Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี (9) KM ไร้รูปแบบ แบบกรมอนามัย


กรมอนามัยเริ่มนำ “การจัดการความรู้” มาใช้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีนโยบายให้หน่วยราชการนำการจัดการความรู้มาใช้ กรมอนามัยจึงมอบหน้าที่ให้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มาเป็นประธาน KM

 

ดิฉันขอนำนิทรรศการส่วนของกรมอนามัย ที่ใช้ชื่อว่า KM ไร้รูปแบบ แบบกรมอนามัยมาขยายความไว้ ณ ที่นี้ค่ะ ... ว่าเป็นอย่างไร ที่กรมอนามัยใช้ KM แบบไร้รูปแบบ

KM ไร้รูปแบบ แบบกรมอนามัย

เมื่อกรมอนามัย นำ KM มาปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมเดิม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตาม “เป้าหมาย” ที่วางไว้ 4 ด้าน

  1. งานดีขึ้น : การสร้างภาคีเครือข่ายของกรมอนามัยชัดขึ้น ดีขึ้น เพราะทุกคนติดใจการใช้ KM ทำให้การพูดสั่งงานน้อยลง แต่จะพูดให้กำลังใจ และให้เห็นศักยภาพของภาคีก่อน ทำให้ภาคีต่างๆ อาทิ โรงเรียน หรือท้องถิ่น เข้ามาช่วยให้ความร่วมมือมากขึ้น ส่งผลให้งานต่างๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคี ประสบความสำเร็จมากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง เป็นผลที่น่าพอใจ อาทิ ในเรื่องการบริการที่ศูนย์อนามัยที่ 1 นำการจัดการความรู้ไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อมีการประเมินพบว่า ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลดีขึ้น ส่วนห้องคลอด ก็มีการส่งเวร โดยการใช้ “เรื่องเล่า” (Storytelling)
  2. คนเก่งขึ้น : บุคลากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น เริ่มเป็นวิทยากรพูด Concept ต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็น Note taker ได้ โดยมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจาก “การจัดการความรู้” ที่กรมฯ ดำเนินการอยู่เดิมเป็นตัวสนับสนุนให้คนเก่งขึ้น
  3. การสะสมความรู้มากขึ้น : เก็บ document เป็นเอกสาร เว็บไซต์ เป็นหนังสือมากขึ้น
  4. วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยน : แม้ต้องพิสูจน์ในระยะยาว แต่ผู้มาเรียนรู้ดูงานมักเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนในกรมอนามัยเปลี่ยนแปลงไป

จุดเริ่มต้น ... แผน/กิจกรรม KM

กรมอนามัยเริ่มนำ “การจัดการความรู้” มาใช้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีนโยบายให้หน่วยราชการนำการจัดการความรู้มาใช้ กรมอนามัยจึงมอบหน้าที่ให้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มาเป็นประธาน KM โดยตั้งเป้าหมายว่า

  1. งานต้องดีขึ้น
  2. คนต้องเก่งขึ้น
  3. มีการสะสมความรู้มากขึ้น
  4. วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป

แนวคิดการทำงาน KM ของกรมอนามัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 4 อย่างที่ตั้งไว้ จึงยึด 3 หลักใหญ่ๆ คือ

  1. สร้างแกนนำ
  2. สร้างกิจกรรมสารพัดแบบ
  3. การเอื้อ หรือกระตุ้นผู้นำองค์กร

กิจกรรม KM สารพัดแบบ โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กิจกรรมภายในของทีมแต่ละหน่วยงาน
  2. กิจกรรมที่มีการนำ “การจัดการความรู้” ไปใช้กับคนภายนอก เช่น การสร้างภาคี สร้างความรู้กับผู้ป่วย (จัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงาน)

กิจกรรมของทีม KM กลาง ... สนับสนุนการทำงาน

“ทีม KM กลาง” มีกิจกรรมที่สนับสนุนการทำงานจัดการความรู้ตามหน่วยต่างๆ เช่น จัดทีมไปเยี่ยม และให้คำแนะนำ พร้อมกับให้คำชื่นชมตามหน่วยงานย่อยต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และศูนย์อนามัยเขตในต่างจังหวัด

ส่วน “ทีมกลาง” ที่มาจากศูนย์ และกอง มีการจัดประชุมทีมกลางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และทำหน้าที่เป็น “วิทยากร KM” ให้ความรู้กับหน่วยงานภายนอก โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมองว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ออกไปเรียนรู้จากหน่วยงานอื่น นอกจากนี้ทีมกลางยังผลักดันให้มีเว็บไซต์ และการแลกเปลี่ยนผ่าน GotoKnow.org

ตัวอย่างความสำเร็จ

  • ศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย นำ “การจัดการความรู้” มาบูรณาการใน 3 เรื่อง คือ ตลาด ร้านอาหาร และส้วม
  • กองคลัง นำการจัดการความรู้ไปใช้ เพื่อพัฒนาบุคลากร และการทำงาน

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของกรมอนามัย

การที่ “การจัดการความรู้” สามารถเข้าไปแพร่ขยายอยู่ทั่วทั้งกรมอนามัย มีหลายปัจจัยที่ร่วมกันส่งเสริม นั่นคือ

  • ทักษะคุณอำนวย : “คุณอำนวย” ใน KM ทีม ใช้กระบวนการจัดการความรู้เข้าไปอยู่ในใจของ “ผู้นำ” โดยใช้เทคนิคส่วนตัว คือ เมื่อมีหน่วยงานขอเข้ามาดูงาน ต้องมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแส และการตื่นตัวของคนในหน่วยงาน ทำให้รู้ว่า การขยายเรื่องการจัดการความรู้ให้ทั่วทั้งองค์กร ต้องใช้หลายๆ tactics (ความรู้ฝังลึก) จนทำให้ผู้บริหารหันมาให้ความสนใจ
  • ผู้บริหารคลุกวงใน และไม่สั่งการ : ผลจากการเชื่อมโยงผู้นำระดับสูง กับผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง นอกจากจะทำให้ผู้บริหารหันมาสนใจแล้ว “ผู้บริหาร” ยังลงมาร่วมกิจกรรม โดยทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมใหญ่ได้อย่าง แนบเนียน และตระหนักในความสำคัญของ KM เห็นว่าไม่ใช่เรื่องยาก พร้อมทั้งเชื้อเชิญโดยไม่บังคับให้ทุกหน่วยงาน นำไปปฏิบัติโดยไม่สั่งการ
  • วัฒนธรรมเดิมเสริมส่ง : บุคลากรกรมอนามัยมีวัฒนธรรมดั้งเดิมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นทุนเดิม แต่เมื่อถูกกระตุ้นให้ต้องใช้วิชาการ และการเรียนรู้ โดยนำ “การจัดการความรู้” มาใช้ จึงทำให้งานวิชาการ และการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนรียนรู้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศ ที่นิทรรศการกรมอนามัยค่ะ ครั้งนี้ได้น้องศูนย์อนามัยที่ 7 มาช่วยประจำบูท และได้หมอนรองนั่งหลังคลอดของศูนย์อนามัยที่ 1 มาแสดงตัวอย่างค่ะ

เมื่อคุณหมอนันทา เจ๊ดัน KM กรมอนามัยมาเยี่ยมพวกเราค่ะ

รวมเรื่อง Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี

 

หมายเลขบันทึก: 151215เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กองคลัง ดูเหมือน จะพัฒนาแต่งาน เพื่อ ถอด  ความรู้ในตัวคน ออกมาเป็น explicit knowledge  ใช่หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท