ภาคีเครือข่าย + ชมรมผู้สูงอายุ กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ตอนที่ 4 ... 4 กลุ่ม 4 สไตล์


 

ช่วงนี้ ผู้เข้าประชุมมาช่วยกันคิด ช่วยกันไตร่ตรอง ช่วยกันนำเสนอ ประสบการณ์การทำกิจกรรมของแต่ละคน ในเรื่องของการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ ที่ได้ทำกันมาค่ะ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 4 เรื่อง 4 สไตล์ ได้แก่

  1. กลุ่มสาธารณสุขร่วมใจ ห่วงใยชมรมผู้สูงอายุ
  2. กลุ่มองค์กรส่วนท้องถิ่น / ภาคีเครือข่าย ต่อการดำเนินงานชมรมผู้สูงอายุ
  3. กลุ่มบทบาทชมรมผู้สูงอายุ กับการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม
  4. กลุ่มก้าวไปข้างหน้า กับชมรมผู้สูงอายุสู่การมีสุขภาพที่ดี

บอกได้ว่า ได้กลเม็ด เคล็ด (ไม่) ลับมาเผยแพร่ต่อมากมายค่ะ อันมี

กลุ่มสาธารณสุขร่วมใจ ห่วงใยชมรมผู้สูงอายุ (ชื่อเล่น กลุ่มหนึ่งในใจเดียว)

มาบอกเล่า โดย คุณหมอธาริณี และคุณพ่อดี เล่าว่า

  • แรงจูงใจที่เข้าร่วมชมรมฯ ตัวอย่างของคุณพ่อดี ก็คือ ตั้งใจ คิดถึงเพื่อนที่ด้อยโอกาสกว่า ... เราต้องเสียสละ ต้องปฏิบัติที่ตัวเราเองก่อน รักษาฟันของเราให้เป็น และเอาใจมาเชื่อมกัน
  • บุคลากรทางสาธารณสุขเป็นผู้ที่นำความรู้ไปให้ กระตุ้น และติดตาม
  • งานที่เกิดขึ้นมาได้ เกิดจากชมรมผู้สูงอายุ จากการร่วมมือกันของผู้สูงอายุ แกนนำของชุมชน อสม. อปท. เข้ามาร่วมช่วยกัน
  • ตัวอย่างกิจกรรมที่สารภี
    ... ชมรมผู้สูงอายุตำบลท่ากว้างเริ่มกิจกรรม จาก คัดสรรกรรมการหมู่บ้านละ 2 ท่าน ไปรับความรู้จากทันตแพทย์ และนำไปสอนกันต่อที่ชมรมผู้สูงอายุ ในเรื่อง การแปรงฟันถูกวิธี เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้กันว่า จะรักษาฟันอย่างไร ฟันที่สูญเสียไปแล้ว จะไปทำได้ที่ไหน และเป็นการสร้างทีมเครือข่าย
    ... นำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ไปสอดแทรกในเรื่องที่สนใจกันอยู่แล้ว เช่น เรื่องสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง และสภาพจิตใจ และทำไปด้วยกัน

ข้อคิดการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

  1. ผู้สูงอายุนับวันจะมากขึ้นทุกที ทำให้ผู้สูงอายุต้องใส่ใจสุขภาพตัวเอง
  2. สุขภาพร่างกายต้องดูแล โดย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. สุขภาพจิตใจต้องปล่อยวาง ละความโลภ โกรธ หลง และหมั่น ทาน ศีล ภาวนา
  4. หมั่นนั่งสมาธิ กรรมฐาน
  5. ร่วมกิจกรรมทางสังคม

ปัจจัยความสำเร็จ หรือความภาคภูมิใจ

  • เมื่อผู้สูงอายุมีรอยยิ้ม ทางสาธารณสุขก็จะมีกำลังใจในการทำงาน
  • ทุกวันนี้ ชมรมผู้สูงอายุฯ มีพื้นฐานความรู้ ทำให้สามารถไปทำกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ท้องถิ่นช่วยท้องถิ่น เป็นหนทางเชื่อมกันได้เลย
  • สิ่งที่ได้จากการ ลปรร. ทำให้ได้แนวทางไปประยุกต์ใช้ ... สุดท้ายก็จะเกิดกิจกรรมขึ้น ตามบริบทของเรา
  • ชมรมฯ ที่ได้ทำกิจกรรมแล้ว เกิดการขยายความรู้สู่ภาคีเครือข่ายอื่นๆ ด้วย
  • ประโยชน์ นอกจาก ผู้สูงอายุได้แล้ว ก็จะมีประโยชน์ต่อลูกหลานด้วย
  • เมื่อชมรมเข้มแข็ง ได้เป็นชมรมผู้สูงอายุต้นแบบแล้ว ก็สามารถทำกันเองต่อๆ ไป และขยายผลไปสู่ชุมชนได้ เช่น การสอนเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กเล็ก ได้กินขนมอ่อนหวาน

กลุ่มองค์กรส่วนท้องถิ่น / ภาคีเครือข่าย ต่อการดำเนินงานชมรมผู้สูงอายุ

กลุ่มนี้ มีชื่อเล่น “หลายใจ รวมเป็นหนึ่ง” ค่ะ

เรื่องที่คุยกันในกลุ่มนี้ ก็คือ

เป็นเรื่อง บทเรียนการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ ต.บ้านแม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

เริ่มต้น จาก เมื่อหมอโจ้มาทำงานที่นี่ ไม่มียูนิตทำฟัน ได้ไปช่วยงานที่ รพ.สันป่าตองอยู่ 6 เดือน ระหว่างนั้น ทางสถานีอนามัยได้หารือกับ อบต.บ้านแม เพื่อจัดซื้อยูนิตทำฟัน เมื่อได้เครื่องมือ สามารถทำฟันที่ สอ.บ้านแมได้ หมอโจ้จึงมาเริ่มต้นที่นี่

ด้วยเหตุที่ว่า อบต. บ้านแมทำงานอะไร ก็มีการหารือกับชุมชนอยู่แล้ว เมื่ออนามัยเอาปัญหานี้เข้าไป จึงเกิดการประสานงานกันได้เครื่องมือทำฟันมาให้หมอโจ้ทำงานทันตกรรมในสถานีอนามัย ก็จะมีวานส่งเสริมสุขภาพช่องปากตามมา

เมื่อปี 48 ที่เริ่มมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน ก็เป็นจุดเริ่มโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กับผู้สูงอายุ ร่วมกับ ปี 50/51 มีงานวิจัยของทันตแพทย์ ทำในเรื่อง คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในมุมมองของผู้สูงอายุเอง ทำให้ได้เห็นว่า ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของตัวเองอย่างไรบ้าง เมื่อไม่มีเขี้ยวแล้ว ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้คิดว่า จะทำอะไรดี

ปัจจัยในการนำไปสู่ความสำเร็จของที่นี่ ก็คือ

  • วิสัยทัศน์ของผู้นำ เน้นการส่งเสริมเรื่องสุขภาพ และไม่ได้มองแต่กลุ่มเดียว แต่มองที่ประชาชนในภาพรวมเป็นหลัก
  • "ย่ำเดินอย่างปลาไหล" เมื่อเห็นประชาชนเป็นหลัก งบประมาณจึงได้จัดสรรเพื่อให้ถึงประชาชน รวมทั้งมีการส่งเสริมสุขภาพด้วย
  • การทำงานเป็นทีม ทีมสาธารณสุขช่วยกันเต็มที่ ร่วมกับแกนนำผู้สูงอายุ แกนนำ อสม. ช่วยเหลือ ประสานงาน สร้างความเข้าใจ พูดคุยกันตลอด ... ปัญหาจึงแก้ได้หมด
  • ช่วงเวลาของการของบประมาณ ท่านนายกฯ บอกเลยว่า ต้องขอก่อน 1-15 สค. เพราะว่า อบต. จะมีการประชุมจัดทำแผนงาน เพื่อให้รู้และพูดคุยกันก่อนที่จะมีการคุยในสมาชิกสภา
  • ต้องเลือกแหล่งงบประมาณที่ถูกต้อง ทั้งของท้องถิ่น และ สปสช.

กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่ มี

  • โครงการส่งเสริมสุขภาพ คัดกรองโรคเบาหวานความกัน
  • เด็กไทยฟันดี
  • การพัฒนาคุณภาพชีวิต
  • การสนับสนุนอุปกรณ์ทำฟัน
  • การสนับสนุนงบฯ ของ สปสช.
  • ในชมรมออกกำลังกายทุกเย็น จะมีการสอนเกี่ยวกับฟัน โดยผู้สูงอายุทำกันเองทุกวัน เริ่มแรกหมอโจ้ไปสอนก่อน หลังๆ ผู้สูงอายุสามารถดำเนินการกันเองได้ เมื่อออกกำลังกายเสร็จ จะมีการแปรงฟัน จุดนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุทำกันได้เอง

แนวทางที่ทำให้เกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

  • เริ่มแรก ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนก่อน
  • หาเครือข่าย ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุ ชมรม อสม.
  • ที่สำคัญ คือ ต้องคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน ให้เขารู้ว่า เขามีปัญหาอะไร เขาจะเห็นความสำคัญ และอยากดำเนินการเอง แล้วจะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ เพราะว่า สามารถดำเนินการเองได้ ... เริ่มแรกอาจยังไม่รู้ว่า ต้องทำอย่างไร ก็จะมีการพาไปดูงาน สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดการทำงานในชุมชนที่อยู่
  • หาแหล่งงบประมาณให้ถูกที่ และเสนอของบประมาณให้ถูกจังหวะ

ท่านประธานกลุ่มมีเพลงมาฝากไว้ค่ะ

“ฟัน ฟัน ฟัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษา
ตื่นเช้าเราลุกขึ้นมาๆ จะต้องล้างหน้า แปรงฟัน
ฟัน ฟัน ฟัน ถูฟันพวกเราจงหมั่น
เมื่อก่อนจะนอนแปรงฟัน ทุก ทุก วัน ฟันทนแน่นเอย”

“ตื่นนอนเราต้องแปรงฟัน แปรงทุกวัน ฟันจะขาวผ่อง
แปรงเวลาก่อนนอน ชะ ชะ แปรงเวลาก่อนนอน
แกนนำสอน ... ให้จดจำ”

“ก่อนจะเข้านอน แปรงฟันเสียก่อนนะจ๊ะน้องพี่
ตื่นเช้าขึ้นมา รีบไปล้างหน้า แปรงฟันเสียซี่
แปรงฟันวันละ 2 ทีๆ ทำได้อย่างนี้ ฟันเราสะอาดจัง”

กลุ่มบทบาทชมรมผู้สูงอายุ กับการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม

เริ่มต้นจากตัวอย่างการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ของชมรมผู้สูงอายุวัดศรีหลวง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ก็คือ

  • ชมรมผู้สูงอายุวัดศรีหลวง ได้เริ่มทำกิจกรรม โดยนำแกนนำของชมรมฯ มาประชุม หาแนวทางการดูแลสุขภาพในช่องปาก และนำแกนนำไปประชุมในหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง
  • บทบาทในการทำโครงการที่เกิดขึ้น
    ... ผู้สูงอายุเกิดความรู้ในการดูแลสุขภาพในช่องปาก แบบมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมการแปรงฟันที่ถูกวิธี การย้อมสีฟัน มีการจับคู่กันตรวจฟัน ทำแบบบันทึกการตรวจฟัน
  • สิ่งที่ภาคภูมิใจในการดำเนินงาน
    ... ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
  • กิจกรรมที่เกิดเสริมขึ้นมา ก็คือ
    ... การฝึกดนตรี
    ... ขี่รถเต้นแอร์ (ขี่จักรยาน เต้นแอร์โรบิค)
    ... เผยแพร่งานครัว (ทำเรื่องน้ำยาเอนกประสงค์)
    ... รวมตัวเข้าวัด (ฟังธรรม)
    ... ฝึกหัดอ่านเขียน (ผู้สูงอายุหัดเขียนหนังสือ)
    ... เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มสมุนไพร
    ... และมีการดูแลสุขภาพอนามัยจากคุณหมอ
  • ปัจจุบัน ชมรมฯ มองเห็นความสำคัญในเรื่องของสุขภาพช่องปากมากขึ้น โดยได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุงสุขภาพปากและฟันของตัวเอง และในแต่ละกลุ่ม
  • เครือข่ายสำคัญที่มาช่วยงาน ก็คือ
    ... โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป ประกอบด้วย ฝ่ายการพยาบาล เวชกรรม เภสัชกรรม ทันตสาธารณสุข
    ... อปท. / อบต.
    ... สสส.
    ... เจ้าหน้าที่อนามัย
    ... แกนนำผู้สูงอายุ
  • ผลที่ได้รับ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดแนวคิดในการดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดีขึ้น

กลุ่มก้าวไปข้างหน้า กับชมรมผู้สูงอายุสู่การมีสุขภาพที่ดี

กลุ่มนี้ คุณพ่อเจริญ จาก ชมรมผู้สูงอายุตำบลจุน อ.จุน จ.พะเยา ค่ะ ได้ข้อคิดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำได้ นั่นก็คือ

บทบาทของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพช่องปาก

  • การดูแลตนเอง / คนใกล้ชิด
  • การดูแลคนในชุมชน
  • การประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานีอนามัย โรงพยาบาล และจิตอาสา

กิจกรรมที่ทำ เช่น

  • รณรงค์ให้ความรู้วิทยุชุมชน / เสียงตามสาย
  • การพบปะพูดคุย
  • การตรวจฟันผู้สูงอายุอย่างง่าย โดย ตรวจฟันตัวเองก่อน
  • การย้อมสีฟัน เพื่อทดสอบประสิทธืภาพการแปรงฟัน
  • การสนับสนุนอุปกรณ์ ถุงวิเศษ
  • สอนเด็กเรื่องการแปรงฟัน การเลือกกินอาหาร หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ
  • จิตอาสาหน้าห้องฟัน การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า
  • มีการเยี่ยมเยียน

ก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้กิจกรรมพัฒนา ได้แก่

  • เป็นกระบอกเสียงนำความรู้ กระจายสู่คนอื่น
  • เป็นศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องของการเขียนโครงการ
  • ขยายเครือข่ายจิตอาสา นำพาชุมชนสู่สุขภาพดี
  • พัฒนาความรู้เพื่อนำกลับไปพัฒนาชุมชน

สุดท้าย ผู้เข้าร่วมประชมก็จะได้ผลพวงกิจกรรม ที่จะนำไปต่อยอดการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาของการประชุมต่อไปละค่ะ

 รวมเรื่อง ภาคีเครือข่าย + ชมรมผู้สูงอายุ กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

 

หมายเลขบันทึก: 429479เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นสี่กลุ่มสี่สไตล์ที่น่าสนใจมากครับ

หมอสุข

  • ขอบคุณค่ะ คุณหมอสุข
  • ทำงานกับผู้สูงอายุนี่ ไร้รูปแบบจริงๆ เลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท