Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี (19) ห้อง Lead & Learn - บ้านกาญจนาภิเษก - เมื่อดอกไม้บาน


พอเราเปลี่ยนคำพูดไปว่า ไปตาม โอ๋ เอ๋ มาให้ป้าหน่อย ป้าอยากคุยด้วย ปรากฎว่าเราก็ได้เด็กสองคนมาเท่าเดิม แต่ว่า การตอบสนองของเด็กต่างกันมากเลย เราก็เริ่มเห็นภาพ

เป็นเรื่องเล่าจาก ผอ.ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ค่ะ 

บ้านกาญจนาภิเษก เป็นสถานพินิจของกระทรวงยุติธรรม มีการก่อกำเนิดแตกต่างออกไป มีการผสมสัดส่วนใหม่ โดยเริ่มต้นครั้งแรก บ้านกาญจนาเกิดจากระดมทุนจากภาคเอกชน คือ คุณหญิงจันทนี สันตบุตร ในฐานะที่มีอดีตเป็นผู้พิพากษาสมทบ และอยู่ในกฎหมายมาตลอด ท่านนั่งบัลลังก์ และพบเด็กมาศาลคดีเด็กและเยาวชน และเด็กมารอบแล้วรอบเล่า เห็นฉากแล้วฉากเล่าของเด็กๆ ที่ทำคดี ก็ทำให้เกิดพันธกิจส่วนตัวของท่าน มาระดมทุน อยากมีบ้านสักหลังหนึ่ง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสถานพินิจฯ ทั่วไป ถึงที่สุด บ้านกาญจนาภิเษก ในพื้นที่ 32 ไร่ มีบ้านเป็นหลังๆ 20 หลัง ซึ่งจะมีผู้อุปการคุณเป็นผู้ใหญ่ใจดี

พอสร้างแล้วก็เกิดประเด็นขึ้นมา ว่า ใครจะมาดูแลบ้านหลังนี้ อิฐหินปูนทราย ถูกทำให้เป็นบ้านขึ้นมาแล้ว แต่จะใส่จิตวิญญาณแบบไหน แบบคุก ในคุกนี่ก็เป็นประเด็นใหญ่แล้ว จะให้ NGO ที่ไหนมาบริหาร เพราะว่ามันมีภาระผูกพันอันยาวนาน จะส่งให้รัฐ ทุกคนก็มีความจริงอันเป็นที่ประจักษ์ ว่าถ้าใส่ให้รัฐ แล้วก็ต้องยอมรับภาพที่จะตามมา และเกิดเป็นทางเลือกที่สาม คือ ให้รัฐน่ะแหล่ะไป แต่ให้คนนอกมาบริหาร ... ถึงที่สุด บ้านกาญจนภิเษกก็เกิดขึ้น โดยให้คนนอกมาบริหาร

เมื่อดิฉันได้เข้าไปอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก จริงๆ แล้วเดิมก็คือ คุกเด็กนั่นเอง เพราะว่ามันเป็นสถานพินิจ เราจะพบว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เป็นคนที่เชื่อในอำนาจของตัวเอง และใช้ภาษา ซึ่งแสดงถึงอำนาจ เช่น ไปเบิกตัวเยาวชน 2 นาย มาให้ผม อะไรประมาณนี้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกได้ว่า มนุษย์ถูกทำให้เป็นสิ่งของ ภาษา ทั้งหมดแสดงความเหนือกว่าทั้งสิ้น พอเราเปลี่ยนคำพูดไปว่า ไปตาม โอ๋ เอ๋ มาให้ป้าหน่อย ป้าอยากคุยด้วย ปรากฎว่าเราก็ได้เด็กสองคนมาเท่าเดิม แต่ว่า การตอบสนองของเด็กต่างกันมากเลย เราก็เริ่มเห็นภาพ

แต่การเปลี่ยนมนุษย์มันยาก เจ้าหน้าที่มีความเชื่อมากว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่แตกต่างไปจากนี้หรอก อันนี้ก็ต้องเข้าใจเขาเหมือนกัน สถานพินิจฯ ในประเทศไทย ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ 2495 ภายใต้เจตนารมณ์ ที่อยากจะแบ่งเด็กออกมาจากคุกใหญ่ มีความเชื่ออยู่แล้ว แต่บนความเชื่อ ยังไม่มีองค์ความรู้ที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อแยกเด็กออกมาเมื่อ 2495 ดิฉันพูดจากความรู้สึกสดๆ เพราะว่า 2495 เราเริ่มทำคุกเด็กซึ่งต้องการ แยกออกมาจากคุกใหญ่ บนองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้พูดถึงเรื่องจิตวิทยา พัฒนาการ ไม่ได้สนใจเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันเชื่อว่า กลิ่นอายของคุกเด็กกับผู้ใหญ่ มันไม่แตกต่างกัน มันเหมือนเดิมทุกประการเลย แม้นโดยเจตนา คนละอารมณ์ ความมุ่งมั่นตั้งใจจะใช่ เพราะฉะนั้น จาก 2495 จนกระทั่งมาถึงหลายปีผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช้ามากๆ จนอาจจะเกิดสูญเสียบางอย่างไปด้วย

ดิฉันเข้าไปในบ้านกาญจนาภิเษก ก็ได้พบกับกลิ่นอายเหล่านี้ มีการปะทะทางความคิด คิดว่าเป็นสงครามทางความคิดเลย เพราะว่าดิฉันเป็นคนข้างนอกคนเดียว ที่เข้าไปทำงานในบ้านหลังนั้น และเป็นผู้หญิง ก็เลยมีสงครามทางความคิดเต็มไปหมด เพราะว่าไม่ทราบจะแตะอะไร ทุกอย่างเป็นเรื่องของคุกไปหมด อันนี้พูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ถ้าลองถอยกลับ ที่บ้านกาญจนาภิเษกเมื่อปี 2546 ดิฉันคิดว่า เราทำงานด้วยความหวาดกลัว เพราะมันบอกว่า คุกหรือยังไงไม่ทราบ ทุกคนหวาดกลัว นอกจากหวาดกลัวกับคำว่าคุกแล้ว ที่ว่าจริงๆ โดยเจตนารมย์ไม่ได้ปรารถนา แต่มันเป็นข้อจำกัด ทุกคนสร้างข้อจำกัดขึ้นมา บนอะไรดิฉันไม่รู้ กลายเป็นข้อจำกัดทำไม่ได้ไปหมด

ดิฉันจำได้ว่า ตอนไปครั้งแรก เจอเด็กฝรั่ง 2 คน ในบ้านกาญจนา อายุ 13 กับ 15 ปี มาจากประเทศเยอรมัน ด้วยข้อหาอนาจารลูกแม่ครัว ซึ่งดิฉันสะเทือนใจมากเลย เพราะว่าเด็กสองคนนี้ พูดแต่ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษพูดไม่ได้ ที่นี่ก็พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ เยอรมันก็ไม่ได้ ... แล้วเวลาเด็กอยู่กับคุณ ก่อนหน้าที่ดิฉันจะไปอยู่ คุณดูแลเด็กด้วยวิธีไหนกัน ก็ไม่มีใครตอบได้ แล้วที่สำคัญคือ โดยพื้นฐาน Basic need เด็กกินอะไรก็ไม่ได้เลย แพ้ปลา แพ้น้ำธรรมดา แพ้ไปหมด และอายุก็ยังน้อย ... ดิฉันก็ถามเจ้าหน้าที่ว่า แล้วเราหาอย่างอื่นให้เขากินได้มั๊ยเนี่ยะ แบบที่เขากินกันปกติ เจ้าหน้าที่ก็บอกด้วยความสุจริตใจว่า ไม่ได้ คำตอบว่า ทำไม่ได้ ก็บอกว่า เดี๋ยวเด็กอื่นมันว่าเอา

ก็เลยบอกว่า เอา เดี๋ยวไปถามเด็กๆ ดิฉันก็เรียกประชุมเด็ก ตอนนั้นมี 30-40 คน ถามเด็กๆ ว่า ฟังนิทานป้า 1 เรื่องนะลูก ถ้าสมมติว่าเราพลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่เมืองอื่น แล้วเราก็ทำผิดพลาดกติกาของบ้านเมืองนั้น แล้วเราก็ต้องไปอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เราปรารถนาจะให้คนที่นั่นปฏิบัติต่อเราเช่นใด ไม่ต้องข้ามทวีปเหมือนเจ้า 2 คนนี้ ข้ามไปอยู่ ผิวสีที่แตกต่าง ชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ทานอาหารที่แตกต่าง เอาข้ามไปแค่เขมร ลาวก็แล้วกัน เราอยากให้คนที่นั่นปฏิบัติกับเราเช่นไร เด็กโง่ที่สุดในบ้านหลังนั้นก็ตอบได้ อยากให้ทุกคนปฏิบัติต่อตัวเองเช่นไร คำถามก็คือว่า และเราควรปฏิบัติต่อน้องสองคนนี้ อย่างไรดี ที่คล้ายๆ กับที่เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรา ในฐานะที่เราข้ามบ้านข้ามเมืองไปอยู่เมืองหนึ่ง และก็ผิดพลาดไป

"ยังไงก็ได้ครับ ผมก็สงสารมันมาตั้งนานแล้ว" คำถามว่า ถ้าป้าจะโทรบอกให้แม่เขาเอา French fried เอาไก่มาแช่ตู้แช่แข็งให้เราและทำให้น้อง เรารู้สึกไหมลูกว่า เราถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง เด็กบอก ไม่รู้สึกเลย ถึงที่สุดเด็กสองคนนั้นก็ได้รับการปฏิบัติด้วยดี

เรานึกออกไหมคะว่า จริงๆ แล้ว พลังของเด็ก ความคิดของเด็กๆ การมีส่วนร่วมของเด็กๆ มันมีเต็มไปหมดเลย แต่เราไม่ได้ใช้เลย เราไม่ได้ใช้

เพราะฉะนั้น หลังจากที่ดิฉันอยู่ในบ้านนั้นพักหนึ่ง ดิฉันคิดว่า ตัวแปรที่สำคัญที่สุดขณะที่เจ้าหน้าที่เล่าอย่างสั้นๆ ตัดตอนเลยว่า 4 ปีผ่านไป ดิฉันก็คิดว่า เจ้าหน้าที่เปลี่ยนทัศนคติไปเกือบหมดแล้ว ด้วยเหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่ง เขาบอกว่า เจ้าหน้าที่รู้สึกอยู่อย่างหนึ่งว่า ตัวเองไม่ต้องลุ้นวันต่อวัน รู้สึกว่าปลอดภัย เมื่อเวลาเดินไปที่ทำงาน ไม่ต้องลุ้นว่า เด็กกลุ่มไหนจะตีกับกลุ่มไหน ใครจะถูกแทง เด็กจะตีกันมั๊ยเนี่ยะ ไม่ต้องลุ้นแล้ว และอารมณ์แบบนี้ก็เป็นอารมณ์ที่เขาก็โหยหามาตลอดชีวิตของการทำงาน เขาก็ไม่อยากจากลูกเมียไป เขากลัวว่ามาทำงานแล้ว ไม่ได้กลับบ้าน กลัวสถานการณ์วุ่นวาย มีแรงกดดันที่เราไม่ได้ใช้พลังกับเขา

บัดนี้เราถึงมาพูดกันชัดเจนมากว่า ชีวิตมีองค์กรที่ดี บ้านที่ดี ต้องมาจากไหน เด็กก็รู้ เจ้าหน้าที่ 25 คน เด็กเกือบ 200 คน ใครจะเปลี่ยนใครกันได้ล่ะ ถ้าเด็กๆ ไม่เปลี่ยนกันเอง

ดังนั้นบ้านกาญจนาภิเษก สิ่งเริ่มต้นที่เป็นองค์ความรู้เล ดิฉันคิดว่า มี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งขอไม่พูด แต่ขอพูดส่วนที่สอง และสาม ว่า การเปลี่ยนแปลงในบ้านนี้เกิดขึ้น จากการที่

  1. เราไม่รับมรดกทางความคิด ต้องกรองน่าดูเลยว่า มรดกทางความคิดนี้ใช้ได้หรือเปล่า ถ้าใช้แล้วเป็นปัญหาและอุปสรรค ไม่ต้องรับ
  2. สร้างวาทกรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่ 1 ชุด ซึ่งตรงนี้คิดว่าสำคัญ ถ้าเราต้องการทำงานอะไรขึ้นมาใหม่ชิ้นหนึ่ง ดิฉันคิดว่าเราต้องทบทวนวาทกรรม เพราะฉะนั้นบ้านกาญจนาภิเษก วาทกรรมหลักคือ บ้านหลังนี้ไม่ใช่คุก เยาวชนไม่ใช้นักโทษ ไม่ใช่อาชญากร เจ้าหน้าที่ไม่ผู้คุม บ้านหลังนี้เป็นเพียงบ้านทดแทนของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตผิด และก้าวพลาดเท่านั้นเอง ดังนั้น ความเป็นคุก กฎเหล็กจึงไม่มีความจำเป็นในบ้านหลังนี้ ดิฉันจึงคิดว่า วาทกรรมนี้สำคัญ 

เราตกผลึกแล้วทางความคิด เหมือนกับบ้านกาญจนาภิเษกไม่ใช่คุก เยาวชนไม่ใช่อาชญากร แม้เด็กคนนี้จะมาด้วยคดีอุกฉกรรจ์ บางคนฆ่าคนมาแล้ว 2-3 คน แก๊งค์ในบ้านกาญจนาภิเษกเยอะแยะ คดีฆ่าก็เยอะ แต่ดิฉันคิดว่า เขาไม่เคยลืมว่า วันคืนแห่งความเป็นเด็กของเรานั้น เราอ่อนโลก และอ่อนประสบการณ์ และที่สำคัญสถานการณ์ของเด็กในปัจจุบันนี้ เขาไม่ใช่ลูกหลานของเรา แต่เขาเป็นลูกค้าที่ดีของบริษัทธรกิจต่างๆ

ดิฉันคิดว่า ความเมตตาของสังคมมีต่อเด็กๆ เหล่านี้ เป็นตัวหล่อหลอมที่ดี ในระหว่างที่เราไม่สามารถทะลายอะไรต่างๆ ได้ เราก็ต้องเมตตากับเด็กมากขึ้น และที่สำคัญเด็กๆ เหล่านี้ สักวันหนึ่ง เขาต้องออกไปจากบ้านกาญจนาภิเษก ออกไปจากคุกทุกแห่ง เพื่อไปเป็นพลเมืองของประเทศ และยืนอยู่เคียงข้างเรา เรื่องราวต่างๆ ในบ้านแบบนี้ก็จะกลายเป็นทุนของผู้ชายคนหนึ่งที่จะไปเป็นสามีของผู้หญิงคนหนึ่ง และไปคลอดเด็กอีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดที่จะไปกดขี่ข่มเหงเด็กเหล่านี้

ฟังแล้วรู้สึกขนลุก และน้ำตาซึมอยู่ข้างในค่ะ ... อ.ประพนธ์ว่า 

รวมเรื่อง Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี

 

หมายเลขบันทึก: 151666เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท