การดูแลที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์: บัง...และครอบครัว..ผู้ผ่านเหตุการณ์ที่น่าเหลือเชื่อ..


การดูแลที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์:        บัง...และครอบครัว..ผู้ผ่านเหตุการณ์ที่น่าเหลือเชื่อ..

 

เมื่อบ่ายวันที่....   โรงพยาบาลปายของเราได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินให้ไปรับผู้ป่วยบนเขาที่ต้องแหกโค้งตกดอยไป...

เมื่อผ่านไป 20 นาทีพบว่า...  รถ EMS  ของเราได้รับผู้ป่วยกลับมา 2 คน  และอีก 1 คน มากับรถกระบะ...

 

เสียงร้องโอดครวญ ระงมถึงความเจ็บปวดของหญิงวัยกลางคนท่านหนึ่งที่ปอกปวดที่ต้นขาซ้าย   และร้องถามถึงลูกและสามีผู้เป็นที่รัก...  ลูกเป็นอย่างไรบ้าง   ป๊าๆๆ..อยู่ไหน  เป็นอย่างไรบ้าง....

 

เมื่อซักถามประวัติจากทั้งผู้ที่ไปรับและจากผู้ป่วย..  ก็ได้เรื่องเล่าว่า...

                 ทั้งสามท่านเป็นครอบครัวเดียวกัน..  พ่อแม่ลูก    คุณพ่อทำงานเป็นข้าราชการเล็กๆในรัฐวิสาหกิจ  คือการไฟฟ้า....  คุณแม่...เป็นแม่บ้าน  คุณพ่อเคยมาแม่ฮ่องสอนบ้าง2-3 ครั้ง    ปกติขับรถ trailer -ขนาดใหญ่  สายภาคใต้     ส่วนลูกสาวปิดเทอม  ครั้งนี้ต้องการมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนกับคุณพ่อ....

 

ผู้ป่วยเล่าว่าขณะที่ขับรถลงดอยมานั้น  ด้วยความที่ไม่ค่อยชินเส้นทาง  บวกกับรถที่ขนเหล็กหนัก 30 ตัน  รถที่วิ่งลงมาไม่สามารถตีโค้งได้....ทำให้หลุดโค้งและตกดอยลงมา  ด้วยความสูงประมาณ 100 เมตร  สภาพรถนั้นพังยับ เหล็กกระจายคนละทาง  

 

ในวินาทีที่วิกฤตินั้น  ภรรยาและบุตรสาวได้กระเด็นออกจากรถไป... โชคดีที่ไม่ได้มีอะไรมาทับซ้ำ  ส่วนผู้ป่วยที่ขับรถนั้นพบว่าติดอยู่ที่รถส่วนหัวรถ....

 

พี่พยาบาลที่ไปรับผู้ป่วยได้ให้การช่วยเหลือภรรยาซึ่งความดันต่ำ  และช่วยผู้ป่วยออกจากรถมา...  ทุกสายตา  ทุกคน  ทุกความคิด  ต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า...โอ้  ไม่น่าเชื่อเลยทุกคนรอดมาได้  แถมยังไม่มีใครเป็นอะไรมาก....

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยทั้งสามคนได้สัมผัส  คือนาทีของชีวิต...ประสบการณ์  เรื่องราว เรื่องเล่าที่อยู่ในความทรงจำ  ยากที่จะอธิบายได้ว่ามัน..เป็นเรื่องยากที่ผู้คนที่ไม่ได้ผ่านเรื่องแบบนี้จะเข้าใจได้...

 

การช่วยเหลือชีวิตของทั้งสามท่านนั้น...

เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก...  กับคนที่ผ่านเรื่องเฉียดมาแบบหมาดๆ  ความรู้สึกและร่างกายนั้นสำคัญพอๆกันที่ต้องเยียวยา....ไปพร้อมๆกัน

 

ณ..ห้องฉุกเฉิน

            เมื่อประเมินเบื้องต้นแล้วพบว่าคนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ  คุณแม่...ซึ่งมีความดันต่ำ  และปวดมากจากบาดแผลที่ตอนแรกผมคิดว่าน่าจะเป็นกระดูกต้นขาซ้ายหัก....  แต่ต่อมาความดันก็ปกติดี  ผล X-ray ผมก็คิดว่าหัก ..และข้อสะโพกหลุดด้วย... ส่วนอื่นๆก็ปกติ  ทำให้เบาใจไปบ้างเล็กน้อย...

          ลำดับต่อมาคือคุณพ่อ...ซึ่งตอนแรกเหมือนจะดีคือเดินได้เอง    แต่ต่อมาก็พ่นเจ็บอก  แน่นอก  ปวดชายโครงและหายใจลำบาก  ทำให้ผมก็กังวลเรื่องปอดและตับมาก  แต่เมื่อตรวจร่างกาย  และ X-ray  แล้ว  พบว่าปกติดี จึงเบาใจบ้างแต่ก็ยังห่วงๆ...

        สุดท้ายคือลูกสาวครับที่ปวดต้นขา และขาซ้ายเดินลำบาก  ผล X-ray เป็นกระดูกเชิงกรานหักเล็กน้อย ...

 

ต่อมาคือการจัดการแต่ละกรณี...

        ผมตัดสินใจส่งต่อคุณแม่ด่วนเพราะวินิจฉัยว่ากระดูกต้นขาหักเคลื่อน....และลูกสาวที่พบกระดูกหักเช่นกัน  แต่ก็ไม่ร้ายแรงนัก(เท่าที่ความรู้แพทย์ทั่วไปมีคือน่าจะเพียงนอนพัก ไม่ต้องผ่าตัดอะไร..)  และคิดว่าจะให้ผู้ป่วยที่เป็นพ่ออยู่พักรักษาตัว  ดูอาการต่อที่โรงพยาบาลปาย...

           จริงๆแล้วเขาอยากไปพร้อมกันทุกคน  แต่ว่าตอนนั้นเราไม่สามารถไปได้  และโรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับได้... จึงอธิบายว่าถ้าดีขึ้นค่อยตามไปทีหลัง  หรืออาจจะให้ไปพรุ่งนี้อีกที...  ถึงตอนนี้นอกจากจะต้องอธิบายผู้ป่วยแล้ว  ยังจะต้องอธิบายทำความเข้าใจกับเจ้านายเขา  เพื่อนร่วมงานกันอีกหลายคน และพยามให้ความมั่นใจ. ต่อแนวทางที่รักษาอยู่  ซึ่งดูเหมือนทุกๆคนก็เข้าใจดี   แต่ผมก็คิดว่านั้นเป็นภูเขาที่ผมต้องรับภาระต่อจากนี้จนกว่าผู้ป่วยจะปลอดภัยจริงๆ  คือ24 ชม  ต่อจากนี้...

 

          ในคืนนั้นผมเดินไปเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้หลายครั้ง  ซึ่งสังเกตอาการอยู่อย่างใกล้ชิด...เพราะว่าผมก็เสียวๆเล็กน้อยเช่นกัน...แต่ทุกอย่างก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ..   แต่กระนั้นก็ตามผมก็หลับไม่ค่อยสนิกนัก  ในคืนนั้น...

 

       เช้ามืดวันต่อมาบุตรสาวก็ถูกส่งกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลปาย....นอนรักษาตัวอีก 3 วันก็กลับไปเยี่ยม ดูแลคุณแม่ซึ่งนอนอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่...  ซึ่งสรุปว่า  เป็นเพียงกระดูกข้อสะโพกเคลื่อนหลุดเท่านั้น...  ซึ่งก็ยิ่งถือว่าโชคดีกว่าเดิมอีกหลายเท่ากว่ากระดูกหักครับ...เพราะการรักษาและเวลาที่หายจะต่างกันเกือบ 10 เท่า...

 

    

   ผู้ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลได้ถึงวันที่ 5  ทุกอย่างดีขึ้นมากเหลือเพียงเจ็บที่สะโพกเวลาเดิน  จะเดินลำบากและเจ็บมาก  ลูกนั่งก็ลำบาก จะเจ็บ...  พอดีวันนั้นมีคุณหมออีกท่านมาดูแทนผมหนึ่งวัน   ท่านได้ส่ง X-ray  เพิ่มเติม  ปรากฏว่ากระดูกเชิงกรานก็หักเช่นกัน  แต่ไม่มาก  ซึ่งอธิบายเรื่องการเดินแล้วเจ็บและเดินลำบากได้  

  

   การรักษากระดูกเชิงกรานหัก  หลักที่สำคัญคือการรักษาแบบประคับประคองและการรักษาตามอาการ  ที่ผมเข้าใจคือการนอนพักมากๆ  เป็นเวลา 2- 4 สัปดาห์  จนหายปวดจึงค่อยๆเดิน....

 

   การดูและผู้ป่วยแต่ละวันจึงไม่มีอะไรที่ซับซ้อนคือ..ให้พักและให้ยาแก้ปวด....

 

      ในช่วงวันที่ 7 ของการรักษาผมก็เริ่มคิดถึงการวางแผนการกลับบ้าน..โดยเริ่มอธิบายถึงการดูแลในระยะต่อจากนี้..และหลักสำคัญๆ  ให้ผู้ป่วยทราบและเข้าใจ...

  

     ผมบอกกับผู้ป่วยว่าถ้าจะกลับบ้านก็สามารถกลับได้...  และต้องนอนพักต่อที่บ้าน....อีกสักระยะ ยังไม่ควรทำงาน

                   ผู้ป่วยบอกว่าตนเองอยากจะพักรักษาตัวต่อที่นี่  รอจนกว่าภรรยาจะกลับมาก่อน  อีกทั้งก็ยังรู้สึกปวดมากอยู่  ดังนั้นผมจึงเข้าใจและในการดูแลวันต่อๆมาก็ไม่ได้ถามถึงเรื่องการจะให้กลับบ้าน

             

               เพราะว่าเข้าใจถึงเจตจำนงที่ผู้ป่วยมี...  อีกทั้งก็รับรู้ถึงแววตาความกังวลหลายๆอย่าง  ทั้งความรู้สึกในเรื่องราวที่เพิ่งผ่านมา  ความกังวลเรื่อง ภรรยา    และความกังวลต่อความเจ็บป่วยของตน

                 เพราะจากการอธิบายๆ  ทุกๆวันผู้ป่วยก็ยังถามหลายๆอย่าง  อาจจะซ้ำๆ  เกี่ยวกับความเจ็บป่วย  บ่งบอกถึงความรู้สึกภายในที่ยังตกใจ  ยังมีร่องรอยของความบาดเจ็บอยู่  แม้ว่าแท้จริงเราจะดูว่าเขาหายดีภายนอก  แต่ข้างในแล้วเมื่อสัมผัสจริงๆ  ก็จะเห็นว่ามันยังไม่ปกตินัก

 

   วันที่ 11 ของการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปาย  โรงพยาบาลชุมชนบนดอยอันห่างไกล 

               เป็นวันที่ผู้ป่วยได้พบกับภรรยา  ที่สามารถเดินได้เป็นปกติ  เขาได้กลับมาหาสามี  ซึ่งผ่านอุบัติเหตุ  อันรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นกับครอบครัว... 

  

        ในเช้าวันแรกที่ผมได้เห็นผู้ป่วยอยู่กับภรรยา...  ผมรู้สึกและสัมผัสได้จากน้ำเสียง  แววตาและใบหน้าที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นของผู้ป่วย..บอกถึงเรื่องราวแห่งความอบอุ่น  ดีใจ  อุ่นใจ...

 

             เมื่อทั้งสองมาอยู่ด้วยกันแล้ว  บวกกับก็เป็นการนอนรักษาตัวที่นานเหมือนกัน  คนไข้ที่โรงพยาบาลก็มาก  คนที่รอต่อคิดห้องพิเศษก็เยอะเหมือนกัน... ผมจึงได้พูดคุย  อธิบายเรื่องการกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกครั้ง...

 

            ครั้งแรกผู้ป่วยตอบผมกลับมาพร้อมตั้งคำถามว่า ... คุณหมอผมจะกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่กรุงเทพได้หรือไม่ครับ...  ผมตอบท่านว่า     อืม...  ไม่แน่ใจนะครับ  เพราะว่าอาการแบบนี้เขาอาจจะไม่รับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาล  เพราะว่าปลอดภัยแล้ว  สามารถพักรักาตัวที่บ้านได้  เพียงแต่ว่าอาจจะต้องกลับไปตรวจX-rayซ้ำ  หรือรับยารักษาตามอาการอื่นๆ....  ซึ่งผู้ป่วยก็เข้าใจดี....

 

ผมจึงให้ผู้ป่วยคิดอีก วันถึงสองวัน

            จากนั้นช่วงวันที่13  ของการนอนโรงพยาบาล   ท่านก็แจ้งว่าท่านกำลังติดต่อเรื่องรถของหน่วยงานต้นสังกัดท่านที่ต้องมารับท่านกลับไป  ซึ่งทางหน่วยงานกำลังประสานเพื่อมารับอยู่  อาจจะใช้เวลาสัก2-3 วัน...

 

  เมื่อมีเจ้าหน้าที่ถามท่านว่าจะสามารถออกไปนอนพักที่บ้านญาติ  หรือคนรู้จักก่อนหรือไม่  เพื่อรอการมารับเพื่อเดินทางกลับ  ท่านก็ตอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ว่าท่านไม่มีญาติหรือที่พักที่ใด...

 

 

 

               ดังนั้นเรื่องการให้กลับบ้าน...ของผู้ป่วยทั้งสองท่านนี้ที่เจ็บป่วย  จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่รุนแรงมาก  จนผู้คนที่ผ่านไปมาแล้วพบเห็นสภาพรถที่เป็นอยู่  ณ จุดเกิดเหตุ...  แทบไม่น่าเชื่อว่าจะผ่านมาได้..แบบนี้     เป็นมุมมองที่ยากที่จะตัดสินใจโดยใช้มิติทางการแพทย์ทางกาย  อย่างเดียว  แบบเอาความรู้สึกของผู้ให้บริการเป็นตัวตั้ง  แบบตัวกูของกู  

               มันมีมุมมอง  มีมิติอีกหลายด้านที่เราอาจจะต้องเข้าไปเรียนรู้  จะต้องเข้าไปสัมผัสและทำความเข้าใจ...  คือปัจจัยทางด้าน จิตใจ  อารมณ์  และสภาพบริบทแวดล้อมอื่นๆของผู้ป่วย  ในรายนี้ที่สำคัญคือ  ความไกลจากบ้าน  ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัว  และ ความรู้สึก  บาดแผลในใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์อันน่ากลัวมากๆครับ....  ยากที่เราจะละเลย  มองข้ามไปได้ครับ..

 

     มิตรภาพระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลเกิดขึ้นอย่างมากมายครับ...  เป็นความรู้สึกดีๆ  เป็นความชุ่มชื่นทางความรู้สึก  ความเข้าใจ  ความคิด  แม้ว่าเราจะต่างถิ่น  ต่างเชื้อชาติ  ศาสนากัน...  เราก็เป็นคน...ที่มีความรู้สึก  ...

 

    แม้ว่าการดูแลที่ผู้ดูแล  จะมีความรู้สึกถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับสูงสุด  จากการเข้ารับบริการจากองค์กรของเราครั้งนี้.....      

                แต่ก็ได้เรียนรู้  เข้าใจ  เห็นใจ  จากทัศนะอื่นๆ  ที่แตกต่างกันออกไป  ต่อเรื่องราวของความรู้สึกว่าผู้ป่วย  นอนนานไปหรือไม่  อย่างไร.....

  เช้านี้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เเล้วครับ....

 

  แต่ผมมีความรู้สึกว่าได้เรียนรู้หลายๆสิ่งมากมาย

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 182460เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีใจมากๆครับ ที่เรามีหมอดีๆ ที่รักษาทั้งกายและใจให้กับผู้ป่วย 

ขอบคุณมากๆครับ  ปรบมือให้ครับ..........ขออนุญาตนำไปรวมครับ....................รวมตะกอน

  • หลายต่อหลายครั้งที่เราไม่สามารถเข้าใจถึงความรู้สึกลึกๆของผู้ป่วย
  • หากเพียงแต่ช้าลงอีกนิด....
  • ใช้ใจสัมผัสใจ......
  • ตาบ่งบอกถึงความห่วงใยที่มี......
  • ไม่ช้าเชื่อว่าเราจะสามาถเข้าใจผู้ป่วยหรือแม้แต่คนรอบข้างได้ไม่ยาก

 

^ ^

มาส่งยิ้มให้กำลังใจ น้องหมอทำดีมากเลยค่ะ ^ ^

สวัสดีคะ

- น่าภูมิใจจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณคะที่ "ดูแลเราด้วยหัวใจ"

ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านครับที่ร่วมแบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท