ชมรมผู้สูงอายุ ร่วมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ เขต 5 โคราช (2) ... จาก 2549 สู่ 2550


กองทันตฯ เน้นการทำงานในมุมหนึ่ง คือ คนที่มีฟันอยู่แล้วนั้น ทำอย่างไรที่จะยังคงสภาพให้ฟันนั้นใช้งานได้ดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ต้องสูญเสียฟัน ทำอย่างไรที่จะทำให้เขามีสุขภาพช่องปากดี และนอกจากตัวเองดี กลุ่มเพื่อนด้วยกันก็มีสุขภาพช่องปากดีด้วย

 

กองทันตสาธารณสุขทำหน้าที่นำเริ่มเรื่องค่ะ ... เพราะว่ากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนั้น ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน เพราะว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ มีการมุ่งเน้นในเรื่องของการฟันเทียม ทดแทนฟันที่สูญหายไป แต่ปัจจุบัน ก็เริ่มพบว่า มีผู้สูงอายุหลายๆ ท่านนะคะ ที่ยังคงมีฟันแท้เหลืออยู่ในช่องปาก ดังที่พิสูจน์ได้จาก การประกวด ผู้สูงอายุ 80 ปีฟันดีของกรมอนามัย มาแล้ว 2 ปี พบผู้สูงอายุที่ยังมีฟันเกือบครบ คือ 31 ซี่ (จากฟันทั้งหมด 32 ซี่ค่ะ)

วันนี้ ทพญ.สุปราณี ค่ะ มาเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของปีที่ผ่านมาให้กลุ่มฟังกันก่อน

... ความในใจของผู้อำนวยการกองทันตฯ ที่มีต่องานผู้สูงอายุฝากมาค่ะ ว่า ... ทุกคนเป็นคนสำคัญในการสร้างสุขภาพ ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ก็คงจะทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกท่านเป็นส่วนสำคัญทั้งหมด ช่วยกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใครเกี่ยวข้องกันตรงไหน มีส่วนช่วยสนับสนุนกันตรงไหน ก็ช่วยกัน ทุกคนจึงเป็นคนที่สำคัญหมด

ปัญหาผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุในประเทศไทยร้อยละ 10 ... 100 คนก็จะเป็นผู้สูงอายุ 10 คน ... พออีกไม่นานเราจะมีถึงร้อยละ 20 เพราะว่าความที่วิทยาการด้านแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกัน การคุมกำเนิดก็มากขึ้น เด็กที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็น้อยลง พวกผู้ใหญ่ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุก็จะมากขึ้น จะเป็นไปได้ถึงร้อยละ 20 ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าเห็นคนเดินมา 5 คน ก็จะมีผู้สูงอายุ 1 คนแล้วละค่ะ ... เกิดเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย

ทีนี้อายุมากขึ้น ก็เป็นธรรมดา โรคก็มากขึ้นตาม อาจารย์ท่านหนึ่งได้ทำการวิจัย บอกว่าผู้สูงอายุนี่ มีโรคประจำตัว โรคทางระบบ 1-8 โรค อยู่ใน 1 คน ยิ่งอายุมากก็มีโรคมาก อันนี้เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ ของชีวิต

แล้วถ้าเผื่อว่าจะดูว่าผู้สูงอายุแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกก็จะเป็นกลุ่มแกนนำ หรือคุณลุงคุณป้าที่นั่งอยู่ตรงนี้ แข็งแรงดี มีสติปัญญา มีกำลังที่จะช่วยกันดูแลผู้อื่น และช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีได้ และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ป่วย แต่ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังจะเดินไปหาหมอเอง หายากินได้ ดูแลตัวเองได้ ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือบางคนก็พิการ อันนี้ก็จะมีหลายๆ ส่วนของผู้สูงอายุที่เราต้องดูแล

และผลกระทบของทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็จะไม่เหมือนกัน สุขภาพและคุณภาพชีวิตของทั้ง 3 กลุ่มนี้จะต่างกันมาก ... และส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุก็จะรวมตัวกัน อยู่ที่บ้าน ที่โรงพยาบาล ที่วัด หรือที่ชมรม และก็คงจะมีที่อื่นๆ อีก

เราคิดกันอยู่เสมอว่า ผู้สูงอายุแต่ละท่านเป็นแหล่งภูมิปัญญา ตอนนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เพราะถือว่าเป็นคลังสมอง มีประสบการณ์ที่ทำงานมานานกว่าจะถึงอายุ 60 และมีคุณค่าต่อสังคม นอกจากนี้แล้วหลายๆ ท่านเคยทำงานราชการ มีศักยภาพ มี power อีกต่างหาก เพราะว่าไปบางทีประธานชมรมเป็นครู มีลูกศิษย์เป็นผู้ใหญ่อยู่ในจังหวัดมากมาย ... ก็สามารถดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาได้ ... มีความพร้อม มีเวลา และมีจิตอาสา เพื่อครอบครัว เพื่อเพื่อน เพื่อส่วนรวม และเรายังมีพิเศษสำหรับสังคมไทย คือ เป็นที่รัก ที่เคารพของลูกหลาน และคนรุ่นหลัง

1 ท่านก็จะมีทุกอย่างอยู่ในนี้อยู่แล้ว ถ้าผู้สูงอายุรวมตัวกันหลายๆ ท่าน ก็จะเกิดเป็นพลังที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคม หรือเพื่อที่จะทำให้เกิดภาพการดูแลสุขภาพของประชาชนได้

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทานมาระยะหนึ่ง เราก็ได้กระแสพระราชดำรัสขอพระองค์ท่านมายึดติดกับโครงการว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” คล้ายๆ กับที่เราพูดกันเมื่อกี้นี้เลย ในหลวงเห็นความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2547 ที่ท่านได้พูดกับหน่วยทันตกรรมพระราชทาน และเราก็ได้ยึดถือมาปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่า ในหลวงเองก็ได้คิดถึงอยู่แล้วว่า ถ้าไม่มีฟันแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้น และคนที่ไม่มีฟัน ส่วนใหญ่แล้วก็คือ ผู้สูงอายุของเรานี่แหล่ะ เพราะเราเป็นโรคในช่องปากที่สะสมมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว

ทางกองทันตฯ เน้นการทำงานในมุมหนึ่ง คือ คนที่มีฟันอยู่แล้วนั้น ทำอย่างไรที่จะยังคงสภาพให้ฟันนั้นใช้งานได้ดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ต้องสูญเสียฟัน ทำอย่างไรที่จะทำให้เขามีสุขภาพช่องปากดี และนอกจากตัวเองดี กลุ่มเพื่อนด้วยกันก็มีสุขภาพช่องปากดีด้วย เมื่อกลุ่มเพื่อนมีสุขภาพดี เพื่อนๆ ช่วยดูแลลูกหลาน ว่า มีใครที่ต้องช่วยดูแลอยู่ที่บ้าน เช่น เด็ก ก็ต้องมีสุขภาพช่องปากดีด้วย เป็นผู้นำด้านทันตสุขภาพในสังคม หรือในชุมชนจะได้ไหม เพื่อให้ผู้สูงอายุในสังคมอยู่ได้อย่างมีศักยภาพ มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี ของตัวเอง

... เมื่อปีที่แล้ว โครงการที่นี่ได้เริ่มต้นไปแล้ว ... เราจะทำยังไงที่จะทำให้ผู้สูงอายุคงสภาพฟันได้นานที่สุด ที่จะได้รูปแบบที่จะพัฒนาสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ... โครงการนี้จึงอยากทำให้ชัดเจนขึ้นมาว่า ... ทำยังไงจะให้ผู้สูงอายุถึงจะมีสุขภาพช่องปากดี โดยชมรมผู้สูงอายุและมีส่วนราชการเป็นผู้สนับสนุน

ในเรื่องของการรับรู้ของผู้สูงอายุก็จะเป็นปัญหาหนึ่งของการให้ความรู้ ว่า ผู้สูงอายุก็คงเป็นธรรมชาติ กองทันตฯ ผลิตแผ่นพับเล็กๆ ไปให้กับผู้สูงอายุ เขาก็บอกว่า อ่านก็ไม่ออก มองไม่เห็น ตัวกระจิ๋วเดียว ... แล้วเวลาเราพูดให้ฟัง ผู้สูงอายุก็มักพูดประโยคนี้ คือ อะไรนะ อะไรนะ หูก็ฟังไม่ค่อยได้ยิน ... และเวลาหมอสอนก็โลภมาก สอน 15 นาที เริ่มตั้งแต่โรคเป็นยังไง ต้องแปรงฟันยังไง ตั้ง 15 นาที ผู้สูงอายุจำได้ไหมคะ เดินออกจากห้อง ลืมไปแล้ว

... ก็เลยมาคิดว่า แล้วอะไรนะ ที่จะสื่อไปถึงผู้สูงอายุได้ เป็นการเตือนความจำจากผู้สูงอายุว่า พอนึกถึง เห็นแปรงสีฟัน ก็นึกได้ว่า เดี๋ยวต้องไปแปรงฟันนะ ก็เป็นสื่อที่เตือนความจำของผู้สูงอายุนี่ละค่ะ มีสื่อ หรือมีนวัตกรรมอะไรใหม่ไหม ที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับรู้ ว่าเขาต้องดูแลสุขภาพช่องปากของเขา ... หรือที่เราไปพบว่า เด็กเล็กต้องใช้นิทาน หรือความเข้าใจ แล้วผู้สูงอายุล่ะ จะใช้อะไรดี เพราะว่าถ้าจะให้คิดอยู่แต่ในส่วนวิชาการ มันก็จะออกมาแต่อะไรที่มันไม่สามารถจะเข้าถึงประชาชนได้ จึงเป็นความหวังที่ว่า จากตรงนี้ เราสามารถที่จะคิดสื่ออะไรได้หรือไม่

ในปี 2549 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น

  • เรามีเป้าหมายในศูนย์อนามัย 3 แห่ง ทำให้ 7 จว. 13 รพช. และ 24 ชมรมผู้สูงอายุ ในศูนย์อนามัยที่ 4, 5, และ 10 ที่นี่จะมีที่ 2 จว. คือ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ บุรีรัมย์มีพุทไธสงกับประโคนชัย ชัยภูมิมีที่คอนสวรรค์ และบ้านเขว้า และปีที่แล้วที่ผ่านมา เราพบว่า มีความเป็นไปได้ ทุกคนทุกคน คุณลุงคุณป้าก็กลับไปคิดกิจกรรมกัน เพื่อช่วยชมรมรมผู้สูงอายุ ในการดูแลสุขภาพช่องปากของสมาชิกชมรม มีการให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารกับสมาชิกชมรม
  • มีความเป็นไปได้ และกิจกรรมจะดำเนินงานที่ต่อเนื่องหรือเปล่า เรายังไม่แน่ใจ แต่รู้ว่ามีการดำเนินการไปแล้ว มีการจับมือกัน ระหว่างหมอ จนท.อนามัย อบต. ไปถึงผู้สูงอายุ มีการสนับสนุนองค์ความรู้ มีการสนับสนุนทรัพยากร ตามสมควร
  • และปีที่ผ่านมามีการสอบถามความรู้จากผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุให้ความคิดเห็นว่า
    ... สุขภาพช่องปากดี คืออะไร
    ... การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุทำอะไรกันบ้าง มีทั้งบ้วนปาก แปรงฟัน ดูแลทำความสะอาดฟันเทียม ใช้เกลือ ใช้สมุนไพร การตรวจช่องปาก
    ... เมื่อถามว่ากิจกรรมอะไรที่จะทำให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของสุขภาพช่องปาก ทุกท่านก็ช่วยกันคิดว่า ไปสอนแปรงฟัน ไปตรวจฟัน ไปให้คำแนะนำ ไปทำแปรงโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน พูดเรื่องฟันกันบ่อยๆ ปรึกษาหมอฟัน ใช้ถ่านถูฟัน เป็นต้น
    ... ในส่วนของภูมิปัญญาของผู้สูงอายุเอง เดิมสมัยก่อนคงยังไม่มีแปรงฟันใช้สักเท่าไร ก็ใช้เกลือถูฟัน แปรงฟันโดยใช้เพลงเป็นสื่อ ใช้ใบข่อย ใช้ไม้คนทา อมเกลือ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ผู้สูงอายุคิดว่า สามารถดูแลสุขภาพได้
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คือ
    ... ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการ ชุมชนก็คือ ทั้งหมด ผู้สูงอายุ วัด ... พระมีแปรงสีฟันจากที่ได้รับถวาย ได้ยินบอกว่า ใครไม่มีแปรงมาเอาที่พระก็ได้ ก็ดึงทุกอย่างมา ทั้ง อบต. สอ. รพช. ก็ร่วมมือกัน
    ... มีความเข้มแข็งของชุมชน
    ... ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ดีในเรื่องของการดูแลทันตสุขภาพ
    ... มีสิ่งสนับสนุนแปรงสีฟัน ยาสีฟัน เพื่อสร้างแรงจูงใจ มีงบประมาณสนับสนุน
  • เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ไปเชียงใหม่ มีเรื่องแปรงและยาสีฟัน ตัวแปรงสีฟันที่ข้างกล่องจะเขียนว่า เป็น “โครงการฟันเทียมพระราชทาน” ก็ปรากฏว่า ผู้สูงอายุก็ภูมิใจมากเลยว่า ได้รับแปรงฟัน ยาสีฟัน พระราชทาน ทำให้เกิดการกระตุ้นให้นำไปใช้ในการแปรงฟัน และเห็นความสำคัญของฟัน
  • จาก 49 ที่ผ่านมา มาเชื่อมต่อถึงปี 50 ปี 49 พบว่า ผู้สูงอายุทำกิจกรรมดูแลสุขภาพช่องปากให้กับสมาชิกชมรมได้ ทุกท่านมีศักยภาพ มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี สามารถจัดกิจกรรมให้กับสมาชิกชมรมได้
  • ปี 2550 เราอยากได้ข้อมูลว่า
    ... เรายังจะจัดกันต่อเนื่องได้มั๊ย
    ... และนอกจากกิจกรรมเดิมที่จะจัด มันจะมีกิจกรรมอะไรที่จะจัดให้กับสมาชิกชมรมได้หรือเปล่า
    ... นอกเหนือไปจากที่ทำแล้ว และก็ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง เราก็เลยสงสัยว่า กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าจัดแล้ว จัดได้ ผู้สูงอายุรับ แปรงฟัน แต่อาจต้องพิสูจน์ว่า ดีจริง และเราจะได้เผยแพร่ไปในระดับประเทศได้
    ... และมีสื่อที่เหมาะสม น่าจะเป็นอย่างไร
  • เพราะฉะนั้น ก็จะนำไปสู่การเก็บข้อมูลที่สำคัญในปีนี้ และทางศูนย์อนามัยที่ 5 และ รพ. คงจะได้ปรึกษาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
  • สุดท้าย เป็นไปได้มั๊ย ในเดือน สค.50 โครงการฟันเทียมพระราชทานจะจัดมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่ ในวาระมหามงคลพระชนมมายุ 80 พรรษา ... ตรงนี้ก็ชวนคุณลุงคุณป้า ชมรมต่างๆ ที่จะนำสิ่งที่เราทำ คือ กิจกรรมในชมรม ลงไป ลปรร. กันกับชมรมต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

บันทึกนี้ก็เป็นการเสนอแนวทางการทำกิจกรรมโดยรวมค่ะ โดยเปิดโอกาสให้พื้นที่ทำกิจกรรมตามความถนัด ... ที่นี่เป็นการดำเนินงานปีที่ 2 ค่ะ พบว่า มีผู้สนใจกิจกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย คอยติดตามอ่านในบันทึกต่อไปนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 79547เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
แวะเข้ามาเป็นกำลังใจให้ค่ะ
  • บันทึกได้เยี่ยมยอด สมกับเป็นเจ้าของราววัลคุณลิขิต
  • ตามเข้ามาเรียนรู้และให้กำลังใจครับ (เพราะวันหนึ่งต้องเป็นผู้สูงอายุจนได้)
ขอบคุณค่ะ น้องสุธรา (เอ หรือจะเป็นน้า หรือป้าดีน๊า ... อย่าเลยเน๊าะ บน G2K ไม่มีคำว่า ใครแก่กว่าใครจ้ะ) ได้กำลังใจจากวัยเอ๊าะๆ นี่ สุดปลื้มค่ะ ... เข้าไป copy สิ่งที่ดีดี ที่น้องนำมาฝาก หลายครั้ง หลายคราแล้วละค่ะ

คุณยุทธ์ แห่งสิงห์ป่าสัก (เออ ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไรเน๊าะ) แต่ไม่เป็นไร ฐานที่ไม่ได้ทักทายกันเสียนาน ... ขอบคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยม แล้วเราก็คงจะเป็นผู้สูงอายุ ที่คอยใช้บริการ รุ่นราวคราวเดียวกันละค่ะ

... แต่คงเป็นรุ่นใหม่นะคะ เพราะชมรมผู้สูงอายุรุ่นนี้ เป็น CoP ผ่าน G2K ค่ะ

ใช้ถ่านถูฟันทำให้ฟันขาวหรอครับ ตอบด้วย [email protected]

  • สวัสดีค่ะ คุณนก
  • ถ่านถูฟัน ไม่ได้ทำให้ฟันขาวหรอกค่ะ
  • แต่เป็นเพราะว่า การใช้ถ่านถูฟันนั้น ก็จะช่วยถู / กำจัด คราบฟันที่ติดอยู่ตามตัวฟัน ซึ่งบางคน ถ้ามีคราบฟันติดมากๆ ก็จะทำให้เห็นสีฟันเป็นสีเหลืองๆ ได้ เมื่อถูออกหมดแล้ว ฟันก็ขาวตามปกติ เหมือนกับแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันนั่นเอง
  • สิ่งที่นี้เป็นการกระทำที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เพราะว่าแต่ก่อนยังไม่แปรงสีฟันจำหน่ายแพร่หลายเหมือนในปัจจุบันนี้ ก็ทำให้ประชาชนหาเครื่องมือทำความสะอาดฟันเอง ตามธรรมชาติ บางคนก็ใช้มือ บางคนก็ใช้เกลือ บางคนก็ใช้ใบไม้ บางคนก็เอากิ่งไม้มาทำเป็นฝอย และขัดฟัน ก็มีหลายๆ อย่างค่ะ
  • แต่ปัจจุบัน ใช้แปรงสีฟันดีแล้ว และร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน หรือคนที่มีซ้อน ฟันห่าง ฟันเก อาจใช้แปรงขนกระจุก หรือแปรงซอกฟัน หรืออื่นๆ ช่วยอีกได้ ... และยาสีฟัน ก็เน้นที่มีฟลูออไรด์ด้วยค่ะ เพื่อที่จะได้สร้างสภาพในช่องปากให้มีฟลูออไรด์ เป็นการช่วยป้องกันการเกิดฟันผุได้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่สนใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท