บูร์ดิเยอ


บูร์ดิเยอกับการก้าวข้ามความขัดแย้งทางความคิด

บูร์ดิเยอกับการก้าวข้ามความขัดแย้งทางความคิด 

กฤษณะ ทองแก้ว

 

บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu: 1930 – 2002) เป็นชาวฝรั่งเศสที่เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกระฎุมพีในสังคมชาวนา เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาปรัชญา โดยมิได้เขียนดุษฎีนิพนธ์จาก Ecole Normale Superieure ต่อมาในช่วง ค.ศ.1956 ในสงครามฝรั่งเศส-อัลจีเรีย เขาถูกเกณฑ์ให้ไปรบในอัลจีเรียด้วย ผลจากครั้งนั้นทำให้บูร์ดิเยอหันกลับมาผลิตงานที่เกี่ยวกับสังคมอัลจีเรีย อาทิ พิธีกรรม ระบบเครือญาติ การจัดองค์กรสังคม เป็นต้น จนเขาสรุปได้ว่าในสังคมอัลจีเรียนั้นความรู้สึกเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเงินทอง  ซึ่งนับเป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง (กาญจนา แก้วเทพและสมสุข หินวิมาน, 2551: 536) ภายหลังจากกลับมาจากสงครามเขาก็ได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในช่วง ค.ศ.1961 – 1962 และไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเมืองลิลล์ Lille ใน ค.ศ.1964 และในปีเดียวกัน เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านสังคมศาสตร์มากที่สุดของฝรั่งเศสคือ Ecole des Haustes en Sciences Sociales = EHESS      บูร์ดิเยอได้ทำงานวิจัยโดยการสำรวจปฏิบัติการของผู้บริโภคชาวฝรั่งเศส Consumer Practices รสนิยมทางวัฒนธรรม Cultural tastes และลีลาชีวิต Lifestyles ที่กลั่นออกมาเป็นหนังสือสำคัญ 2 เล่ม คือ Distinction: A Social Critique of  the judgement of taste (1979) The Logic of  Practice (1980) ซึ่งผลงานสองเล่มนี้ทำให้เขาได้รับตำแหน่งวิชาการด้านสังคมวิทยา (Chair of Sociology) จาก College de France จากนั้นบูร์ดิเยอก็รวบรวมนักวิชาการและสร้างวารสาร Actes dela Recherche en Sciences Sociales เพื่อเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ความคิด ต่อมาบูร์ดิเยอได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส และตามมาด้วยเหรียญทองของสภาวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส CRNS เขาได้นำเอาทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มาเคลื่อนไหวทางวิชาการ ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 เขาได้เปลี่ยนจากนักเขียนมาเป็นนักพูด ผ่านการสัมภาษณ์ที่เขามองแล้วว่าเป็นให้ผลในวงกว้างกว่าการเขียน

                ในช่วงหลังของชีวิต บูร์ดิเยอได้หันมาให้ความสนใจเรื่องรูปแบบการบริโภคของผู้คนในยุคปัจจุบัน ในขั้นสุดท้ายนั้นเขาได้กระโดดเข้ามาสู่กระแส Postmodern สังคมวิทยาแห่งสินค้าเชิงสัญลักษณ์ Sociology of Symbolic goods ที่ปรากฏในทุกๆ สังคม อาทิ ศาสนา วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ เป็นต้น และสิ่งที่เขามอบไว้ให้สังคมอีกอย่างก็คือ บูร์ดิเยอเข้าร่วมกับประเด็นทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามสร้างเส้นทางให้ปัญญาชนสามารถเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสร้างความยุติธรรมและจริยธรรมของพลเมือง Civie Ethics ดังเช่นที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองรุ่นเก่ากระทำไว้

 

บริบททางวิชาการ

                การที่จะทำความเข้าใจแนวคิดของใครนั้น การทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในภาพของบูร์ดิเยอต้องมองลงไปในทศวรรษ 1970-1980 ซึ่งมีประเด็นใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้คือ

ประเด็นแรกคือ ความตกต่ำย่ำแย่ของสาขาวิชามานุษยวิทยา ซึ่งมีสาเหตุดังต่อไปนี้

วิชามานุษยวิทยาที่มีแนวทางการศึกษาในภาคสนามของประเทศในโลกที่สาม

หรือชนบทนั้น ถูกวิจารณ์ว่า ภายใต้หน้ากากและเสื้อคลุมวิชาการ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเครื่องมือของลัทธิล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมนั้นเอง โดยการมีการตั้งคำถามออกมาว่า “เก็บข้อมูลมานุษยวิทยาหรือทำจารกรรมกันแน่”

                การมองคนพื้นเมืองด้วยแว่นตาตะวันตก  นักวิชาการชาวตะวันตกด้านมานุษยวิทยาที่ลงไปศึกษาสังคมโลกที่สามหรือโลกของชนพื้นเมืองนั้น ต่างก็พกพาเอาองค์ความรู้ วิธีคิด แว่นตาแบบตะวันตกโดยยึดตนเองเป็นสรณะ และนำเอาตนเองแว่นตามาตัดสิน ให้คุณค่า สร้างกฎเกณฑ์ องค์ความรู้ในโลกที่สาม/พื้นเมืองด้วยอคติ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้มีนักวิชาการออกมาโต้แย้งว่า อารยธรรมตะวันตกนั้นก็ไม่มีความจีรัง ยั่งยืน และไม่สมบูรณ์และก็เต็มไปด้วยขอบเขตอันจำกัด เพราะการที่นักวิชาการที่มีศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวลงไปตัดสินความศรัทธาของผู้ที่นับถือผี นั้นมันเป็นการใช้อำนาจข่มเหงมากกว่าการลงไปศึกษาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์

                แนวคิดโครงสร้าง/สถาบันทางสังคมสร้างมายาคติให้นักวิชาการลืม ผู้คน   เนื่องจากความนิยมในสำนักคิดโครงสร้างของพาร์สันเข้ามาครอบงำแวดวงวิชาการ ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 มันส่งผลในวงกว้างให้มีการสนใจโครงสร้างทางสังคมและมองมนุษย์เพียงแค่ผู้แบกรับโครงสร้าง ดังนั้น ตัวคน จึงหายไปจากกระแสวิชาการไป

                กระแสการกลับบ้านเกิดของนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตก ก่อนทศวรรษ 1980 นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับสังคมอื่น จวบจนทศวรรษ 1980 ได้มีกระแสการเรียกร้องให้หันกลับมาศึกษาทำความเข้าใจสังคมของตนเองมากขึ้น

                กรแสการเกิดนักมานุษยวิทยาท้องถิ่น  ทศวรรษ 1950 โลกที่สามเริ่มปรากฏนักวิชาการที่ด้วยรับเบ้าหลอมจากตะวันตกแล้ว ครั้นพวกเขาเหล่านั้นกลับไปศึกษาบ้านเกิดของตน แล้วกลับค้นพบขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับความรู้ที่นักวิชาการผลิตไว้ ดังนั้นช่องทางนี้ได้ทำให้นักวิชาการพื้นเมืองทับถมพื้นที่ของหลุมพรางของพวกเขาด้วย  ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกระแส  “การทบทวนตัวนักวิชาการ” หรือรู้จักกันในนามของ สังคมวิทยาแห่งการทบทวนไตร่ตรอง Reflexive Sociology ซึ่งบูร์ดิเยอเป็นหนึ่งในกระแสดังกล่าว โดยผ่านชิ้นงาน An Invitation to Reflexive Sociology ในปี 1992

 

 

ประเด็นที่สองการปะทะกันระหว่างโครงสร้างนิยมและอัตถิภาวนิยม

ทศวรรษ 1970 แนวคิดอัตถิภาวนิยมที่เน้นลักษณะของปัจเจกอย่างสุดขั้วที่ว่า ไม่ว่าโครงสร้างจะครอบงำมนุษย์สักเพียงใด แต่มนุษย์ก็จะมีอิสระในการเลือกอยู่เสมอ ส่วนโครงสร้างนิยมก็เห็นว่ามนุษย์เป็นทาสของโครงสร้างและกระทำการภายใต้โครงสร้างของสังคมเสมอ บูร์ดิเยอได้นำเสนอ ทวลักษณ์ Duality โดยหล่อหลอมแนวคิดทั้งสองนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยอยู่บนบรรทัดฐานที่ว่า อัตวิสัย เป็นความรู้ทุกรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับความรู้สำนึกในระดับปัจเจกบุคคลและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างปัจเจกบุคคล  วัตถุวิสัย  เป็นความรู้ทุกรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ หรือโครงสร้างที่มากำหนดการกระทำของคน

                ในปี 1977 บูร์ดิเยอได้นำเสนอแนวคิดที่มีการหล่อหลอมของสำนักโครงสร้าง และสำนักอัตถิภาวนิยม ผ่าน Outline of a Theory Practice โดยเขาอธิบายไว้ว่า มานุษยวิทยามีความรู้อยู่สามกลุ่ม คือ กลุ่มแรก สำนักปรากฏการณ์วิทยา ที่สนใจอัตวิสัยของบุคคล กลุ่มที่สอง สำนักโครงสร้างนิยมที่สนใจระดับโครงสร้างของสังคม กลุ่มที่สาม ศาสตร์แห่งการปฏิบัติ Science of human practice ซึ่งเป็นจุดยืนทางทฤษฎีของบูร์ดิเยอที่เสนอว่า ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติมีลักษณะที่สำคัญ คือการอธิบายความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิธีระหว่างโครงสร้างทั้งสองส่วน  ส่วนแรกคือ โครงสร้างวัตถุ ที่เป็นวิชาการของนักโครงสร้างนิยม ส่วนที่สองคือ ความโน้มเอียงทางอุปนิสัย Disposition ของปัจเจกที่ผลิตมาจากโครงสร้างวัตถุ ซึ่งจริงแล้ว โครงสร้างปัจเจกมีหน้าที่ผลิตซ้ำโครงสร้างวัตถุเพื่อจะธำรงความเป็นปัจเจกไว้ บูร์ดิเยอเรียกโครงสร้างปัจเจกนี่ว่า Habitus ภายใต้กรอบแนวคิดนี้ เราพอที่จะสรุปจุดยืนทางทฤษฎีของบูร์ดิเยอได้ดังนี้

                ข้อแรก บูร์ดิเยอมีความพยายามที่จะข้ามผ่านการขัดแย้งของสองขั้ว เฉกเช่น อันโตนิโอ กรัมซี่ จากแนวคิด Dualistic และเดสการ์ตจากแนวคิด Crartesian Method ระหว่างอัตวิสัยและวัตถุวิสัย โดยบูร์ดิเยอได้นำวิธีการสร้างความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิธีมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองมาใช้อย่างมันคง  ข้อที่สอง บูร์ดิเยอพยายามที่จะสังเคราะห์แนวคิดที่หลายกหลายจากสำนักต่างๆ  เริ่มตั้งแต่มากซ์  มาร์แซล มอลล์ เดอร์ไคม์ เวเบอร์ นักปรากฏการณ์วิทยา นักภาษาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยถือว่าวัตถุวิธีเป็นหลักหรือที่เรียกกันว่า การเลือกอย่างผสมผสานอย่างเป็นวิภาษวิธี Dialectical Eclecticism  ข้อที่สาม บูร์ดิเยอยังคงรักษาจุดยืนของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เขายังคงมีความเชื่อพื้นฐานว่า โครงสร้างสังคมเป็นต้นเหตุของการใช้ความรุนแรงต่อคนในชนชั้น สิ่งหนึ่งที่นับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของบูร์ดิเยอ คือ เขาได้พัฒนาแนวความคิดของมากซ์  คือ ในศตวรรษที่ 19 เครื่องมือที่ใช้ความรุนแรง คือ ค่าจ้างแรงงาน ตำรวจ คุก เป็นต้น แต่ในศตวรรษที่ 20 การใช้ความรุนแรงนั้นถูกวิวัฒนาการมาเป็น การใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ Symbolic Violence ซึ่งปรากฏอย่างทั่วไปในสังคมยุคนั้น ดังนั้นบูร์ดิเยอจึงนำเสนอต่อว่า สังคมมิใช่เป็นเพียงพื้นที่แห่งการผลิตซ้ำ Reproduction เท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ Struggle ในทุกปฏิบัติการทางสังคมด้วย

รากฐานแนวคิด

                บูร์ดิเยอได้รับอิทธิพลจากนักคิดเสาหลักทางสังคมวิทยา อย่าง คาร์ล มากซ์ แม็ก เวเบอร์ และ เอมิล เดอร์ไคม์ ซึ่งทั้งสามคนนี้มีอิทธิพลต่อบูร์ดิเยอมากที่สุด แต่ด้วยบูร์ดิเยอเป็นนักคิดในศตวรรษที่ 20 ดังนั้นเขาจึงเสมือนกับนักคิดคนอื่นทั่วไป ที่รับเอาหลากแนวคิดหลายสำนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน แต่ในที่นี้จะขอแยกย่อยหลักคิดของสามเส้าหลักเท่านั้น

                Karl Mark: 1818 – 1883 คาร์ล มากซ์ เป็นนักจัดองค์กรและนักทฤษฎีสังคมนิยม เป็นบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ทางความคิดของโลกในด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ปรัชญา และถือเป็นนักพยากรณ์สังคมที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในแวดวงวิชาการ (ลิวอิส เอ. โคเซอร์, 2547: 91) ดังนั้นการที่บูร์ดิเยอรับเอาแนวคิดจากมากซ์นั้นนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาส่งหนึ่งที่บูร์ดิเยอสามารถแสดงได้ดีก็คือ การแสดงตัวเป็นผู้มาจากมากซ์ และการแสดงตัวเป็นผู้ไปจากมากซ์ ของบูร์ดิเยอด้วย   บูร์ดิเยอได้นำแนวคิดการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดทางสังคม Social Reproduction ของมากซ์มาประยุกต์ได้ดีดังนี้ เขาเสนอว่า ท่ามกลางการผลิตซ้ำทางสังคมบูร์ดิเยอเห็นด้วยเกี่ยวกับมากซ์ในเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาด False Consciousness/Ideology ที่เขาใช้กันที่เรียกว่า Misrecognition และเสนอเพิ่มเติมว่า ระบบสัญลักษณ์ Symbolic System เป็นกลไกสำคัญในการสร้างหน้าที่ในการสร้างจิตสำนึกที่ผิดพลาดดังกล่าวขึ้น เพราะเขาเห็นว่าระบบสื่อสารมวลชนก็เป็นระบบสัญลักษณ์ที่ใหญ่มากระบบหนึ่งเหมือนกัน  แต่บูร์ดิเยอก็ไม่เห็นด้วยกับการแยกวิเคราะห์ระหว่าง ระบบวัตถุของจริง กับ  ระบบสัญลักษณ์  เขายกตัวอย่างว่า ต้องมีตัวพระเครื่องจริงจึงจะเห็นระบบความเชื่อศรัทธาในพระเครื่องที่ดำรงอยู่ เป็นต้น

                สำหรับแนวคิดเรื่องโครงสร้างส่วนบน-ส่วนล่าง บูร์ดิเยอนำเสนอว่า บางครั้งโครงสร้างส่วนบนที่ประกอบด้วย อุดมการณ์ การเมือง ศาสนา ก็มีอิทธิพลเหนือโครงสร้างส่วนล่างด้วย  ท้ายที่สุดบูร์ดิเยอบอกว่า การแบ่งโครงสร้างทางสังคมตามมากซ์นั้น นำแต่จะสร้างปัญหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาจึงละทิ้งแล้วนำเสนอ Field หรือ บริเวณทางสังคมแทนที่

Max Weber: 1864 – 1920 แมกซ์ เวเบอร์ ผู้นำแนวคิดการกระทำทางสังคม Social Action ทำให้เขามุ่งที่จะวิเคราะห์ปัจเจกบุคคลในฐานะผู้กระทำการ จนทำให้เขามีความโดดเด่นขึ้นมา (ลิวอิส เอ. โคเซอร์, 2547: 356) ทัศนะแรกที่บูร์ดิเยอมองเข้าไปในแนวคิดของเวเบอร์ก็คือ การที่เวเบอร์นำแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาศึกษาต่อศาสนา ที่เรียกแนวทางนี้ว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยศาสนา Political Economy of Religion เพราะเวเบอร์ให้ความสนใจในมิติของเศรษฐกิจของศาสนา เพราะบูร์ดิเยอให้ข้อมูลว่า เวเบอร์เคยวิเคราะห์ว่า ลัทธิโปรเตสแตนส์นั้นเกิดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแนวคิดทุนนิยม (กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน. 2551: 544)

                แนวคิดผลประโยชน์ทางโลกที่มีอยู่ในศาสนา Worldly – Interest in Religion เวเบอร์ให้ข้อสรุปไว้ว่า จุดหมายปลายทางของกิจกรรมทางไสยศาสตร์/เวทมนตร์ / รวมทั้งศาสนาใหญ่ๆ ทั้งหมด ล้วนมุ่งสู่ผลประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งเวเบอร์ได้พิสูจน์จากการวิเคราะห์ปฏิบัติการทางวาทกรรมของกลุ่มผู้ผลิต ผู้แพร่กระจาย ผู้บริโภคศาสนา โดยบูร์ดิเยอได้เสนอแนวคิด ผลประโยชน์เชิงศาสนาและผลประโยชน์เชิงสัญลักษณ์ด้วย โดยเขาสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกปฏิบัติการล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายของการสร้างผลประโยชน์ด้านสัญลักษณ์ทั้งสิ้น

                บูร์ดิเยอได้แบ่งกิจกรรมออกเป็นสี่ประเภท คือ ประเภทเหตุผลเชิงเครื่องมือ Instrumental Rationality ประเภทเหตุผลเชิงคุณค่า Value- Rationality ประเภทอารมณ์ความรู้สึก Affect ional และประเภทตามประเพณี Traditional Rationality บูร์ดิเยอสรุปว่าทุกกิจกรรมต่างมีผลประโยชน์ทั้งสิ้น

                แนวคิดเรื่องอำนาจ บูร์ดิเยอ  มีความเห็นว่าอำนาจบารมี Charisma และอำนาจแห่งความชอบธรรม Legitimacy นับเป็นทุนทางสัญลักษณ์ซึ่งพิจารณาได้จากการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการและนักการเมืองในปัจจุบัน

                บูร์ดิเยอเสนอว่า เมื่อสถาบันของศาสนา/ วัฒนธรรม เป็นทุนทางสัญลักษณ์ดังนั้น ทุนเหล่านี้ต้องมีการนำมาปฏิบัติการ Practice และเมื่อวิเคราะห์การปฏิบัติการก็จะมองเห็นผู้กระทำการ Social Actor อาทิ นักบวช กรรมการศาสนาสถาน ที่มีบทบาทนั้นนับเป็น แรงงานเชิงสัญลักษณ์ Symbolic Labor ที่ต่อยอดมาจาก แรงงานกาย / แรงงานสมองของมากซ์ด้วย  ในการวิเคราะห์ผู้กระทำการบูร์ดิเยอเสนอให้วิเคราะห์ ความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้กระทำการด้วย

                แนวคิดเรื่องชนชั้น Class และสถานภาพ Status ที่เวเบอร์มองว่า ชนชั้นนั้นไม่สามารถได้จากมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และเกณฑ์ที่แบ่งแยกลำดับชั้นของผู้คนก็ไม่ได้มีเพียงชนชั้นเท่านั้น หากแต่มีสถานภาพอันหมายถึง เกียรติยศชื่อเสียงด้วย ซึ่งตรงนี้บูร์ดิเยอแย้งว่า แท้จริงแล้วสถานภาพก็คือการแปลงร่างของชนชั้นนั้นเอง

Emile Durkheim: 1858 – 1917  เดอร์ไคม์ ยืนกรานในแนวความคิดของเขาที่ว่า การศึกษาสังคมจะต้องหลีกเลี่ยงการอธิบายถึงพฤติกรรมทางสังคมว่ามีรากฐานจากชีวภาพและจิตภาพ Reductionlism และต้องพิจารณาปรากฏการณ์ทางสังคมว่ามีลักษณะเฉพาะในตัวของมันเอง ดังนั้นเดอร์ไคม์จึงมุ่งศึกษาตัวกำหนดปัญหาทางสังคมของมนุษย์ในเชิงโครงสร้างสังคม (ลิวอิส เอ. โคเซอร์, 2547: 261)

                ทศวรรษ 1960 หลังจากที่แนวคิดของพาร์สันอ่อนตัว ประกอบกับบรรยากาศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้บรรยากาศด้านวิชาการในยุโรปประสบกับปัญหาความซบเซาอย่างรุนแรง จนมีนักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามาเผยแพร่ผลงานวิชาการ จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้มันส่งผลให้นักคิดในยุโรปแสดงท่าที่และแนวคิด หวนกลับมาหานักคิดทฤษฎีคลาสสิก อย่าง มาก์ เวเบอร์ และเดอร์ไคม์ ในบรรดานักคิดหวนกลับนี้บูร์ดิเยอก็เป็นคนหนึ่งที่กระโดดลงมานลำธารความคิดของเดอร์ไคม์ที่มีความปรารถนาที่จะยกระดับวิชาสังคมศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เป็นมากกว่าปรัชญาทางสังคม Social Philosophy เท่านั้น ซึ่งเดอร์ไคม์เคยเสนอไว้ว่า วิธีการศึกษาสังคมจะต้องยกระดับให้เหนือกว่าการมองเห็นประสบการณ์ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น บูร์ดิเยอเห็นด้วยกับข้อสรุปทางสังคมวิทยาของเดอร์ไคม์ที่ว่า  “การกระทำของปัจเจกบุคคลนั้นถูกกำหนดมาจากพลังทางสังคม”  รวมถึงการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นเรื่องของการตายของคนเพียงคนเดียวนั้น มันมีที่มาจากอำนาจทางสังคมด้วย บูร์ดิเยอตอกย้ำอีกครั้งภายหลังจากการค้นพบว่า ภาพถ่ายหรือรสนิยม Taste ที่ว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวนั้น มันมีต้นกำหนดมาจากสังคม Social Origins กล่าวคือ การรับรู้ การชื่นชมเห็นคุณค่า และการกระทำต่างๆ ของคนในแต่ละชนชั้นนั้นล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดมาจากสังคมทั้งสิ้น

                ในการศึกษาสังคมของเดอร์ไคม์ ได้ใช้เกณฑ์เรื่อง การแบ่งงานกันทำ division of labor ที่ว่า สังคมที่มีความซับซ้อนน้อยมีการแบ่งงานกันทำน้อย สังคมที่มีการซับซ้อนมากมีการแบ่งงานกันทำมาก ตรงนี้บูร์ดิเยอต่อยอดว่า สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมที่การแบ่งงานกันทำอย่างมาก ดังนั้น Field ด้านวัฒนธรรมจึงถูกแยกตัวออกเป็นอิสระ ที่กลับมาสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อเข้าควบคุมทรัพยากรไว้ในกลุ่มของตนเช่นกัน

                แนวคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ Sacred และโลกสามัญ Profane บูร์ดิเยอก็นำมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์สถาบันโรงเรียน บูร์ดิเยอเห็นว่า โรงเรียนมีกระบวนการทำงานเหมือนสถาบันที่มีการแบ่งแยกเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผ่าน คำสั่งครู พิธีกรรมการสอน การแต่งกาย ให้มีความแตกต่างจากโลกสามัญ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกเชื่อมโยงมาถึงเรื่องอำนาจเชิงสัญลักษณ์ เพราะบูร์ดิเยอมองว่า อำนาจเชิงสัญญะลักษณ์ คืออำนาจที่ก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นนั้นเอง บูร์ดิเยอจึงสรุปว่า สังคมวิทยาที่ว่าด้วยวัฒนธรรมว่าเป็นศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์นั้นเอง

                บูร์ดิเยอนำเอาทัศนะของเดอร์ไคม์ เรื่องการแบ่งลำดับชั้นของสังคมที่สอดรับกับการแบ่งลำดับชั้นทางสัญลักษณ์ ในเชิงเปรียบเทียบว่า ในอดีตชนชั้นใดมีสิทธิ์แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีอะไร กับสมัยปัจจุบันที่คนชนชั้นไหนจะใช้รถยนต์ยี่ห้ออะไร อ่านนิตยสารอะไร โดยผ่านงานเขียน Distinction 1984 ที่เขาได้ทำการวิเคราะห์วิถี / ลีลาชีวิต Lifestyle แบบแผนการบริโภคทางวัฒนธรรมที่สอดรับกับฐานทางชนชั้นของแต่ละกลุ่มคน

                บูร์ดิเยอเห็นด้วยกบเดอร์ไคม์ที่ว่า ระบบสัญลักษณ์มันมีหน้าที่สร้างบูรณาการทั้งทางสังคมและทางตรรกะLogical and Social Integration บูร์ดิเยอเพิ่มเติมว่า การบูรณาการที่เป็นการครอบงำ Domination ด้วย เพราะกระบวนการสร้างนั้นต้องครอบงำ ชนชั้น ความขัดแย้ง และการต่อสู่ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น

 

แนวคิดทฤษฎีสังคมวิพากษ์กับการวิเคราะห์สังคม  

                1. Mode of Class dominant วิถีในการครอบงำของชนชั้นปกครอง คือ ในขณะที่มากซ์เสนอว่า การครอบชีวิตของคนนั้นจะอยู่ในโรงงาน / ที่ทำงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แรงงานต้องทำงานเพื่อทำมาหากินและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น บูร์ดิเยอต่อยอดความคิดนี้ว่า โลกในศตวรรษที่ 20 ที่อยู่ภายใต้อุ้งมือของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นมันสามารถครอบงำชีวิตผู้คนในปริมณฑลของช่วงเวลาที่ว่าง / พักผ่อน ที่เคยเป็นเวลาส่วนตัว หรือพอสรุปได้ว่า ไม่มีพื้นที่ว่างใดเลยที่มีชีวิตของผู้คนจะปลอดจากการครอบงำของระบบทุนนิยม

                2. ลักษณะการครอบงำของชนชั้นปกครอง ในสังคมปัจจุบันการครอบงำไม้ได้มีลักษณะเปิดเผย ไม่มีลักษณะบังคับ ไม่มีลักษณะสมคบกันหลอกลวง แต่ทว่าการครอบงำนั้นแฝงตัวอยู่ใน ทุน ที่มีรูปแบบหลากหลาย อาทิ ทุนวัฒนธรรม / ทุนสัญลักษณ์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการครอบงำ ซึ่งบูร์ดิเยอเรียนขานปรากฏการณ์นี้ว่า ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์   บูร์ดิเยอต่อยอดความคิดว่า ทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ นั้นมันมีกระบวนการผลิตซ้ำทางสังคมเพื่อสืบทอดกันไป ดังนั้นในงานเขียน Reproduction in Education Society and Culture 1977 บูร์ดิเยอได้สรุปไว้ว่า กระบวนการเรียนการสอน หลักสูตร ครู นักเรียน เป็นกลไกในการครอบงำและตกเป็นเครื่องมือในการสะสมทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ด้วย ด้วยวาทกรรมที่ว่า จบมาจากโรงเรียนไหน จบมาด้วยเกรดอะไร เป็นลูกศิษย์ใคร ซึ่งคำถามเหล่านี้สะท้อนถึงปริมาณและคุณภาพของทุนวัฒนธรรมในปัจจุบัน

                3. แนวคิดเรื่องชนชั้น Class เป็นแนวคิดสำคัญของลัทธิมากซ์ที่ชี้ว่า การเอาเปรียบเกิดจากการกระทำที่ชนชั้นหนึ่งกระทำต่อชนชั้นหนึ่ง ซึ่งบูร์ดิเยอจึงได้นำเอาเครื่องชุด ชนชั้น / ความแตกต่าง / การต่อสู้ทางชนชั้น มาใช้การวิเคราะห์สังคม  โดยมากซ์ให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการผลิต Production ดังนั้นกฎเกณฑ์ที่มากซ์ใช้วัดชนชั้นจึงอยู่ที่ว่า ใครเป็นปัจจัยเจ้าของการผลิต แต่บูร์ดิเยอคิดว่า ปัญหาหลักของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 20 อยู่ที่ขั้นตอนของการบริโภค ดังนั้นเกณฑ์การวัดจึงมาอยู่ที่การบริโภค และเขาย้ำว่า การรักษาความแตกต่างของการบริโภคคือเครื่องมือสำคัญในการรักษาความแตกต่างทางชนชั้นด้วย  ฉะนั้นในการวัดจึงมีสองแบบ คือ การเป็นเจ้าของทุนเศรษฐกิจ และความเป็นเจ้าของทุนวัฒนธรรม/สัญลักษณ์ ซึ่งแบ่งต่อได้คือ ตามแนวดิ่ง แบ่งได้เป็นชนชั้นกลุ่มคนรวยและคนจนซึ่งพิจารณาจากเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  แบ่งตามแนวนอน ในกลุ่มคนรวยอาจแบ่งได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีทุนเศรษฐกิจ ทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ แต่ก็อาจจะมีบางกลุ่มที่มีทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พวกผู้จัดการ เจ้าของธุรกิจ เศรษฐีใหม่ อาจจะมีทุนทางเศรษฐกิจสูง แต่ก็มีทุนทางวัฒนธรรมต่ำ ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนผ่านสื่อสารมวลชน อาทิ คอนเสริต์ วารสาร เป็นต้น (กาญจนา แก้วเทพ, 2547:173-201)

                4. การขยับขยายแนวคิดเรื่องทุน ซึ่งเป็นแนวคิดที่บูร์ดิเยอขยายความออกไปอีก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

                ก. ทุนเศรษฐกิจ Economic Capital คือ ทรัพย์สินที่สะสมเอาไว้ เงินทอง สิ่งของที่มีราคา เช่น ที่ดิน อาคารบ้านเรือน เครื่องเพชร รถยนต์ หุ้น เป็นต้น รูปแบบของทุนประเภทนี้จะดำเนินงานอยู่ใน Field เศรษฐกิจ ที่สามารถโยกย้ายไป Field อื่นๆ ได้ ทุนประเภทนี้เป็นรูปแบบของทุนที่มีเหตุผล สามารถคิดคำนวณเป็นปริมาณที่แน่นอนได้ สามารถระบุรูปแบบได้อย่างตายตัว (Michael Haralambos, Martin Holborn and Robin Heald, 2004: 65-66)

               

ข. ทุนวัฒนธรรม บูร์ดิเยอแบ่งแยกย่อยทุนวัฒนธรรมเป็นสามรูปแบบ คือ

                - Objectified form ได้แก่ ทุนวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของวัตถุ เช่น หนังสือ รูปภาพ ซีดี ที่ปัจเจกบุคคลครอบครอง

                - Institutionalised form คือ ทุนวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของสถาบัน เช่น คุณภาพ ชื่อเสียงของสถานบัน เป็นต้น

                - Embodied form ได้แก่ สมรรถนะด้านวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคล เช่น ความสามารถ ความรอบรู้ที่จะพูดเรื่องศิลปะ การมีบุคลิกที่สง่างาม สามารถวางท่าทางได้อย่างงดงาม ความหมายของ Embodied form ที่อยู่ในปัจเจกชนนี้ อาจจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Habitus ตรงนี้บูร์ดิเยอกล่าวว่า habitus นั้นเปรียบเสมือนค่าใช้สอย แต่ทุนวัฒนธรรมมูลค่าการแลกเปลี่ยน ซึ่งมีระบบการศึกษาเพื่อสืบทอด โครงสร้างทางสังคม เพราะระบบการศึกษานี้มีความเกี่ยวพันกับทุนทางวัฒนธรรมนั้นเอง เพราะเด็กที่เติบโตมาจากชนชั้นใด เขาก็ผ่านการขัดเกลามาจากชนชั้นนั้น และผลการขัดเกลาก็ทำให้เขาประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับชนชั้นนั้นด้วย

ค. ทุนสัญลักษณ์ Symbolic Capital บูร์ดิเยอ หมายถึง สถานภาพ / ชื่อเสียง / การได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นๆ ทำให้เจ้าของทุนเกิดความได้เปรียบ และเกิดเป็นผลประโยชน์ต่างๆ ด้วยสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำสูงมาก ความมีชื่อเสียงก็จะแยกย่อยไปตามสาขาต่างๆ แวดวงต่างๆ และวงการต่างๆ การมีรางวัลต่างๆ ในแต่ละสาขาทำให้สังคมรู้จักทุนเหล่านี้มากขึ้น อาทิ ซีไรท์ โนเบล เป็นต้น

ง. ทุนสังคม Social Capital มีสองความหมาย แต่ทั้งสองต่างก็มีความหมายถึงเครือข่ายทางสังคม Network ทั้งสิ้น ความหมายแรก เป็นการมองจากตัวโครงสร้างที่มองเครือข่ายจริง เช่น โครงสร้างของกลุ่มเพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมอาชีพ ความหมายที่สองมุมมองจากปัจเจก เช่น เป็นคนมีเส้นสาย เป็นคนกว้างขวาง จะทำอะไรก็ง่ายสะดวกนี่คือ ทุนสังคม

5.ผลลัพธ์ที่เกิดจากทุนวัฒนธรรม คือ รสนิยม tatse เพราะบูร์ดิเยอเสนอว่า รสนิยมเป็นกลไกสำคัญในการแสดงความแตกต่างทางชนชั้น และเป็นเครื่องธำรงรักษาโครงสร้างชนชั้นให้อยู่ต่อไป

แนวคิดโครงสร้างสังคมกับผู้กระทำการและการปฏิบัติ

                1. บูร์ดิเยอได้เจริญรอยตามกรัมซี่ (Antonoi Gramsci: 1891 – 1937) ด้วยการข้ามไปให้พ้นจากคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยนำหลักวิภาษวิธี คือ สรรพสิ่งล้วนกำหนดซึ่งกันและกัน โดยโครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนด หล่อหลอมลักษณะของบุคคลที่บูร์ดิเยอเรียกว่า ความโน้มเอียงของอุปนิสัย disposition หรือ Habitus หลังจากนั้น ความโน้มเอียงก็จะกลับไปธำรงรักษาโครงสร้างดังกล่าวไว้ หรืออาจจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็ได้

                2. คุณลักษณะของ Practice การปฏิบัติการ ถือเป็นเครื่องมือทางความคิดหลัก (Thinking tool) มีผู้เรียกขานว่า ศาสตร์แห่งการปฏิบัติ Science of Practice ดังปรากฏในเนื้อหาเล่มแรกๆ ของเขาคือ Outline of A Theory of A Practice 1977 โดยบูร์ดิเยอได้สรุปคุณสมบัติของ Practice มีดังต่อไปนี้  ข้อแรก ด้านหนึ่งของ Practice ถูกกำหนดจากกฎเกณฑ์ของโครงสร้างทางสังคม แต่อีกด้านหนึ่ง Practice ก็จะมีลักษณะที่สามารถสร้างโอกาส เปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวคน ซึ่งคล้ายกับแนวคิดการเล่นละคร Theatre ของ Erving Goffman ที่ระบุว่า มนุษย์เราดำเนินชีวิตทางสังคมไปตามบทบาทที่ถูกกำหนดมาให้เล่น แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถตีบทแตกจนเล่นนอกบทได้ด้วย  ข้อสอง Practice นั้นเกิดขึ้นในกาละ time และ เทศะ Space หนึ่งเสมอๆ ข้อสาม Practice นั้นอาจจะดำเนินไปอย่างไม่รู้สึกตัว ซึ่งมันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องคิด อาทิ การเล่นฟุตบอล ข้อสี่ Practice เป็นการดำเนินชีวิตทางสังคมที่มีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัวภายใต้กฎเกณฑ์ ซึ่งก็จะมีการแหวกแนวตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นปฏิบัติการทางสังคมจึงมิใช่การกระทำที่ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่ตายตัว ซึ่งทำให้บูร์ดิเยอผลิตงานเขียน From Rules to Strategies 1986 ออกมา  ข้อห้า Practice มิใช่เฉพาะเรื่อง วัตรปฏิบัติ มาเป็น พลังอำนาจทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ด้วย  ข้อหก Practice เป็นผลผลิตทางสังคมที่กลายมาเป็นธรรมชาติที่สอง (แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นวัฒนธรรมมากกว่า) ซึ่งประกอบด้วย ข้อจำกัด และเสรีภาพ

                3. Agency บูร์ดิเยอมีทัศนะมนุษย์ที่สามารถต่อต้านและมีอำนาจเหนือ โครงสร้างสังคม นั้นคือ ผู้กระทำการและต้องมีคุณสมบัติสามประการ แรก สิทธิหรือสามารถที่จะเลือก being with option สอง มีปฏิบัติการในสิ่งที่เลือกแล้วจริง สาม มีปฏิบัติการในสิ่งที่เลือกแล้วจริง

                4. Knowledge of Practice ความรู้เรื่องการปฏิบัติ โดยบูร์ดิเยอแบ่งออกเป็นสามระดับ ระดับแรก ความรู้ระดับปรากฏการณ์ เป็นความรู้ที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อาทิ การแลกของขวัญ การเอาของขวัญต่างๆ ระดับที่สอง Objective Knowledge ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ มายกระดับและประกอบสร้างใหม่ อาทิ ศึกษาจนทราบว่า ของขวัญมีบทบาทหน้าที่ในการธำรงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ ระดับที่สาม เป็นความรู้ที่คนเราใช้ในการต่อต้านแบบจำลอง กฎระเบียบของสังคม ซึ่งก็คือความรู้แห่งการปฏิบัติการทางสังคมที่บูร์ดิเยอ เรียกว่า ยุทธวิธีนั้นเอง บูร์ดิเยอกล่าวว่า ความรู้แบบยุทธวิธีนั้นเป็นความรู้ที่นักวิชาการสายโครงสร้างมองไม่เห็น เพราะหลุดออกไปจากกรอบวิธีคิดแบบโครงสร้างนิยม บูร์ดิเยอเองยืนยันว่ามนุษย์อยู่กับโครงสร้างแนะคิดเสมอว่าจะอยู่อย่างไรและจะแหกกฎอย่างไร และมีวิธีการต่อรองอย่างมี ยุทธวิธี คือ รอจนกว่าจะได้เป็นฝ่ายได้เปรียบ

 

แนวคิดเรื่อง Field

เมื่อบูร์ดิเยอด้วยปฏิเสธวิธีการแบ่งสังคมออกเป็นโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่าง แบบที่มากซ์ได้นำเสนอเอาไว้ เขาจึงเสนอ Field มาเป็นหน่วยวิเคราะห์ Practice แทน โดยบูร์ดิเยอคิดว่า Field คือปริมณฑลหรืออาณาบริเวณทางสังคม Social arena ที่มีการต่อรอง ช่วงชิง เบียดขับ และแบ่งปั่นทรัพยากร บูร์ดิเยอกล่าวว่าใน Field มี Habitus ทำหน้าที่เชื่อมโยงกัน จนบางครั้ง Habitus กลับมามีอิทธิพลเหนือ Field ซึ่งทุกอย่างถือเป็น Practice

                บูร์ดิเยอได้อาศัยแนวคิดของ Erving Goffman ในเรื่อง Game of Sta

คำสำคัญ (Tags): #บูร์ดิเยอ
หมายเลขบันทึก: 341029เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆที่แบ่งปันนะคะ

ครูกระเเต

ขอบคุณนะคะ ที่แบ่งปันสนใจแนวคิดนี้ต่อการศึกษาการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติของไทยไทยต่อเด็กในครอบครัวพหุวัฒนธรรม อยากขอข้อแนะนำค่ะ

 

กานต์

ปล.อาจารย์อยู่ชะอวด บ้านญาติอยู่นั่น น้ำท่วมหนักมั้ยค่ะ

กำลังศึกษาทฤษฎีของบูร์ดิเยอแล้วเสิร์ชผ่านมาเจอ สังเกตว่าชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ น่าจะสะกดผิดนะครับ เท่าที่เสิร์ชเจอสะกดด้วย x (Karl Marx) ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท