Coaching RM ครั้งที่ 3 ที่ สวรส. (8) convening skill เรื่อง การประชุม ลปรร. เพื่อขับเคลื่อนชมรมผู้สูงอายุ


 

เรื่องเล่าเรื่องนี้เป็นของกรมอนามัย จากดิฉันเอง เพราะคิดว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ก็อาศัยกระบวนการ KM เป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดการขยายตัวของโครงการนี้ค่ะ ลองฟังเรื่องเล่าดูนะคะ

เรื่องของงานผู้สูงอายุ ในช่วง 3 ปี ที่มีการเริ่มต้นกิจกรรม จากเรื่องการทำฟันเทียม กิจกรรมนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมีข้อร้องเรียน จากผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้ ซึ่งจากประเด็นก็ทำให้เกิดโครงการฟันเทียมพระราชทานขึ้นในระยะมา โดยกรมอนามัยเป็นเจ้าภาพ และทำในลักษณะของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และก็เป็นจุดเริ่มของความคิดที่จะทำในเรื่องการส่งเสริมป้องกันในผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ดิฉันได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยที่ทีมของเรามองไปที่ชมรมผู้สูงอายุ มุ่งที่จะทำให้มีการทำกิจกรรมเรื่องสุขภาพช่องปากในชมรมฯ โดยเริ่มต้นจากการประสานเครือข่าย ของกรมอนามัยเอง ได้แก่ ศูนย์อนามัย มีศูนย์อนามัยอาสาสมัครเข้าร่วมดำเนินการ 3 แห่ง ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เรากระตุ้นให้ศูนย์อนามัยที่ร่วมดำเนินการ รับผิดชอบการเชื่อมโยงกับจังหวัดในพื้นที่ ช่วงแรกๆ มีความยากที่จะส่งงานต่อให้ศูนย์อนามัยไปทำหน้าที่ประสานงานกับจังหวัด เพราะว่าเราเคยกับการมอบหมายการทำงานแบบสำเร็จรูป โดยระบุขั้นตอนการทำงาน แต่ครั้งนี้ ไม่ได้มีการสั่ง มีแต่ การมอบงบประมาณให้ศูนย์ฯ ลงไปบริหารจัดการกับจังหวัดในพื้นที่เลย โดยมีข้อกำหนดให้ทำ 2 จังหวัด จังหวัดละ 2 อำเภอ และ 2 PCU ในแต่ละอำเภอ

การทำงานเช่นนี้ เราได้จัดให้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานนี้ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้เวลาเขาทำกิจกรรมไป 1 ปี ระหว่างนั้นจะมีการไปติดตามงานในพื้นที่ และเมื่อครบปี มีการเชิญทันตบุคลากร และบุคลากรสาธารณสุข จากศูนย์อนามัย สสจ. รพช. และ สอ. มาประชุมกัน ด้วยวิธีการของ KM คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน ที่มีการทำกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ในชมรมผู้สูงอายุแล้ว ให้ได้เรียนรู้กันว่า กิจกรรมที่เขาได้ทำจริงกันนั้นมีอะไรบ้าง เหมือนหรือไม่เหมือน มีความแตกต่างกันอย่างไร และกิจกรรมไหนที่น่าสนใจเพื่อให้หน่วยงานที่แลกเปลี่ยนกันนำไปทำต่อยอด

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ เห็นผลว่า บางที่มีกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุเกิดขึ้น เช่น ที่บุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ เขาจะเกิดกิจกรรมที่เป็นผลจากการทำประชาคม จากเริ่มแรก หมอแอ๊ดเจ้าของโครงการ มีแผน ที่จะออกตรวจสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ และนำมารับบริการเรื่องสุขภาพช่องปาก เมื่อลงไปดูในพื้นที่ และตรวจสุขภาพช่องปากจริง เขาก็ได้รู้ว่า ไม่ใช่ความต้องการของผู้สูงอายุ หรือชาวบ้านที่จะต้องการด้านการรักษา จึงกลายเป็น หมอแอ๊ดเข้าค้นหากิจกรรม ตามความต้องการของชุมชน โดยอาศัย อสม. ช่วย ก็คือ การทำประชาคม และเกิดข้อตกลงร่วมกัน กำหนดข้อตกลงเป็นหมู่บ้านปลอดน้ำอัดลม และก็ไม่ได้มองแค่ผู้สูงอายุ แต่มองไปถึงนักเรียนด้วย

และมีที่ สอ.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้ทำกิจกรรม เนื่องจากพื้นที่นั้นไม่มีทันตบุคลากรประจำ คุณฮุยสามารถไปทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุได้ โดยผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการช่วยคิดกิจกรรม จนสุดท้ายได้เกิดกิจกรรมประกวด ปู่ย่าตายาย ลูกหลานฟันดี

มารอบที่สอง มีพัฒนาการของการประชุม ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ด้วยการดำเนินงานนำร่องไปแล้วในปีแรก กับชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็ง หรือชมรมผู้สูงอายุที่สนใจกิจกรรม อีกจำนวนหนึ่ง โดยครั้งนี้ จัดประชุม ที่ภาคอีสาน ขอนแก่น และภาคเหนือ ที่ลำปาง เพื่อให้ใกล้กับผู้สูงอายุในแต่ละที่ ให้สะดวกกับการเดินทาง จะมีศูนย์อนามัยที่ 4 ที่รับรวบรวมผู้สูงอายุไปเข้าประชุมด้วยที่ลำปาง

ครั้งนี้ เรามีการเตรียมการในเรื่องของการประชุมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งต้องมีกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนด้วยการเล่าเรื่องเป็นจำนวนมากถึง 10 กลุ่ม ที่จังหวัดขอนแก่น และ 15 กลุ่ม ที่จังหวัดลำปาง ด้วยการขอความร่วมมือ Facilitator และ Note taker จากศูนย์อนามัย เข้ามาร่วมกันเป็น Fa และ Note ให้กับกลุ่ม ก็ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องกิจกรรมที่หลากหลายในชมรมผู้สูงอายุ ทำให้ได้ความร่วมมืออย่างทั่วถึง

ในส่วนของการประชุมครั้งนี้ ก็มีการเตรียมการในเรื่องของการเก็บประเด็นการประชุม โดยได้ชวนผู้ร่วมงานในกองทันตฯ คือ คุณพวงทอง และหมอสุรัตน์ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเก็บประเด็นการประชุม มาช่วยสรุปประเด็นที่กลุ่มนำเสนอ และสรุปให้กับที่ประชุมได้รับฟัง ถึงข้อสรุปในภาพรวมของการนำเสนอกันให้ได้รับฟังอย่างทันที

จากการทำงานตรงนี้ ให้ความรู้สึกที่ว่า เราได้เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ ที่อยากทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากมากขึ้น จากครั้งแรก ทำชมรมผู้สูงอายุนำร่อง 23 ชมรม หลังจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชมรมผู้สูงอายุ ก็ทำให้ได้เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุมาขึ้นเป็นเกือบ 90 ชมรม

สิ่งนี้เป็นความภูมิใจ ที่สามารถทำให้เกิดการขยายเครือข่ายในชมรมผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากได้เรื่อยๆ และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้ก็คือ ได้ทราบอย่างชัดเจนว่า การยกย่องชมเชย หรือให้เกียรติบัตรกับผู้สูงอายุนั้น ให้ความภูมิใจกับผู้ได้รับเป็นอย่างมาก ทั้งระดับจังหวัด สถานีอนามัย ชมรมผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุเอง ซึ่งเขาได้นำไปตั้งแสดงในหน่วยงาน หรือในชมรมผู้สูงอายุเองด้วย

.วิจารณ์ เสนอแนะเพิ่มเติมค่ะว่า

เรื่องเล่านี้เป็นการประชุมในรูปแบบที่ Unique คือ ประชุมแบบ KM

ที่ผมไปเห็นที่นครศรีธรรมราช ผู้ว่าฯ วิชม ต้องการที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวบ้าน ด้วย KM ก็คือ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ ... เป้าหมาย เพื่อที่จะให้ชาวบ้านเป็นตัวของตัวเอง สามารถที่จะทำมาหากินได้ และปลดหนี้ จะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เขาเก่ง เพียงแต่ว่าอาจจะไม่กี่คน สิ่งที่ท่านพยายามที่จะทำให้เกิดก็คือ ให้เกิดในระดับตำบล ให้มีการรวมตัวกัน แล้วก็ใช้แผนแม่บทชุมชน คือ ทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่ายครัวเรือน และทำเป็นของตำบล แล้วก็เห็นว่า รายรับรายจ่ายตำบลเป็นอย่างไร และจะลดค่าใช้จ่ายกัน คนก็จะเริ่มเห็นเอง ว่า กินเหล้ามากไป ลดเสียหน่อย สูบบุหรี่เปลืองจัง และน้ำปลาทำไมต้องไปซื้อมาอย่างนี้ทั้งตำบล ทำกินเอง ทำขายกันเองดีกว่า มันก็จะค่อยๆ ทำให้เกิดสติ ทำให้เกิดข้อมูล และชาวบ้านมาร่วมคิดกัน เป็น แผนแม่บทชุมชน

มีบางตำบลมาเล่า คุณบุญเรือน อายุ 45-50 บอกว่า แกเป็นชาวนา มารวมตัวกันทำนาอินทรีย์ ทำนาปลอดสารพิษ แกก็บอกว่า รายได้ของชาวนากลุ่มนี้เดือนละ 50,000 บาท ก็แจงให้ฟังว่าได้อย่างไร ก็พบว่า มันลดรายจ่ายไปเยอะมาก และก็บอกว่า ที่สำคัญไปกว่านั้น มันไม่ค่อยป่วยหรอก ไม่ค่อยเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยที่เคยมีเยอะๆ จะหายไปเกือบหมด ผู้คนจะจิตใจดี

ผมเห็นมา และเห็นมาตลอด คือ พอคนฉลาด รู้วิธี แล้วชีวิตที่ยากลำบากจะหายไปเอง เพราะว่าชีวิตที่ยากลำบากหลายๆ ส่วนนี่ เพราะตัวเองเข้าไปเป็นจำเลย เข้าไปเป็นเครื่องมือโดนเขาหลอก

เขาบอกว่าการประชุมของเขา เขาไปประชุมชาวบ้าน เพื่อที่จะจัดการเรียนรู้ชาวบ้าน และเขาเดือดร้อนมากที่จัดแล้วชาวบ้านไม่มา ... พอไปสังเกตก็รู้ว่า มาได้ยังไง เพราะว่าวันธรรมดา เขาออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ... งั้นประชุมเสาร์อาทิตย์ก็แล้วกัน

พอไปจัดประชุมเสาร์อาทิตย์ ชาวบ้านตาลุกเลย บอกว่า ข้าราชการอย่างนี้มีด้วยหรือ ก็ได้ใจชาวบ้านทันที ชาวบ้านก็มา พอจัดประชุม พวกนี้จัดประชุมก็บอกว่า การประชุมเขานี้เขาไม่ได้ใช้คุณอำนวย เขาบอกว่า ของเขาคุณอำนวยต้องมี 3 คน ไม่งั้นเอาไม่อยู่ คนหนึ่ง เป็นเหมือนกับวิทยากรกระบวนการ เป็น Moderator อีกคนหนึ่งคอยจด อีกคนหนึ่ง ... (อิอิ จำไม่ได้) เป็นทีม 3 คน ไม่งั้นเอาไม่อยู่ และอย่างที่ว่ากัน พอสรุปให้ชาวบ้าน ชาวบ้านจะตาลุก เพราะว่าเดิมราชการประชุมชาวบ้านทีไร เขามีข้อสรุปในมืออยู่แล้ว มาถึงก็มีสูตร แต่ในที่ประชุมนี้ ชาวบ้านเห็นกับตาเลยว่า สรุปที่กูพูดนี่หว่า นี่มันฟังนี้ เพราะธรรมดาข้าราชการไม่ฟังชาวบ้านไง แต่นี่เขาฟังชาวบ้าน ที่สรุป ก็คือ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นแบบนี้ ใช่ไหม หลังจากนั้นจะได้ใจ ได้ความสัมพันธ์มาก

รวมเรื่อง Coaching RM ครั้งที่ 3 ที่ สวรส.

   

หมายเลขบันทึก: 212347เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท