จมน้ำตาย ภัยร้ายของเด็ก


ว่ายน้ำไม่เป็น

 

 

 

จมน้ำตาย ภัยร้ายของเด็ก

                 ในฐานะที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็น “ประธานคณะอนุกรรมการติดตามและประสานงานการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน” ที่ต้องนำคณะเดินทางไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กทุกจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  ทำให้มีโอกาสรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ อย่างมากมาย  ตั้งแต่ปัญหาแม่วัยรุ่น  เด็กติดยา  เด็กกระทำผิด  แก๊งเด็ก ฯลฯ

                 ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาอาจเป็นที่รับรู้มาบ้างแล้ว แต่มีปัญหาหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดคิดไม่ถึง ก็คือกรณี “เด็กจมน้ำตาย”ที่ระบุไว้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทุกจังหวัดประสบอยู่  สถานการณ์นี้สอดคล้องต้องกันกับสถิติที่มาจากผลการศึกษาวิจัย ซึ่งพบว่า “ในปี 2542-2545 มีเด็กอายุ 1-14 ปีจมน้ำตายมากถึง 6,301 ราย เฉลี่ยปีละ 1.575 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 1-4 ปี 620 ราย  5-9 ปี 661 รายและ 10-14 ปี 294 ราย” 

                  ครั้นนำมาเทียบเคียงกับสถิติของกระทรวงสาธารณะสุขที่พบว่า มีเด็กไทยอายุ 5-14 ปีมากถึง 11 ล้านคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น  ทำให้ต้องคิดใคร่ครวญกันอย่างจริงจังแล้วว่า จะทำอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้ เพราะยิ่งปล่อยปละละเลยมากเท่าไร ยิ่งอันตรายต่อเด็กมากเพียงนั้น

                  มีข้อเสนอที่หลากหลายมาจากหลายๆ จังหวัดเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้  ตั้งแต่

                  หนึ่ง..ครอบครัวที่มีลูกเล็ก  จำเป็นจะต้องระแวดระวังไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง อีกทั้งดูแลสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปลอดภัย  โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ริมคลองหรือใต้ถุนมีแหล่งน้ำต้องซ่อมแซมรั้วและพื้นบ้านให้มิดชิด 

                  สอง..ชุมชนและจังหวัด ต้องสำรวจแหล่งน้ำทั้งหลายอย่างละเอียดว่า จุดใดลึกเกินไป เชี่ยวกราก มีน้ำวน ตลิ่งชัน ใต้น้ำมีหินใหญ่หรือท่อมไม้ ฯลฯ เพื่อติดป้ายประกาศเป็นเขตอันตรายให้เด็กๆ ได้ระมัดระวัง

                  สาม..พ่อแม่  องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ฝึกลอยตัวในน้ำ ได้เรียนว่ายน้ำ การช่วยคนจมน้ำ  โดยพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ในชุมชนให้เป็นสระว่ายน้ำหรือสร้างสระว่ายน้ำขึ้นกระจายไปชุมชนต่างๆ

                  สี่..กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดให้วิชาว่ายน้ำ เป็นวิชาภาคบังคับ เพราะว่ายน้ำเป็นกีฬาประเภทสำคัญและเป็นประเภทเดียวที่เล่นไม่เป็นแล้ว สามารถตายได้ง่าย

                   ทั้งสี่ประการนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้นที่ประมวลมาได้  สำคัญคือการเอาจริงเอาจังและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีเด็กเกิดขึ้นทุกวัน โตขึ้นทุกวัน  การมาสูญเสียชีวิตที่มีคุณค่าของเด็กไปก่อนวัยอันสมควรนั้น ถือเป็นสภาวะเลวร้ายมาก ดังนั้นการป้องกันไว้น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดนั่นเอง

     

 ครูหยุย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

หมายเลขบันทึก: 350128เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2010 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

เข้าใจว่า เด็กในชนบท จมน้ำตายมากกว่าในเมืองนะครับ ช่วงนี้อากาศร้อน เด็กๆๆหนีผู้ปกครองไปเล่นน้ำน่าเป็นห่วงนะครับ ครูหยุยสบายดีนะครับ...

วิชัย ประวัติวัชรา

การเรียนการสอนว่ายน้ำในบ้านเรานั้นยังไม่มีมาตรฐาน ขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ การสอนว่ายน้ำที่เราสอนกันอยู่นั้นเป็นเพียงแค่การสอนว่ายน้ำเพื่อการแข่งขันหรือ Competition Swimming คือ สอนเฉพาะท่าว่ายน้ำเพื่อการแข่งขัน คือ ท่าฟรีสไตล์ ท่ากบ ท่ากรรเชียงและท่าผีเสื้อ เราไม่ได้สอนทักษะทางน้ำอื่นๆ ที่จำเป็นได้แก่ ทักษะการเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ วิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ (คนตกน้ำ คนตกน้ำ) ทำให้คนไทยเราขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ขาดความตระหนักและไม่รู้จักวิธีป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ในเมื่อเราสอนว่ายน้ำกันเช่นนี้มานานกว่า 40 ปีโดยไม่มีหลักสูตรการสอนว่ายน้ำที่ ทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดและมีความเชื่อว่า เพียงแค่ว่ายน้ำเป็นหรือว่ายน้ำได้ก็จะไม่จมน้ำ และมีความปลอดภัยทางน้ำเพียงพอแล้ว หารู้ไม่ว่า ทักษะที่จำเป็นที่จะทำให้สามารถเอาชีวิตรอด และมีความปลอดภัยทางน้ำเพียงพอก็ คือ ทักษะการเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ (Survival Swimming skill) ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด ท่าว่ายน้ำมาตรฐาน การช่วยคนตกน้ำและการกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจ ( ในต่างประเทศ ทักษะทั้งสองส่วนนี้จะรวมอยู่ด้ายกันในหลักสูตรการเรียนว่ายน้ำ ในบ้านเราเอามาเพียงแค่ส่วนเดียวเน้นเพื่อการแข่งขัน )

ในกรณีในบ้านแห่งน้ำที่ต้องระวังเช่น ถังสี รองน้ำ ถังน้ำ กะละมัง อ่างน้ำ เหล่านี้หากมีน้ำต้องเทออกหรืคว่ำน้ำทิ้ง มีน้ำเีพียงเล็กน้อยก็เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ครับ เนื่องจากหากเด็กจะก้มลงไปดูด้วยความซน อยากรู้อยากเห็น ทำให้หัวทิ่มลงไปเท้าชี้ฟ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้มีน้ำไม่มากก็จมน้ำตายได้ แม้ผู้ใหญ่เอง กินเหล้าเมาเข้าบ้านมากลางคืนดึกๆ คมในบ้านได้ยินรู้ว่ากลับมาแล้วคิดว่าไม่มีอะไรไม่ลุกไปดู เช้ามาพบว่าเสียชีวิตแล้ว ศรีษะจมน้ำอยู่ในรองน้ำเลี้ยงปลาหน้าบ้านน้ำสูงไม่เกินหัวเข่า

อาจารย์วิชัยครับ ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมเยียน และต้องขอบคุณมากๆ สำหรับข้อเสนอแนะทั้งหลายที่เป็นประโยชน์ยิ่งครับ ผมจะพยายามร่วมผลักดันให้สิ่งที่อาจารย์กล่าวไว้มีการนำไปปฏิบัติให้มากขึ้นนะครับ

วิชัย ประวัติวัชรา

เรียนคุณครูหยุยครับ ผมดีใจมาก ที่พบคุณครูด้วยความบังเอิญ ด้วยหัวข้อที่คุณครูตั้งไว้เป็นประเด็นที่ผมสนใจ ในเรื่องนี้ผมขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมคือ กระทรวงสาธารณะสุข ได้เห็นความสำคัญเช่นเดียวกับที่คุณครูเห็น จากผลงานการวิจัยและสถิติของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า เด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจมน้ำมากที่สุด ปีละประมาณ 1,500 คน (เฉลี่ยวันละ 4 คน) มากเป็น 2 เท่าของอุบัติเหตุทางการจราจร และมากกว่าการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกหลายเท่าตัว จึงหาทางป้องกันโดยทำการศึกษาหลักสูตรว่ายน้ำ 2 หลักสูตรเปรียบเทียบ ระหว่าง หลักสูตร การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด "Survival Swimming Curriculum" ของ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ Thai Life Saving Society (TLSS ) กับ หลักสูตรการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ของ สถาบันการศึกษาทางพลศึกษาแห่งหนึ่ง โดยต่างคนต่างสอนตามหลักสูตรของตัวเอง และไม่ทราบว่าจะมีการเปรียบเทียบผลของหลักสูตร ผลการทดสอบกับเด็กๆ ผู้เรียน โดยกำหนดเป็น 3 หัวข้อคือ 1. ทักษะว่ายน้ำ 2. ทักษะเอาตัวรอด และ 3. ทักษะการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำ ผลพบว่า

หลักสูตร การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด "Survival Swimming Curriculum" ของ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ Thai Life Saving Society ( TLSS ) ทักษะว่ายน้ำ ได้ 60% ทักษะเอาตัวรอด ได้ 75% และ ทักษะการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำ ได้ 75 %

สถาบันการศึกษาทางพลศึกษาแห่งหนึ่ง ทักษะว่ายน้ำ ได้ 75% ทักษะเอาตัวรอด ได้ 20% และ ทักษะการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำ ได้ 20 %

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดการจมน้ำเสียชีวิต และการบาดเจ็บของเด็ก สำนักโรคไม่ติดต่อจึงได้ร่วมกับผู้เชียวชาญการสอนว่ายน้ำหลายหน่วยงานและ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามันโลก จัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด "Survival Swimming Curriculum" ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือบุคคลที่ไม่เคยเรียนหลัดสูตรนี้มาก่อน โดยใช้หลักสูตรที่มีอยู่ของ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ เป็นพื้นฐานและคู่มือการสอน ( Handbook ) เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีเนื้อหา แบ่งเป็น 3 หน่วยการเรียน คือ 1. ความรู้ความปลอดภัยทางน้ำ ( Water Safety Knowledge ) 2. การเอาชีวิตรอดและพื้นฐานการว่ายน้ำ ( Swim and Survive ) 3. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ( Water Rescue )

ปัจจุบันทีมวิทยากรจากสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ได้เดินสายให้ความรู้เรื่องนี้แก่โรงเรียน หน่วยงานราชการ และเอกชนที่สนใจ มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้เข้ากระทรวงศึกษาธิการ ครับ และผมคิดว่าเด็กนอกระบบโรงเรียนก็น่ามีโอกาส อย่างไรก็ตามต้องฝากคุณครูช่วยผลักดันอีกแรงครับ

คุณวิชัย ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆ บังเอิญผมเป็นบอร์ดอยู่ใน กศน.ครับ จะนำเรื่องไปเสนอที่บอร์ดนะครับ เพื่อทาง กศน.จะได้รุกเสริมช่วยอีกแรง เพราะขณะนี้ขยายเป็น กศน.ตำบลแล้วครับ ซึ่งผมก็เชื่อว่าทาง กศน.จะสนใจ ผลเป็นเช่นไรจะได้ประสานกับคุณวิชัยต่อไป

ครับ ระวัง มาก เพราะสังคมปากกัด ตีนถีบ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็กใกล้ชิด

และอีกอย่าง คนไทยส่วนใหญ่ ผายปอด นวดหัวใจไม่เป็น

เจอเด็ก จมน้ำ ก็จะ ดันท้องเอาน้ำออก ลูกเดียว

ที่อำเภอผม ปีที่แล้ว ก็มีเด็กจมน้ำตาย 1 คน 3 ขวบเอง

คุณศุภรักษ์ครับ ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนนะครับ เรื่องเด็กจมน้ำตายนี่ มีมากทุกจังหวัด ต้องพยายามกันให้มากกว่านี้ครับสำหรับการป้องกัน

คุณครูหยุยคะ ที่โรงเรียนมีการนำนักเรียนไปว่ายน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่า ว่ายนำเป็น เล่นน้ำได้หรือ(ว่ายนำเป็นเล่นน้ำตาย)เพราะเฮโลเอาเด็กไปฝึกว่ายน้ำ 7 วันติดต่อกันแบ่งตามช่วงชั้นทั้งช้าวและบ่าย แล้วจบเลยภายใน 7 วัน เพราะหมดงบประมาณแค่นั้น...ท่านผู้ใหญ่เขาคิดอะไรกันหนูอยากถามด้วยตัวเองจริง ๆ รึว่าเขาไม่เคยเป็นเด็ก เอหรือหนูว่า ตอนเด็ก ๆ เขาคงว่ายน้ำเจ็ดวันแล้วเก่งเลยทีเดียว

หนูกนกพร ความที่เล่ามานั้น ไม่ได้บอกเลยว่า ผลการเรียนของเด็กๆ เป็นอย่างไร ว่ายน้ำเป็นหรือเปล่า เพราะเห็นบางส่วนเขากล่าวว่า ฝึกไม่กี่วันก็ลอยตัวได้ ไม่จมน้ำ ว่ายน้ำได้ และช่วยคนตกน้ำได้ด้วย

แต่ก็มีเหมือนกัน นโยบายให้สอน ก็พากันเฮโลพาเด็กไปเล่นน้ำแทน ผลคือว่ายน้ำไม่เป็น งบประมาณหมด เฮ้อ

สวัสดีครับคุณครู หยุย .... ด้วยความเคารพครับ กระผมศรัทธาท่านมาก เมื่อก่อนเคยชมภาพท่านในทางทีวี และรับรู้ความรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่มีจิตใจดีงามอย่างมาก  และเป็นต้นแบบในความนอบน้อมถ่อมตนที่ให้กระผมเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต   ด้วยความเคารพครับ กระผมขอฝากบอกความรู้สึกในจิตใจของตนเอง ..... ....

กระผมตั้งปณิธานไว้ว่า วันพ่อปีนี้ ขอทำความดีให้กับแผ่นดิน ขออนุญาตินอกเรื่องจากหัวข้อบันทึก เรียนเชิญคุณครูเข้าไปเยี่ยมชมขอรับ ...

 

ด้วยความเคารพ เนิ่ม ชมภูศรี

 

โครงการจักรยานให้ลูกรัก  ครั้งที่ 2

http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=60&t=199743

ขอบคุณค่ะคุณครู...ตามที่หนูได้เล่ามานั้น เด็ก ๆ มีการลงสระครั้งละ 1 ระดับชั้น จำนวน 5 ห้องเรียนห้องเรียนละ 40 คน เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงโดยเดินทางไป- กลับ 7 วันติดต่อกัน มีสระเพียงสระเดียวค่ะ

สอนเด็กว่ายน้ำง่ายกว่าสอนผู้ใหญ่อีก  เพียงแต่ว่าเด็กในชนบทขาดโอกาสที่จะเรียนรู้อย่างถูกวิธี    อาจจะว่ายเป็นโดยบังเอิญ   ตามเพื่อนไปแล้วหัดตามเพื่อน   แต่พอไปเจอสถานการณ์ที่ทำให้ตกใจ   เด็กก็ตั้งสติไม่ได้เลยจมน้ำไปอย่างเศร้าใจ

ฝากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่เป็นอันดับแรก   ต่อมาก็ทางโรงเรียนและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรงนี้

คิดว่าหากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันแล้ว   ข่าวแบบนี้คงจะลดลงบ้างนะคะ

คุณเนิ่มครับ ผมเปิดไปอ่านโครงการจักรยานให้ลูกรัก ครั้งที่ 2 แล้วครับ น่าสนใจมากครับ จะพยายามช่วยอีกแรงนะครับ ไม่นานคงมีข่าวดีส่งไปถึงครับ

หนูกนกพร ขอบคุณสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมนะครับ อยากรู้อีกนิดว่าโรงเรียนอะไร ที่ไหน ผลการสอนเป็นเช่นไรครับ จะได้สานต่อได้ครับ หากเกรงใจไม่กล้าเอ่ยชื่อโรงเรียน โทรไปแจ้งข่าวผมไว้ที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก 02-5741381 ได้ครับ

ขอบคุณสำหรับข้อคิดจาก krugui นะครับ โดยเฉพาะทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันนั่นเอง

วิชัย ประวัติวัชรา

เรียนคุณครูหยุยครับ ผมเอาข่าวกิจกรรมการป้องกันเด็กจมน้ำ ของกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นข้อมูล ครับ (ผมพยายามเอาภาพถ่ายมาลงให้ดูแต่ลงไมได้ คุณครูลองดูจาก http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=31061 ครับ

“จุรินทร์” เผยมีเด็กไทยวัย 5-14 ปี 11 ล้านคน เสี่ยงจมน้ำตาย เหตุเพราะว่ายน้ำไม่เป็น เร่งสธ. ป้องกันเด็กจมน้ำครบ 100%

วันนี้ (6 มีนาคม 2553) ที่สวนน้ำ สยามพาร์ค ซิตี้ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานเนื่องในวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เริ่มจัดในปี 2553 เป็นปีแรกในประเทศไทย และตั้งเป้าจะลดการตายจากการจมน้ำของเด็กให้ได้ปีละอย่างน้อย 100 คน กิจกรรมภายในงาน มีการให้ความรู้เรื่องปัญหาการจมน้ำและมาตรการป้องกันในแต่ละช่วงอายุแก่ผู้ปกครองและเด็ก และจัดแข่งขันลอยตัวหมู่ในน้ำของเด็กอายุ 6-14 ปี นาน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกติกาการแข่งขันลอยตัวหมู่ที่นานที่สุดในประเทศ มีเด็กเข้าร่วมแข่งขันกว่า 250 คน ทั้งเด็กในกทม.และต่างจังหวัด รวมถึงจ.สุรินทร์ซึ่งมีเด็กจมน้ำสูงมาโดยตลอด

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กไทยอายุ 5-14 ปีที่มีจำนวน 13 ล้านกว่าคนทั่วประเทศในปี 2549 พบเด็กวัยนี้ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือจำนวน 2 ล้านคน กล่าวได้ว่ายังมีเด็กไทยที่ว่ายน้ำไม่เป็น 11 ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเสียชีวิตหากตกน้ำหรือจมน้ำ เนื่องจากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ โดยมีเด็กจมน้ำเข้ารักษาตัวและนอนในโรงพยาบาลปีละ 1,150 ราย มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีละกว่า 12 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 12,000 บาท ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสูงสุดประมาณ 201 วัน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น เนื่องจากโอกาสที่จะฝึกว่ายน้ำของเด็กไทยอยู่ในวงจำกัด การสอนว่ายน้ำที่มีอยู่ยังขาดทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำและการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การป้องกันการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด เร่งสร้างป้องกันเด็กจมน้ำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือในผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ในเดือนพฤษภาคมนี้จะจัดอบรมเพื่อให้เป็นครูสอนว่ายน้ำตามหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้หากเด็กสามารถฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้จนชำนาญ จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต และเด็กไทยก็จะไม่เสียชีวิตจากการจมน้ำ

ทางด้านนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดสำเร็จแล้ว เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเอาชีวิตรอดในน้ำ ใช้เวลาเรียน 15 ชั่วโมง โดยได้รับงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก นำร่องที่ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราชแล้ว ผลการดำเนินงานมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก บางพื้นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดต่อไป

“ดิฉันอยากเห็นเด็กไทยทั้ง 13 ล้านคนได้รับวัคซีนป้องกันการจมน้ำครบ 100% เช่นเดียวกับที่เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ ถึงแม้จะสร้างยากกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ เพราะไม่ใช่การฉีดหรือการหยอด หากทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เด็กทุกคนก็จะได้รับโอกาสนั้น ไม่ว่าเด็กจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน มีสระว่ายน้ำหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเด็กที่จังหวัดสุรินทร์และสุโขทัย ที่มีโอกาสได้รับวัคซีนตัวนี้ และได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ด้วย” นางพรรณสิริ กล่าว ในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ สามารถทำได้หลายวิธี กรณีไม่มีอุปกรณ์เกาะพยุงตัวให้ใช้วิธีลอยตัวในน้ำ เช่น การลอยตัวแบบแม่ชีลอยน้ำ แต่หากมีอุปกรณ์เช่น ขวดน้ำเปล่าพลาสติกก็สามารถใช้เกาะพยุงตัวได้ และถึงแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่หากพลัดตกลงไปในน้ำที่ห่างจากฝั่งมากๆ อาจจะไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลอยตัวอยู่ให้ได้นานที่สุด เพื่อรอการช่วยเหลือ ************* 6 มีนาคม 2553

ขอบคุณครับคุณวิชัย ผู้ที่สนใจทั้งหลายจะได้ทราบเรื่องนี้อย่างกว้างขวางขึ้นด้วยและตามไปศึกษาในรายละเอียดที่แจ้งมานะครับ ขอบคุณมากๆ เลยครับ

วิชัย ประวัติวัชรา

เรียนคุณครูหยุยอีกครั้งครับ. ผมขออนุญาตนำบทความเรื่อง เด็กไทยว่ายน้ำเป็น / วินิจ รังผึ้ง โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 13พ.ค.51 เป็นผู้หนึ่งที่ส่งบุตรชายของตัวเองเ้าเรียนว่านน้ำหลักสูตร การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด "Survival Swimming Curriculum" ของ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ Thai Life Saving Society (TLSS ) เปรียบเทียบหลักสูตร โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขแล้วนำผลที่ได้มาเขียนบทความนี้ มาเรียนเพื่อผู้สนใจทั้งหลายได้ทราบ ครับ...

เด็กไทยว่ายน้ำเป็น / วินิจ รังผึ้ง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤษภาคม 2551 13:44 น.

โดย : วินิจ รังผึ้ง

ช่วงโรงเรียนปิดเทอมภาคฤดูร้อนในเดือนมีนาคม-เมษายน หลายๆครอบครัวมักจะพาเด็กๆไปเที่ยวทะเล ไปเล่นน้ำ

เล่นทรายกันอย่างสนุกสนาน เพราะทะเลนั้นเป็นสิ่งที่เด็กๆแทบทุกคนชื่นชอบ ยิ่งในช่วงหน้าร้อนด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสุดยอด

ปรารถนาแต่จากสถิติที่น่าตกใจและหลายคนคาดไม่ถึงก็คือ ทั่วประเทศไทยในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนอายุ 1-17 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำตายราว 2,650 คน และยังมีเด็กอีกราว 3,000 รายประสบเหตุเกือบเสียชีวิตจากการจมน้ำ จากสถิติดังกล่าวแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีเด็กไทยจมน้ำตายเฉลี่ยวันละ 7 คน หรือราวทุก 3-4 ชั่วโมงจะมีเด็กๆจมน้ำตาย 1 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสีย

ชีวิตในเด็กสูงที่สุดในปัจจุบัน สูงยิ่งกว่าการเสียชีวิตจากโรคระบาดร้ายแรงใดๆทั้งสิ้น และในจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่

จมน้ำตายเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเพียง 5-9 ปี เด็กผู้ชายจะมีสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าเด็กผู้หญิง 2.5 เท่า โดยเด็กๆ

ในพื้นที่ภาคอีสานมีสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำตายมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอากาศในภาคอีสานนั้นร้อน และเด็กๆใน

ชนบทภาคอีสานซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องออกไปทำงานในไร่นา จึงเป็นโอกาสให้เด็กๆชักชวนกันแอบไปเล่นน้ำตามลำ

คลอง หนอง บึง จนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น

การจมน้ำตายของเด็กนั้นความจริงส่วนใหญ่ก็มิได้เกิดจากแหล่งน้ำที่ไกลตัวเลย โดยจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นห่าง

จากบ้านเด็กเพียง 100 เมตรจำนวน 3 ใน 4 หรือไม่ก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่นึกไม่ถึงเช่นเด็กเล็กๆที่อยู่ในวัยเพิ่งหัดเดินเตาะแตะอยู่

ในบ้าน แต่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือพี่เลี้ยงอาจจะละสายตาไปดูโทรทัศน์ วิ่งไปรับโทรศัพท์ หรือหันไปทำธุระการงานเพียงชั่วครู่

เมื่อหันกลับมาดูอีกทีก็พบว่าเด็กหัวคะมำคว่ำหน้าสำลักน้ำอยู่ในกะละมังซักผ้า กะละมังล้างจานในบ้านเสียแล้ว ซึ่งเสี้ยวเวลา

แห่งความเผอเรอหรือการทำธุระช่วงสั้นๆนั้นก็เป็นเวลาที่มากมายเพียงพอสำหรับความสูญเสียที่น่าเศร้านั้น

ทั่วประเทศไทยในแต่ละปีจะมีเด็กคลอดใหม่ราว 8 แสนคน แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือในจำนวนเด็กๆที่จำเติบโตขึ้นมาเป็น

กำลังสำคัญของชาตินั้นสามารถจะว่ายน้ำเป็นน้อยมาก โดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีอยู่ราว 13 ล้านคนนั้นจะมีเด็กที่ว่ายน้ำ

เป็นเพียงร้อยละ 16.3 เท่านั้น จึงนับเป็นความเสี่ยงกับการจมน้ำตายได้อย่างสูงยิ่ง จากปัญหาดังกล่าวทำให้กระทรวง

สาธารณสุข โดยกลุ่มป้องกันการบาดเจ็บ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ตระหนักในปัญหานี้จึงได้จัดทำโครงการ

"เด็กไทย ว่ายน้ำเป็น" เพื่อสอนให้เด็กไทยได้ "ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ ออกกำลังกายดี" โดยจัดอบรมเป็นโครงการนำ

ร่องสำหรับบุตรหลานข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยรับเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นอายุ 5-9 ปีจำนวน 104 คน มาฝึกอบรม

ทักษะการว่ายน้ำและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ การช่วยเหลือเพื่อนที่ตกน้ำอย่างถูกวิธีและปลอดภัย บริเวณสระว่ายน้ำ

ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิทยากรผู้มากประสบการณ์จากสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำมาเป็นครูฝึก โดยเริ่มอบรมตั้งแต่

เดือนมีนาคม มาสิ้นสุดเอาต้นเดือนพฤษภาคม

การอบรมครั้งนี้ผมมีโอกาสส่งเด็กชายกล้า ลูกชายจอมซนวัย 5 ขวบเศษเข้าไปรับการอบรม เนื่องจากคุณแม่ของลูก

ชายเป็นนักวิชาการอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข แรกๆก็ยังเป็นห่วงเป็นใยและไม่มั่นใจว่าเด็กชายกล้าจอมซ่าจะเรียนไปกับเขา

ได้ เพราะยังเล็กเกินไป และเคยพาไปเรียนว่ายน้ำกับครูตามสระว่ายน้ำมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ยอมว่ายเป็นสักที เอาแต่ซนเอาแต่

เล่นเอาแต่คุย ซึ่งนั่นขนาดสอนกันตัวต่อตัวยังไม่ค่อยจะคืบหน้าอะไร ยิ่งมาเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ เกรงคุณครูจะดูแลไม่ทั่วถึง

เผลอแผล็บเดียวเดี๋ยวเจ้าจอมซ่าจะลงไปดำผุดดำว่ายอยู่ก้นสระเสียก็จะยุ่ง คิดไปคิดมาอยู่หลายตลบ ในที่สุดก็ตัดใจยอมให้

ไปเข้าอบรม ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะการอบรมเขามิได้มุ่งเน้นที่จะสอนเด็กให้ว่ายน้ำเป็นเหมือน

หลักสูตรการสอนว่ายน้ำทั่วไป แต่เขาจะเน้นที่พื้นฐานของความปลอดภัยในการเล่นน้ำและการช่วยเหลือตัวเองให้ปลอดภัย

จากการจมน้ำเป็นหลัก เช่นการไม่โดดลงไปช่วยเมื่อเห็นเพื่อนตกน้ำ แต่จะช่วยเหลืออย่างถูกวิถีด้วยการตะโกนขอความช่วย

เหลือจากรอบข้าง หรือการช่วยชีวิตเพื่อนง่ายๆด้วยการใช้ขวดน้ำอัดลมพลาสติกหรือขวดน้ำเปล่าๆ ที่อยู่ใกล้ตัวโยนลงไปให้

เพื่อนเกาะเป็นชูชีพ รวมทั้งการฝึกลอยตัวในน้ำโดยการกอดขวดน้ำเปล่าเพียงขวดเดียว ซึ่งเมื่อฝึกให้ถูกท่าแล้ว เด็กๆก็

สามารถจะลอยตัวอยู่กลางผืนน้ำได้เป็นเวลานาน ก่อนที่จะประคองตัวเข้าสู่ฝั่ง ซึ่งเด็กๆทั้งเด็กเล็กเด็กโตที่เข้ารับการอบรม

สามารถทำได้ทุกคน

นอกจากนั้นยังฝึกให้เด็กๆ ฝึกลอยตัวด้วยท่าลูกหมาตกน้ำ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐานของการฝึกลอยตัวที่ง่ายที่สุด ต่อด้วยการ

ฝึกลอยตัวในท่านอนหงายกรรเชียง ซึ่งจะลอยตัวอยู่ได้นานโดยสามารถผ่อนแรงและสามารถหายใจได้สบายที่สุด เมื่อลอย

ตัวท่าลูกหมาตกน้ำได้ ท่าลอยตัวกรรเชียงได้ ครูฝึกก็สอนท่าคว่ำหน้าตีขาพุ่งไปข้างหน้าเหมือนจรวด สลับกับการวาดแขน

ช่วยในการว่ายน้ำเพื่อให้ได้ระยะทางเข้าสู่ฝั่ง โดยหากคว่ำหน้าว่ายไปไม่ไหวก็พลิกตัวใช้ท่าลูกหมาตกน้ำกับท่าหงายท้อง

กรรเชียงลอยตัวเพื่อพักหายใจสลับกันไปจนสามารถจะเข้าถึงฝั่ง ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าการฝึกใช้ทั้ง 3 ท่าสลับกันนั้น ก็

สามารถจะทำให้เด็กๆไม่ว่าจะเด็กเล็กเด็กโตที่เข้าอบรมร้อยกว่าคน สามารถจะลอยตัวว่ายน้ำข้ามสระมาตรฐานขนาดกว้าง 25

เมตรยาว 50 เมตรได้อย่างน่าทึ่ง แม้นแต่ละคนจะไม่ได้ว่ายน้ำเป็นตามท่ามาตรฐาน แต่ทุกคนก็สามารถจะช่วยเหลือตัวเอง

ด้วยการลอยตัวเอาตัวรอดจากการจมน้ำเข้าสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย

แทบไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 20 ชั่วโมงของการฝึกอย่างถูกวิธี จากหลักสูตรดีๆที่เน้นย้ำในความปลอดภัยและ

การให้เด็กๆสามารถจะช่วยเหลือตัวเองไม่ให้จมน้ำ โดยครูฝึกที่มากประสบการณ์จะสามารถมอบสิ่งสำคัญอันสูงค่า ที่จะติดตัว

กับเด็กๆ ไปตลอดชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดเมื่อผมประจักษ์ได้ในความสำเร็จเกินความคาดหมายของโครงการนี้ก็คือ ทำ

อย่างไรจะให้มีโครงการดีๆเช่นนี้ขยายตัวแพร่หลายออกไปให้เด็กๆไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสดีๆเช่นนี้บ้าง ซึ่งก็คงต้อง

วิงวอนให้รัฐบาลเห็นความสำคัญผลักดันส่งเสริมเป็นนโยบายหลักของประเทศ มีการจัดทำหลักสูตรการอบรมที่เน้นย้ำในเรื่อง

ของความปลอดภัยในการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นเป็นสำคัญมากกว่าการมุ่งเน้นไปที่การว่ายน้ำเป็นเพียงเท่านั้น รวมทั้งให้มี

การขยายเครือข่ายไปยังหน่วยงานต่างๆเช่นโรงเรียนที่มีสระว่ายน้ำ ซึ่งหลายๆโรงเรียนเช่นโรงเรียนของ กทม.ก็ได้เริ่มหลัก

สูตรว่ายน้ำเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ในเด็กระดับประถม 6 กันแล้ว หรือหากจะขยายไปยังหน่วยงานบริหารท้องถิ่นเช่น อบต.ที่มี

งบประมาณมากมายในแต่ละปี หากจะนำมาทำโครงการสร้างสระว่ายน้ำในตำบล ให้เด็กๆได้มีที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยอยู่ในสาย

ตาของผู้ใหญ่ และจัดหลักสูตรอบรมให้กับลูกหลานในท้องถิ่นก็เชื่อว่าเด็กไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการจมน้ำตายกันมาก

มายเช่นทุกวันนี้.__

ขอบคุณมากครับคุณวิชัย บทความนี้มีคุณค่าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใหญ่ทั้งหลายได้มากครับ

เรียนครูหยุย

ผมเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันการพลศึกษามากว่า 20 ปี สอนวิชาว่ายน้ำแก่ลูกศิษย์ และบุตรหลานชาวจังหวัดเพชรบูรณ์มาจำนวนมาก เด็กในเมืองมีสระว่ายน้ำ แต่เก้กตามหมู่บ้านตำบล และอำเภอต่างๆ ก็ไม่มีสระที่มาตรฐานให้บริการเด็ก แต่สระว่ายน้ำนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กว่ายน้ำเป็น หรือไม่เป็น ปัญหาพอสรุบได้ว่า

1. ปัจจุบันรัฐบาลมักไม่บรรจุผู้ที่จบวิชาพลศึกษาเข้าไปสอนในสถานศึกษามักเอครูอาชีพอื่นมาสอนแทน ทำให้ผู้เรียนโดยเฉพาะเด็กเรียนทักษะที่ไม่ถูกต้องทั้งวิชาอื่นๆ และวิชาว่ายน้ำก็มักจะไม่ได้สอนในวิชาพลศึกษาเอง หรือ วิชา ลูกเสือ เนตรนารี

2. ขาดผู้บริหารที่ตระหนักในการให้ความใส่ใจที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบยั่งยืน ไม่ให้ความสำคัญวิชาชีวิต

3. ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้บุตรหลานพาเรียนว่ายน้ำ การฝึกด้วยตนเองด้วยวิธีง่ายๆ แบบภูมิปัญยาชาวบ้านก็มี หลายวิธี

4. รัฐบาล ควรหันมารณรงค์สร้างสระเล็กให้เด็กฝึก เพิ่มอัตราครูพลศึกษาในโรงเรียน เน้น สปิริต ของความเป็นมนุษย์ รักษ์ชีวิตป้องกันภัยเป็นภูมิคุ้มกันด้านชีวิต และสุขภาพ เป็นที่น่าเสียดายเคยมีแพทย์ พยาบาล พายเรือเล่นพอเรือล่มพากันจมน้ำตาย น้ำบนโลกมี สามในสี่ไปไหนก็ไม่พ้นน้ำ วิชาการช่วยชีวิต และความปลอดภัยทางน้ำมาจากแหล่งเดียวกัน คือพลศึกษา สนามก๊ฬาแห่งชาติ

ผู้ที่สอนเป็นครูพลศึกษา บางคนไปเป็นทหาร ก็มาจากพลศึกษาทั้งหมด แต่สังคม ไม่สนใจ สนใจแต่เรื่องเรียนกวดวิชาอย่างเดียว

ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อชีวิตกันได้แล้ว

วิทยา หล่อศิริ

ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตเพชรบูรณ์

ครูเก่าสอนว่ายน้ำมากว่า 30 ปี

ช่วยเด็กได้ก็ไม่ต่ำกว่าหมื่นคน

ต้องการผุ้ร่วมคิดเพื่อช่วยเด็กให้มากกว่านี้

คนรู้..เรื่องการช่วยชีวิตและความปลอดภัยทางน้ำ ..จริงๆๆ มีอยู่ หากจะเรียกใช้ยินดีช่ยเหลือสังคม

การเรียนเพื่อช่วยชีวิตและความปลอดภัยทางน้ำใช้ทักษะทางกาย ไม่ใช้ คิดเอง พูดลอยๆ ต้องลงมือปฏิบัติผู้ที่จะช่วยได้ในเวลานี้มีอยู่ จะใช้เขาก็ได้ เพราะเขาเหล่านั้น กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคแล้ว สามารถเรียกรวมได้ ถ้าจะทำจริง

1. สถาบันการพลสึกษา

2. สถาบันการพลศึกษา 17 วิทยาเขต กระจายอยู่ตามภูมิภาคแล้ว พร้อมที่จะทำ และได้ทำมานาน แต่ละวิทยาเขต ดูแลพื้นที่รับผิดชอบวิทยาเขตละ 3 - 4 จังหวัด เช่นเวิทยาเขตเพชรบูรณ์ ดูแล จังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร เป็นต้น

3. กิจกรรมควรจะเป็นการส่งเสริมอย่างยั่งยืน จัดเข้ากิจกรรมฝึกมีหลายวิธี ต้องระดมสมองเพื่อเด็ก มาศึกษาปัยหาร่วมกัน

ทำจริง แก้ปัญหาจริงได้ เด็กเกิดทุกวัน สอนทุกปี ยังไม่พอต้องจัดให้ทั่วถึง ต้องลุยไปหาแบบถึงตัว ไม่ตั้งรับครับ ควรไม่ต้องคิดมาก

มาคิดมาคุยกัน ทำ ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น เพื่อเด็กไทยว่ายน้ำเป็น

วิทยา หล่อศิริ

วิทยา หล่อศิริ

ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตเพชรบูรณ์

0894618612

ยินดีให้คำแนะนำเรื่อง เยาวชนกับการแก้ปัญหาการจมน้ำแบบยั่งยืน

อ.วิทยาครับ จะพยายามนำความเห็นอาจารย์สื่อไปถึงฝ่ายบริหารนะครับ ผมเห็นเช่นเดียวกับอาจารย์ครับเพราะผมเองก็จบเอกพลศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ

เชิญครูหยุยไปสัมมนากันที่บันทึก...

ความงี่เง่าของเหล่า...นักกฎหมาย

อยากอ่านความคิดเห็นของครูหยุยค่ะ      

krugui ครับ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องไปสัมมนาครับ เรื่องอะไรครับจะได้แสดงความคิดเห็นได้ถูก

เรียนครูหยุย

ยินดีอย่างยิ่งที่เป็นวิชาชีพเดียวกัน การสื่อสารจะง่ายขึ้น ยินดีมากที่ความคิดได้รับการตอบรับ ก็ถือว่าได้สร้างบุญมหาศาล

แม้เป็นเป็นคำแนะนำก็ดีใจที่สุดแล้ว เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพครูหยุยว่าจะสามารถทำงานในระดับประเทศก็จะช่วยเด็กได้ทั้งประเทศ

ควรมีองค์กรภาครัฐด้านนี้โดยตรงก็ยิ่งดี ดูอย่างทีวีออสเตรเลียจะมีเจ้าหน้าที่ยามฝั่ง คอยดูแลผู้ที่มาเล่นน้ำชายทะเล ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ค่านิยมบ้านเรามองอาชีพพลศึกษาต้อยต่ำเหลือเกิน ดีใจที่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น ขอให้ความคิดของทุกท่านได้เป็นความจริง และเด็กไทยควรมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งๆ ขึ้น

เคารพรัก

วิทยา หล่อศิริ

คุณวิทยาครับ ผมกำลังพยายามสื่อไปถึงฝ่ายบริหารครับ คงน่าจะได้การตอบรับด้วยดีในโอกาสต่อไป

วิชัย ประวัติวัชรา

เรียน คุณครูหยุย ครับ

ในคราวที่แล้วผมได้ พูดถึงการเรียนว่ายน้ำหลักสูตร การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด "Survival Swimming Curriculum" และนำบทความเรื่อง เด็กไทยว่ายน้ำเป็น / วินิจ รังผึ้ง โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ผู้ที่นำลูกชายของตัวเองไปทดลองเรียนแล้วพูดถึงการเรียนหลักสูตรนี้ วันนี้ได้มีการจัดทำหลักสูตรนี้ในรูป VDO โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข และสอนโดยทีมครูสอนของ YMBA Survival Swimming ถ้าท่านใดสนใจลองไปดูชมได้ที่ youtube หรือที่ facebook/ YMBA Survival Swimming ก็ได้ครับโดยที่ facebook/ YMBA Survival Swimming จะมีทีมครูสอมมาตอบข้อสงสัยด้วยตรับ

คุณวิชัยครับ ขอบคุณมากครับสำหรับข่าวดีดีเช่นนี้ จะรีบให้เจ้าหน้าที่และคนที่ดูแลเด็กในหน่วยงานต่างๆ ได้ทราบและเปิดไปชมกันให้มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท