เปิดตัว ... ชมรมผู้สูงอายุสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ... ภาคเหนือ (2) ตอน เข้าเรื่องค่ะ


เราชาวสาธารณสุขจึงควรมาคิดถึงวิธีการที่ ทำอย่างไรให้มีการมารวมตัวกัน ในเรื่องของ ทันตสุขภาพ ของประชาชน และผู้สูงอายุมี ศักยภาพ มีคุณภาพ และอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

 

วันที่ 8 กพ. ค่ะ ทีมเราออกเดินทางจาก รร.สุรวงค์ เชียงใหม่ ไปถึง สสจ.ลำปาง ประมาณเวลา 9.00 น. ... เจอทีมลำปางไปเตรียมพร้อมรอกันอยู่แล้วละค่ะ ... ในวันนี้ก็มีพิธีการเล็กน้อย ด้วยการเปิดประชุมโดย รก.นพ.สสจ.ลำปางค่ะ

คุณสุทิน ปินเครือ ... ได้มากล่าวต้อนรับ และเปิดการประชุมพูดคุยกัน ... ท่านได้อารัมภบทเล็กน้อยถึงผู้สูงอายุ

"เพราะว่าขณะนี้คนไทยอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น จ.ลำปางคนมีอายุขัยเฉลี่ย 70 ปี สำหรับผู้ชาย และผู้หญิง 72 ปี แสดงว่า ผู้สูงอายุมีอายุยืนมากขึ้น และอัตราอายุเฉลี่ยนี้ก็สูงขึ้น ... ภารกิจที่สำคัญที่จะต้องดูแลสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุก็จะตามมา และเป็นภารกิจที่สำคัญ

เท่าที่ผมมีประสบการณ์อย่างยิ่งจากคุณพ่อ คุณแม่ และในพื้นที่ ... สุขภาพช่องปากเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้สภาพกายส่วนอื่นของผู้สูงอายุด้อย หรือดี ... เพราะฉะนั้น โครงการวันนี้ที่ เจ้าหน้าที่เห็นความสำคัญ ... ก็ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุด และจะเป็นประโยชน์แก่ชาว จ.ลำปาง อย่างยิ่ง จึงหวังให้การประชุมในวันนี้จะเป็นประโยชน์แก่ชาวลำปาง ที่จะได้รูปแบบที่จะขยายไปพื้นที่อื่นต่อไป"

งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ... ผู้อำนวยการกองทันตฯ กรมอนามัย ไปร่วมกิจกรรมด้วยค่ะ ซึ่งเป็นเรื่อง surprise ให้แก่ ชาวจังหวัดลำปางเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ไว้ว่า

"วันนี้เป็นอะไรที่ ... เมื่อเราจะทำในเรื่องของผู้สูงอายุ จะทำในเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ... วิชาชีพใด วิชาชีพหนึ่ง คงจะทำอะไร เดี่ยวๆ ไม่ได้ ... ทุกคนที่จะมาร่วมงานนี้ ซึ่งเป็นงานที่กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย เป็นผู้ริเริ่มขึ้นว่า ... จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บ ซึ่งไม่ใช่แค่สุขภาพช่องปาก เรื่องสุขภาพช่องปากอาจเป็นตัวนำร่อง ... พวกเรามีคุณค่าที่มารวมกัน เพื่อสร้างดีดีให้เกิดขึ้น

และอนาคตที่ไม่ไกล ก็อาจจะได้ไปแสดงบทบาทบางเรื่องราวที่ส่วนกลางของประเทศ ... เป็นการรวบรวมประสบการณ์ รวบรวมสิ่งที่ท่านทำทั้งหมด ที่จะช่วยให้ชุมชนของเรา ทั้งลำปาง และเชียงใหม่ ได้มาเกาะเกี่ยว รวมตัวกัน มาสร้างผลงาน สร้างสุขภาพของตนเอง ... ที่จะทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น พร้อมที่จะดูแลตัวเอง และคนข้างๆ มีการรวมกลุ่มกัน ตรงนี้ก็เป็นที่มา ที่ผม และทีมงานจะมาส่งเสริม และสนับสนุน ให้ท่านทั้งหลายได้ทำงาน ... รวมทั้งศูนย์อนามัย สสจ. ที่จะมาร่วมสนับสนุน และลงไปถึง รพ. ลงไปถึง สอ. ลงไปถึงส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จนถึงชมรมผู้สูงอายุเอง และเครือข่าย

ดังที่ ท่านรอง นพ.สสจ. ได้กล่าวไปแล้วว่า ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่พบมีจำนวนมากขึ้น คงจะเป็นคล้ายๆ พัฒนาการของประเทศที่ ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้วผู้สูงอายุมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 50, 60 ปีนี้ไปถึงอายุ 80 ... ผมเคยคุยกับพี่ที่เกษียณแล้ว เขาบอกว่า ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง ... ตอนนี้เขาอายุ 80 ก็ดูสิ เกษียณตอนอายุ 60 ก็ยังมีอายุอยู่ต่ออีกตั้ง 20 ปี และก็ยังแข็งแรงด้วย และเป็นสิ่งที่น่ายินดี

  • ... ผมเคยไปที่หมู่บ้าน และได้ไปนั่งคุยกับผู้สูงอายุ ชีวิตของท่านเป็นชีวิตที่สะสมมา 50, 60 ปี เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้มาก ... และอีก 10-20 ปี ผู้สูงอายุก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 20% ถ้าจะเปรียบก็เหมือนว่า เห็นคนเดินมา 5 คน ก็เป็นผู้สูงอายุเสีย 1 คนเข้าไปแล้ว  ... ในขณะนี้จึงเป็นโอกาสอันดี ที่พวกเราจะได้มาสร้างสิ่งดีๆ ให้กับผู้สูงอายุที่ไม่แก่ มีพลัง และพร้อมจะสามารถที่จะสร้างผลผลิตให้กับชุมชนได้อีกมากมาย
  • ผมเข้าไปคุยกับผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ที่หมู่บ้านในจังหวัดนครสวรรค์ ... ผมไปถามท่านเรื่อง สุขภาพของท่านเป็นอย่างไร ท่านให้คำพูดไว้ว่า “ลูกเอ๊ย จริงๆ แล้ว ทุกข์ น่ะ มันอยู่ที่คิด ... คิดให้ดีก็ไม่มีทุกข์”นี่คือ คาถา ที่ได้จากผู้สูงอายุ น่ารักมากๆ ท่านอารมณ์ดี และช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ได้มากมาย
  • ... ผู้สูงอายุ มีลักษณะที่หลากหลาย มีทั้งที่มีสุขภาพดี และป่วย ... คุณพ่อ คุณแม่ ของผมมีอายุ 80 แล้ว มีโรคฮิตประจำตัว คือ เบาหวาน ความดัน หัวใจ ท่านก็ว่ากันไป ถึงเวลาก็ไปหาหมอ ไปไหนๆ ตามเรื่อง ... แต่ว่า เขาก็อารมณ์ดี
  • ในกลุ่มต่างๆ ถ้ามีเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนช่วยชุมชน สิ่งนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก มาก ... เพราะว่า ผู้สูงอายุนั้นเป็นผู้สะสมองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทั้งวิชาชีพ ท่านมีความรู้ที่อยู่ในตัวซึ่งไม่สามารถดึงออกมาเป็นตำราได้ ต้องมานั่งคุยกัน ซึ่งที่ผมไปคุยนั้น ก็ได้คำพูดบางคำออกมา ... ว่า เมื่อเรามีทุกข์ เราก็ไม่ต้องไปนั่งคิดแต่มุมลบ คิดกลับใหม่เป็นมุมบวก ก็ทำให้เรามีวิธีคิดที่ดี
  • ผู้สูงอายุมีประสบการณ์ มีคุณค่า มีศักยภาพ ... ผมเห็นในหลายๆ ชมรมผู้สูงอายุ ผมเคยไปที่จังหวัดน่าน ผู้สูงอายุท่านหนึ่งเคยเป็นอดีตกำนัน และพอออกจากกำนัน ท่านก็เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ลูกๆ หลานๆ นับถือ ตอนนั้นเขาทำเรื่อง IQ EQ ในเด็กนักเรียน คุณพ่อคนนี้ก็เข้ามาคุยด้วย และทันตแพทย์เราเข้าไปสำรวจสุขภาพฟันของเด็ก มีฟันผุเยอะมาก ก็ไปพูดกับกรรมการบริหารหมู่บ้าน ... สรุปได้ว่า ถ้าเด็กมีฟันผุมาก ก็แสดงว่า กินขนมที่ทำให้ฟันผุเยอะ น้ำอัดลมเยอะ ... ในหมู่บ้านมี 6 ร้านที่ขายน้ำอัดลม เพราะฉะนั้น เราก็เลิกสิ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ผู้นำขึ้นมาจัดระบบของหมู่บ้าน ตั้งกรรมการขึ้นมา ตั้งกฎ ระเบียบขึ้นมา ก็เกิดชุมชนที่เป็นชุมชนที่ปลอดขนมน้ำอัดลมขึ้น ... ก็เป็นลักษณะที่ผู้สูงอายุมีความเป็นอิสระแก่ตัวเอง มีความพร้อม มีความเอื้ออาทรกับลูกหลานที่อยู่ในชุมชนของเขา นี่ก็เป็นมุมที่ผู้สูงอายุสามารถช่วยดำเนินการในส่วนต่างๆ ได้ด้วย
  • ในบทบาทของกองทันตฯ ที่ดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน ที่มีผลกระทบต่อปัญหาสาธารณสุข ... ปากคือ ประตูสู่สุขภาพ ... แม้ว่าจะเป็นช่องเล็กๆ แต่ก็เป็นช่องที่สำคัญๆ ที่ทุกท่านควรให้ความสนใจ และนำไปส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม
  • พระราชดำรัสหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับสุขภาพอย่างองค์รวมก็คือ “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” จากฟัน ส่งไปถึงเรื่องความสุข ไปถึงเรื่องของจิตใจ ... ทุกวันนี้ เราทำในเรื่องของช่องปาก รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ และคุณภาพชีวิตด้วย
  • ... 3 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้ทำในเรื่อง โครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่สามารถใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุได้แล้ว ถึง 61,169 คน และปีนี้ได้ตั้งเป้าอีก 30,000 ราย ทันตบุคลากรทั่วประเทศได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในโครงการนี้
  • และในการประกวด 10 ยอดฟันดีวัย 80 ปี เราทำมา 3 ปีแล้ว อายุสูงสุดที่เราพบ คือ อายุ 93 ปี มีฟัน 31 ซี่ ไม่มีผุเลยด้วย ถอนไปเพียง 1 ซี่ จึงอยากเน้นว่า เราอยากให้ดูแลเรื่องฟันดีด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องฟันเทียม ... เราชาวสาธารณสุขจึงควรมาคิดถึงวิธีการที่ ทำอย่างไรให้มีการมารวมตัวกัน ในเรื่องของ ทันตสุขภาพ ของประชาชน และผู้สูงอายุมี ศักยภาพ มีคุณภาพ และอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ... เราจึงได้มารวมตัวกันเพื่อพัฒนารูปแบบ และประกาศตนเอง ในเรื่องของการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในจังหวัดลำปาง และเชียงใหม่นี่ครับ

ทพญ.สุปราณี Project Manager สำคัญของโครงการนี้ ได้กล่าวถึงรายละเอียดในโครงการไว้นะคะ ว่า ...

  • เพราะว่า ในส่วนของคนที่มีฟัน มีความสำคัญอยู่ตรงที่ ทำอย่างไรที่จะทำให้มีฟันใช้งานได้นานที่สุด ... เป็นที่มาของโครงการศึกษาพัฒนา ระบบ รูปแบบ การสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ซึ่งเราไม่ได้คิดเฉพาะสุขภาพช่องปากเท่านั้น ... เราคิดไปถึงในเรื่อง สุขภาพและคุณภาพชีวิตด้วย
  • ในปี 2550 ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราดำเนินการ แต่บางที่อาจเป็นปีแรก ... ปีนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำอย่างไรที่จะให้มีรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเกิดขึ้น โดยชมรมผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วยกันเอง ... โดยที่ภาครัฐ ศูนย์อนามัย หรือ สสจ. เป็นผู้สนับสนุน
  • ปีที่แล้ว เราพบว่า มีการถ่ายทอดจากชมรมผู้สูงอายุ จากแกนนำไปที่ชมรม ปีนี้จึงคิดถึงว่าควรจะมีสื่อที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุหรือไม่ ที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่คงมีในเรื่อง ตา หู ความจำ … เราจึงหวังให้มีสื่อที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่จะเกิดการพัฒนาขึ้นได้ด้วย
  • ปีที่แล้ว 2549 เราทำไปในศูนย์อนามัย 3 แห่ง 7 จว. 13 รพช. และ 25 PCU 25 ชมรมผู้สูงอายุ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ของภาคกลาง ที่บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่เชียงใหม่ ลำปาง ทางภาคเหนือ ... พื้นที่ที่เชียงใหม่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ก็คือ สันทราย สารภี ที่ลำปาง ก็คือ ห้างฉัตร และแจ้ห่ม ทำให้เกิดกิจกรรมขึ้นในชมรมผู้สูงอายุ ในการให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารกัน
  • จากการถามข้อมูล ในเรื่องความคิดเห็นต่อสุขภาพช่องปากที่ดี ... ผู้สูงอายุท่านมองว่า สุขภาพช่องปากที่ดีจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง และหลายท่านให้ความคิดเห็นว่า การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งแปรงฟัน บ้วนปาก ใช้ไม้จิ้มฟัน ตรวจฟัน เอาฟันเทียมมาแช่น้ำก่อนนอน ... และกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของสุขภาพช่องปาก ควรเป็นอย่างไร อาทิ การพูดเรื่องฟันบ่อยๆ ดู TV แปรงฟัน ใส่ฟันฟรี ก็มีในหลายๆ เรื่อง ... และในส่วนของผู้สูงอายุเองก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการดูแลสุขภาพช่องปากกันอยู่บ้างแล้ว
  • ... และพบว่า ปัจจัยที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ปีที่แล้วได้สำเร็จ สรุปได้ว่า คือ ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และพบว่ามีการร่วมดำเนินงานกันตั้งแต่ อบต. ผู้สูงอายุ ชุมชน สถานีอนามัย ปีนี้เราก็หวังว่า จะเห็นวิทยาลัยพยาบาลเข้ามาช่วยด้วย ... ในส่วนของชุมชน อบต. เข้มแข็ง ก็มีส่วนให้เกิดกิจกรรมได้ และส่วนของผู้นำมีวิสัยทัศน์ ก็พบว่า ถ้าทันตแพทย์ จนท.สส. อบต. มีวิสัยทัศน์ที่ดี ก็จะเกิดการส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปากด้วย ... และก็พบว่า สิ่งสนับสนุนต่างๆ เล็กน้อยๆ ก็จะช่วยให้เป็นแรงจูงใจให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องได้ดี
  • จากปี 2549 เมื่อเราได้รู้ว่า ผู้สูงอายุจัดกิจกรรมได้ พอปี 2550 กิจกรรมที่เคยจัดจัดได้ต่อเนื่อง และมีอะไรอีกมั๊ยที่จะจัดต่อเนื่องได้ และจะทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้นหรือเปล่า สื่อที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุน่าจะเป็นอะไร ก็จะนำมาสู่เรื่องของวิธีการในการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้คำตอบเหล่านี้ นอกจากผู้สูงอายุมีศักยภาพ มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี ที่จะทำได้ ต้องรู้ว่าทำต่อเนื่องไหม และกิจกรรมอะไรที่จะทำต่อเนื่อง
  • และเราวางแผน จะจัดเวที ... เป็นมหกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงในช่วงปลายปี จะรวมเรื่อง การใส่ฟันเทียม การสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก การลดโรคในช่องปาก นำไปผนวกรวม ในงานมหกรรมฯ
  • เชิญชวน ชาวชมรมผู้สูงอายุ ของจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ละค่ะ

น่าสนใจไหมคะ ... เรื่องต่อๆ ไป พื้นที่จะมาเล่าเรื่องชมรมผู้สูงอายุของอำเภอต่างๆ ให้ฟังกันค่ะ ... ติดตามอ่านต่อนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 77560เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท