Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี (71) "ผู้นำการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ... ของจริง ต้องไม่เป็นยาขม


ที่ผมต้องการคือ ของจริงที่สามารถเอาไปใช้ในวิถีชีวิตได้ ชาวบ้านในชนบททั่วประเทศ

 

ผมได้มีความคิดตรงนี้แล้วก็เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปสัมพันธ์กับทางสถาบันการศึกษา มากมาย เพื่อต้องการจะให้เกิดความร่วมมือในการจัดการความรู้ ... เพราะความรู้ในสถาบันการศึกษามีเยอะแยะล้นเหลือ แต่เอื้อไม่ถึงชุมชนที่เป็นผู้ขาดความรู้

ผมเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตรงนั้นว่า ทำอย่างไร ให้เราได้ประสานความร่วมมือกัน ความรู้ในสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ลงไปถึงชุมชนบ้าง แต่จะให้ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษา เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่มีทางหรอก เพราะเขาไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนตรงนี้ได้ และเขาไม่มีเวลาพอที่จะเข้ามาอยู่ในสถาบันการศึกษาตรงนี้ได้ อย่างเต็มที่ แต่ถ้าเรามีกิจกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอะไรก็ตาม เรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

ผมได้ทดลองทำกับหลายมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย

  • มีอาจารย์บ้าง มีนักศึกษาคนสองคน ลงไปสัมผัสกับชุมชน และก็ไปค้นหาหัวข้อวิจัยว่า ... การวิจัยเรื่องอะไรที่ชุมชนมีความต้องการ การวิจัยแบบนี้ก็จะทำให้ แม้จะเป็นการวิจัยเล็กๆ แต่ผลจากการวิจัยนั้นๆ จะสามารถเอามาใช้ประโยชน์ในชุมชนได้ทันทีเลย และผู้ที่ร่วมวิจัยเป็นชาวบ้านในชุมชนที่เข้ามาร่วมทำงานวิจัยนี้ นักศึกษาแค่ 2-3 คน อาจารย์แค่ 1 คน และมีทีมงานวิจัยที่เป็นชาวบ้าน 20-30 คน มาช่วยกันทำข้อมูล ทำการวิเคราะห์ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้
  • อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาไม่มากนัก แต่ก็ทำให้เกิดความรู้ และความรู้ต่างๆ ผลสรุปจากงานวิจัยตรงนั้น เอาไปใช้ประโยชน์ในชุมชนได้ด้วย และก็เป็นประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัยที่ได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ได้ค่อนข้างมาก

การที่ไปร่วมกันทำงานตรงนี้ ผมยังได้สิ่งที่ผมต้องการไม่มากเท่าไร แต่สิ่งที่ผมไม่ต้องการแต่ก็ได้มาโดยที่ทางมหาวิทยาลัย เขาก็คิดว่า เป็นความต้องการของผม แต่ที่จริงไม่ใช่ คือ ปริญญา ตอนนี้ผมจบแค่ ป.4 แต่มีปริญญากิตติมศักดิ์ ถึง 10 สถาบัน ผมเอาไปปลดแอกได้ แต่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้หรอก

ตรงนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ผมยังเรียกร้อง ยังตั้งความหวังอยู่ตลอดเวลาว่า ของจริงไม่ต้องให้เป็นยาขม ไม่ต้องให้เสื้อครุยไปแขวนให้รุงรังเต็มบ้านหรอก แต่ที่ผมต้องการคือ ของจริงที่สามารถเอาไปใช้ในวิถีชีวิตได้ ชาวบ้านในชนบททั่วประเทศ ผมว่ายังมีความต้องการเยอะ แต่เนื่องจากกระบวนการจัดการในตรงนี้ ยังหาเจ้าภาพไม่ค่อยจะได้

ผมจึงพยายามที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับของทางคุณหมอวิจารณ์ ที่ทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ ผมพบว่า ผมไม่มีความรู้มากพอ แต่ผมสามารถจัดการความรู้ได้เหมือนกัน

ผมท้าคนที่ตำบลไม้เรียง ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมาว่า ใครอยากรู้เรื่องอะไร ให้มาตรงนี้ ผมจะให้เขาได้รู้ทุกเรื่องที่ต้องการจะรู้ คือ ท้าแบบนี้ละครับ ก็ได้รับคำท้ามาตั้งแต่ปี 35 จนถึงปัจจุบันนี้ ผมไม่เคยหยุดแม้แต่ปีเดียว ที่จะทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้

ครั้งหนึ่งประมาณปี 2545-2546 มีคนมาท้าว่า ที่ผมทำมาเรื่องการให้คนมาเรียนรู้เรื่องการพัฒนาอาชีพหลัก การสร้างอาชีพรอง อาชีพเสริม ตรงนั้นทำอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมาพอถึงปี 45 มีคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือ นักการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศมนตรี อะไรต่างๆ เขาก็มาท้าว่า ไหนว่า ใครอยากจะรู้เรื่องอะไร ผมจะให้เขาได้รู้ทุกเรื่องที่เขาต้องการจะรู้ เขาอยากได้ปริญญาที่เป็นแผ่นกระดาษด้วย ความรู้ที่เราให้แต่ความรู้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ ใช้ความรู้เพื่อเป็นอาชีพอย่างเดียว ไม่พอ ปัจจุบันนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปริญญาที่เป็นแผ่นกระดาษไปประกอบการทำงานของเขาด้วย

ทาง อบต. ทางเทศมนตรีเขาเป็นห่วงว่า ถ้าสักวันหนึ่งเขามีกำหนดคุณสมบัติขึ้นมาว่า จบปริญญาตรีถึงจะเป็นได้ เขาก็หมดสิทธิ เขาชอบงานนี้ เขาอยากจะทำ แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเรียนข้างนอก เพื่อที่จะได้ปริญญา เขาต้องรับผิดชอบในพื้นที่ เขาต้องรับผิดชอบครอบครัว อะไรต่างๆ ผมสามารถทำให้เขาได้มั๊ย ผมบอกว่า ผมเปิดโอกาสให้ทุกคนทำได้ แต่ต้องทำเอาเองนะ ผมไม่สามารถจะให้ปริญญาใครได้

ผมก็ได้สร้างทีมงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง แต่ก่อนที่จะทำเรื่องการพัฒนาอาชีพนี่ ผมได้คุยกับทาง กศน. ที่มีป้ายอยู่ในพื้นที่ แล้วร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่มีป้ายอยู่ในพื้นที่เหมือนกัน ผมก็เอาป้ายของศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชนไม้เรียงไว้ตรงกลาง แล้วเอาป้ายศูนย์เรียนู้ กศน. มาวางข้าง และเอาป้ายของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาวางอีกข้างหนึ่ง

  • พอใครจะมาเรียนรู้เรื่องอาชีพรอง อาชีพเสริม ผมก็มาชวนทั้ง 3 ฝ่ายนี้ ทั้งทีมงานของผม ทีมงานของ กศน. ทีมงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรมาทำหลักสูตรกัน เป็นหลักสูตรตั้งแต่ 3 ชั่วโมง 3 วัน 3 เดือน ปี อะไรอย่างนี้เราก็ทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับเรื่องตรงนี้ขึ้นมา
  • แต่พอมีคนต้องการจะได้ปริญญาที่เป็นแผ่นกระดาษขึ้นมา ผมก็ไปสร้างความร่วมมือ ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เอาศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชนไม้เรียงยังเป็นฐานหลักเหมือนเดิม ... แต่ก็ไปประสานกับทางเทศบาลตำบลไม้เรียง เพื่อต้องการให้เขารับผิดชอบเรื่องสถานที่ และไปประสานกับทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เขารับผิดชอบเรื่องวิชาการ เรื่องการรับรองวุฒิ
    ... ก็เปิดเรียนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยที่ทางเทศบาลตำบลไม้เรียงจัดสถานที่ และผมก็หางบประมาณมา สร้างเครื่องไม้เครื่องมือภายใน ติดตั้ง Internet ความเร็วสูง มีคอมพิวเตอร์ มีจานดาวเทียม อะไรต่างๆ และถ่ายทอดสดจากรามคำแหงลงไปที่ไม้เรียง เรียนที่ไม้เรียง สอบที่ไม้เรียง ได้ 145 หน่วยกิจ และมารับปริญญาที่รามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น
    ... ตอนนี้ก็จบไปหลายคนแล้ว ก็ยังกำลังเรียนอยู่

รวมเรื่อง Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี

 

หมายเลขบันทึก: 153691เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท