3S กับการจัดการความรู้ ที่ วศ. (7) ดร.ยุวนุช กับ KM เบาหวาน


รพ.พุทธชินราช นี่ เราจะไม่พูดถึงสิ่งใหญ่ๆ ที่เขาทำ แต่จะพูดถึงสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำ ... ทำไมเขาทำ เขาทำทำไม

 

ตอนสุดท้าย มาฟังเรื่องเล่าที่น่าประทับใจจาก ดร.ยุวนุช กันนะคะ

ต่อจากคุณเมฆินทร์สักนิดหนึ่งค่ะว่า ถ้าเป็นเพื่อนกันแล้วนี่ ก็จะเกิดการ share และอีกอย่างหนึ่ง ในคนที่เขายังไม่มีโอกาสมา share เราก็สามารถที่จะสามารถเปิดใจให้เขาได้มีโอกาสมา share ได้ด้วย

ดิฉันได้ไปเห็นตัวอย่างของชุมชนตอนที่ไปพิษณุโลก ไปกับ อบต. เขา เขาบอกว่า เขารวมกลุ่มกับชาวบ้าน ร่วมกันออกกำลังกาย และดูแลเรื่องควบคุมน้ำตาลในเลือด เพราะว่าเป็นเบาหวานกันมากเลย เขาบอกว่า มีบางคนนะ ไม่มา ... แทนที่เขาไปตำหนิชาวบ้าน เขาจะเข้าไปดูค่ะ ว่า ชาวบ้านไม่มาด้วยเหตุผลอะไร

เช่น เขาไปพบว่า มีคนแก่อยู่คนหนึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเบาหวาน มาไม่ได้หรอก เพราะว่าการที่ลูกเต้าทำงาน เอาเด็กไว้ที่บ้าน ก็ต้องมีคนดูแล ... ถามว่า เขาไปแล้ว ใครจะดูแลเด็ก

ทาง อบต. ก็เลยหาวิธีการที่จะสนับสนุนว่า ... ทำยังไงจะให้คนแก่ได้มีโอกาสมาออกกำลัง เขาก็ไปคุยกับลูกหลานว่า ทำไมไม่เอาเด็ก แค่ 3 ชม. เอง ที่ปล่อยให้คนแก่ไปออกกำลังนี่ เดือนละ 300 บาท ให้คนดูเด็ก คนแก่ ปู่ ย่า จะได้ไปออกกำลัง

นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราต้องจัดการ ... ถ้าคนอื่นไม่ได้มาร่วมกัน บางทีไม่ใช่ว่าเขาต่อต้านเรานะ หรือบางทีเขาไม่ใช่ว่า ไม่เห็นด้วย แต่อาจจะเป็นเพราะว่า เขาไม่มีโอกาส บางทีอาจจะมองอยู่ข้างนอก ด้วยสายตาที่ละห้อย ว่า เมื่อไรที่จะมีใครมาจูงมือเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เสริมกัน

ดิฉันขออนุญาตเล่าสิ่งดีดี ที่มีโอกาสได้เห็นมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟัง ... ใครที่ทำเรื่องนี้ คือ รพ.พุทธชินราช ซึ่งเป็น รพ.ใหญ่ ระดับศูนย์ของภาคเหนือตอนล่าง และเป็น รพ.ที่ให้บริการระดับตติยภูมิ เพราะมีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์สูงสุด เป็นเหมือน Center of excellence อยู่ที่ รพ. ใหญ่มาก

ที่นั่นเขาทำงานหลายอย่าง ขณะเดียวกันที่เขาเป็น รพ. ใหญ่ แต่เขากลับมาให้ความสนใจการให้บริการระดับปฐมภูมิด้วยในปีที่เพิ่งเริ่มจะเอา KM เข้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง และ รพ.พุทธชินราช นี่ เราจะไม่พูดถึงสิ่งใหญ่ๆ ที่เขาทำ แต่จะพูดถึงสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำ ... ทำไมเขาทำ เขาทำทำไม ... ก็มาดูที่ว่า เขามีความคิดใหม่ที่จะทำการบริการให้กับชุมชน ให้กับครอบครัว ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เมื่อก่อน รพ. ใหญ่เขาก็อยู่กับที่ คนไข้ในจังหวัด หรืออำเภอ ก็จะมาหาเขา เพราะเขามีเครื่องไม้เครื่องมือ มีของครบทุกอย่าง ... แต่เขาก็มาคิดดูแลเรื่องระดับของการให้บริการปฐมภูมิมากขึ้น ซึ่งในหน่วย PCU นี่ เหมือนกับสถานีอนามัยสมัยก่อน ก็จะมีกระจายอยู่ตามตำบลต่างๆ ซึ่งชาวบ้านถ้ามีเจ็บนิดๆ หน่อยก็ไป PCU ไม่ต้องเข้า รพ. แต่สิ่งนี้มันไปเกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างไร

เดิมที รพ. เขาก็ทำอะไรไปเรื่อยๆ มีการรณรงค์ไข้เลือดออก ก็ทำกันไป แต่เผอิญมีการตรวจสุขภาพของคนในจังหวัด พบว่า มีคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน และคนที่กำลังจะป่วย ที่ไม่มีอาการ แต่จะเป็นแน่ๆ เลย เขาไม่รู้ตัว เพราะว่าคนที่เป็นเบาหวาน เกิด 50% นะ เขาไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน เมื่อก่อนหน้านี้ดิฉันไม่มีความเข้าใจเรื่องโรคเบาหวานเลย พอมาฟัง ค้นคว้า เพื่อไปเขียนหนังสือนี่ ก็รู้สึกว่า มันเป็นโรคที่กำลังคุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากมันเป็นโรคที่ไม่ค่อยรู้ว่าเป็น และเป็นโรคที่มาจากการกินดีอยู่ดี ยิ่งรวยมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นมาก เพราะว่ากินแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ กินของหวาน กินโดนัท กินเค้ก อย่างนี้นะคะ รับรอง จะเชิญเบาหวานมาหา

เรื่องเบาหวานนี้มี 2 อย่าง คนที่เป็นเป็นชนิดที่สองกันมาก ชนิดที่หนึ่งเป็นตั้งแต่เด็กที่เริ่มมีความบกพร่องของอวัยวะตัวเอง ยังไงก็เป็น แต่ชนิดที่สอง เป็นเนื่องจากว่า เป็นกลุ่มที่เสี่ยง และ Lifestyle ที่เปลี่ยนไป กินอาหารแล้วไม่ดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลัง มันก็เป็นกันเยอะ และเป็นเบาหวานมันไม่ใช่ร้ายแบบว่า มดมาขึ้นปัสสาวะ มันไม่ได้รุนแรงที่นี่ ... แต่มันเป็นแบบที่เกี่ยวกับน้ำตาลในเลือด มันไปทั่วตัวเลย เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูง จะส่งผลร้ายต่อหลอดเลือด มีโอกาสที่จะตาบอด เป็นแผลเรื้อรัง ถูกตัดแขนตัดขาเยอะมาก

คนที่อยู่ในเมืองจะไม่เข้าใจทุกข์ของคนต่างจังหวัดที่รู้ตัวว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะว่าคนต่างจังหวัดที่พอเขาไปหาหมอ และเขารู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานนี่ เขาบอกว่า ชีวิตของเขาเหมือนถูกพิพากษา ว่า ยังไงก็ตายแน่ ครอบครัวจะสูญเสียผู้ที่ทำรายได้เลี้ยงครอบครัว ถ้าไม่ตายก็สูญเสียอวัยวะ เป็นเรื่องใหญ่ ทำลายขวัญและกำลังใจคนอย่างมากเลย

รพ.พุทธ ก็หันมาจับเรื่องเบาหวาน

  • เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เห็นชัดเจน เพราะว่าคนเป็นกันเยอะ และมีคนที่ถูกตัดแขนตัดขาเยอะมาก
  • ผู้ที่นำทีม คุณหมอนิพัธ เป็นหมอศัลย์ ท่านบอกว่า แต่ก่อนท่านอยู่ใน รพ. และต้องผ่าตัด ตัดแขน ตัดขา ทำแผล จากคนเป็นโรคเบาหวานเยอะมาก และเขาไม่ได้ aware สิ่งที่มันเกิดในชุมชน
  • เดิม แต่ละคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป พยาบาลก็ดูแลผู้ป่วยที่มาตัดแขน ขา ก็มาดูไป จนทำแผลค่อยยังช่วยแล้ว ก็จำหน่ายออก สมัยก่อนเขาจะไม่รู้ว่า ชาวบ้านกลับไปจะอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร เขาก็ทำตามหน้าที่

ตอนนี้มาคิดใหม่ เขาจะมองว่า

  • ไปคิดอย่างนั้นมันไม่ได้ ถ้าเราปล่อยชาวบ้านกลับไป แล้วไม่ได้มีการดูแลต่อนี่นะ มันแย่ขึ้นมานี่ หรือว่าอาการหนักกลับมา กว่าจะได้รับการรักษาอีก ก็เสียชีวิตเลย
  • ดังนั้น ก็เลยเกิดความร่วมมือ ระหว่าง รพ. กับหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งมักกระจัดกระจายอยู่ตามตำบลต่างๆ ว่า ทั้ง รพ. แผนกที่เป็นคุณหมอ พยาบาล และ PCU จะต้องทำงานที่ประสานกันให้ได้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย
  • เพราะฉะนั้นจะต้องทำอะไรหลายๆ อย่างเลย ซึ่งแรงผลักดันมันมีมาทั้งแรงผลักดันภายนอก และภายใน แรงผลักดันภายนอกเห็นชัด เพราะว่า การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติของประเทศ คือ รพ. ต้องทำ และมีแนวความคิด เรื่อง ทำ Family medicine มี Humanized health care การแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่จะมารักษาและไม่สนใจว่าเขาจะไปเป็นตายร้ายดีประการใด ก็ต้องมีวิธีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในวงการแพทย์เอง
  • ก็มีเรื่องของการทำ รพ. ให้เป็น รพ.สุขภาพสมัยใหม่ Modernized Hospital และ รพ.พุทธชินราชเขาก็ยังเป็น CUP ที่ได้รับเงินมาจาก สปสช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เหมือนกับดูแล และเชื่อมโยง  PCU กับการทำงานของ รพ. จะมีระบบ จะสร้างระบบกันได้อย่างไร
  • เพราะฉะนั้น ทาง รพ. ทางทีม เขาก็ลงมือช่วยกันทำงาน สู่การทำงานแบบองค์รวม คือ ไม่ได้เอาแค่รักษาก็พอนะ ดูว่าคนป่วยที่เขามานี่นะ เราจะรักษาทั้งกาย ทั้งใจได้อย่างไร ดูแลให้ครอบคลุม โดยเรียกว่า ดูแลสุขภาวะ เรียกว่า ความเป็นสุขทั้งกายทั้งใจ

การเปลี่ยนแปลงที่มาจากแรงผลักดันภายใน เพราะว่าคุณหมอ และพยาบาลมีจิตกุศลที่อยากให้ผู้ป่วยหายสบายดีเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้น การตระหนักรู้ถึงปัญหาที่มีใจอย่างมากที่อยากจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ก็จะนำความสำเร็จ โดยการใช้ KM มาเจือจางปัญหา เช่น ปัญหาว่า ชาวบ้านไปแล้วก็ขาดการมาติดตามผล พอถึงเวลาไม่มาตามนัด หรือว่า ให้ยาไป ยาหมดก็ไม่มา โรคก็กำเริบ แบบนี้ปล่อยอย่างเดิมก็แย่ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร เราถึงจะแก้ปัญหาให้เขาได้ โดยที่ไม่ต้องไปว่า หรือไปบังคับเขามา ก็ไม่ได้

เหมือนกันท่านที่ถามคำถามว่า ... คนที่ไม่มาประชุม ทำยังไง เราคงไม่แก้ที่บังคับให้คนมาประชุม แต่จะหาวิธีที่จะสำเร็จ เช่น ทำบรรยากาศการประชุมให้มันดี คนก็คงจะอยากมา ทำให้มันเป็นกลุ่มเล็กหน่อย คุยแล้วมีโอกาส share คนก็คงจะอยากมา ถ้ากลุ่มใหญ่ๆ ก็คงไม่อยากมา

เพราะฉะนั้น ทาง รพ.พุทธชินราช เขาก็คิดถึงความสำเร็จเล็กๆ ก่อน เอาความสำเร็จมาใช้ให้เกิดกำลังใจ ใช้ให้ปัญหาค่อยๆ เจือจางไปได้ ซึ่งทีมงานเขาค่อนข้างน่ารักมากๆ และก็ เมื่อเขามองเห็นปัญหา ว่า เขาจะเอาสิ่งดีดีให้มันเกิดขึ้นมา เขาก็จะต้องสร้างกลไก พยายามที่จะหาทางตะล่อม เพื่อที่จะให้เจือจางปัญหาได้

เมื่อก่อน รพ. กับ PCU นี่ก็ต่างคนต่างอยู่ เขาก็พยายามที่จะสร้างกลไกใหม่ ให้ รพ. เขาตั้งขึ้นมาให้เป็นหน่วยที่เรียกว่า กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว ขึ้นมา ทำหน้าที่ประสาน ดูว่า จะส่งทอด ส่งต่อกันได้อย่างไร ซึ่งพอตั้งตรงนี้ขึ้นมาแล้ว ก็มีคน 3 คน คุณหมอนิพัฒน์ คนหนึ่ง และมีลูกน้องอีก 3 คน แต่ทำงานด้วยใจอย่างมาก ที่จะประสาน โดยสร้างระบบ โดยใช้ IT เข้ามาช่วย

เมื่อก่อน พอจำหน่ายผู้ป่วยไปแล้ว ไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ ...

วันหลังมาคิดว่า มันมีข้อบกพร่องอยู่ตรงนั้น ก็สร้างระบบว่า

  • หมอผ่าตัดส่งมาที่พยาบาล พยาบาลมาบันทึกข้อมูล ส่งไป PCU ก่อนที่คนไข้จะถูกจำหน่ายออกไปด้วยซ้ำ และรู้เลยว่า คนไข้คนนี้มาผ่าตัด
  • หมอนิพัธเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนคนไข้ที่มา รพ. หมอก็รักษาเป็นโรคๆ เป็นเรื่องๆ ไป ทั้งๆ ที่เขามา รพ.เดิม บางทีคนไข้มาคลอดลูกที่นี่ หมอยังไม่รู้ว่า คนไข้มาคลอดลูกเลย ตอนนี้มารักษาเบาหวาน ก็รักษาไป
  • ตั้งแต่ใช้ IT เข้ามา ช่วยเก็บข้อมูล สร้าง folder ของคนไข้แต่ละคน เขาก็จะรู้ข้อมูลรายละเอียดทุกอย่าง ว่า คนไข้คนนี้มีพี่น้องกี่คน อยู่บ้านสถานภาพเป็นยังไง ฐานะเป็นยังไง มีปัญหาครอบครัว หรืออะไร เก็บหมดเลย ไม่ใช่เก็บเฉพาะแฟ้มอย่างเดียว เก็บข้อมูลทางสังคมด้วย
  • ดังนั้น เมื่อเกิดกลไกตรงนี้ ก็จะทำให้ข้อมูลมันเลื่อนไหลไปได้ ทุกๆ คนรู้ไปหมด

มีคุณลุงคนหนึ่ง พอถูกจำหน่าย เขาก็ถามหมอว่า นี่ผมจะต้องทำยังไง กลับไปจะดูแลแผลเบาหวานยังไง พยาบาลก็จะบอกว่า ไม่ต้องห่วงคะคุณลุง เดี๋ยวภายใน 7 วัน คุณลุงถึงบ้านแล้วนี้ จะมีพยาบาลจาก PCU ไปเยี่ยมที่บ้าน ระบบมันสร้างได้ดีถึงขนาดนี้ น่ามหัศจรรย์มาก

และการที่เขาทำ เป็นการแก้ปัญหาของเขาเอง เป็นการทำ KM ตามธรรมชาติ แต่ว่า จุดเริ่มของการทำ KM จริงๆ นี่ มันมาจากไหน

  • ก็คือว่า มาจากว่า ไปเห็นเข้า ไปได้ฟังตัวอย่างดีดี คือ ทีมของคุณหมอนิพัฒน์ มีครั้งหนึ่งได้มาประชุมที่กรุงเทพฯ ได้มาฟังตัวอย่างดีดี ... รักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ก็มีทำที่ รพ.เทพธารินทร์ เขาเก่ง ก็รู้ที่มาที่ไปว่า มีวิธีการอะไรบ้าง ที่ช่วยกันดูแลแผลผู้ป่วยเบาหวาน มีใครบ้างที่เก่ง เจอกัลยาณมิตร
  • ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Peer assist เพื่อนช่วยเพื่อน หลังจากกลับไปพิษณุโลก ติดต่อกลับมาที่เทพธารินทร์ทันที ส่งทีมมาฝึก เรื่องการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน

เสร็จแล้ว เขารู้สึกว่า สิ่งต่างๆ ที่เอา KM เข้ามาใช้นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้มันดีขึ้น ทำให้ทำงานง่ายขึ้น ก็มีกำลังใจ ก็เอาวิธีต่างๆ เข้ามาใช้ การประชุมกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ มา share เรื่องความสำเร็จ ในหมู่ผู้ที่ทำงานด้วยกัน และพอเขาทำเสร็จ เขาก็ขยันเขียนบล็อกมากเลย มีคนเข้าไปเห็น รพ.ที่วารินชำราบก็เห็น อยู่ที่ไหนก็เห็น เกิดการไปเยี่ยมไปหา ลปรร. กัน เป็นพลวิตที่เหมือนลมพายุ เห็นแล้วปลื้มปิติอย่างมาก ดูแลมีการสร้าง CoP ขึ้น โดยที่ได้เห็นคุณค่าในการที่จะทำกัน นั่นคือ ผู้ที่ทำงานเหมือนกัน ก็มารวมตัวกัน เช่น PCU ที่ทำในเรื่องเท้านะ PCU ที่ออกไปดูแลในพื้นที่นะ หรือเรื่องมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ก็จะมารวมกลุ่มกันเป็น CoP ของคนที่ทำหลายๆ โรค และออกไปรวมพลังกัน ก็เป็นสิ่งที่น่าที่งที่เกิดขึ้น และมีคนที่จะมาเรียนรู้ที่ รพ.พุทธชินราช กันอย่างมากมาย

จะเห็นว่า แรงบันดาลใจจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ก็นำไปสู่การสร้างสิ่งที่เราต้องการนำมาใช้ มาปรับปรุง เพื่อที่จะปลดปล่อยศักยภาพของตัวเรา ในสิ่งที่เราทำงานอยู่

ดิฉันไปเห็นภาพ ก็มาตีความว่า มันมหัศจรรย์ที่ตรงไหน ก็มาตีความดู ว่า

  • ความสำเร็จเขามาจากจุดเล็กๆ คุณหมอนิพัธบอกว่า ไม่ได้ต้องการใหญ่เลย เวลาที่ทำเรื่อง ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ได้คิดกระจายดีเดียวว่า จะกระจายทีเดียวในทุกตำบล ในเขตอำเภอเมือง ไม่ได้คิดอย่างนี้เลย เริ่มจากไม่กี่จุด และเอาความสำเร็จไม่กี่จุดนั้นมา share กัน และให้ชาวบ้านมองเห็น
  • เมื่อเขาเข้าใจ เขาเห็นคุณค่า เขาเห็นสิ่งดีดีที่มันเกิดขึ้น มันก็เกิดการพัฒนา ทั้งทีมงาน และระบบงาน ไม่เฉพาะในตัวแพทย์ พยาบาล และ จนท.อนามัยเท่านั้น แต่มันไปเกิดในชุมชน ที่เขาสามารถที่จะใช้ KM ในการที่จะ ลปรร. โดยตัวของเขาเอง ทีมงานของ PCU
  • เขาบอกเลยว่า KM เหมือนต้นไม้ ยิ่งทำยิ่งงอก ยิ่งงาม ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง และชุมชนเองมีความสุข ประสานกันไปหมด เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันทั้งชุมชน อย่าง อบต. ก็มีส่วนด้วย

มี อบต. หนึ่งในพิษณุโลก ชื่อ อบต.บ้านกร่าง เป็นนายก อบต. สมัยแรก เขาเป็นเบาหวาน ก็ดำเนินกิจกรรมที่มันมีแรงจูงใจจากการเป็นโรค เขาก็ชวนคนมาออกกำลังกายเยอะมากเลย ทำให้ลูกบ้านเขา คนที่ป่วยก็ดูแลตัวเองได้ ไม่เกิดความเครียดว่า เราเป็นเบาหวาน ต้องตายแน่ คนที่ยังไม่เป็นก็รู้สึกว่า มีสุขภาพดี และคนที่เห็นๆ คน เขาทำแล้วสนุกนะ ก็ร่วมด้วย มันเป็นอะไรที่ค่อยๆ ดึงคนต่างๆ ที่เข้ามาในกิจกรรมของสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง

สิ่งที่ดิฉันไปเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ อานุภาพของบล็อก มากมาย และทำได้กว้างไกล เพราะว่า

  • รพ.พุทธชินราช เมื่อได้ทำสิ่งที่ดีดีแล้ว รพ.พุทธชินราชก็ขยันเล่า ไม่ต้องมาเจอกันต่อหน้าก็เล่าได้ เล่าในบล็อกก็ได้
  • ซึ่งพอเล่าก็จะมีคนที่สนใจอยู่นอก CoP ของเขา ซึ่งเดิมทีเขาจะ share กันเฉพาะ CoP ของเขาที่เป็นเรื่องเบาหวาน เข้าเป็น planet ของโรคเบาหวาน รพ.พุทธชินราช เป็น CoP ของผู้ทำเรื่องเบาหวาน เวลาที่เขาไปเขียน อ่านแล้วมันได้รสชาติของชีวิต เพราะว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีน้ำใจมากมายก่ายกอง ที่จะเข้าไปช่วยเหลือกัน เพื่อเกื้อกูลกันในสังคมได้
  • ซึ่งพอไปเขียนแล้ว ในทีมงาน ได้ share กัน หัวหน้าก็มีโอกาสที่จะเข้าไปชื่นชมตรงนั้น สำคัญมาก หัวหน้า หรือว่า CKO ถ้าจะให้เขาทำ KM นี่ ก็ต้องไปเขียนทุกครั้ง คุณหมอนิพัฒน์เข้าไปอ่าน เข้าไป comment ให้กำลังใจทุกครั้ง
  • และเรื่องที่เขาเล่า เขาไม่ได้เล่าเรื่องความสำเร็จอย่างเดียว เขาเล่าเรื่องความล้มเหลวด้วย เขาบอกว่า เขาไม่อายหรอกที่จะเล่าเรื่องความล้มเหลว แต่เขาบอกว่า ตรงนั้น ก็เรียนรู้ได้จากความล้มเหลว พอๆ กับความสำเร็จ เข้าไป ลปรร. กันมากมายก่ายกอง
  • เพราะฉะนั้นใน CoP นี้ได้ประโยชน์ทั้งตัวเอง ได้ประโยชน์ทั้ง รพ.อื่นๆ ที่อยู่ตามจังหวัดห่างไกล ได้เข้ามาอ่าน

ก็พบว่า มี รพ.แห่งหนึ่งเข้ามาอ่านวิธีการที่ รพ.พุทธชินราชประสบ ในกลุ่มของผู้ป่วยที่อยู่ที่พื้นที่ ในชุมชน ว่า ทำไมคุมอาหารแล้วน้ำตาลขึ้นๆ ลงๆ สวิงไป มันเป็นยังไง คุณหมอคนนั้นก็ได้เข้ามาอ่านวิธีการว่า ที่ รพ.พุทธชินราช มีคุณลุงคนหนึ่ง จดทุกอย่างเลยว่า วันนั้นกินนั่น วันนี้กินนี่ ยาที่คุณหมอให้ กินเมื่อเวลานั้น ยาที่คุณหมอให้ไปฉีดเวลานี้ บันทึกทุกอย่าง คุณลุงเป็นคนบันทึกเอง ไม่ใช่หมอทำ เขาก็รู้สึกว่า มันน่าจะบันทึกเขาก็จะบันทึกเอง มันก็เกิดการ ลปรร. กัน และคิดกันขึ้นมาว่า คนไข้ของเขาก็สามารถบันทึกได้ เกิดนวัตกรรมในการรักษาดูแลผู้ป่วยมากมายก่ายกอง ที่เกิดขึ้นจากการ share ผ่านบล็อก เพราะฉะนั้น อานุภาพผ่านบล็อกมันก็มากมายมหาศาล และที่ดิฉันได้รับอานิสงส์ คือ เรื่องที่เขียนในเล่มนี้ มันมาจากการเล่าจากบล็อกแต่ละเรื่อง เพราะว่าอ่านแล้ว เราคงไม่มีวันที่จเขียนถ่ายทอดความรู้สึกได้ดีเท่าเขา ร้อยเรียงบล็อกที่ได้เรียบเรียงอย่างดีแล้ว

คนเขียนบล็อก ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าแบบวิชาการ ให้เล่าด้วยใจ เพราะฉะนั้น KM นี่ก็สามารถทำให้เกิดระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ก็คือว่า มันมีพื้นที่อยู่บน Cyberspace ทุกคนใส่นั่นลงไป ใส่นี่ลงไป มันก็เกิดความหลากหลายของความรู้ ที่คนจะเอามา share กัน มันก็งอกงาม เหมือนต้นไม้ เหมือนพื้นที่ที่มันดี เหมือนได้พันธุ์ไม้ใหม่ๆ ได้น้ำฝน ได้น้ำใจ มันก็งอกงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และขณะนี้ เครือข่ายเบาหวานมีทั่วประเทศ ทุกภาค และมีการประชุมกันทุกปี เป็นมหกรรมการจัดการความรู้เบาหวานเกิดขึ้น ซึ่ง KM ถ้าเราใช้ รับรองมันจะเปลี่ยนคน มีความสุขขึ้นในการทำงาน เพียงแต่เราอาจจะทำงานมากขึ้นนิดหน่อย เช่น เราอาจจะต้องจดมากขึ้น ไปพูดไปคุยกับคนอื่นมากขึ้น CKO อาจจะไปดูแลให้กำลังใจลูกน้องมากขึ้น เป็นต้น เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนวิธีทำ เพราะ อ.วิจารณ์ใช้คำพูดว่า มันพลิกวิธีการทำงาน มันพลิกจากวัฒนธรรมปัญหา ไปสู่วัฒนธรรมความสำเร็จ เพราะ KM เน้นมากในการ share ความสำเร็จ เราไม่ได้เอาปัญหามาเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ถูกแล้วที่เราจะต้องตระหนักว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วมันมีความสำเร็จอะไร เล็กๆ น้อยๆ ให้มาเจือจางให้ปัญหามันค่อยๆ หายไปด้วยตัวของมันเอง ซึ่งบางทีการจะแก้ปัญหาเลย มันแก้ไม่ได้ ด้วยเหตุปัจจัย หากจะแก้ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดมาแล้ว แต่ต้องไปสร้างเหตุปัจจัยใหม่ ไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นมา ดังนั้น หลัก KM ก็คือหลักศาสนา และจากวัฒนธรรม จิต-ทุกข์ ไปเป็นวัฒนธรรม จิต-สุข ก็เห็นอย่างมาก มาก เลย

อ.วิจารณ์เขียนไว้ในบล็อกว่า การใช้ KM ได้เปลี่ยนตัวอาจารย์อย่างไร อ.บอกว่า เมื่อก่อนเวลาฟังใคร แล้วเขาคิดไม่ตรงกับเรา ก็รู้สึกต่อต้าน และบางทีก็เกิด Destructive mind ไม่เอา ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากทำ ประมาณนี้ แต่ KM จะสอนให้เรามีสุนทรียสนทนา รู้จักฟัง และแขวนไว้ ยังไม่ติดสิน ดูซิเขาพูดแล้วเป็นยังไง มันรับได้มั๊ย เพราะว่า มันมี background ยังไง เราก็จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด เพราะว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก และทุกคนล้วนแล้วแต่มีจิตที่อยากทำให้งานดีทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพดี เราก็คงต้องมาช่วยกันตรงนี้ละค่ะ

งานได้ผล คนเป็นสุข เป็นจริงได้ ด้วยตัวท่านเอง

คุณหมอประเวศก็ได้พูดไว้ว่า KM เป็นเครื่องมือปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ และจะทำให้มนุษย์มีอิสรภาพ ด้วย

สิ่งที่ดิฉันมาพูดวันนี้ ก็คิดว่า เป็น KM Advocate นะคะ เพราะว่า KM ถ้าใช้ถูกแล้วนะ ดีจริงๆ

นี่ก็เป็นความสุข ที่ได้รับจากการที่ได้ไป ลปรร. กับเพื่อนๆ ร่วมวงการสังคมไทย อีกครั้งหนึ่ง ที่ขอนำมาเผยแพร่ เพื่อ ลปรร. ร่วมกันละค่ะ

ร่วมเสวนา กลุ่มผู้สร้างความรู้ ที่ วศ.

 

หมายเลขบันทึก: 193620เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาเกาะขอบจอ ขอเรียนรู้ด้วยคนค่ะ
  • ขออนุญาตคุณหมอนนท์ค่ะ คุณหมอที่หมอนนท์เอ่ยถึง เป็นน้องชายที่รักยิ่งของหมอเจ๊เองค่ะ ชื่อเธอคือ นิพัฒน์พัธ ค่ะ
  • ..........
  • เห็นด้วยว่า เล่าด้วยใจนี่ ตามอ่านสนุกนะค่ะ คนเขียนก็สนุกด้วย
  • ..........
  • ขอแย้งหมอนนท์หน่อยค่ะ ตรงนี้ " KM เน้นมากในการ share ความสำเร็จ"  
  • หมอเจ๊ว่า ให้ดีควรจะเป็นว่า "KM เน้นมากในการ share ความสำเร็จ และ ความไม่สำเร็จ " น่าจะเติมเต็มกันได้มากขึ้น
  • เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าควรจะย่ำอยู่กับรอยเดิมๆหรือเปลี่ยนซะที
  • และเรียนรู้ว่า ความสำเร็จใดขึ้นกับบริบทใดบ้าง เพื่อตัดสินใจการคงมันไว้ต่อ  การต่อยอดมันต่อ หรือ การนำไปใช้เปรียบเทียบเพื่อหาโอกาสพัฒนา
  • สวัสดีค่ะ หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ ... มาแก้ชื่อ คุณหมอนิพัธ แล้วค่ะ
  • เห็นด้วยกับทุกความเห็นค่ะ ... และช่วยย้ำอีกครั้งว่า KM ไม่ทำไม่รู้ ... และต้องลองทำด้วยตนเอง ดีที่สุดละค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท