ผญาม่วน 7...ตีกลองน้ำ (2) สาวอีสานลงเล่นน้ำในวังวนกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด


การตีกลองน้ำก็คือการเล่นน้ำให้สนุก ๆ ในแหล่งน้ำชนบทภาคอีสาน  ใช้สองมือตีน้ำกดมือลงไปในน้ำให้ดัง  ตุ้ม  ตุ้ม..  ปุ๋ม  ปุ๋ม ก็เรียกว่าตีกลองน้ำ  หรือการตีน้ำให้ลมเข้าไปในผ้าถุงจนถุงโป่งพองลม  เรียกตีอีโป่ง  สำหรับสาว ๆ เล่นน้ำ  ก็เรียกว่าตีกลองน้ำ  คือเรียกเอาตามกิริยาใช้มือตีน้ำแล้วดังตุ้ม ๆ ว่าเหมือนการตีกลอง (ตบกลองก็เรียก)

มีคำกล่าวถึงการตีกลองน้ำในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ปรีชา  พิณทอง (2532: 374) กล่าวถึงการตีกลองน้ำในความหมายที่เก่าซึ่งผมก็ไม่เคยได้เห็นมาก่อนว่า "กลองน้ำเป็นกีฬาโบราณประเภทหนึ่ง  เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มหญิงสาวได้ใกล้ชิดจับมือถือแขนกันโดยเสรี  การเล่นชายหนุ่มหญิงสาวลงไปในน้ำ  ใช้มือของตนทั้งสองข้างตีน้ำให้มีเสียงดัง  ร้องเพลงตีกลองน้ำว่า.. ตีกลองน้ำดังมาเตอะเติ่น  เตอะเติ่นเตอะเติ่น  ตีบาดยาวยาวตีคราวเยิ่นเยิ่นตีเอิ้นบ่าวมา  ตีช้าช้าเอิ้นบ่าวไทไกล  จนว่าใบบัวเพลินปิ่นเวินอยู่ในน้ำ.."

ศัพท์ที่ควรรู้  1)  ไท : ชาว, พวก, กลุ่ม  บ่าวไทไกลจึงหมายถึงชายหนุ่มที่เป็นชาวต่างหมู่บ้านไกล     2)  ปิ่น : หมุน, หัน  เช่น กังหัน เรียกว่า หมากปิ่น  3)  เวิน : ลอย (ลอยในน้ำหรืออากาศก็ได้ เช่น นกบินเวินอยู่เทิงฟ้า : นกบินลอยอยู่บนฟ้า) (ศัพท์ยากๆ คำอื่นได้อธิบายในบันทึก ตีกลองน้ำ (1) ไว้แล้วครับ)

สังเกตุคำว่า "เตอะเติ่น" ในความหมายของท่านปรีชา  พิณทอง  กับคำว่า "เติดเติ่น" ที่ผมใช้ในบันทึกตีกลองน้ำ (1) อันเดียวกันครับ  เพียงแต่ในความที่เป็นกลอนลำแม่บทหนึ่งของลำเพลิน  ซึ่งเป็นการร้องลำที่ใช้พิณ, แคน และกลอง เล่นใส่กันในฝ่ายดนตรี  โดยพิณพระเอกของดนตรีจะมีเสียงเอกลักษณ์ว่า โตดตง  โตดตีตง...  เวลาหมอลำเพลินลำกลอนตีกลองน้ำจึงออกเสียง "เตอะเติน"  ว่า "เติดเติน ๆ" ไปในตัว

โดยความหมายคำว่า เตอะเติ่น นอกจากหมายถึงเสียงน้ำดังเวลาใช้มือตีตามที่กล่าวมาแล้ว  คำนี้หมายถึงคำขยายการหัวเราะชอบใจมาก ๆ และหัวเราะคราวละหลาย ๆ คนไปเรื่อย ๆ  เช่น คำว่า  เบิ่งตลกหนิงหน่องหัวเตอะหัวเติ่น (ดูตลกหนิงหน่องแล้วหัวเราะงอหาย) หรือ หัวเตอะเติ่น (ภาษาอีสาน  หัวเราะ พูดว่า หัว พยางค์เดียว)

                                                    Sany0521

ศิลปินตลกอีสาน หนิงหนอง (เพชรพิณทอง) ท่านหนิงหน่องนอกจากการแสดงตลกอีสาน  ท่านก็เป็นศิลปินหมอลำชั้นครูคนหนึ่ง  กับครูชาในห้องบันทึกเสียงแห่งหนึ่ง

การตีกลองน้ำเป็นการเรียกการเล่นน้ำแบบชนบทอีสานโบราณให้สนุกสนาน  จนเป็นกลอนลำในลำเพลิน  ผมเองก็ใช้ความจำในบทลำตีกลองน้ำนี่เองมาฝึกหัดดีดพิณตามคำร้อง "ตีกลองน้ำดังมาตุ้มเติ่น" จะได้โน้ตว่า "ลา ลา ซอล ลา ที ซอล มี" (สมัยหัดเล่นไม่รู้โน้ตอาศัยคลำไปตามบทลำอย่างนี้แหละครับ หมอพิณ หมอแคนสมัยเก่าทั้งหลาย)

เล่ามายาววันนี้ผมอยากเสนอปริศนาภาษิตอีสานโบราณบทที่ว่า "เตอะเติ่นวังเวินเตอะเติ่น  ผู้สาวตีกลองน้ำยามมื้อแลงเตอะเติ่น  แม่เจ้าเอิ้นเอาแล้วก็บ่มา" ครับ

ศัพที่ควรรู้  1)  ยามมื้อแลง : ในที่นี้หมายถึงเวลายามบ่ายจวนค่ำ  แลง: ค่ำ  ข้าวแลงคือข้าวมื้อเย็น    2)  เอิ้น: เรียก   (ส่วนวังเวินได้อธิบายในบันทึกแรกแล้ว)

ความหมายที่นอกจากฟังจากลำเพลินสนุก ๆ แล้ว  ในความเป็นภาษิตสอนใจท่านกล่าวว่า

1.  เตอะเติ่นวังเวินเตอะเติ่น ได้แก่  วังกิเลสพันห้า  ตัณหาร้อยแปดของมนุษย์โลก

2.  ผู้สาวตีกลองน้ำยามมื้อแลงเตอะเติ่น  ได้แก่  หนุ่มสาวหรือปวงชนทั้งหลาย  พากันลุ่มหลงอยู่ในกองกิเลสนั้น

3.  แม่เจ้าเอิ้นเอาแล้วก็บ่มา  ได้แก่  พระสงฆ์องค์เจ้าเทศนาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าสั่งสอนคนทั้งหลาย  ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ  แต่ก็ยังมีคนไม่เชื่อฟังหรือประพฤติตาม

พอสรุปได้ว่า  "วังวนแห่งกิเลสตัณหาของมนุษย์  มีมากมายนับร้อยแปดวังวนกิเลส  พันห้าวังวนตัณหา  อันหนุ่มสาวหรือปวงชนทั้งหลายพากันลุ่มหลงอยู่ในกองกิเลสตัณหานั้น  มิใยที่พระสงฆ์องค์เจ้าจะเทศนาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  สั่งสอนให้คนทั้งหลายรู้จักบาปบุญคุณโทษ  แต่ก็ยังมีคนไม่เชื่อฟังหรือประพฤติตาม  จนเกิดความทุกข์ไปทั่วแผ่นดิน"

กิริยาการเล่นน้ำของสาว ๆ ชาวอีสานด้วยความสนุกสนาน  กับความหมายแห่งปริศนาภาษิตการตีกลองน้ำก็มีดังนี้  ขอขอบคุณทุกท่านครับ

 

หมายเลขบันทึก: 160860เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ คุณครูชา

อ๋อเองย้ายตามคุณพ่อที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปอยู่ขอนแก่นตั้งแต่เป็นเด็ก ป.1 จนเรียนจบมัธยมปลาย แล้วสอบเข้ามาเรียนทันตแพทย์ จุฬา ค่ะ

สรุปว่าอยู่ขอนแก่นเกือบ 20 ปีค่ะ แต่ดูซิคะ เขียน"ลำ"ยังผิดเลยค่ะ ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้รับรู้วัฒนธรรมถิ่นที่อยู่เอาเสียเลย ต้องมาอาศัยเรียนใหม่กับครูชา นะคะ

บ้านเดิมครอบครัวอยู่จังหวัดระยองค่ะ แบบว่าย้ายๆๆๆๆไปทั่วค่ะ

ขอบพระคุณค่ะครู

อ๋อค่ะ

ลึกซึ้งกับคำสอนของคนสมัยโบราณ ครับ

คนสมัยนี้ไม่มีคำสอนแบบนี้ คอยสกิดเตือนใจ เด็กๆ เลยออกจะดื้อด้าน

เล่นเกม เล่นคอมฯ  มันข้ามขั้นตอนความเป็นมนุษย์

เรียกว่าก้าวกระโดด ก็ได้  หนักใจผู้ปกครอง และครู ที่สุด ครับ

 

 

เรียน คุณครูชา

๑. ตามมาอ่าน สนุกดีครับ

๒. การเสนอการเล่นตีกลองน้ำของสาว ๆ นี้ ในการแสดงหมอลำเพลินมักจะอ้างอิงถึงตอน "นางมโนราห์เล่นน้ำ" ในวรรณคดีเรื่อง ท้าวสีทน-นางมโนราห์ (มโนราห์) เพราะนางเอกและพี่สาว สามารถแสดงลีลาการฟ้อนกางปีกกางหางของนางมโนราห์ได้อย่างเต็มที่ ทั้ง "บินขึ้นบินลง" (ย้อนฟ้อนใส่ดนตรี) "ฮ้องเตอะฮ้องเติ่น" (ลำใส่ดนตรี) เป็นที่เพลิดเพลินสวยงามยิ่งนัก ผู้ชมผู้ฟังก็เลยประทับใจตอนนี้กันมาก  

๓. รู้สึกซาบซึ้งกับปริศนาธรรม

ขอบคุณครับ

เรียน คุณครูชา

๑. ตามมาอ่าน สนุกดีครับ

๒. การเสนอการเล่นตีกลองน้ำของสาว ๆ นี้ ในการแสดงหมอลำเพลินมักจะอ้างอิงถึงตอน "นางมโนราห์เล่นน้ำ" ในวรรณคดีเรื่อง ท้าวสีทน-นางมโนราห์ (มโนราห์) เพราะนางเอกและพี่สาว สามารถแสดงลีลาการฟ้อนกางปีกกางหางของนางมโนราห์ได้อย่างเต็มที่ ทั้ง "บินขึ้นบินลง" (ย้อนฟ้อนใส่ดนตรี) "ฮ้องเตอะฮ้องเติ่น" (ลำใส่ดนตรี) เป็นที่เพลิดเพลินสวยงามยิ่งนัก ผู้ชมผู้ฟังก็เลยประทับใจตอนนี้กันมาก  

๓. รู้สึกซาบซึ้งกับปริศนาธรรม

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีครับคุณหมออ๋อครับ
  • ดีใจที่คุณหมอเคยเป็นชาวขอนแก่นหลายปี 
  • ไม่เป็นไรครับคำว่า รำ หรือ ลำ ศิลปินบางคนลำ(ร้อง)เก่ง และฟ้อนรำสวย  ก็อยู่ใกล้ ๆ กันอยู่แล้ว
  • ขอบคุณหมออ๋อมากครับ  ติดตามทุกบันทึกคุณหมอครับ
  • สวัสดีครับลุงวอครับ
  • คำสอนโบราณอีสาน/ลาว นี่  ยิ่งจกหายิ่งซอกพ่อ  ม่วนใจออนซอนหลาย
  • ขอบคุณลุงวอให้กำลังใจครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์สนองครับ
  • ไม่เห็นท่านมาเยี่ยมยามไม่ถึงเดือน  ก็นับว่านาน
  • ใช่แล้วครับ "ในการแสดงหมอลำเพลินมักจะอ้างอิงถึงตอน "นางมโนราห์เล่นน้ำ" ในวรรณคดีเรื่อง ท้าวสีทน-นางมโนราห์ (มโนราห์)" กล่าวได้ว่าในเรื่องสีทน-มโนราห์ ภาคอีสาน/ลาว  นางเสียทีพรานบุญ  ก็เพราะเล่นตีกลองน้ำแสนม่วนเพลินกับเอื้อย ๆ ของนางนี่เอง
  • ผมเคยคุยแลกเปลี่ยนกับท่านผู้ใหญ่เกณฑ์  บ้านสาวะถี อ.เมืองขอนแก่น  ท่านเป็นสามีหมอลำจันทร์เพ็ญ  ศิริเทพ  และเป็นอดีตมือออร์แกนวงดนตรีศักดิ์สยาม  เพชรชมภู  ก่อนหน้านั้นท่านเป็นมือออร์แกนหมอลำคณะรังสิมันต์ (ความดังคณะนี้อ.สนองคงอธิบายได้ดี) ท่านเล่าว่า  เวลานางมโนราห์(นางเอกบานเย็น  รากแก่น) ฟ้อนตีกลองน้ำอย่างงามสง่าสมกับความเป็นราชินีหมอลำอยู่นั้น  จะมีตอนหนึ่งที่ลายลำเพลินของออร์แกนจะเล่นม้วนลงให้กลองเชิดเป็นสัญญาณให้ตัวแสดงพรานบุญถือบ่วงเชือกออกมา  นางมโนราห์รู้ว่าต้องได้หยุดฟ้อน  จึงพลางหันมาหลับตาน้อย(ขยิบตา) ให้หมอออร์แกนอย่าเพิ่งม้วนลายเพลงลง (ประมาณว่าฟ้อนกำลังเพลิน  ศิลป์การแสดงกำลังออก) ผู้ใหญ่เกณฑ์ก็ต้องโซโล่ออร์แกนลายลำเพลินต่อไปอีกเป็นสิบกว่านาทีจนเป็นที่พอใจของราชินีหมอลำ  จึงจะม้วนลายลงให้พรานบุญคล้องบ่วงบาศได้
  • ผมมีโอกาสทำดนตรีให้หมอลำบานเย็น  รากแก่น  และลูกศิษย์ท่านหลายชุด  แต่ก็ไม่กล้าถามเรื่องนี้  เอาไว้กล้าถามเมื่อไร  คงมีอะไรมาเล่าให้ท่านอีกนะครับ

เรียน คุณครูชา ครับ

นับว่าเป็นข้อมูลที่ดีมีคุณค่ายิ่งครับ ที่คุณครูนำประสบการณ์ส่วนตัวมานำเสนอ เพราะเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับศิลปินผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง เช่น การแสดงของหมอลำคณะรังสิมันต์ ซึ่งเป็นสุดยอดหมอลำหมู่ที่สร้างตำนานพระเอก-นางเอกระดับราชา-ราชินีหมอลำอย่าง หมอลำทองคำ เพ็งดี (ถึงแก่กรรมแล้ว) หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน (ศิลปินแห่งชาติ) และส่งทอดมาถึง หมอลำบานเย็น รากแก่น (ซึ่งปัจจุบันยังสวยอยู่ไม่สร่าง) ยากที่ใครจะเข้าถึง ยิ่งเป็นเรื่องของนักดนตรีผู้อยู่เบื้องหลังด้วยแล้ว ยิ่งไม่ค่อยมีใครซักถามถึงความไพเราะและความงามที่เกิดขึ้นในการแสดงแต่ละครั้งเป็นมาอย่างไร เพราะศิลป์แสดงจะเกิดขึ้นได้แต่ละครั้ง หมอลำกับหมอแคน (หรือหมอgan) จะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่า จะต้องรับ-ส่งจังหวะกันอย่างไร ประมาณว่า ต้องรู้ทางกัน การแสดงจึงจะออกมาได้ไพเราะสวยงามราบรื่น ยิ่งตอนนางมโนราห์เล่นน้ำด้วยแล้ว เป็นช่วงการแสดงที่ตราตรึงใจผุ้ชมผู้ฟังอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ผมจึงเข้าใจความรู้สึกของหมอลำบานเย็นว่าเหตุใดจึงไม่อยากลงจบง่าย ๆ และเห็นด้วยว่า ถ้าคุณครูจะถามเรื่องนี้กับหมอลำบานเย็นก็จะเป็นการดียิ่งครับ เพราะฉากตอนนี้สำคัญ หลายคนคงอยากจะฟังทัศนะของผู้แสดงที่ประสบความสำเร็จว่า คิดอย่างไร วางแผนอย่างไร ในการแสดงฉากตอนนี้

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์สนอง
  • ขอบคุณมากครับ 
  • ถ้ามีโอกาสคงได้ข้อมูลเพิ่มจากศิลปินท่านที่เกี่ยวข้องต่อ ๆ ไปครับ

ซำบายดีค่ะ คุณครูชา คำว่าเปิงบ้าน เป็นภาษาเหนือบ่แมนเบาะ? อยากฮู้วาครูน่ะ อายุจักขวบแล้ว? ฮ่า ๆๆๆ คือปองแท้ ฮั่นน๊า

สวัสดีครับคุณpakamon

เปิงบ้าน  ที่ผมใช้นี้  ภาษาอีสานมีความหมายสองทาง  คืออย่างที่หนึ่ง หมายถึง  ค่านิยม  แนวปฏิบัติ ที่คนยอมรับเหมือน ๆ กันทั้งหมู่บ้านก็เรียกว่า เปิงบ้าน ของหมู่บ้านนั้น ๆ    เปิงบ้านอย่างที่สองคือ  เปิงบ้านที่หมายถึง เปิงเรือน คือห้องซึ่งพ่อเฒ่า พ่อใหญ่(คุณตา) นอน มีของสูง  ของศักดิ์สิทธิ์ ของดีที่รักษาบ้านเรือนอยู่ในห้องเปิงนี้ ห้ามลูกเขย  หรือลูกสะไภ้ เข้ามาในห้องเปิงนี้  ถ้าเข้ามาถือว่า  ล่วงเปิง จะถูกว่ากล่าวตักเตือน....   ส่วนเปิงในภาษาเหนือนั้น ผมไม่ทราบครับ  ขอบคุณครับ

 

มาแว มายามฝากโตเปนลูศิษย์ แนเด้อจารย์

เปิง ในภาษาเหนือนั้นแปลว่า คัก คือ เช่น เตี่ยวนี่ใส่เปิงแต้  แปลว่า กางเกงนี้ใส่คักอีหลี ใส่คือคัก ดังนี้เป็นต้น มันคนละความหมายครับ   คงสำเนียงออกมาเหมือนกันแต่คนละความหมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท