ตลาดนัดการจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี (10) บริหารด้วยหัวใจ นักจัดการความรู้


พอมาถึงจุดหนึ่งมีวิวัฒนาการมา ก็บอกว่า ไม่ใช่แล้ว ...

 

ชั่วโมงพิเศษ ของคนพิเศษค่ะ ...  คือ ปาฐกถาพิเศษ บริหารยุทธศาสตร์สุขภาพ : บริหารด้วยใจ นักจัดการความรู้ โดย อธิบดีกรมอนามัย น.พ.ณรงค์ศักด์ อังคะสุวพลา

ท่านอธิบดีได้เล่าให้พวกเราได้ฟังสดๆ จากหัวใจของท่าน ที่อยากพูดกับเราในงานนี้ค่ะว่า

ผมมองย้อนหลัง เมื่อเช้าได้คุยกับท่านอาจารย์วิจารณ์ ครั้งที่ท่านอาจารย์เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ที่สงขลานครินทร์ อาจารย์เป็นแกนนำตั้งกลุ่ม Transmover ... ผมเป็นแกนในการเชื่อมภูมิภาคทางภาคใต้และส่วนกลาง วิธีการทำงานร่วมกันก็คล้ายๆ KM แต่สมัยนั้นเรายังไม่มีศัพท์นี้ เวทีนี้มีการ share กัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อมูลที่ใช้หาปัญหา เป็นข้อมูลประสาน ผลงานปฏิบัติจริง และประสบการณ์จริง เอามาถกกันว่า จะทำอย่างไร ไปกำหนดวิธีการที่ดีขึ้น ก็ไม่ได้ยึดติดว่า ใครเป็นคนพูด หรือไปอ้างตำราเล่มไหน แต่เอาความจริงที่เกิดขึ้น แล้วก็เอาความรู้ และประสบการณ์ที่เรามีในหลายๆ คน มา share กัน แต่สมัยนั้นเรายังไม่ได้ลงไปถึงภาคประชาชน หรือภาคีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง หรือลึกนัก เป็นเฉพาะกลุ่มกระทรวงสาธารณสุข และที่โรงพยาบาล

ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็คือ สมัยหนึ่ง เราผูกขาดเรื่องวิชาการสุขภาพ หรือสาธารณสุขไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสาธารณสุข หรือนักวิชาการสาธารณสุข ... เกิดมีความเป็นเจ้าของที่ติดแน่นจนเกิดความรู้สึกว่า มีแต่คนเหล่านี้เท่านั้น ที่พูดออกมาเป็นวิชาการสุขภาพ หรือสาธารณสุข ถ้าหน่วยงานอื่นๆ หรือคนอื่นพูดนั้น ไม่ใช่ของแท้ ทำให้เกิดความหลากหลาย ความกว้าง และความลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมิติในการแก้ปัญหา ดังที่เราได้ทราบว่า การแก้ปัญหาสาธารณสุข เป็นมิติเชิงซ้อนซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ธรรมเนียมประเพณี รูปแบบการบริหารจัดการ เรื่องความเชื่อ หรืออะไรเต็มไปหมด

ในรูปหนึ่ง เราไปฝากไว้อยู่ในมือขององค์กร หรือองค์การที่ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในภาครัฐ ไปฝากไว้ในที่ที่เราเรียกว่า เป็นนักวิชาการสุขภาพ หรือนักวิชาการสาธารณสุข ก็เลยทำให้มันแคบ ในเชิงการเปิดรับเรื่องของวิชาการที่เกี่ยวข้องกับด้านข้าง ซ้าย ขวา บน ล่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการ หรือการปฏิบัติ ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับทางหน่วยงาน หรือชุมชน

และทำให้จำนวนวิชาการ จำนวนความรู้ มันน้อย แล้วในเส้นทางการปฏิบัติราชการที่เราทำกัน ก็เลยไปพิกัดในเรื่องความรู้ เพราะไปยุ่งอยู่กับการสร้างความรู้ การพัฒนาความรู้ เฉพาะที่อยู่ในแผนงาน โครงการของตัวเอง ไม่ได้เปิดกว้าง และคนอื่นก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะว่ามีความรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของ

พอมาถึงจุดหนึ่งมีวิวัฒนาการมา ก็บอกว่า ไม่ใช่แล้ว ...

  • กรมอนามัยเป็นองค์กรทางวิชาการ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนได้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง และอยู่ในสิ่งแวดล้อม ภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพ หรือสุขภาวะที่ดี
  • เขียนให้มีความรู้สึกว่า ตัวเองมีความเป็นเจ้าของ เป็นความหลงผิด ... ทั้งๆ ที่ตัวเอง ถ้าขับเคลื่อนตามลำพังแล้ว ก็จะไม่สามารถจะทำตามวิสัยทัศน์ที่ช่วยกันคิด และมาเขียนนั้น มันไปไม่ถึง
  • สิ่งที่ อ.วิจารณ์ ได้พูดไว้ว่า ในการบริหาร ตัววิสัยทัศน์ที่ว่านี้ ไม่ได้ทำกันอย่างเข้มข้น หรือมีการกำหนดอะไรมารองรับที่ชัดเจน เราบอกว่า มีการถ่ายเป็นพันธกิจ ยุทธศาสตร์ แต่เวลาทำจริงๆ นั้น แต่ละกล่องก็ทำกัน โดยไม่ได้มีการเชื่อมโยง ไม่มีความสัมพันธ์กัน ... เพราะฉะนั้นวิชาการก็เช่นกัน คุณจะมาผูกขาดว่า คุณเท่านั้นที่จะรู้เรื่อง หรือมีสิทธิที่จะพูด หรือทำเรื่องนี้ก็ไม่ใช่
  • ถ้าเราวกกลับไป คำว่า นักวิชาการ มีความหมายที่เป็นสากล ในเชิงสาธารณสุข คำว่า วิชาการ ไม่ได้ขึ้นกับว่า คุณจบอะไร คุณอายุเท่าไร เป็นเพศหญิง หรือชาย มีเชื้อชาติอะไร คำว่ นักวิชาการ ก็คือ มุ่งในผลสำเร็จ ของการที่คุณรู้ และคุณสามารถถ่ายทอดในสิ่งที่คุณรู้ไปสู่ผู้อื่น ไม่พอนะครับ ส่วนมาก นักวิชาการสาธารณสุขจบแค่นี้
  • นักวิชาการที่แท้จริง ต้องว่าต่อไปอีกว่า คนที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณนี้ สามารถนำไปปฏิบัติ หรือสามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติ จนเกิดผลตามเรื่องที่คุณถ่ายทอดให้เขา ความหมายของนักวิชาการไม่ได้เป็นหมอ เป็นพยาบาล จบดอกเตอร์ จบนั่น จบนี่ ไม่ใช่ ทุกท่านเป็นนักวิชาการ ถ้าสิ่งที่ท่านรู้ และเป็นประโยชน์กับตัวท่าน ครอบครัวท่าน ชุมชนท่าน ท่านสามารถนำสิ่งที่ได้รู้นั้นไปถ่ายทอดให้ผู้อื่น และผู้อื่นนำไปปฏิบัติและเกิดผล ท่านก็คือนักวิชาการ

ประเด็นที่สองก็คือ เรื่องของวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ มันไม่ได้เป็นมิติอยู่ที่ในตัวตำราเท่านั้น

  • ตัวปัจจัยที่เข้ามามีส่วนร่วม ที่มีอิทธิพลที่จะไปกำหนดความสำเร็จในการบริหารจัดการ งาน โครงการ คือ ตัวกิจกรรมต่างๆ
  • ปัจจัยที่จะไปมีอิทธิพลที่จะทำให้สุขภาพของคนดี หรือไม่ดี มีเยอะไปหมด ... ในเชิงกว้าง ทั้งในเชิงที่ผ่านระดับล่าง คนที่เชี่ยวชาญในการทำงานระดับแผนภาพรวม หรือ Macro ภาพใหญ่ ต้องไม่ได้หมายความว่า คุณจะเชี่ยวชาญ ในการที่จะลงไปทำในพื้นที่ ในหมู่บ้าน ประสบความสำเร็จ
  • เพราะฉะนั้น จะมีระดับ นอกจากระดับแล้วก็ยังมีองค์ประกอบต่างๆ อีก
  • และถ้าเราเอาคำว่านักวิชาการมาจับ เราไม่ได้มีนักวิชาการในแต่ละสาขา เราไม่มีนักวิชาการในแต่ละองค์ประกอบของแต่ละระดับ มันเกิดอะไรขึ้น ก็คือ เกิดความมหาศาลของความรู้ และวิชาการ ที่มันฝังตัวอยู่ ... มันมีวิชาการที่ฝังตัวอยู่ในทุกระดับ ในแต่ละองค์ประกอบ ที่เรานั้นพลาด
  • เรานั้นมีเครื่องมือในการที่จะไปเก็บเกี่ยว และนำมาบริหารจัดการ หรือเก็บเกี่ยวแล้วมาสังเคราะห์ มาแยกแยะ ว่า อะไรที่เป็นแก่น อะไรที่เป็นกระพี้ ที่มันเป็นประสบการณ์ครั้งคราว อะไรที่ทำได้ถาวร เราจะมาเชื่อมโยงกัน ให้ความคิด ความเห็น เชื่อมโยงกัน

สิ่งเหล่านี้ก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการความรู้ ที่เราเรียกกันว่า KM หรือ Knowledge Management เพราะเราเปิดโลกทัศน์ของ ว่าด้วยสิ่งที่แท้จริง จะสำเร็จนั้น เช่น งานที่เราจะส่งเสริมสุขภาพ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นโยบายของรัฐบาล ของทั่วโลก ก็ต้องส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างน้อยก็ 50% ขึ้นไป แต่คนให้นโยบาย ท่านทำให้คนอื่นไม่ได้ ... คนที่ทำให้คนอื่นได้ ก็คือ คนที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่ และถ้าเป็นเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวก็ไม่สำเร็จ

ดังที่เรามีภาพตัวอย่าง ที่ชุมชนได้ลุกเข้ามาเป็นเจ้าของเรื่องเอง แล้วช่วยกันเติม ช่วยกันผลัก ตัววิธีการที่จะเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่จะไปอธิบายว่า มันจำเป็น มันสำคัญ ด้วยวิธีการเช่นนี้ๆ แล้วลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของบริหารจัดการเสียเอง รวมทั้งช่วยกันคิด ว่าจะมีรูปแบบในการที่จะสื่อสารกันอย่างไร

กลายเป็นว่าความสำเร็จตรงนี้ เส้นทางมันง่ายขึ้น และมีหลากหลายของทางเลือก ทั้งวิธีการบริหารจัดการที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งประสิทธิภาพในการจัดการ ในการผ่านองค์ความรู้ แทนที่เจ้าหน้าที่จะไปถ่ายทอดเอง เรามีชมรมฯ และตัวชมรมฯ ก็เกิดการถ่ายไปเอง จะเป็นการถ่ายทอดจาก 1 คน ไปเป็น 2 คน 2 คน ต่อไปเรื่อยๆ ไปเป็น 10 เป็น 100 มีการเชื่อมโยงภาคพื้นที่เป็นภาคีเครือข่ายต่อกันไป และมีการถ่ายเทในเรื่องของความรู้ เรื่องของการจัดการความรู้

อะไรที่ได้ข้อยุติแล้วว่า อันนี้เป็นแก่น ก็จะมีการบันทึก เป็นสมบัติของท้องถิ่น บางเรื่องเป็นการทำเครือข่ายกับจังหวัดต่างๆ เขาก็จะมีการบันทึกของเขา ว่าเราได้ทำเรื่องนี้ไว้อย่างไร มีความยากง่าย มีอุปสรรค และฟันฝ่าไปได้อย่างไร ก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ถูกบันทึกที่ใช้ต่อไปในพื้นที่ หรือไปส่งให้พื้นที่อื่นเขามาศึกษา

เป็นงานของเขาที่เมื่อเขาเจอปัญหาอย่างนี้ และในเงื่อนไขที่คล้ายตรงนั้น ในแนวทางที่พื้นที่อื่นได้เคยทำ เขากันอย่างนี้นะ จากความมืดที่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน ก็กลายเป็นความสว่าง ที่สามารถนำความรู้ และประสบการณ์เหล่านี้ มาใช้ในช่องทางการสื่อสารทางอื่นด้วย จากการบันทึก หรือใช้วิธีการถ่ายทอดกันในการประชุม ถ้าเราสามารถเชื่อมเข้าไปกับระบบ ในเรื่องของการสื่อสาร ที่ขณะนี้ในหมู่บ้าน ตำบลก็มี ก็ทำให้เกิดการแพร่หลาย และไปถึงขั้นที่เขามีเวปไซต์ที่สามารถสื่อสาร 2 ทางได้ ก็จะยิ่งเกิดการขยายในเรื่องของความรู้

ผมจำได้ว่า อ.วิจารณ์ เคยพูดว่า ต้องรับอย่างมีสติ และก็คิดแบบพุทธ ท่านได้พูดในเรื่องของกาลามสูตร ว่า ฟังอะไร อย่าเชื่อเพราะ คือ อ.วิจารณ์ อย่าเชื่อเพราะเป็น อ.สมศักดิ์ อย่าเชื่อเพราะเป็นนายกฯ อย่าเชื่อเพราะว่าเป็น เจ้าอาวาส แต่ให้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุด คือ แล้วจะเกิดประโยชน์กับเรา ครอบครัว สังคมจริงหรือเปล่า และถ้าจริง ค่อนเชื่อ และไปทดลองปฏิบัติ

เราต้องกล้าที่จะแหวกความเป็นทาสของการครอบงำทางความคิด เราต้องกล้า เราไม่ได้ปฏิเสธความคิดนั้น แต่ใช้วิจารณญาณของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้ก็จะยิ่งเยอะ และความรู้เหล่านั้นได้ถูกไตร่ตรอง จริง ไม่จริง และทุกคนก็จะมีความรู้ที่ติดในตัว เราฟังจากคนอื่น เราเอามาชำระล้างจากประสบการณ์ จากที่เรามีข้อมูลที่เรียนรู้มาอยู่ในมือของเรา เรามีความรู้ส่วนตัวของเราที่เราพร้อมจะแลกเปลี่ยน อย่างมีศักดิ์ศรี และมีเกียรติ ที่คนอื่นเขาจะต้องรับฟังเรา

ในเรื่องของการบริหารจัดการองค์ความรู้นี้ ชื่อบอกอยู่ว่า ตัวความรู้เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้นกระจ่างชัด เพราะฉะนั้น เครื่องมือการบริหารจัดการความรู้ ก็คือ เครื่องมือที่จะมาช่วยเราบริหารสิ่งที่เรารับเข้ามาในตัวเรา เพราะรับเข้าสมองของเราแล้ว ก็จะได้มีความกระจ่างชัด ไม่ตกเป็นทาสงมงาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณา หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะเรามีกระบวนการทางด้านการจัดการความรู้ในตัวของเรา ในครอบครัว ในสังคม ที่ทำให้เราสามารถที่จะตัดสินใจในการทำงาน ในเงื่อนไขที่กระจ่างชัดว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม มันเป็นเครื่องมือ

ผมฝากเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข ไม่ให้เอาเรื่อง KM มาเป็นภาระ ถ้าเอา KM มาเป็นภารกิจ ก็ทำ KM กันใหญ่เลย แต่ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร แท้ที่จริง KM หรือการบริหารจัดการความรู้นี่ มันอยู่ในทุกเรื่อง เป็นเครื่องมือของทุกเรื่อง ก็คือการทำให้กระจ่างชัด ในความรู้ของแต่ละเรื่อง ของคุณกิจ ให้กระจ่างชัดว่าอันไหนที่ได้ข้อยุติว่ามันแท้จริงแล้ว แล้วก็มีการเผยแพร่ และจะดีกว่านั้นอีก ถ้าตรงจุดนั้น ได้มีการพัฒนาต่อ หรือผู้ที่มามีส่วนร่วมในวันนี้

ผมเชื่อว่า หลายเรื่องที่พวกเราเก็บไว้ในใจ เออ เข้าท่า บางคนคิดต่อยอดไปแล้ว เช่น เรื่อง Share vision การบริหารวิสัยทัศน์ร่วม บริหารอย่างไร อันนึ้คือ กระบวนการ หรือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดกระบวนการกระจ่างชัด ในภารกิจ ในกิจกรรม ทุกเรื่อง เพิ่อให้เราสามารถเดินไปถึงจุดหมายที่เราต้องการ เป้าหมายที่เราต้องการ

ในส่วนราชการ ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็ไม่ต้องรอผู้บังคับบัญชาสั่งแล้ว เพราะว่า KM เป็นเครื่องมือที่ทำให้ท่านได้ทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านรับผิดชอบ ร่วมกับชุมชนได้ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น ตรงนี้ไม่ต้องมีใครมาบอกว่า KM เป็นนโยบาย ถ้าพูดอย่างนี้ ผมคิดว่า เราหลงทางกันไปแล้ว

แต่เราบอกว่า KM ดี เพราะว่าทำให้เราทำงานดีขึ้น ชุมชนเองก็บอกว่า การบริหารจัดการความรู้นี้ดี เพราะว่ามันทำให้วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ นี้ มีความกระจ่างชัดมากขึ้น การไปเป็นภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงกับก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แข่งขัน ... มันเป็นเรื่องบริหารจัดการกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ ถ่ายทอดกันได้ และเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็จะอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคนที่จะไปกลั่นกรอง

ผมขอฝากว่า เรื่องของการบริหารจัดการความรู้ ไม่ใช่ภารกิจเฉพาะ ที่จะต้องมีโครงการเฉพาะไปทำในเรื่องนี้ แต่ในเรื่องการบริหารจัดการความรู้นั้น แท้จริงเป็นเครื่องมือของการดำรงชีวิตประจำวัน เมื่อเอาไปทำภารกิจทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพอย่างเดียว

ผมจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ บ่ายนี้ ผมก็ต้องหาความรู้ ณ เวลานี้ สนามบินดอนเมืองเป็นอย่างไร เขาจะมีการปิดสนามบินหรือเปล่า คอย check สิ่งต่างๆ ว่า ประวัติที่เคยมี ถ้าเกิดเหตุอย่างนี้ โอกาสที่จะป้องกันเขาทำกันอย่างไร ผมไม่รู้ ผมก็ถามผู้รู้ว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร ก็คือ การทำให้เกิดความกระจ่างชัด ในทุกสิ่งที่เราจะทำ ทำให้ถ้าพลาด ก็จะพลาดน้อยมาก

เพราะฉะนั้น ขอบอกว่า เรื่องของการบริหารจัดการความรู้ หรือ KM ไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มันมีมานานแล้ว แต่สมัยก่อนเราไม่ได้ใช้คำว่า KM เราไม่ได้เอามาเป็นระบบ แต่เนื่องจากมีกระบวนการ KM ในอดีต ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเห็นว่า วิชาการนั้นเยอะ สมบัติของเราเยอะ ... แล้ว KM ก็คือ การบริหารจัดการความรู้ที่มีอยู่มากมาย ไปทุกระดับ ให้เกิดมีกระบวนการคัดกรอง จัดหมวดหมู่ มาเชื่อมโยง มาบันทึก เผยแพร่ และมาต่อยอด อันนั้น คือ ทั้งหมด

ในสิ่งที่พวกเราจะได้ทำต่อ กรมอนามัยก็ขอสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายกระบวนการเรียนรู้ ที่จะไปพัฒนาเรื่องสุขภาพ ของคนไทย ภายใต้ภารกิจของรัฐบาล ซึ่งกรมอนามัยทำเองไม่ได้ เราขอปวารณาตัวร่วมกับพวกเรา ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผ่านวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของเราในท้ายที่สุด

รวมเรื่อง ตลาดนัดการจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี 2551

   

หมายเลขบันทึก: 206922เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2008 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท