เปิดตัว ... ชมรมผู้สูงอายุสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ... ภาคเหนือ (7) ชมรมผู้สูงอายุ ใน อ.สันทราย


ระยะเริ่มแรก เขาบอกว่า ฟันเขาดีไม่มีปัญหา เพราะเขาไม่ได้ตรวจฟัน แต่พอเราให้ความรู้เรื่องฟัน โดยทันตแพทย์ และทันตาภิบาล จาก รพ.สันทราย เขาไปให้ความรู้ในเรื่องของสุขภาพในช่องปาก เขาก็เกิดมีความคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่เขาคิดมันผิด

 

ของจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุที่ อ.สันทราย ต.แม่แฝกใหม่ และ อ.สารภี ต.ท่ากว้าง

ทพญ.อัมพร เกริ่นนำให้ว่า ... ปีแรก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำกิจกรรมผู้สูงอายุ ในเรื่องขององค์ความรู้ไปแล้ว ก็จะมาให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเป็นยังไง และในปี 2550 เขาวางแผนทำอะไรต่อไปค่ะ

เริ่มที่ สอ.บ้านเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย ... วันนี้มากับท่านสมาชิก อบต. ซึ่งมีหลายตำแหน่งค่ะ ท่านเป็น อสม. ด้วย และเป็นผู้ดูแลกลุ่มผู้สูงอาย ด้วย

ที่บ้านห้วยบง เป็นชุมชนกึ่งเมือง ส่วนใหญ่จะทำการเกษตร และรับจ้าง ผู้สูงอายุจะอยู่ที่บ้าน เหงา และไม่มีการที่จะได้ดูแลในเรื่องสุขภาพเท่าที่ควร

จากการเยี่ยมบ้านของ จนท.สส. พร้อมกับ อสม. เราไปพบเห็นการเจ็บป่วย ทางกาย ทางใจ มาก ส่วนใหญ่ก็คือ ปวดข้อ โรคกระเพาะอาหาร ทางเดินหายใจ ส่วนเรื่องสุขภาพในช่องปาก ถ้าไม่ปวดฟัน เขาก็จะบอกว่าไม่ปวด ขนาดฟันโยกแล้ว แต่ไม่เจ็บ เขาก็จะถือว่าปกติอยู่

เพราะฉะนั้นในระยะแรกที่กลุ่มห้วยบงทำ คือ

  • ทำในกลุ่มของผู้ป่วย ที่เป็นในเรื่องของความดันโลหิตสูง และกลุ่มประชาชนทั่วไป มารวมตัวกัน
  • จากนั้นเขาก็ไปดึงกลุ่มของผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้าน เข้ามามีการรวมกลุ่มกัน
  • อสม. เป็นแกนนำในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุในหมู่บ้านนี้ ให้เขามีการวัดความดัน ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า ผู้สูงอายุ หรือ ปชช. ที่มารับบริการ ได้รับการชั่ง นน. วัดความดัน ซึ่งเป็นการได้รับตรวจร่างกาย
  • มีการบริหารจัดการกลุ่ม ในรูปของคณะกรรมการ และกองทุนฯ ในกิจกรรมของกลุ่ม มีประธานชมรม เหฯ และอื่นๆ
  • แต่ข้อด้อยของสมาชิกกลุ่มนี้ คือ ผู้สูงอายุเขียนหนังสือไม่เก่ง และไม่มีข้าราชการ early มีเพียง ข้าราชการ early อยู่ 1 คน ที่เป็นผู้สูงอายุ และยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
  • กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีอายุมาก 70, 80 ขึ้นไป พลังขององค์กรชุมชน เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนในเรื่องของกลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ
  • มีการพัฒนาศักยภาพของเขา ให้กลุ่มมีการดูแลครอบครัว และครอบครัวก็จะดูแลผู้สูงอายุ
  • พอผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งพอแล้ว เขาก็มีกิจกรรมของเขาในเรื่องของการดูแลสุขภาพ
  • และมีอาชีพเสริม เพราะว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม อันนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เขาทำขึ้นมา
  • มีธรรมะสัญจร ทั้งตำบล เขาจะสัญจรไปทั่วหมู่บ้าน

 

จากการเสวนากลุ่มทุกเดือน กลุ่มผู้สูงอายุมีการตรวจสุขภาพโดย อสม. และมีการรักษาพยาบาล โรคความดันโดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย การจัดทำเวทีกลุ่ม เราได้เรียนรู้จากสมาชิกกลุ่ม ในเรื่องของสุขภาพมากมาย แต่ไม่มีใครพูดถึงฟันเลย

... เป็นโอกาสดีที่มีโครงการนี้เข้าไปในปีที่แล้ว และพูดถึงเรื่องฟัน ในการส่งเสริมสุขภาพในช่องปาก ระยะเริ่มแรก เขาบอกว่า ฟันเขาดีไม่มีปัญหา เพราะเขาไม่ได้ตรวจฟัน แต่พอเราให้ความรู้เรื่องฟัน โดยทันตแพทย์ และทันตาภิบาล จาก รพ.สันทราย เขาไปให้ความรู้ในเรื่องของสุขภาพในช่องปาก เขาก็เกิดมีความคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่เขาคิดมันผิด อย่างเรื่องหินปูนนี่ เขาคิดว่า เป็นสิ่งที่ยึดฟันให้ฟันของเขามีความคงทน ต่อไปเขามีความรู้แล้ว เขาก็เปลี่ยนความคิดของเขาใหม่ว่า อันนั้นคือ โรค ... เขาก็ไปถ่ายทอดให้ความรู้ทั้งหมดให้กับครอบครัวก่อน

ในการทำกิจกรรมแรกๆ เขามีความดีใจที่ได้รับแปรงสีฟัน - ยาสีฟันพระราชทาน เขาบอกว่า ถ้าได้ของพระราชทานแล้ว อย่าเอาเก็บไว้ ให้เอามาใช้ ที่ท่านได้พระราชทานมาให้ ทุกคนก็มีความสุขในเรื่องของการดูแลสุขภาพปากและฟัน

 

ระยะแรกๆ อสม. ยังเป็นแกนนำอยู่ ... ต่อมาประธานผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้สูงอายุก็มีความคิดจะทำด้วยตัวเอง บางคนมีฟันเทียม ก็เอาฟันเทียมออกมาแปรงให้สะอาด เพราะว่าเราให้ความรู้แก่เขาว่า การดูแลฟันเทียมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ... และเรื่องแปรงฟันตอนนี้ก็ไม่มีความอายแล้วค่ะ ก็จะมีการแปรงฟัน พี่เลี้ยง สถานีอนามัย และ อสม. ก็จะคอยดูว่า เขาแปรงถูกวิธีหรือไม่ เผื่อเขาจะไปถ่ายทอดให้ชุมชน ให้ครอบครัวของเขาได้ อย่างถูกวิธี

หลังจากที่เขามาทำกลุ่ม เขาก็จะเอาแปรงสีฟัน ยาสีฟันมาด้วยทุกครั้ง ใส่ในกระเป๋าที่เขาพอจะมี ... และก็เป็นความคิดของ อสม. กับ อบต. ที่เขาเห็นที่ร้านอาหารมีกล่องเหล้า ก็คิดว่า น่าจะเอามาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เขาก็เลยไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเจ้าของร้าน (จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นเศษวัสดุ เขาสามารถขายได้เป็นเงินเป็นทอง) พอพ่อแม่พี่น้องไปคุย เขาเห็นประโยชน์ ก็เลยเก็บให้ทั้งหมดในร้านเลย และในที่สุด ผู้สูงอายุก็ได้กระเป๋าแบบนี้ ที่ผู้สูงอายุทำเอง เพื่อใส่ยาสีฟัน แปรงฟัน เวลาออกไปเยี่ยมบ้าน ... ในกลุ่มห้วยบง ผู้สูงอายุจะมีกล่องนี้ทุกคน และเอาออกมาสอนลูก สอนหลาน สอนทุกคน ไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร ผู้สูงอายุเขาจะมีความภาคภูมิใจตรงนี้มาก

ตรงนี้ ต่อไป ถ้าใช้กล่องนม หรือกล่องอื่นๆ ที่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ก็จะดีมากเลยนะคะ รณรงค์กินอาหารที่ได้ประโยชน์ได้ด้วยเลย

ในเรื่องเยี่ยมบ้าน

  • มีกลุ่ม อสม. อาสาเยี่ยมบ้านด้วย และนอกจากที่เราไปให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพอื่นๆ ... เขาก็ไปให้ความรู้เรื่องฟัน คนไข้จะบอกว่า เขาไม่ได้ปวดฟัน แต่เขาปวดขา อสม. ก็มีเทคนิคในเรื่องของการจูงใจให้หันมาดูแลสุขภาพฟันได้
  • ในการดูแลสุขภาพในช่องปากของเด็กนั้น ผู้สูงอายุตอนแรกบอกว่า "มันยังเล็กอยู่ พอมันถ่ายน้อง (ก็คือ ฟันน้ำนมหลุดไป) ฟันเขาออกมาก็จะสวยเหมือนเดิม" เราก็เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ว่า ต้องดูแลฟันตั้งแต่เด็กเล็ก
  • คนพิการทางสมอง เขาก็มีฟัน แต่ไม่มีการดูแล ฟันเป็นคราบทั้งหมด เราก็ไปสอนแม่ในเรื่องการดูแลสุขภาพในช่องปาก พ่อแม่เขาก็เห็นความสำคัญ
  • หลังจากเยี่ยมบ้านกลุ่ม อสม. และเจ้าหน้าที่ก็จะมาวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่เราทำไปแล้วมีอะไรบ้าง ปัญหาอุปสรรคมีอยู่ตรงไหน และมีทางแก้ไขอย่างไร

กิจกรรมต่อเนื่องจากนี้

  • เราจะมีการส่งเสริมสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในครอบครัว เด็กในศูนย์เด็กเล็ก และพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุให้เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพในช่องปากของเด็ก และในครอบครัวของผู้สูงอายุเอง
  • และถ่ายทอดความรู้ทั้งหมด และตรวจสุขภาพในช่องปากของเด็กในศูนย์เด็กเล็ก และส่งเสริมให้เรื่องอาหารด้วย
  • แต่พอผู้สูงอายุเวลาให้ความรู้กับเด็ก มีปัญหาว่าเด็กไม่ฟัง ก็มีทักษะในเรื่องของเล่านิทาน การดูแลเรื่องฟันอย่างไรเข้าไปเสริม

ท่าน อบต. ได้เสริมเรื่องเล่าว่า ...

ในเรื่องของการทำงานให้ชุมชนนั้น การไปเป็น อบต.  ต้องทำงานอาสาสมัคร และทำงานทุกด้านของส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนเป็นตัวหลัก เป็นตัวสำคัญในชุมชน เพราะในชุมชนเขาบอกว่า งานของประชาชน เพื่อประชาชน ก็คือ งานอาสาสมัคร

เรื่องกลุ่มผู้สูงอายุที่บ้านห้วยบง เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535

  • ขณะนี้การดูแลผู้สูงอายุนั้น อาสาสมัคร มีการพบกลุ่มทุกเดือน
  • สถานีอนามัยมาให้ความรู้
  • ผู้สูงอายุจะมีการออกกำลังกายนอกเหนือจากเราไปทำให้เดือนละครั้ง เขาก็เข้ากลุ่มออกกำลังกาย อาทิตย์ละ 2 วัน
  • การออกกำลังกายก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่จะมาคุยกันในเรื่องสุขภาพ
  • นี่คือการทำให้สุขภาพจิตในกลุ่ม เพราะว่ามีปัญหาอะไรก็จะมาเล่าสู่กันฟัง
  • มีการส่งเสริมอาชีพ โดยการประสานงานของอาสาสมัคร กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำในสิ่งที่ต้องการ
  • ขยายเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพช่องปากของกลุ่มเอง ซึ่งเขามีการเรียนรู้ในเรื่องของ ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ
  • ตามที่ไปดูในครอบครัว จะเห็นว่าผู้สูงอายุใส่ใจ และสนใจที่จะให้ลูกหลาน ซึ่งเป็นเด็กอนุบาล ดูแลในเรื่องของการแปรงฟัน
  • กล่องเหล้าที่ทำขึ้นมา ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เขามีส่วนร่วม ที่เข้ามา และเห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพช่องปาก ก็เลยเกิดคิดกันที่จะทำตระกร้าที่จะหิ้วไปทำกิจกรรมกลุ่ม ก็ทำให้เขาภาคภูมิใจ
  • ด้านนิทานพื้นบ้าน เป็นแนวทางการทำงานที่เต็มรูปแบบในการดำเนินงานต่อไป เราเริ่มที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 ศูนย์ ที่ตำบล ผู้สูงอายุจะเข้าไปคุยถึงเรื่องสุขภาพช่องปากกับเด็กๆ ผ่านสื่อนิทานพื้นบ้าน ที่ได้ตามไปดู เขาจะเล่าเรื่องของกระต่ายฟันผุที่ยกผักไม่ได้ อันนี้ก็คือแนวที่เขาให้ความคิดกับเด็กในเรื่องการดูแลฟัน

ในบทบาทของ อบต.

  • ให้ความสนใจในการส่งเสริมสุขภาพทุกด้าน โดยเฉพาะสุขภาพช่องปาก อบต. ให้ความสนับสนุนในการดูแล ถ้าเรามีการคุยกัน ประสานงาน ที่จะทำในเรื่องของงบประมาณ เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก ทาง อบต. ก็ให้ความสำคัญ
  • การเยี่ยมผู้พิการ เราก็เห็นว่า สุขภาพช่องปากของผู้พิการที่เขาไม่สามารถดูแลตนเองได้ เราก็ไปให้ความรู้ในผู้ดูแล ผู้ปกครองที่จะต้องดูแล
  • การสำรวจผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน เพื่อที่จะได้ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และส่งต่อในงานที่รับผิดชอบ
  • การทำงานของอาสาสมัครที่ออกเยี่ยมชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างธรรมชาติ และในชนบทในตอนนี้ ก็ยังไม่มีวิถีที่จะไปดูแลกันอย่างธรรมชาติ

ทพ.สุธา ได้กล่าวเสริมว่า ... ผมเคยไป อบต. หลายแห่ง วันนี้ เจอ อบต. ที่มีอายุยังน้อย และเห็นความเชื่อมโยง การจับมือกันทำงานระหว่าง อบต. และสาธารณสุขนี้ชัดเจนมากๆ และก็เอื้อกันตรงนี้ ... ศักยภาพผู้สูงอายุก็สามารถดูแลเด็กเล็กได้อย่างชัดเจน

เรื่องอาหารการกิน ผมขอฝากไว้ว่า “กินเป็น เน้นผัก ระวังภัย หวานมันเค็ม” เพราะว่าเด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยกินผัก ... หวาน มัน เค็ม ก็ไปทำให้เกิดเป็นโรคในเด็กเล็กๆ

จากที่เห็นความสามัคคีที่จะทำงานให้กับชุมชน ผมก็คิดว่า คนอื่นๆ คงจะได้รูปแบบไปด้วย ก็คือ การไปจับมือกับ อบต. ให้มาร่วมด้วยช่วยกันครับ

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ของชมรมผู้สูงอายุ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ละค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 78059เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องเล่านี้น่าสนใจมากคะคุณหมอนนทลี...เห็นความเชื่อมโยงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี...ดีใจจังที่มีโครงการด้านสุขภาพและการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ...แต่ไม่ทราบว่าเค้ามีการพบปะเจอหน้าเจอตากัน ระหว่าง อบต. ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกันไหมคะ ....(กี่เดือนต่อ ครั้งคะ)

ขอบคุณค่ะ  คุณจ๊ะจ๋า ที่ให้ความสนใจ ... ในส่วนที่ไปพบปะของจริงๆ นี้ ในส่วนของศูนย์สุขภาพชุมชน หรือ PCU เขาอยู่ในพื้นที่ตำบล ส่วนใหญ่เขาจะมีการพบปะ พูดคุย ประชุม ร่วมกันประจำเดือนค่ะ และมักจะมารวมกลุ่มกัน กรณีที่มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานบุญของตำบลค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท