสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องของคนทุกคน

การส่งเสริมสุขภาพช่องปาก หมายถึง การพัฒนาช่องปากให้มีสุขภาพช่องปากที่ส่งผลดีต่อการมีชีวิต กาย จิต สังคม ดูแลให้สุขภาพช่องปากไม่มีปัญหา ทำงานได้ เป็นปกติสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดี โดยมีแนวคิดว่า

  • ช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ปากเป็นประตูสู่สุขภาพ เราอยากมีสุขภาพดี ก็ต้องดูแลช่องปากของเราให้ดีด้วย
  • การทำงานส่งเสริมสุขภาพ ต้องทำเป็นทีม ตั้งแต่หมอ พยาบาล ผู้สูงอายุ มารวมตัวกันเป็นทีมสุขภาพ จึงเรียกว่า เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิในการส่งเสริมสุขภาพ และต้องทำร่วมกัน

แนวคิดของการส่งเสริมสุขภาพที่ใช้กัน คือ Ottawa Charter คือ

  • ด้านแรก เรียกว่า การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
    ...  ทุกคนในชุมชนเห็นพ้องต้องกันที่จะทำร่วมกัน มีการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพมาหลายพื้นที่แล้ว เช่น ที่น่าน ทำเรื่องนโยบายด้านอาหาร ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีเส้นใยพื้นบ้าน เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ ให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก การลดการบริโภคน้ำตาล ในเด็กจะมีโครงการ เด็กไทยไม่กินหวาน ผู้สูงอายุก็อาจจะมีโครงการผู้สูงอายุลดหวาน ที่กำหนดเป็นนโยบายของชมรมฯ ก็จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ที่คนในชุมชนตั้งข้อตกลงร่วมกัน
    ... นโยบายให้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เนื่องจาก ฟลูออไรด์เป็นตัวที่ป้องกันฟันผุได้ดีที่สุด การใช้ยาสีฟันฟลุออไรด์ยังจำเป็นในผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่า ยาสีฟันสมุนไพรก็ดี แต่ถ้าไม่มีฟลูออไรด์ด้วย ก็จะไม่มีผลในการป้องกันฟันผุ ปัจจุบันนี้จะมียาสีฟันสมุนไพรหลายตัว เริ่มที่จะผสมฟลูออไรด์แล้ว
    ... นโยบายชุมชน ในการที่จะนำมาพัฒนาให้มีสุขภาพดี ก็เป็นนโยบายสาธารณะได้ เช่น ลดเหล้าในงานบุญ ลดการสูบบุหรี่
  • ด้านที่สอง ... การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น
    ... เสียงตามสาย วิทยุชุมชน ได้ยินเรื่องสุขภาพทุกวัน คนก็จะตื่นตัว เป็นการส่งเสริมให้มีข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ และกลับไปเล่าสู่กันฟัง
    ... ก่อกระแสให้พยาบาล หรือคนที่ทำงานด้านสุขภาพให้ผู้สูงอายุเรียนรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก ก็จะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้คนได้มีความรู้เพิ่มขึ้น
  • ด้านที่สาม ... สร้างความเข้มแข็งให้กับกิจกรรมชุมชน
    ... เราทำได้ ตรงที่ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยตนเอง หมอเป็นผู้ช่วยสนับสนุน ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการวางแผนทำงานส่งเสริมสุขภาพ
    ... ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดความรู้ วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุกันเอง เช่น วิธีการดูแลตนเอง ย้อมสีฟัน แปรงฟันกันเอง
  • ด้านที่สี่ ... การเสริมสร้างทักษะส่วนบุคคลด้านสุขภาพ
    ... ทำให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นว่า ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้
    ... ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกพฤติกรรมดูแลสุขภาพที่เหมาะสม เป็นต้นแบบที่ดีแก่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน ในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพ และอื่นๆ
    ... สามารถดูแลคนอื่นๆ ได้ ตั้งแต่ ลูกหลาน เด็กเล็ก
    ... ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยในครอบครัว
  • ด้านที่ห้า ... ปฏิรูประบบบริการสาธารณะมุ่งสู่การส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการ
    ... ส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเป็นองค์รวม
    ... ส่งเสริมให้มีการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่ม
    ... ส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเอง เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา

ตัวอย่าง กิจกรรมพัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ที่สารภี 12 ปีผ่านมา (ทำ 6 ปีต่อเนื่อง)

  • เริ่มต้น หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่เงียบ มีต้นลำใยเยอะ
  • เริ่มจากการประชุมกลุ่ม พบว่า ผู้สูงอายุมีความรู้เยอะในเรื่องสมุนไพร จึงทำในเรื่องนี้ และพัฒนาต่อ นำมาสู่ภูมิปัญญาไทย ผักพื้นบ้านนำสู่วิถีสุขภาพดี ... ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • โดย ค้นหาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้เรื่องผักพื้นบ้าน (ด้วยวิธีสังเกต สอบถาม)
  • ศึกษาข้อมูลผักทุกชนิดในหมู่บ้าน เน้นผักที่ปลูกในบ้าน
  • ทำกิจกรรมร่วมกัน โดย การทำอาหารกินด้วยกัน แต่ต้องเอาผักพื้นบ้านมา ก่อนกินเล่ากันก่อนว่า ผักที่เอามามีคุณสมบัติอะไร อภิปรายคุณสมบัติ ผลที่ได้ก็คือ เรามีข้อมูลในเรื่องของผักพื้นบ้าน ได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้สูงอายุ และนำมารวมกัน ทำเป็นเอกสารเผยแพร่ให้กับคนรุ่นหลัง ได้สมุนไพร ก็คือ ไม้ข่อย เปลือกแคแดง แก้ฟันผุ เหงือกบวม ว่านกอฮอล์ทาแผล ใบฝรั่ง ใบกระเพราะดำ และอื่นๆ
  • ผลตรงนี้บอกได้ว่า จะนำศักยภาพเหล่านั้นมาใช้อย่างเป็นระบบได้อย่างไร มีภูมิปัญญา จะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร โดย การทำวิดีทัศน์ โดยมีพระเอก นางเอก เป็นพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ปัจจุบัน อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ชั้น 5 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • หลังจากนั้น ได้เกิดเป็นโครงการใหม่ขึ้นในการอนุรักษ์สมุนไพร เป็นการจุดประกายทีมสุขภาพขึ้น โดยผู้สูงอายุเป็นต้นเรื่อง ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ครู นักเรียน อสม. เข้ามาช่วยทำกิจกรรม มีการจัด Rally ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน จัดเป็นฐานตามบ้าน มีโจทย์แรลลี่ แต่ละบ้านก็จะเตรียมการณ์ ทั้งสมุนไพร ให้เด็กได้รู้จัก ฐานดมกลิ่น ฐานรู้จักสมุนไพร ฐานทำกับข้าว เด็กก็จะถีบจักรยานกันไป ... ผลการศึกษา คือ ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข มีส่วนร่วม ทุกคนภาคภูมิใจ เป็นเจ้าของงาน
  • ท้ายที่สุด คือ ผู้สูงอายุ จากการที่มีการพัฒนาศักยภาพ จากผักพื้นบ้าน ทำวิดีทัศน์ จัดแรลลี่ค้นหาสมุนไพร จากนั้นก็มุ่งสู่การมีสุขภาพดี ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็เขียนโครงการไปขอเงิน องค์กรท้องถิ่นเอง และผู้สูงอายุร่วมกับภาคี จัดโครงการหมู่บ้านแห่งสุขภาวะที่ดี จัดทำกันเอง
  • ข้อสรุปที่ได้ ก็คือ ชมรมผู้สูงอายุสามารถดำเนินการได้เอง แบบภาคึเครือข่าย เชิญหมอมาให้ความรู้ มีทั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแกนนำที่ช่วยกันทำ
    จากหลายกลุ่มก็รวมกันเป็นกลุ่มเดียว เพื่อชุมชน สุดท้าย มีการทำสัญญาปฏิคม เพื่อที่จะทำงานเพื่อสุขภาพที่ดี

ข้อสรุปที่ได้จาก อ.พัช ก็คือ ... คุณสมบัติผู้สูงอายุปัจจุบัน

  • ผู้สูงอายุคงไม่ต้องรอให้ใครมาดูแล
  • ผู้สูงอายุจะเป็นคนที่คืนรอยยิ้มใสให้กับสังคม เพราะว่าผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่มีศักยภาพ ชมรมผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบที่จะคืนรอยยิ้มใสให้สังคม
  • เราเป็นผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่ไม่ธรรมดา
    ... เราห่วงใยลูกหลาน
    ... เราห่วงใยเพื่อนๆ ในชมรมฯ
    ... เราห่วงใยชุมชน ห่วงใยสังคม
    ... และเราห่วงใยประเทศชาติ
    ... เราใส่ใจต่อสุขภาพ
    ... เราที่มาในวันนี้ เป็นกลุ่มที่มีพลัง พลังของการเป็นแกนนำผู้สูงอายุ มารวมพลังตั้งใจทำความดีกันต่อไป เพื่อให้คนของเรามีสุขภาพดี
    ... เพราะว่าช่องปากนำสู่สุขภาพ นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าคนในชุมชนของเรามีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตของเราก็จะดี และประเทศชาติก็จะดีด้วย

 รวมเรื่อง ภาคีเครือข่าย + ชมรมผู้สูงอายุ กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

 

หมายเลขบันทึก: 428989เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท