ยุทธการล่าขุมทรัพย์ความรู้กรมอนามัย (25) ประสบการณ์ใช้ KM รพ.ประทาย ตอนที่ 10 โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้พิการ ปรับปรุงใหม่


 

ส่วนนี้ เมื่อคุณวิมล ถามว่า อยากฟังในส่วนที่ว่า บทบาทนักวิชาการ แล้วเราไปจัดการความรู้อย่างไร ที่คุณหมอบอกว่า มันไปงอกเงยออกเครือข่าย ออกชุมชน ได้มากมาย

คุณหมอณัฐเล่าว่า ยกตัวอย่าง มีงานหนึ่ง เรื่องงานผู้พิการ จะมีน้องที่ไปเรียนรู้ เป็นผู้ช่วยทันตกรรม เรียนรู้กระบวนการ ลปรร. แล้วก็รู้สึกดี ก็เลยมาประยุกต์ใช้กับการทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้พิการ พัฒนาอย่างไร เพราะรู้สึกว่า คนที่พิการก็ยังมีความรู้สึกว่าเขาพิการทั้งร่างกายและจิตใจอยู่ดี

เราก็เลยเปลี่ยนความคิด ... เพราะว่าน้องที่สนใจ เขามาขอปรับ บอกว่า โครงการนี้ ทำมาหลายปีแล้ว เหมือนพายเรือในอ่าง แก้ไขอะไรก็ไม่ได้ อบรมแต่ knowledge ทักษะการดูแล กายภาพ พยาบาลก็มาสอน การทำแผลกดทับ การดูแลข้อติด สุดท้ายข้อก็ยังติด แผลก็ยังเกิด อสม. ก็รู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกินมาช่วยดูแล ญาติก็ไม่ใช่ ก็เลยว่า งั้นลองมาทำดู

จึงเชิญ stakeholder มาคุยกันว่า จะขอปรับใหม่ คือ ถ้าเราอยากให้ practice หรือ skill เป็น behavior ก็มาเปลี่ยน attitude เราเอาคนไข้มาตั้งวง และเปลี่ยน attitude ดีไหม แล้วค่อยมาสอน knowledge เขาจะฟัง และทำได้ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ตั้งสมมติฐานไว้ ก็เลยทำกันดู จาก 1 case ที่เป็น Role model ที่ดูแลตนเองได้ดี

ปรากฎว่า ได้ผล คือ ในวงเขาเล่าได้ดีมาก และทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ... หลายคู่ที่ระหองระแหงหมดแรงแล้ว ฉันอุ้มเธอมาหลายปีแล้ว ฉันอุ้มชีวิต ฉันอุ้มความทุกข์เธอ และเธอใส่ความทุกข์เข้าไปด้วย ฉันอุ้มไม่ไหวแล้ว มีคนหนึ่งพูดประมาณนี้ ตอนที่เราทำ AAR ให้ทุกคนได้สะท้อนกลับว่า เขาได้เรียนรู้อะไร จากเรื่องเล่า

มีคู่หนึ่งบอกเลยว่า ที่ผมรู้สึกว่า อุ้มเมียผมแล้วหนักนี่ เพราะว่า ผมเอาความทุกข์ของผมใส่ไปด้วย ในการอุ้มแต่ละครั้ง แต่เห็นคู่นี้เขาอุ้มกันแล้วนี่ ทำไมเขาอุ้มได้ ไม่มีแผลกดทับเลย จากคนไข้เป็นโปลิโอ สามีเป็นคนปกติ ทำไม เขาอุ้มกันอย่างไร

เขาก็ถามกลางวงว่า คุณอุ้มอย่างไร ตั้ง 70-80 กิโล อุ้มอย่างไรไหว

เขาตอบดีมากเลยครับ นี่คือชาวบ้าน ... เขาใช้หัวใจอุ้ม

คนถามเงียบเลย กลับมากอดกัน และร้องไห้ เขารู้สึกผิดว่า เขาไม่เคยใช้หัวใจอุ้มภรรยาเลย เขาจึงรู้สึกทุกข์

มันทำให้กระบวนการสอนต่อ ในภาคบ่ายที่เป็นตัว knowledge ว่า เทคนิคนั้นนี้ ให้ใส่หัวใจในการทำไปด้วยครับ ข้อที่ติดเมื่อปีที่แล้ว ติดเมื่อปีก่อน เพราะว่า เขาไม่ได้ใช้หัวใจในการทำกายภาพ พอปรับ attitude ได้ คนฟ้งก็เปลี่ยน คือ เขาตั้งใจฟังมากขึ้น จากแต่ก่อน ที่ฟังคุณหมออธิบาย ผู้ดูแลก็หลับ คนพิการนั่งฟังอยู่คนเดียว แต่ยกแขนตัวเองไม่ขึ้น

... เกิดคำถาม คุณหมอเคยทำแล้วหรือ มันไม่ดีนะ คุณหมอมีวิธีอื่นไหม มันเกิดการแลกเปลี่ยนที่มันมีชีวิตชีวามากขึ้น และบรรยากาศในวงก็เปลี่ยนด้วย

รวมเรื่อง ยุทธการล่าขุมทรัพย์ความรู้กรมอนามัย

 

หมายเลขบันทึก: 326730เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท