ปรับอาบัติพระอานนท์


ปรับอาบัติพระอานนท์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ฉบับนี้เป็นฉบับจบนะคะ เชิญติดตามได้ค่ะ

ผู้เขียนได้ค้นประวัติพระอานนท์พบว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีการศึกษาดี สนใจในการศึกษา            เป็นคนมีเหตุผล  ปรากฏข้อความบันทึกเกี่ยวกับพระอานนท์ไว้ว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ ๗ ประการคือ ๑. อาคมสมบัติ ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน ๒. โยนิโสมนสิการสมบัติ ถึงพร้อมด้วยปัญญาพิจารณาเหตุผลอย่างรอบคอบ    พระสารีบุตรยกย่องพระอานนท์ว่าเป็นผู้มีธรรม ๖ ประการ คือ ๑.เป็นผู้ได้เรียนได้ฟังธรรมมาก ๒. เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนมาได้ฟังมาโดยพิศดาร ๓. เป็นผู้สาธยายโดยพิศดาร ๔.ตรึกตรองเพ่งพิจารณาธรรมโดยรอบคอบ ๕. เป็นผู้อยู่ใกล้พระมหาเถระผู้เป็นพหูสูตรทรงธรรมทรงวินัยทรงมาติกา ๖. เป็นผู้ได้เรียนถามพระมหาเถระเหล่านั้นตามกาลเวลาอันสมควร[1] พระอรรถกถาจารย์ได้ยกย่องสติปัญญาของท่านว่าเหมือนน้ำมันราชสีห์ดังข้อความว่า “เหมือนน้ำมันของราชสีห์ที่เขาใส่ได้ในหม้อทองคำ”[2]  “เป็นผู้มีบุญ สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร บารมีธรรม จึงสามารถรักษาความเลื่อมใสในตระกูลไว้ได้ เพราะความเป็นผู้ดำรงอยู่ด้วยอำนาจแห่งเหตุผล”[3]นอกจากนั้นพบว่า พระอานนท์สามารถทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า คลังแห่งพระธรรม[4] พระอานนท์เกิดในวรรณะกษัตริย์ ได้รับการศึกษามาดีและได้ฟังธรรมเทศนาของพระปุณณมันตานีได้บรรลุโสดาบัน[5]

                 ผู้เขียนมีความเห็นว่า “ข้อความตามที่กล่าวมานั้นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าพระอานนท์ไม่ได้ถูกปรับอาบัติในทุกกรณี โดยเฉพาะกรณีที่ให้สตรีเข้าถวายบังคมพระบรมสรีระศพก่อน ต้องนึกถึงสภาพตามความเป็นจริงในวันที่จะเผาศพของบุคคลทั้งหลายมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  งานครั้งนั้นเป็นงานบรมศพของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ ในวันนั้นจึงมีพุทธบริษัท ๔ มากันเป็นจำนวนมาก การณ์กลับกลายเป็นว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ไปถวายบังคมพระบรมสรีระศพของพระพุทธเจ้าก่อนใครทั้งหมดเป็นมาตุคาม  พระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นถวายบังคมภายหลังมาตุคาม   การกระทำของพระอานนท์เป็นเหตุให้ ภิกษุปุถุชนทั้งหลายและประชาชนตำหนิ เป็นเสียงอื้ออึง วิพากษ์วิจารณ์มากทั่วทุกหนทุกแห่งเสียงอื้ออึงเกี่ยวกับการให้สตรีได้ถวายบังคมพระบรมสรีระก่อน นี้เป็นเหตุการณ์ที่ยังใหม่ ส่วนเสียงของประชาชนที่ตำหนิพระอานนท์ที่ขวนขวายให้สตรีบวชคงมีมานาน พระเถระอรหันต์เหล่านั้นท่านคงมีข้อมูลมากพอสมควร เพราะท่านต้องไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน หรือจาริกแสดงธรรมไปในที่ต่างๆ ได้ยินได้ฟังมา พระอรหันต์เหล่านั้นจึงถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องจัดการเสียงอื้ออึงวิพากษ์วิจารณ์ให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง เหมือนการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าเมื่อมีผู้ทำผิด มีผู้ตำหนิจะทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ตรัสถามผู้ก่อเหตุ ทรงตำหนิผู้ที่ก่อเรื่อง และชี้โทษ พระอรหันต์ท่านคงถือแบบอย่างในการบัญญัติพระวินัย มาใช้กับพระอานนท์ ซึ่งถือเป็นจารีตประเพณีเมื่อมีภิกษุทำผิด ประชาชนตำหนิ   พระพุทธศาสนามีทัศนวิสัยในการฟังเสียงของประชาชน และพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุและภิกษุณีปฏิบัติตามก็มาจากเสียงตำหนิของประชาชนบ้าง ภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง คำตำหนิที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นไม่ใช่พระอรหันต์ตำหนิ แต่พระอรหันต์ได้ฟังเสียงตำหนิมาจากประชาชนและภิกษุปุถุชน ถือเป็นโอกาสอันดีจึงนำมาบอกกล่าวในที่ประชุมสังคายนาเพื่อที่จะปลดเปลื้องเสียงตำหนินั้นให้กับพระอานนท์  และสร้างความเข้าใจอันดีให้มีขึ้นในพุทธบริษัท ซึ่งพระอานนท์ก็ยอมรับผิดในการกระทำทุกอย่างที่ถูกตำหนิ และได้ชี้แจงทุกประเด็น  คำชี้แจงของพระอานนท์ พระเถระทั้งหลายได้นำไปชี้แจงให้พุทธบริษัททราบต่อไป  การที่ท่านพระอานนท์ยอมรับผิดตามมติของพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ท่านไม่เห็นว่าเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นมติสงฆ์ส่วนรวมท่านก็ยอมรับความผิดนั้นทุกประการและยอมแสดงอาบัติ แสดงให้เห็นว่าท่านพระอานนท์เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศของบุคคลผู้ไม่มีทิฐิมานะอันเป็นกิเลสทำลายตนเองและส่วนรวม

 มหาจุฬาฯ



           

หมายเลขบันทึก: 436601เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีลงซ้ำค่ะ วันนี้ระบบยังคงยังมีปัญหาอยู่ สามารถลบที่ลงซ้ำออกได้ค่ะ แจ้งอ.ขจิตค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท