เติมไฟให้ครูอาสา...เพื่อไทยภูเขา อ่านออกเขียนได้


.

เติมไฟครูอาสา...เพื่อไทยภูเขา อ่านออกเขียนได้

ครูกานท์

 

...

 

ผมเดินทางขึ้นมาจัดกิจกรรมค่ายให้ครูอาสา กศน.จังหวัดตาก อีกครั้ง เป็นการอบรมรุ่นที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ หลังจากได้จัดอบรมรุ่นที่ ๑ ไปเมื่อ ๑-๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ ซึ่งรวมสองรุ่นก็ ๑๓๐ กว่าคนแล้ว นับเป็นความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งของ คุณอุไรวรรณ อินทยารัตน์ ผอ.ศนจ.ตาก ซึ่งเป็นหญิงแกร่งลุยงานแบบถึงผาถึงภู และที่สำคัญอย่างมากก็คือเข้าถึงคนทำงานใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะอยู่บนยอดดอยเหน็บหนาว หรือสุดขอบปลายเขตแผ่นดินที่ทุรกันดารเพียงใดก็ตาม คุณอุไรวรรณแสดงความรู้สึกลึกซึ้งบางประโยคว่า ดิฉันไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อได้ทำงานสนองพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่ทรงมีพระเมตตาแก่เด็กๆ และชาวไทยภูเขาที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทั้งทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเสด็จเยี่ยมเป็นมิ่งขวัญกำลังใจอยู่เสมอ   

 

...

 

เรื่องการสอนให้อ่านออกเขียนได้สำหรับชาวไทยภูเขา นอกจากจะมีปัญหาด้านความทุรกันดารห่างไกลจากการสนับสนุนดูแลด้านต่างๆ และปัญหาด้านการสื่อสารเรียนรู้กับผู้เรียนที่มีพื้นภาษาในชีวิตประจำวันเป็นชนเผ่า ซึ่งส่วนมากเป็นชาว ปกากะญอ แล้ว ปัญหาด้านทักษะความรู้และศักยภาพของครูผู้สอนก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก  ซึ่งในพื้นที่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบริการไปไม่ถึงนั้น เป็นภารกิจของ กศน. หรือ ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ได้น้อมรับพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โปรดเกล้าฯ ให้ช่วยจัดการศึกษาให้ชาวไทยภูเขาให้มีโอกาสอ่านเขียนได้ และเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกำลังที่จะสามารถกระทำได้ โดยจัดทำ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ขึ้นในปี ๒๕๓๙...อันเป็นที่มาของภารกิจแห่งความมุ่งมั่นและภาคภูมิใจของชาว กศน.ที่มีส่วนร่วมทุกคน

 

...

 

หลักสูตรในการจัดอบรมครูอาสาของ กศน. ที่กล่าวถึงก็คือ การสอนให้อ่านออกเขียนได้ โดยคุณอุไรวรรณ ผอ.ศนจ.ตาก ได้มอบความไว้วางใจให้ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นผู้กำหนดเนื้อหารายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

 

๑.การจัดการเรียนการสอนปูพื้นภาษาไทยเบื้องต้นแก่ผู้เรียนที่เป็นชนเผ่า

  · การฝึกพูดเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

  · การจัดทำบัญชีคำและการฝึกเปล่งคำในบริบทชีวิตประจำวัน

  · การท่อง ก-ฮ (ก ไก่ น้อมไหว้)

  · การท่องสระ ๓๒ เสียง

  · การเขียนเส้นลีลาต่างๆ (เพื่อเป็นพื้นฐานในการเขียนตัวอักษร)

  · การฝึกเขียนพยัญชนะและสระจากง่ายไปหายาก

๒.การสอนอ่านเขียนภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้ใน ๔ เดือน

  · เดือนแรก แจกลูกและผันเสียง แม่ ก กา

  · เดือนที่สอง แจกลูก สะกดคำ และผันเสียง แม่กง กน กม เกย เกอว

  · เดือนที่สอง แจกลูก สะกดคำ และผันเสียง แม่กก กด กบ

  · เดือนที่สอง แจกลูก สะกดคำ และผันเสียง คำที่สระเปลี่ยนรูป/ลดรูป และ คำควบกล้ำ/อักษรนำ

๓.การฝึกตามข้อ ๒ ให้เน้นลำดับกระบวนการ 

  · ออกเสียงอ่านแจกลูก สะกดคำ ผันเสียง

  · อ่านคำ / อ่านเรื่อง

  · คัดลายมือ

  · เขียนตามคำบอก

๔.การจัดทำสื่อประกอบการเรียนการสอน

๕.การอ่านคิดวิเคราะห์เบื้องต้น

๖.การอ่านอย่างมีจินตนาการเชื่อมโยงกับชีวิต สังคม และวิถีการดำเนินชีวิต

๗.การเขียนบันทึก การเขียนร้อยกรอง และร้อยแก้วง่ายๆ

๘.การเขียนแผนการสอนแบบ Mind Map เน้น มุ่งผลสัมฤทธิ์ปลายทาง

 

...

 

ครูอาสาทั้งสองรุ่นโดยภาพรวมแล้วเป็นคนหนุ่มสาว ช่วงวัยระหว่าง ๒๕-๔๐ ปี มีทั้งคนไทยในพื้นราบและชาวไทยภูเขา (ปกากะญอ,ม้ง...) ส่วนมากเป็นคนในท้องที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน  ตลอด ๕ วัน ๔ คืน ของกิจกรรมค่าย ผมได้สัมผัสถึงพลังของความตั้งใจ ใฝ่รู้ อุดมการณ์และอุดมคติของพวกเขา ทำให้มีกำลังใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ ความคิด และสร้างสรรค์กิจกรรมอย่างมาก

.

...

 

...

 

บางวรรควลีของการร่วมกิจกรรมการเขียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการอบรม แม้จะไม่ได้เน้นเป็นกิจกรรมหลัก แต่ก็รู้สึกได้ถึงหัวใจใสๆ ของ ครูดอย ลองอ่านดูสิครับ...

...

..."การที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดี ความสุขต้องมาก่อน

ถ้าคนเรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ก็จะอยากเรียนรู้ อยากทำ

เรียนรู้ได้ง่าย เรียนรู้ได้ดี กล้าที่จะเรียน

ความสุขนั้นจะต้องได้จากครู

ครูที่รักเด็กๆ เข้าใจเด็ก ไม่ดุ

พูดคุย เป็นเพื่อนกับเด็กได้

สร้างกำลังใจให้เด็กอยากอยู่ใกล้ครู

จะง่ายต่อการสอนและการเรียนรู้"...

(ครูคำหล้า ไผทเสริมบุญ โรงเรียนผาล้นใต้ ต.กองก๋อย

อ.สมเมย จ.แม่ฮ่องสอน)

...

..."ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมในครั้งนี้

ได้รู้ว่าการที่จะสอนให้ชาวเขาใช้ภาษาไทยได้คล่องแคล่วนั้น

เป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีภาษาเดิมของตนมาก่อน

การออกเสียงภาษาไทยเป็นเรื่องไม่ถนัดลิ้น

ดังนั้นอุปสรรคสำคัญในการเรียนภาษาไทยของชาวเขา

คือ "การพูดไม่ชัด" ข้าพเจ้าเองก็เป็นชาวเขาเผ่าม้ง

จึงเข้าใจและพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้

การอบรมครั้งนี้ จึงได้รู้ว่าการสอนของตนเองเดินมาถูกทาง

รวมทั้งยังได้วิธีการฝึกให้นักเรียนใช้ภาษาไทยคล่องขึ้น

โดยการทำบัญชีคำสำหรับนำผู้เรียนให้ "เปล่งคำ"

และการนำบทร้อยกรองมาให้พวกเขาท่อง

ผสมกับการฝึกพูดให้มากกว่าเดิม...

ขอขอบคุณครูกานท์ที่มาช่วยชี้ทางสว่าง"...

(ครูอนุรักษ์ แสนยาเจริญกุล ครูอาสา กศน.

อ.แม่สอด จ.ตาก)

 

...

.

...

หมายเลขบันทึก: 276639เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • แวะมาซึมซับสิ่งดีงามค่ะ
  • ..."การที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดี ความสุขต้องมาก่อน

    ถ้าคนเรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ก็จะอยากเรียนรู้ อยากทำ

    เรียนรู้ได้ง่าย เรียนรู้ได้ดี กล้าที่จะเรียน

    ความสุขนั้นจะต้องได้จากครู

  • นับว่าเป็นการถ่ายทอดพลังความสุขจากคุณครูสู่ศิษย์ได้เลยค่ะ

  • จากประสบการณ์ของศิลาเอง เวลาที่เห็นคุณครูผู้สอน สอนอย่างมีความสุข ก็จะเกิดฉันทะที่จะเรียนรู้อย่างมีความสุขเช่นกันค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะ  

สวัสดีค่ะ

ตามมาจากอนุทิน คุณครูต้อย ค่ะ

อ่านแล้วยิ้มค่ะ

เป็นคนนึงที่ต้องทำงานกับเด็กชาวเขา รู้สึกชื่นชมกิจกรรมนี้มากค่ะ

กราบเรียนครูกานท์ที่เคารพรักและทุ่งสักที่คิดถึง

อยากให้ครูมาจัดกิจกรรมทางจ.แม่ฮ่องสอนบ้างค่ะ ที่นี่มีปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กันทุกโรงเรียน เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา แล้วอาจทำให้บุคลากรครูหลายท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ เด็กที่โรงเรียนของหนูตอนนี้ท่องอาขยานโดยไม่ต้องเปิดสมุดดูได้แล้วนะคะครู ตอนนี้หนูกำลังทดลองการแก้ปัญหาตามแนวทางในหนังสือของครูอยู่นะคะ แต่ก็ยังไม่ค่อยถึงไหนเลย เพราะหนูเองต้องเวียนสอนวิชาอื่นไปด้วย แล้วช่วงที่ผ่านมาเด็กต้องไปแข่งกีฬาในเมืองหลายวัน แถมมีวันหยุดยาวเลยไม่ต่อเนื่อง คิดถึงครูและทุ่งสักมากเลยค่ะ

เรียนคุณครูกานท์ที่เคารพอย่างสูง 

  • เข้ามาอ่านเรื่องราวของการจัดกิจกรรมเพื่อคุณครูชาวเขา  น่าชื่นใจนะคะ  ที่มีคนคิดถึงพวกเขา  และร่วมแรงร่วมใจไปแก้ไขปัญหาให้เด็ก ๆ ชาวเขา
  • วันนี้ครูตาก็จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ เข้าค่ายภาษาไทยเช่นกันค่ะ  ตั้งใจจะเขียนเล่าใน Blog เหมือนกันค่ะ  ได้นำความรู้จากการเข้าค่ายกับคุณครูไปใช้หลายเรื่องค่ะ 
  • คุณครูกานท์  รักษาสุขภาพด้วยนะคะ 

                        

                         

  • อาจารย์ศิวกานท์ครับ ขออนุญาตลิ๊งค์เรื่องราวของทุ่งสักอาศรม ไปที่เวทีคุยกันของคนหนองบัว นครสวรรค์นะครับ
  • คิดถึงและติดตามอ่านงานของอาจารย์อยู่เสมอครับ อาจารย์ไปได้ไกลมากเลยนะครับ หากมีโอกาสจะมานั่งตกผลึกหาบทเรียนกันกับอาจารย์ครับ
  • มีความสุขและมีไฟสร้างสรรค์อยู่เสมอครับ
  • ขอบคุณความหมายการมีอยู่

ขอบคุณคุณครูของความหมาย

ขอบคุณความรู้จักทักทาย

ขอบคุณความไม่ตายของไมตรี

  • ขอบคุณถนนสายไฟฟ้าสถิต

ขอบคุณเข็มทิศและสารถี

ขอบคุณทุกถ้อยคำแห่งภาคี

ขอบคุณโลกใบนี้ซึ่งมี "เรา"

...

ขอบคุณครูกานท์ที่สั่งสอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท