ยุทธการล่าขุมทรัพย์ความรู้กรมอนามัย (47) จัดการความรู้ ... ทำไม อะไร (3) เราทำอะไร ในกรมอนามัย


 

ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะ ถามว่า เราจะทำอะไรกันในกรมอนามัย ที่เราส่งเสริม KM กันอยู่ ท่านเป็น CKO ท่านต้องทำอะไร สรุปง่ายๆ คือ สร้างสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ... เราอาจจะอยากสอนคน ให้เรียนรู้เป็น (ด้วย) แต่มากกว่านั้น คือ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในองค์กร ให้ส่งเสริมการเรียนรู้ สำคัญที่สุด

คนชอบเล่นคำ ถามว่า ความรู้ จัดการอย่างไร เราอย่าไปเถียงกันเลย เอาเป็นว่า การจัดการความรู้นี้ แปลอย่างน้อยๆ 2 อย่าง ก็คือ ทำให้คนได้เรียนรู้เป็น กับทำให้สิ่งแวดล้อมในองค์กรส่งเสริมการเรียนรู้

ถามว่า พวกเรากำลังทำสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้หรือเปล่า ลองเอาสิ่งนี้ไปตรวจสอบ และที่เหลือก็จะตามมา คือ ทำให้คนทำงานเกิดการเรียนรู้ สอนให้คนทำงานเรียนรู้เป็น สอนให้คนทำงานจัดการความรู้ประจักษ์เป็น (7 ขั้นตอน) สอนให้คนทำงานจัดการความรู้แฝงเป็น (ลปรร.)

ผมมีอันสุดท้ายที่ขออนุญาตแลกเปลี่ยน คือ

เราไม่ได้มีเป้าฯ แค่ หาความรู้แล้วเอามารวบรวมไว้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำแค่คลังความรู้ คลังความรู้ควรจะเป็นผลพลอยได้ ของการสร้างสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งให้คนเกิดการเรียนรู้ หรือเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย ถ้าไม่มีการจัดการความรู้ก็คงใช้ไม่ได้ เพราะว่าองค์กรไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ คนก็เลยเรียนรุ้ไม่เป็น คลังความรู้ก็เหมือนอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่มีประโยชน์ เหมือนตำราที่อยู่บนหิ้ง ที่ไม่มีใครไปอ่าน

อย่างห้องสมุดกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ค่อยคึกคักเหมือน รร.แพทย์ หรือ รร.พยาบาล ก็ตรงไปตรงมา เพราะว่าเวลาคุณไปอยู่โรงเรียน ก็ต้องเรียนรู้ ... ตอนนี้ก็ต้องเข้า Internet เราไม่ได้เอาความรู้มาอยู่เฉยๆ หรือไม่ก็เอาความรู้ที่ได้ไปสั่งให้คนเขาทำความรู้แบบเดียวกันหมด

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของการจัดการความรู้ ไม่ใช่ไป capture ความรู้ มาแล้วบอกว่า ถูกต้องแล้ว จงทำตามอย่างนี้ เพราะ concept ของการจัดการความรู้มีอยู่ว่า ทุกคนมีความรู้เหมือนกัน และ Howto เป็นความรู้ที่ มี variation ได้เยอะ

ยกเว้นบางประเด็น/บางมุม เช่น ความปลอดภัย หลักกฎหมาย พวกนี้ต้องตรวจสอบว่าถูกต้อง และถูกต้องก็ต้องระวัง เพราะว่าพวกเราก็ไม่ใช่เข้มงวดเกินไป เพราะว่าหลักกฎหมายก็ตีความได้เยอะ ความปลอดภัยก็จะมี degree ของมัน

ถ้าเราบอกว่า เราอ้างความปลอดภัย เราอ้างกฎหมาย ความรู้ที่มีอยู่ผิดหมด อันนี้ถูกแล้ว อันนี้เชื่อไม่ได้ ต้องพิสูจน์ก่อน อย่างนี้จะเป็นอันตรายต่อการจัดการความรู้เป็นอย่างยิ่ง

เรื่องมาตรฐาน บ่อยครั้งที่พวกเราทำงานที่มีมาตรฐาน จนเราลืมว่า การจัดการความรู้ คือ การเชื่อว่า หลายอย่างมันถูก เพราะว่าเราเอามาตรฐานไปจับตลอดเวลา ... ท่าน ผอ.ธีชัช เล่าเรื่อง "ส้วมได้มาตรฐาน" ก็จะเล่าถึงว่า ตอนจะทำมาตรฐานส้วมที่ดี เขาต้องเอามาตรฐานที่คิดขึ้นมา ไปลอง ว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไร เพราะว่ามันหมดยุคแล้ว ที่เราเชื่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งรู้ดีกว่าเพื่อน และไปบอกคนอื่นว่า ต้องทำอย่างโง้น อย่างงี้ อย่างงั้น

สำหรับผม concept การจัดการความรู้ เน้นเรื่อง tacit knowledge ที่เน้นว่า ทุกคนมีความรู้เหมือนกันหมด ไม่มีใครเก่งกว่าใคร มันเป็นการเริ่มต้นแนวคิดใหม่ ว่าด้วยเรื่องคนมีความรู้ คือ หมดยุค expert แล้ว

R2R ก็เป็นอีกตัวอย่างที่บอกว่า การวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก มันไม่ได้ต้องการนักวิจัยมาบอกว่า นี่ถูกที่สุดแล้ว ใช่แล้ว ความรู้มันมีหลายระดับ ผมชอบใจที่ อ.หมอพยูร พูดว่า นักระบาดวิทยาต้องสอนตลอดเวลา เพราะนักระบาดวิทยาเป็นคนที่ Work on Dirty Data (With a Clean Mind) มันอยู่ที่ว่า เราตั้งใจจะให้ข้อมูลได้อย่างไร ที่แน่ๆ คือ ไม่มีความรู้ไหนที่ถูกสมบูรณ์ อย่ารอให้ความรู้ถูกต้องสมบูรณ์ แล้วจึงลงมือทำ

เรื่องส่งเสริมสุขภาพที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ Hormone Therapy เราทราบไหมว่า การตัดสินใจเรื่องการให้ฮอร์โมนในผู้หญิงวัยทอง เปลี่ยนมาแล้ว 3 ครั้ง อย่าให้-ให้-อย่าให้ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการวิจัย 3 อัน อันสุดท้าย ทำสิ่งที่เรียกว่า Prospective randomized control trial บอกว่า อย่าให้ ก่อนมี study นี้ เราใช้ retrospective case control ใช้ sample size ใหญ่มาก และสรุปว่า ดี

วันที่มี Prospective study ทำไป 5 ปี พอ 3 ปี ต้องรีบหยุด study เพราะว่าพบว่า คนที่ได้รับฮอร์โมนได้รับผลเสียมากกว่าคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมน

ทั้งหมดนี้ ผมอยากบอกว่า ถ้าเราใช้หลักจัดการความรู้ที่เรียกว่า tacit knowledge และเราเชื่อถึง ปรัชญาของธรรมชาติความรู้ เวลาทำงานเรื่องจัดการความรู้ เราจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้นด้วย ถ้าไม่ยึดติด เราก็จะยอมรับฟัง

รวมเรื่อง ยุทธการล่าขุมทรัพย์ความรู้กรมอนามัย

   

หมายเลขบันทึก: 328996เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท