ชมรมผู้สูงอายุ ร่วมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ เขต 5 โคราช (3) ... ชมรมผู้สูงอายุหลุบโพธิ์


การจัดหาทรัพยากรที่มีในชุมชน คือ ไม้คนทา มาจัดทำเป็นไม้ขัดฟัน เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมในการดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ

 

ชมรมผู้สูงอายุหลูบโพธิ์ อยู่ ม.5 ตำบลตลาดแร้ง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ค่ะ ... วันนี้ คุณเหงี่ยม ปลื้มใจ ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุ และคุณสายฝน ปราณีตพลกรัง พยาบาลวิชาชีพ สอ.หลุบโพธิ์ มาเล่าเรื่องให้ฟังค่ะ

ที่บ้านหลุบโพธิ์มีอาชีพหลัก ทำนา อาชีพเสริม ทอผ้าไหม มีการเริ่มโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ปี 2549 โดยมีแนวคิดและหลักการว่า

  • ผู้สูงอายุมีความรู้และปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้ถูกต้อง
  • เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุและชุมชน
  • ลดความเชื่อที่ผิดๆ ที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา แต่ดั้งเดิม
  • ให้มีหมู่บ้านต้นแบบ ในการดูแลสุขภาพช่องปาก

ชมรมที่บ้านหลุบโพธิ์ เป็นชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและยั่งยืน มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน

  • ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก อ.บ้านเขว้า
  • ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับประเทศในการประกวดผู้สูงอายุฟันดี 80 ปีขึ้นไป คือ คุณพ่อบุญมา ชัยเนตร อายุ 84 ปี และฟันของท่านยังครบ
  • มีกิจกรรมที่ไปร่วมกันในชมรม ผู้สูงอายุจะไปร่วมกิจกรรมกัน เดือนละ 1 ครั้งอย่างน้อย

 

คุณพ่อบุญมา ชัยเนตร ค่ะ คนนั่งขวาสุด

โครงการต่างๆ ของผู้สูงอายุ จะมี

  1. เตรียมความพร้อม โดยการประชุมคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุ เพื่อทำการชี้แจงรายละเอียด
  2. จัดทำโครงการเพื่อขออนุมัติ และดำเนินงานตามโครงการ ดังนี้
    ... ให้ความรู้ และฝึกทักษะการดูแล และส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ในผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป
    ... การจัดหาทรัพยากรที่มีในชุมชน คือ ไม้คนทา มาจัดทำเป็นไม้ขัดฟัน เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมในการดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ
  3. ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งทางชมรมก็ได้ประเมินผลกันตลอดเวลา

อุปกรณ์เสริมในการดูแลสุขภาพช่องปาก

ภาพไม้คนทาค่ะ

  • ทำจากไม้คนทา ซึ่งเป็นไม้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หาง่ายอยู่ในชุมชน ทำจากต้นที่ไม่แก่มาก มีรสชาติฝาดเล็กน้อย
  • วิธีใช้ ใช้ร่วมกับการแปรงฟันโดยใช้หลังจากแปรงฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้ขัด หรือถูไปตามคอฟัน ซอกฟันเพื่อให้ฟันสะอาดยิ่งขึ้น หรือผู้สูงอายุพกพาไป เวลาเดินทางไกล ใช้ทำความสะอาดซอกฟันหลังจากรับประทานอาหาร
  • ขั้นตอนการทำยากพอสมควร แต่สำหรับคุณพ่อที่เป็นคนแก่จะรู้จักเรื่องไม้ เพราะว่า ไม้คนทาในพื้นที่จะมีมาก หาไม่ยาก แต่ถ้าเลือกต้นไม่ถูก ก็อาจจะทำออกมาไม่ดี
  • มีรุ่นใหญ่ พกพาแทนแปรงสีฟันได้ รุ่นเล็กพกใส่กระเป๋าได้ วันนี้เอามาแต่รุ่นใหญ่

ในเรื่องของการผลิตสิ่งของต่างๆ ในหมู่บ้าน คุณเหงี่ยมก็เล่าให้ฟังว่า

  • ไม้คนทาที่ชมรมคิดขึ้นมา เริ่มต้นจากพระธุดงค์ สมัยพระพุทธเจ้า สมัยก่อนออกป่าไม่มียา แปรงสีฟัน ก็ใช้สมุนไพรในป่า เพราะว่าเป็นสมุนไพรหมด ก็เอาไม้คนทามาตัด และทุบเป็นท่อน โดยเฉพาะพระ สมัยก่อนไม่มีค้อน ก็ใช้หิน นั่งภาวนาไปก็เคาะไป ปลายก็จะย่อลง และซอยออก และตอนที่ทำให้เป็นฝอย ต้องเอาเข็มเย็บผ้า ปักใส่ยางประมาณ 4 เล่ม และมาซอยเป็นฝอยๆ ไม่งั้นมันจะแข็ง
  • ... ส่วนใหญ่ทำถวายพระในวัดวา หรือที่เดินธุดงค์ข้างนอก
  • ผู้สูงอายุพอทำเป็นก็ทำใช้ของใครของมัน และก็เอามาอวดกัน
  • กิจกรรมอื่นๆ ก็คือ ทำดอกไม้จันทน์ ทำไม้ขวดจากก้านมะพร้าว และทำเครื่องจักรสาน กระด้ง เปลจากไม้ไผ่ พวงหรีด ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง
  • ที่กำลังริเริ่มก็คือ โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน
  • และมีการทำโลงศพฟรี

กิจกรรมการดำเนินงานต่อปี 2550

  1. จัดทำและใช้ไม้ขัดฟันที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นต่อเนื่อง
  2. ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในช่องปากแก่ผู้สูงอายุต่อเนื่อง (ทางหอกระจายข่าว โดยกระผมเองเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ทุกวัน ในงานพิธี โดยเฉพาะงานประเพณีต่างๆ เราก็จะแทรกเข้าไปด้วย ฯลฯ)
  3. จัดตั้งกองทุนแปรงสีฟันและยาสีฟัน เพื่อให้สมาชิกชมรมมียาสีฟันและแปรงสีฟัน ที่มีคุณภาพ และราคาถูกไว้จำหน่ายในชุมชน
  4. จัดสัมมนาขยายเครือข่ายการเสริมสร้างสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุ แก่เด็ก และเยาวชน แก่หมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งเดี๋ยวนี้ ทางชมรมฯ ได้ทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยผู้สูงอายุได้ตั้งกรรมการขึ้นมา 30 คน เพื่อที่จะขยายการดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน ในการดูแลช่องปาก ทั้งหมดในตำบลตลาดแร้ง จะออกไปเยี่ยมและให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน 18 หมู่บ้าน โดยรวมกันเป็นเครือข่าย แล้วก็แยกกันไป 1 คนต่อผู้สูงอายุ 5 คน

ปัญหาอุปสรรค

  • สุขภาพของผู้สูงอายุบางท่าน (ที่เคลื่อนไหวตัวเองลำบาก) ทำให้การทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกท่านอื่นๆ ยาก
  • ความเชื่อเดิมๆ ของผู้สูงอายุบางท่าน ในการดูแลสุขภาพในช่องปาก คือ ติดอยู่อย่างที่เดิม อย่างที่ว่า จะทำอย่างไรให้มาใช้วิวัฒนาการใหม่ๆ เช่น การแปรงฟัน ไม่ยึดติดกับถ่านไฟ ใบข่อย เกลือ นี่ก็เป็นความคิดที่ยึดแน่นกับผู้สูงอายุ

ข้อเสนอแนะ

  • ควรให้มีโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนัก ถึงความสำคัญในการดูแลช่องปาก
  • ควรมีงบประมาณสนับสนุนต่อ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน และผู้สูงอายุได้ปรับเปลี่ยนค่านิยมความเชื่อเดิมให้หมดไป ถ้าไม่หมดก็ขอให้ลดน้อยลงบ้าง

คุณเหงี่ยมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

  • ตอนแรกยากพอสมควร ในการรวมตัวผู้สูงอายุเพื่อมาทำกิจกรรมในช่องปาก แต่พอคุณหมอไปให้ความรู้บ้าง เริ่มต้นเราก็ใช้เสียงตามสายบ้าง และก็ใช้คนต่อคน คือ ระหว่างผู้สูงอายุคนหนึ่งไปต่ออีกคนหนึ่ง และพูดให้เข้าใจ ท่านประธานก็จะบอกว่า เรามาร่วมกันทำกิจกรรมตรงช่องปากของผู้สูงอายุ ถ้าเราไม่ร่วม ฟันของเราก็จะไม่มี และเราก็จะไม่รู้อะไรใหม่ๆ
  • พอพูดอย่างนี้แล้ว ผมก็ไป ปชส. ซ้ำ และคุณหมอก็เข้าไปเสริมด้วย ... ก็มีอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่ผู้สูงอายุของชาวหลุบโพธิ์จะเรียบง่ายนิดหนึ่ง พอชักชวน เริ่มต้น 10 คน ก็ต่อมาจะมี 10, 20 เข้ามาเรื่อยๆ ครับ ก็เป็นผลพ่วงที่ง่ายขึ้นมา แต่เริ่มต้นก็มีปัญหานิดๆ ไม่มาก
  • ผู้สูงอายุที่เริ่มต้นกิจกรรมเป็นคนทั่วไป ไม่ใช่ผู้นำ จะเป็นกลุ่มที่เป็นสมาชิก หรือคนที่อยู่ใกลชิดกัน และชักชวนเข้ามา เขารักสุขภาพช่องปาก เมื่อมีหมอมาให้ความรู้ ก็ได้รับรู้มากขึ้น ได้เรียนมากขึ้น และขยายต่อเนื่อง ผู้นำก็เลยเอาด้วย

แล้วประมาณ พค.-มิย. เราคงได้ไปเยี่ยมชม ชมรมผู้สูงอายุหลุบโพธิ์กันอีกครั้งหนึ่งละค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 79951เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ประวัติการใช้ไม้คนทาน่าสนใจมากค่ะ

อ.มัทนา ค่ะ ช่วงนี้ออกติดตามการดำเนินงานผู้สูงอายุ หลายจังหวัด มีเรื่องดีดี มาเล่าเยอะ เป็นเรื่องตอนที่งานของเขาเริ่มต้น กะไว้ว่า ประมาณ พค. หรือ มิย. จะตามไปดูการดำเนินงานที่ได้ทำไปตามแผนฯ

และ กค. จะเชิญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในทุกหน่วยงานที่ได้ไปตามดูมา และจะเชื้อเชิญให้มาร่วมงานมหกรรมฯ ของผู้สูงอายุ ซึ่งจะจัดช่วง สค.50 ค่ะ

พอทำงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไปนานๆ ก็ชักรู้สึกว่า เขาทำกันได้ เพียงแต่ว่า ต้องมีการติดตามที่ต่อเนื่อง เพราะเมื่อเขารู้สึกได้ว่า งานของเขามีคุณค่า เขาก็อยากที่จะทำ อยากที่จะคิด อยากดำเนินการต่อยอดเองละค่ะ

2 วันที่ผ่านมานี้ไปอุบลฯ ก็ได้บริบทของผู้สูงอายุที่แตกต่าง เพราะกลุ่มนี้จะมีข้าราชการบำนาญค่อนข้างเยอะ เขาจึงมีแกนกลางที่จะหางบฯ มา support ให้กับกลุ่มได้ ... แต่ก็มียังคงมีแนวคิดเรื่องเดียวกัน ก็คือ จิตอาสาค่ะ ... เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้อะไรมากขึ้นค่ะ แล้วจะทยอยนำมาเล่าไว้ให้ฟังนะคะ

ขอแก้ไขข้อมูล พยาบาลวิชาชีพ จากคุณสายใจ เป็นคุณ สายฝน ปราณีตพลกรัง ครับผม

      18 พฤษภาคม 2550 ชมรมผู้สูงอายุจาก อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นำโดย ผอ..โรงพยาบาลสังขะได้นำทีมผู้สูงอายุมาศึกษาดูงานที่นีด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนเรียน ซึ่งกันและกัน

  • ขอบคุณค่ะ
  • เปลี่ยนข้อมูลคุณสายฝนให้แล้วนะคะ
  • วันนี้ก็เพิ่งกลับจากไปเยี่ยม ท่านผู้สูงอายุที่หลุบโพธิ์ละค่ะ มีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกมากมายเลยนะคะ
  • ต่อไป งานของ สอ.หลุบโพธิ์ คงจะก้าวไกลแน่นอนเลยค่ะ

เป็นโครงการดีๆ เป็นกำลังใจให้ผู้ริเริ่มโครงการ คุณนิคม โถชัย เพื่อนเก่า

  • ใช่ค่ะ คุณนิคม แข็งขันมาก ทำงานก้าวหน้าโดยตลอดค่ะ
  • ต้องขอบคุณด้วยจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท