สุริยุปราคา (Eclipse of the sun)


การเกิดสุริยุปราคา
+  
 
 
 
     
  การเกิดสุริยุปราคา  
  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเวลากลางวัน  เนื่องจากดวงจันทร์โคจรมาอยู่  ณ  ตำแหน่งระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก  ขนาดปรากฏของดวงจันทร์และของดวงอาทิตย์บนฟ้ามีขนาดประมาณครึ่งองศาเท่ากัน  ดวงจันทร์จึงสามารถบังดวงอาทิตย์ได้  เงาของดวงจันทร์จึงทอดมาที่โลก  คนบนโลกที่อยู่บริเวณที่เงาทอดไปถึงจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งหรือมืดมิดไปถ้าเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเป็นเสี้ยวเรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (Partial  solar eclipse)   ถ้าเห็นดวงอาทิตย์เป็นวงแหวนมีดวงจันทร์กลมอยู่กลางเรียกว่า สุริยุปราคาวงแหวน  (Annular  solar  eclipse)  ถ้าดวงอาทิตย์ปรากฏมืดมิดมีแสงจางๆ  อยู่โดยรอบเรียกว่า  สุริยุปราคาเต็มดวง (Total  solar  eclipse)  ซึ่งเห็นได้เฉพาะผู้ที่อยู่ภายใต้เงามืดของดวงจันทร์   คนที่อยู่ภายใต้เงามัวของดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน  ในกรณีที่ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนเงามืดทอดไม่ถึง  มีแต่เงามัวส่วนที่อยู่ถัดจากปลายเงามืดออกไปเท่านั้นที่ตกถึงผิวโลก  คนบนโลกบริเวณนี้จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน  
     
 
 
     
  เนื่องจากดวงจันทร์และโลกเป็นวัตถุทึบแสง  และมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์  เงาของดวงจันทร์หรือเงาของโลกจึงมี 2 ลักษณะ  คือเงามืด (Umbra)  และเงามัว (Penumbra)  เงามืดเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงเลย  ในขณะที่บริเวณเงามัวแสงอาทิตย์ส่องไปถึงได้บ้าง  ดังนั้นบริเวณเงามัวจึงสว่างกว่าบริเวณเงามืด  และคนที่อยู่ภายใต้เงามัวจะเห็นดวงอาทิตย์ไม่มืดมิดส่วนคนที่อยู่ใต้เงามืดจะเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏมืดมิดทั้งดวง  
     
  ขณะที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมืดมิดนั้น  ดวงจันทร์ได้บังเพียงพื้นผิวของดวงอาทิตย์เท่านั้น  แต่ไม่อาจบังบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้เพราะบรรยากาศของดวงอาทิตย์แผ่กระจายออกไปไกลหลายช่วงของขนาดดวงอาทิตย์  ซึ่งในเวลาปกติจะมองไม่เห็นเนื่องจากมีความสว่างน้อยดังนั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์จึงปรากฏให้เห็นเป็นแสงเรืองรอบๆ วงกลมดำของดวงจันทร์  เรียกว่า แสงโคโรนา  เป็นภาพที่สวยงามมากและหาดูได้ยาก  จะเห็นได้เฉพาะเมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดนานอย่างมากไม่เกิน 7 นาที  31  วินาที  
 
 
     
 
 
 
สุริยุปราคาเต็มดวง 24 ตุลาคม 2538
 

อำเภอชัยบาดาล  จังหวัดลพบุรี
เลนส์ 600 มม. F  8 SPEED  1/30
ผู้ถ่ายภาพ: นายศิลปชัย  จันทร์กุญชร
เวลา 10 : 50 น

 
 
     
 

เราสามารถดูสุริยุปราคาเต็มดวงได้ด้วยตาเปล่า  แต่ถ้าเป็นสุริยุปราคาบางส่วนหรือสุริยุปราคาวงแหวนห้ามมองด้วยตาเปล่าเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ตาบอดได้  ต้องดูผ่านแผ่นกรองแสง เช่น แผ่นไมลาร์  (แผ่นกรองแสงที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ)  กระจกรมควันเทียน  ฟิล์มถ่ายรูปขาวดำที่ล้างแล้วซ้อนกันหลายๆ แผ่น  เป็นต้น  นอกจากนั้นยังอาจถ่ายภาพดวงจันทร์และแสงโคโรนาของดวงอาทิตย์  รวมทั้งบริเวณโดยรอบดวงอาทิตย์เพื่อค้นหาดาวเคราะห์  หรือดาวหางที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ได้ด้วย

 
     
  การวัดตำแหน่งดาวฤกษ์ดวงหนึ่งเบื้องหลังดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่  29  พฤษภาคม  พ.ศ. 2462  ที่ประเทศบราซิล  ชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งปรากฏ  และตำแหน่งที่แท้จริงของดาวฤกษ์ดวงนั้นไม่ตรงกัน  ทั้งนี้เพราะแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงแสงดาวฤกษ์ทำให้แสงโค้ง  ขณะผ่านใกล้ดวงอาทิตย์  นับเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์เป็นครั้งแรก  
     
  สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  ในระยะเวลา 127 ปี  นับตั้งแต่ พ.ศ. 2411  เป็นต้นมา  มีสุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นเพียง  5  ครั้งเท่านั้น  ทั้งๆ  ที่มีสุริยุปราคาเกิดขึ้นทุกปี  แสดงว่าไม่ค่อยเกิดซ้ำที่เดิม  จึงนับว่าสุริยุปราคาเต็มดวงมีความสำคัญ  น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากสำหรับคนไทย  สุริยุปราคาเต็มดวงทั้ง  5  ครั้ง  ดังกล่าวคือ  
     
  1. สุริยุปราคาเต็มดวงหว้ากอเกิดเมื่อวันที่  18  สิงหาคม  พ.ศ. 2411  จุดกลางของเงามืดผ่านบ้านหว้ากอ  อำเภอเมือง  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เห็นนานประมาณ  6  นาที  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณสุริยุปราคาครั้งนี้และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่หว้ากอด้วยพระองค์เอง  จนต้องสิ้นพระชนม์เพราะทรงติดไข้ป่าเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  พ.ศ.2411  
     
  2. สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่  6  เมษายน  พ.ศ. 2418  เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เห็นมืดมิดนาน  4  นาที 42 วินาที  ตัวอย่างตำบลที่เห็นคือแหลมเจ้าลาย  จังหวัดเพชรบุรี  
     
  3. สุริยุปราคาเต็มดวงโคกโพธิ์เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2472  เห็นมืดมิดนาน 6 นาที  จุดกลางของเงามืดผ่านอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินีได้เสด็จไปทอดพระเนตรด้วย  สุริยุปราคาเต็มดวงโคกโพธิ์เป็นสุริยุปราคาชุดเดียวกันกับสุริยุปราคาเต็มดวงในสมัย       รัชกาลที่  5  
     
  4. สุริยุปราคาเต็มดวงบางปะอิน  เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เมื่อวันที่  20  มิถุนายน พ.ศ. 2498  เห็นมืดมิดนาน  6  นาที  เขตที่เห็นเต็มดวงมีหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ ด้ว  
   
  5. สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่  24  ตุลาคม  พ.ศ. 2538  เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เขตที่เห็นเต็มดวงอยู่ในท้องที่ของจังหวัดต่างๆ  ตั้งแต่ตากลงไปถึงบุรีรัมย์  รวม 11  จังหวัดโดยเห็นเต็มดวงนานต่างๆ  กันเกือบ 2 นาที  นอกจากเขตนี้เห็นสุริยุปราคาบางส่วนทั่วประเทศ
หมายเลขบันทึก: 112434เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากได้การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งเเรกมากกว่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท