ห้องเรียนกวี 1 กลอนล้อบทครู


อย่างแรกคือจะต้องท่องกลอนครูให้ได้ให้คุ้นเสียงและจังหวะกลอนจนขึ้นใจเสียก่อน เหมือนพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านก่อนจะ เป็นเพลง ร้องได้ด้นได้ ต่างก็ท่องและร้องกลอนเพลงของครูเพลงมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น เมื่อจับคำจับจังหวะของกลอนครูได้แล้วก็ร้องเล่นได้ จากนั้นก็ ด้นแยกแตกคำ ล้อบทครูบ้าง แยกทางของเนื้อหาแตกต่างจากบทครูออกไปบ้าง ในที่สุดก็สามารถขึ้นเพลงเองได้ ด้นกลอนร้องเล่นสดๆ ได้

ห้องเรียนกวี 1

กลอนล้อบทครู

ครูกานท์

 

        ดังเรื่องราวที่เขียนไว้ในบล็อก "บทความเชิงวิชาการ" เรื่อง "ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้" นั้น ได้พูดถึงประเด็นสำคัญของการที่ใครสักคนหนึ่งจะเขียนกลอนได้ อย่างแรกคือจะต้องท่องกลอนครูให้ได้ให้คุ้นเสียงและจังหวะกลอนจนขึ้นใจเสียก่อน เหมือนพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านก่อนจะ เป็นเพลง ร้องได้ด้นได้ ต่างก็ท่องและร้องกลอนเพลงของครูเพลงมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น  เมื่อจับคำจับจังหวะของกลอนครูได้แล้วก็ร้องเล่นได้ จากนั้นก็ ด้นแยกแตกคำ ล้อบทครูบ้าง แยกทางของเนื้อหาแตกต่างจากบทครูออกไปบ้าง ในที่สุดก็สามารถขึ้นเพลงเองได้ ด้นกลอนร้องเล่นสดๆ ได้ โดยไม่ต้องเรียนฉันทลักษณ์ หรือ แผนผัง ของกลอนเพลงพื้นบ้านนั้นๆ ซึ่งต่างจากที่ครูภาษาไทยโดยทั่วไปมักใช้วิธีสอนกาพย์กลอนแก่นักเรียนด้วยการ ยกแผนผังตั้งตัวบท แล้วเด็กๆ ก็ไปไม่ถึงไหน รายละเอียดนอกจากนี้คลิกไปอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความดังกล่าวครับ

       ดังนั้นบนเวทีโรงเรียนกวีออนไลน์โพสนี้จะถือโอกาสเชิญชวนมวลมิตรสมาชิก ทั้งที่ลงนามสมัครเป็นสมาชิกแล้วและที่จะลงนามสมัครเพิ่ม มาเล่น กลอนล้อบทครู กันครับ  กติกาที่ต้องขอร้องกันเป็นเบื้องต้นก็คือให้ทุกคนที่จะเขียนล้อบทครูที่ยกมา ได้เริ่มอ่านบทครูนั้นด้วยวิธีการอ่านออกเสียงสักสองสามเที่ยว เสมือนเป็นการท่องให้คุ้นคำ คุ้นเสียง ทั้งเสียงสัมผัสและเสียงคำลงท้ายในแต่ละวรรค ขณะเดียวกันก็จับจังหวะสังเกตท่วงทำนองกลอน ให้กลมกลืนกับธรรมชาติของคำและความรู้สึก  จากนั้นจึงค่อยเขียนล้อบทครู อาจเริ่มล้อด้วยการเปลี่ยนแปลงคำวรรคใดวรรคหนึ่งก่อน แล้วค่อยล้อเพิ่มมากกว่าหนึ่งวรรค โดยยังคงคำหรือคงเสียงสัมผัสเดิมไว้ไม่ให้พลาดเสียง เพื่อกลอนบทล้อนั้นจะได้ไม่ผิดฉันทลักษณ์ ครั้นเมื่อชำนาญแล้วก็อาจเล่นล้อได้ทั้งบทนั้นเลย คือล้อแค่ความหมาย แต่ใช้สัมผัสของผู้ล้อเอง ลองดูนะครับ

      สมาชิกที่ลงนามความจำนงไว้ขณะนี้มี ๖ ท่าน ดังนี้ครับ

หมายเลข 1 คุณเนปาลี

หมายเลข 2 คุณวิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 คุณเพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 คุณกวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 คุณ apple

หมายเลข 6 คุณพรรณา ผิวเผือก

     ขอเชิญทุกท่านร่วมสนุกนำร่องได้เลยครับ  สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงนามความจำนงเป็นสมาชิกก็ร่วมเล่นด้วยได้ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด เพียงแต่ว่าครูกานท์อาจไม่กล้าพูดถึงผลงานของท่าน เหมือนกับที่จะพูดถึงผลงานของสมาชิก (ในกรณีที่มีประเด็นควรสื่อสาร) ถ้าท่านใดยังไม่ได้อ่านกติกาง่ายๆ ของการสมัครสมาชิกก็อาจย้อนไปอ่านได้ในโพสก่อนหน้านี้นะครับ

 

     บทครู ที่กำหนดให้เขียนล้อมีดังนี้

      “เสียงดอกไม้"

 

     เสียงดอกไม้ริมทางดอกหนึ่ง

     ตัดพ้อกับผึ้งน้อยน้อยว่า

     "มาเถิดที่รัก...ถ้าอยากมา

     ไปเถิดที่รักจ๋า...ถ้าอยากไป"

 

    

  (ไม้ตะปูและหัวใจ,จันทร วรลักษณ,พิมพ์ครั้งที่สาม ๒๕๕๑,หน้า ๒๔)

หมายเหตุ

      กรุณาล้อให้สนุก แต่สุภาพ นะครับ

 ตัวอย่าง บทล้อ เช่น...

      [1] เสียงดอกไม้ริมทางดอกหนึ่ง

      ตัดพ้อกับผึ้งน้อยน้อยว่า

      "เพลาเพลาบ้างที่รัก...พักสายตา

      อย่าลวงเล่ห์เสน่หา...เช่นนั้นเลย"

      ...

      ครูกานท์

 

 

หมายเลขบันทึก: 230617เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2008 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (63)
  • ธรรมสวัสดีมีสุขโยมครูกานท์
  • ขอสมัครเป็นผู้อ่านก่อนก็แล้วกัน
  • อ่อนด้อยในเรื่องเขียนบทกลอน
  • แต่ก็จะพยายามร่วมเขียนบ้างในบางโอกาส
  • ขอเวลาสักหน่อย...ให้มีความสุข ความเจริญ
  • ธรรมรักษา

นมัสการขอบพระคุณ

ธรรมสันติ

อายุบวร

สวัสดีคะคุณครู

หนูก็ขอเป็นผู้อ่านค่ะ

ยังเด็กน้อยด้อยกลอนอักษรศิลป์คร๊า

  • ไหนลองอ่านออกเสียงให้ครูฟังซิเทียนน้อย

เสียงดอกหญ้าแผ่วไหวคล้ายกระซิบ....      อยู่ไกลริบจากสายตามาถึงหู

ยินดอกไม้กับผึ้งย้อนกลอนคุณครู....         จึงได้รู้เธอเลือกทางว่าอย่างไร

  • มาแล้ว สมาชิกหมายเลข2 คุณวิโรจน์ พูลสุข
  • กลอนล้อของคุณวิโรจน์สามารถกระโดดข้ามจากการล้อเพียงวรรคใดวรรคหนึ่งเป็นล้อทั้งบทเลย แล้วก็ไม่ผิดฉันทลักษณ์ด้วย นี่แสดงว่าจับจังหวะและฉันทลักษณ์อยู่หมัดแล้วกระมัง คุณวิโรจน์ทำได้ดีทีเดียวครับ โดยเฉพาะวรรคลงท้ายทำให้สามวรรคที่เขียนมาข้างหน้าสมบูรณ์ลงตัวดียิ่ง แถมได้ความอย่างมีมิติอีกด้วย
  • มีข้อควรพิจารณานิดหนึ่ง นั่นคือคุณวิโรจน์เขียน "คำผิด" อยู่คำหนึ่ง คำไหน...ลองหาดูนะครับ

อ่าหนูหาไม่เจอค่ะ ไกลริบหรือเปล่าค่ะ "ไกลลิบ" มั่ว อิอิอิ

คุณเทียนน้อยตาแหลมคมสมควรย่อง...   ไกลลิบมองเผลอไผลไม่ทันเห็น

ขอขอบคุณครูกานต์ท่านจัดเจน...            สมควรเป็นครูดีที่ศิษย์ตาม

  • คุณวิโรจน์ยังคงเป็นวัยรุ่นใจร้อนอีกแล้ว ความเห็นที่ ๘ ลองตรวจคำอีกครั้งดีไหม หรือเทียนน้อยจะพบก่อนก็ได้เลย
  • สมควรย่อง ส่วนคำนี้ไม่ไม่ได้เขียนผิด แต่ทำให้ความหมายในวรรคแรกฟังพิกลๆ อยู่นะครับ

ลงทะเบียนสมาชิกล่าสุด

  • หมายเลข 1 คุณเนปาลี
  • หมายเลข 2 คุณวิโรจน์ พูลสุข
  • หมายเลข 3 คุณเพ็ญศรี (นก)
  • หมายเลข 4 คุณกวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา
  • หมายเลข 5 คุณ apple
  • หมายเลข 6 คุณพรรณา ผิวเผือก
  • หมายเลข 7 คุณแสงศรี
  • หมายเลข 8 คุณพิมล มองจันทร์

 

 

Bee04
 *ผึ้งท้องลาย สลับเหลืองดำ 


เสียงไม้ดอกงอกข้างเส้นทางหนึ่ง
บ่นกับผึ้งสหายท้องลาย ว่า

"บินไปเถิดที่รัก อย่าชักช้า
เดี่ยวคนบ้ายิงกระต่ายอาจตายเอย"

(คนบ้าจ้องจะยิงกระต่าย แต่ผึ้งอาจโดนลูกหลง ดอกไม้ที่เป็นเพื่อนกับผึ้งจึงร้องเตือน สหาย) ครับ :)

โถ ช่างเป็นห่วงเพื่อน ขนาด ดอกไม้ ยังรักและห่วงเพื่อน ไม่รู้ว่าคุณผึ้ง (สหายผู้มีท้องลาย) จะเชื่อคำเตือนของ คุณดอกไม้มั้ยนะ) สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ดอกไม้ไม่เอ่ยวาจา

ภุมราไม่มีใจใคร่สน

จะมา จะไป เวียนวน

ก็เรื่อง ของคน ไม่สนใจ

  • ธุ  ครูกานท์ค่ะ..

 

เสียงดอกไม้ดอกน้อยดอกหนึ่ง

กระซิบบอกผึ้งน้อยไปว่า

"มาจูบฉันสิ..ถ้าอยากมา

หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป"

เสียงดอกไม้ริมทางดอกน้อยน้อย

กระซิบบอกหิ้งห้อยออกไปว่า

"ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา

ชีวิตเก่าของข้าฯกำลังจะไป "

ขอสมัครเป็นสมาชิกด้วยคนครับคุณครู

ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

  • ลงทะเบียนรับสมาชิก

"""""""""""""

หมายเลข 1 เนปาลี

หมายเลข 2 วิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 เพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 กวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 apple

หมายเลข 6 พรรณา ผิวเผือก

หมายเลข 7 แสงศรี

หมายเลข 8 พิมล มองจันทร์

หมายเลข 9 ศรีกมล

  • แต่ละคนมีดอกไม้ในความคิด

ผึ้งคงอยากจุมพิตเมื่อบินผ่าน

ขอชื่นชมชื่นใจไม่วิจารณ์

แอบคิดการบางอย่าง...เป็นรางวัล

  • รางวัลล้อบทครู - ไม่รู้สิ

น่าดำริไม่น้อย...ใช่ไหมนั่น

ขอความเห็นสมาชิก...ช่วยยืนยัน

ช่วยสร้างทางสร้างสรรค์วรรณกวี

.

ครูกานท์ตั้งใจอ่านทุกคำเขียนของทุกคน ขณะยังไม่มีคำถามสำคัญใด ก็จะขอเว้นการวิจารณ์ไว้ก่อนครับ

และแอบคิดการบางอย่างดังที่เขียนไว้ในกลอนนั่นแหละ...ขอเชิญสมาชิกทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย...

เอาเป็นว่าขออยู่ในทำเนียบลูกศิษย์ครูได้ไหมครับ อาจมีการจัดเสวนาประสานัก(อยาก)เขียน เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ได้รู้จักกันจะได้สร้างองค์กรกานท์กวีอีกด้วย

  • ครูกานท์ตั้งใจว่าเมื่อสมาชิกทุกคนได้ร่วมสนุกกับการแต่ง กลอนล้อบทครู ครบแล้ว จึงจะข้ามไปห้องเรียนกวีห้องต่อไป ขณะนี้มีสมาชิกท่านใดบ้างที่ยังไม่ได้มาร่วมสนุกที่ ห้องเรียนกวี 1 นี้ สมาชิกที่มีส่วนร่วมแล้วช่วยตามเพื่อนมาทำหน้าที่ด้วยนะครับ สมาชิกที่ทำหน้าที่มีส่วนร่วมแล้ว ดังนี้

.

เสียงดอกหญ้าแผ่วไหวคล้ายกระซิบ....

อยู่ไกลริบจากสายตามาถึงหู

ยินดอกไม้กับผึ้งย้อนกลอนคุณครู....

จึงได้รู้เธอเลือกทางว่าอย่างไร

(วิโรจน์ พูลสุข)

.

เสียงไม้ดอกงอกข้างเส้นทางหนึ่ง

บ่นกับผึ้งสหายท้องลาย ว่า

"บินไปเถิดที่รัก อย่าชักช้า

เดี่ยวคนบ้ายิงกระต่ายอาจตายเอย"

(กวิน)

.

ดอกไม้ไม่เอ่ยวาจา

ภุมราไม่มีใจใคร่สน

จะมา จะไป เวียนวน

ก็เรื่อง ของคน ไม่สนใจ

(พิมล มองจันทร์)

.

เสียงดอกไม้ดอกน้อยดอกหนึ่ง

กระซิบบอกผึ้งน้อยไปว่า

"มาจูบฉันสิ..ถ้าอยากมา

หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป"

(เนปาลี)

.

เสียงดอกไม้ริมทางดอกน้อยน้อย

กระซิบบอกหิ้งห้อยออกไปว่า

"ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา

ชีวิตเก่าของข้าฯกำลังจะไป "

(ศรีกมล)

 

สวัสดีครับคุณครู กานท์

ถ้าไม่จำกัดอายุ ขอป็นศิษย์ด้วยครับ

ขอบคุณมากครับที่ "จุดประกาย"

ยินดีต้อนรับ บังหีม เป็นสมาชิกคนที่ ๑๐ ครับ เมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็เริ่มโพส กลอนล้อบทครู เลยสิครับ

สรุปสมาชิก โรงเรียนกวีออนไลน์ ล่าสุด

หมายเลข 1 เนปาลี

หมายเลข 2 วิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 เพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 กวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 apple

หมายเลข 6 พรรณา ผิวเผือก

หมายเลข 7 แสงศรี

หมายเลข 8 พิมล มองจันทร์

หมายเลข 9 ศรีกมล

หมายเลข 10 บังหีม

...

ดอกไม้งามข้างทางร้องสั่งว่า

ไปเถิดหนาอย่ารอก่อเภทภัย

คนใจบาปหยายช้าหิวกระหาย

มันทำลายโลกสวยด้วยมือมาร

สวัสดีค่ะอาจารย์

* ดิมทีครูพรรณา สมัครเป็นคนอ่านค่ะ แต่คงเข้าผิดห้องเรียน

* แต่งกลอนไม่เป็นค่ะ

* แต่ไหนๆ ก็เข้าห้องลงทะเบียนเรียนแล้ว เผื่อจะได้ D+

* เอาเป็นว่าขอล้อคุณกวินนะคะ ไม่กล้าล้อครูกลัวสอบตกค่ะ

              ไม่ทันสิ้นดอกไม้ร่ายคำกล่าว

           ขายาวยาวก้าวลงตรงที่หมาย

          ดอกไม้ผึ้งตื่นอกจิตตก อ๋าย!

          กระต่ายเต้นขอบใจเพื่อนภุมรา

สวัสดีค่ะอาจารย์

* ดิมทีครูพรรณา สมัครเป็นคนอ่านค่ะ แต่คงเข้าผิดห้องเรียน

* แต่งกลอนไม่เป็นค่ะ

* แต่ไหนๆ ก็เข้าห้องลงทะเบียนเรียนแล้ว เผื่อจะได้ D+

* เอาเป็นว่าขอล้อคุณกวินนะคะ ไม่กล้าล้อครูกลัวสอบตกค่ะ

              ไม่ทันสิ้นดอกไม้ร่ายคำกล่าว

           ขายาวยาวก้าวลงตรงที่หมาย

          ดอกไม้ผึ้งตื่นอกจิตตก อ๋าย!

          กระต่ายเต้นขอบใจเพื่อนภุมรา

  • ธุ ครูกานท์ค่ะ..

เหลืออีกครึ่งห้องเรียนค่ะ  ครู ^^

เนปาลี...ไปตามเพื่อนมาเร็วๆ ซิครับ

  • ธุ ครูค่ะ..

ต้อมไปตามสมาชิกที่เหลือให้มาส่งการบ้านแล้วค่ะ ^^

เสียงดอกไม้ ....พลิ้วไหวในพงหญ้า

ไม่ได้มาอวดองค์ .....โฉมไสว

ใครใคร่เห็นใคร่มอง.......ต้องเพ่งไป

หรือจะผ่านเลยไป......ไม่ว่ากัน

ไม่ทราบว่าจะใช้ได้มั้ย..ครับ ครู

ต้้องขอโทษด้วยครับที่ส่งการบ้าน.....ช้า

ส่งการบ้านค่ะ

เสียงไม้ดอกแว่วหวานวานบอกผึ้ง เสียงซื้งซื้งจากใจไขขานว่า

เรากับเจ้าเอื้ออาทรต่อกันมา วัฏจักรนี้พาโลกให้ปลอดภัย

พอไหวมั๊ยค่ะครู

พรุ่งนี้ครูกานท์ตั้งใจจะประกาศผลการเขียน กลอนล้อบทครู ว่าใครล้อได้น่าสนใจที่สุดนะครับ จะประทับตราทุ่งสักอาศรมให้เป็นที่ระลึกอีกด้วย ใครยังไม่ได้ทำหน้าที่สมาชิกเร็วๆ หน่อยนะ หรือใครที่ล้อแล้วบทหนึ่ง อยากจะล้อเพิ่มอีกก็ได้ บางทีบทที่สองอาจดีกว่าบทแรกก็ได้

ขณะนี้ครูกานท์ แอบอ่าน...เห็นข้อควรแนะนำหลายประการทีเดียว

บางคนสัมผัสซ้ำ

บางคนสัมผัสสั้น-ยาว

บางคนใช้เสียท้ายวรรคผิด

บางคนใช้คำไม่เหมาะความ ฯลฯ

เก็บไว้ก่อน ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันเองไปพลางก่อน บางครั้งก็อาจเข้าใจเองได้ไม่ยาก หรือใครใจร้อนจะถามอะไรในห้องเรียนนี้ก่อน (ก่อนที่จะย้ายไปเรียนรู้กันในห้องเรียนต่อไป) ก็ได้เลย...

เสียงดอกไม้ ....พลิ้วไหวในพงหญ้า

ไม่ได้มาอวดองค์ .....โฉมไสว

ใครใคร่เห็นใคร่มอง.......ต้องเพ่งไป

หรือจะผ่านเลยไป......ไม่ว่ากัน

ไม่ทราบว่าจะใช้ได้มั้ย..ครับ ครู

ต้้องขอโทษด้วยครับที่ส่งการบ้าน.....ช้า

  • ธุค่ะ..

สงสัย "การบ้าน" ของต้อมต้องตกซ้ำชั้นแน่ๆ เลย T_T

พรุ่งนี้ครูกานท์ตั้งใจจะประกาศผลการเขียน กลอนล้อบทครู ว่าใครล้อได้น่าสนใจที่สุดนะครับ จะประทับตราทุ่งสักอาศรมให้เป็นที่ระลึกอีกด้วย ใครยังไม่ได้ทำหน้าที่สมาชิกเร็วๆ หน่อยนะ หรือใครที่ล้อแล้วบทหนึ่ง อยากจะล้อเพิ่มอีกก็ได้ บางทีบทที่สองอาจดีกว่าบทแรกก็ได้

ขณะนี้ครูกานท์ แอบอ่าน...เห็นข้อควรแนะนำหลายประการทีเดียว

บางคนสัมผัสซ้ำ

บางคนสัมผัสสั้น-ยาว

บางคนใช้เสียงท้ายวรรคผิด

บางคนใช้คำไม่เหมาะความ ฯลฯ

เก็บไว้ก่อน ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันเองไปพลางก่อน บางครั้งก็อาจเข้าใจเองได้ไม่ยาก หรือใครใจร้อนจะถามอะไรในห้องเรียนนี้ก่อน (ก่อนที่จะย้ายไปเรียนรู้กันในห้องเรียนต่อไป) ก็ได้เลย...

มาชมกลอนคุณ  เนปาลี ครับที่ว่า

เสียงดอกไม้ดอกน้อยดอกหนึ่ง กระซิบบอกผึ้งน้อยไปว่า "มาจูบฉันสิ..ถ้าอยากมา หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป

ปกติการใช้คำซ้ำ กวีไม่นิยมใช้ แต่คุณเนปาลี ใช้คำว่า ดอก ซ้ำ 3 ครั้ง แต่กลับทำให้กลอนลงตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ ส่วนเนื้อหาก็ เป็นเชิงตัดพ้อ (เข้ากับสัญลักษณ์ ที่ใช้ เพราะ ผึ้ง+ภมร นิยมเป็นสัญลักษณ์แทนผู้ชาย ดอกไม้ เป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิง)

อีกท่านหนึ่งคือกลอนของ ท่านอาจารย์ ศรีกมล ที่ว่า

เสียงดอกไม้ริมทางดอกน้อยน้อย กระซิบบอกหิ้งห้อยออกไปว่า "ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา ชีวิตเก่าของข้าฯ กำลังจะไป

ถ้าจะเทียบกันในเรื่องการใช้สัญลักษณ์ ของกวินเอง และคุณ เนปาลี ก็จะใช้ ผึ้ง และ ดอกไม้ในเชิง เพศชายเพศหญิง (ที่มีความเกี่ยวพันธ์ในบษนะมิตรสหาย) แต่ ท่านอาจารย์สำหรับท่านอาจารย์ ศรีกมล ใช้สัญลักษณ์ให้ลึก เข้าไปอีก คือ นำ ดอกไม้+หิ่งห้อย เป็นสัญลักษณ์ของ ความมีอายุสั้น (เกิดแล้วก็ ดับไป สะท้อนให้เห็นหลักไตรลักษณ์) เพราะดอกไม้เมือเทียบอายุกับ ต้นไม้ ดอกไม้ย่อมมีอายุสั้นกว่าต้นไม้ และหิ่งห้อย (ผู้มีแสงสว่างในตัวเอง) เมื่อเทียบอายุกับ ดวงอาทิตย์ (ผู้มีแสงสว่างในตัวเอง) หิ่งห้อยย่อมมีอายุที่สั้น กว่าดวงอาทิตย์ และ อาจารย์ ศรีกมล เลือกใช้คำว่า กระซิบ ในท่อนที่ว่า กระซิบบอกหิ้งห้อยออกไปว่า "ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา ชีวิตเก่าของข้าฯ กำลังจะไป

ทำให้เกิด
 ได้อารมณ์มากกว่าปกติ เพราะคนที่ ท้อถอยกับชีวิต หรือมีชีวิตที่รอ ความตาย เช่นดอกไม้ที่กำลังจะเหี่ยวเฉา ย่อมที่จะกระซิบด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบา ปนหดหู่ (ซึ่งหากกลอนท่อนนี้ใช้คำว่า) ตะโกน บอกหิ้งห้อยออกไปว่า "ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา ชีวิตเก่าของข้าฯ กำลังจะไป (ก็อาจจะได้อีกอารมณ์หนึ่ง แต่เมื่อใช้คำว่า กระซิบ ทำให้อารมณ์กลอนดูยิ่งเศร้าสะเทือนใจเข้าไปอีก) ครับ

ปล. กวินขอทำหน้าที่ ที่ปรึกษา (ตามที่ได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์) และช่วยอาจารย์วิพากษ์กลอนตามกำลังของ มโนมยจักษุ  (ถือว่าเป็นการบ้านส่งการบ้านให้อาจารย์ด้วยนะครับ) มีอีกหลายๆ ท่านที่แต่งได้ดี อย่างไรก็ร่วมกันแดงความคิดเห็นไว้ก็จะดีมากๆ เลยครับ

ขออนุญาตครูกานท์ค่ะ

  • ธุ คุณกวินค่ะ..

เสียงดอกไม้ดอกน้อยดอกหนึ่ง

กระซิบบอกผึ้งน้อยไปว่า

"มาจูบฉันสิ..ถ้าอยากมา

หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป"

 

ตอนแรกที่จะส่งกลอนบทนี้เข้าร่วมสนุก    ก็คิดเหมือนกันนะคะว่าการใช้คำว่า "ดอก" ถึงสามที่นั้นเป็นเรื่องที่ควรจะเลี่ยงเสียด้วยซ้ำ    แต่ก็คิดอีกทางก็คือ..ตามความรู้สึกของตัวเอง (ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องฉันทลักษณ์ใดๆ เลย) และส่งร่วมเพื่อความสนุก   และพออ่านทวนแล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันขัดหู    จึงใช้ค่ะ ^^ 

ตามความรู้สึกของตัวเอง  ถ้า "ดอกไม้" หมายถึงผู้หญิง    "ผึ้ง" ก็ต้องเป็นผู้ชาย  เลยให้ดอกไม้ออกอาการตัดพ้อน่ะค่ะว่า.. 

"มาจูบฉันสิ..ถ้าอยากมา

หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป"

 

ขอบพระคุณที่มาตรวจการบ้านค่ะ ^^

สวัสดครับครูกานท์

ขอสมัครเป้นศิษย์ด้วยคนนะครับ

ถ้าไม่จำกัดว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

แหมอ่านแล้วประทับใจจังเลย...เป็นนักอ่านที่ดีมาสิบห้าปี

ก็อยากจะเขียนกลอนเพราะๆกับเขาบ้างครับ

ฝากเนื้อฝากตัวด้วยกันและนะครับ

ขอบคุณคุณกวิน (สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา)

ไม่ผิดหวังเลยครับสำหรับการทำหน้าที่+ความมีน้ำใจ

ขอบคุณคุณเนปาลี

ที่ช่วยเป็นธุระไปติดตามเพื่อนๆ มาร่วมสนุก

ความเห็นอื่นๆ เกี่ยวกับกลอนของสมาชิก ครูกานท์ขอ "อุบ" เอาไว้ก่อน

พรุ่งนี้ค่อยคุยกัน

วันนี้จะรออ่านบทกลอนของสมาชิก...

และขณะนี้เราก็ได้น้องใหม่อีกคนหนึ่งแล้ว

คือ คุณฉัตร ได้หมายเลข 11 ครับ

ใครจะรับน้องอย่างไรก็ได้เลย

หมายเลข 1 เนปาลี

หมายเลข 2 วิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 เพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 กวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 apple

หมายเลข 6 พรรณา ผิวเผือก

หมายเลข 7 แสงศรี

หมายเลข 8 พิมล มองจันทร์

หมายเลข 9 ศรีกมล

หมายเลข 10 บังหีม

หมายเลข 11 ฉัตร

เนื่องจากพรุ่งนี้เช้าครูกานท์อาจไม่ว่าง ดังนั้นที่กำหนดว่าจะแจ้งประกาศผลการพิจารณา กลอนล้อบทครู ในวันพรุ่งนี้ จึงถือโอกาสแจ้งในคืนนี้

จากที่ได้อ่านทุกบทกลอนล้อของสมาชิก โรงเรียนกวีออนไลน์ แล้ว เห็นสมควรชื่นชมเป็นตัวอย่างสัก ๒ บทครับ คือบทล้อของ คุณเนปาลี และบทล้อของ คุณศรีกมล ดังที่พิมพ์และประทับตราทุ่งสักอาศรมร่วมกันไว้นี่ไงครับ

ส่วนข้อสังเกต เสนอแนะ และข้อคิดความเห็นของครูกานท์ เดี๋ยวจะมาพิมพ์ต่อในช่อง ความคิดเห็น ต่อไปครับ

 

 

  • ความเห็นเกี่ยวกับสำนวนที่ได้รับการประทับตรา
  • กลอนล้อบทครูของคุณเนปาลี มีความลงตัวในจังหวะกลอนดี ได้อารมณ์ดี คือ อารมณ์เธอ ส่วนกลอนล้อบทครูของคุณศรีกมลมีลีลาสะบัดสะบิ้งตามจังหวะของคำดี ได้อารมณ์ลึกและสงบปนเศร้า นั่นคือ อารมณ์ธรรม
  • ระหว่าง อารมณ์เธอ กับ อารมณ์ธรรม ในทางวรรณศิลป์สร้างสรรค์แล้วไม่พึงตัดสินว่าอารมณ์ใดดีกว่า (นี่คือทัศนะของครูกานท์ซึ่งอาจแตกต่างจากนักวรรณกรรมท่านอื่นๆ บ้างก็ไม่เป็นไร)
  • ข้อเสนอสำหรับทั้งสองสำนวนกลอนนี้อยู่ที่ สามคำท้าย ของวรรคที่สอง ตรงกัน  คือ น้อยไปว่า กับ ออกไปว่า ทั้งสองวลีนี้ให้ความรู้สึกเป็นภาษาพูดมากกว่าภาษากวี ดังนั้น ตัวบทครู ในที่เดียวกันนี้จึงใช้ น้อยน้อยว่า นั่นเอง  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอกครับตรงนี้  เพียงความรู้สึกเล็กๆ เท่านั้น
  • สำนวนอื่นๆ เดี๋ยวค่อยอ่านในความเห็นต่อไปครับ
  • ต่อไปนี้จะหยิบบทอื่นๆ มาแสดงให้เห็นข้อผิดพลาด และข้อควรแก้ไขนะครับ (โดยจะไม่เอ่ยนามเจ้าของ)

(1) เสียงดอกไม้ ....พลิ้วไหวในพงหญ้า

ไม่ได้มาอวดองค์ .....โฉมไสว

ใครใคร่เห็นใคร่มอง.......ต้องเพ่งไป

หรือจะผ่านเลยไป......ไม่ว่ากัน

บทนี้เป็นสัมผัสซ้ำ ไม่นิยมใช้กันนะครับ โดยเฉพาะสัมผัสซ้ำในวรรคที่ต่อเนื่องกันยิ่งถือว่าไม่ควรใช้อย่างยิ่ง

(2) ดอกไม้ไม่เอ่ยวาจา

ภุมราไม่มีใจใคร่สน

จะมา จะไป เวียนวน

ก็เรื่อง ของคน ไม่สนใจ

บทนี้คำที่ควรแก้ไข คือคำว่า สน ท้ายวรรคสองครับ เป็นภาษาปาก ตัดมาจาก "สนใจ" ซึ่งไม่เหมาะจะใช้ในที่ตรงนี้ ทำให้กลอนหย่อนคุณค่าทางวรรณศิลป์ครับ

(3) ดอกไม้งามข้างทางร้องสั่งว่า

ไปเถิดหนาอย่ารอก่อเภทภัย

คนใจบาปหยายช้าหิวกระหาย

มันทำลายโลกสวยด้วยมือมาร

บทนี้ข้อแรกคือ ใช้สัมผัส สั้น-ยาว (ภะ+ย/หา+ย/ลา+ย) เป็นสัมผัสที่ไม่นิยมในกลอนแบบฉบับครับ ใช้กันแต่ในเพลง หรือเพลงพื้นบ้าน หรือฉันทลักษณ์อย่างที่อาจคิดขึ้นใหม่

ข้อต่อมาคือ ใช้เสียงคำท้ายวรรคไม่ถูกตามฉันทลักษณ์นิยม ฉันทลักษณ์นิยมของกลอนกำหนดให้ใช้เสียงท้ายวรรค ดังนี้

วรรค1 00000000  ใช้วรรณยุกต์เสียงอะไรก็ได้

วรรค2 00000000  ใช้เสียงวรรณยุกต์ เอก โท จัตวา

วรรค3 00000000  ใช้เสียงวรรณยุกต์ สามัญ ตรี

วรรค4 00000000  ใช้เสียงวรรณยุกต์ สามัญ ตรี

ภัย - เป็นเสียงสามัญ ใช้ในคำท้ายวรรคสองไม่ได้

หาย - เป็นเสียงจัตวา ใช้ในคำท้ายวรรคสามไม่ได้

สาเหตุที่กลอนแบบฉบับกำหนดเสียงคำท้ายวรรคดังกล่าว เป็นการกำหนดเพื่อให้เกิดความไพเราะเมื่ออ่านออกเสียง และเมื่อขับทำนองเสนาะ ลองอ่านกลอนที่ผิดเสียงนี้ด้วยการอ่านออกเสียงเทียบกับกลอนที่แต่งถูกเสียงท้ายวรรคก็จะจับรู้สึกได้ครับ  นี่แหละครับคือสาเหตุที่ต้องบอกให้ "กินครู" ด้วยการท่องบทครูที่ถูกต้องให้มากจนเสียงและจังหวะขึ้นใจ จากนั้นเวลาแต่งก็จะไม่ค่อยผิดเสียง ถ้าผิดก็จะรู้สึกได้เองว่าไม่ไพเราะ ลองดูนะครับ

(4) ไม่ทันสิ้นดอกไม้ร่ายคำกล่าว

ขายาวยาวก้าวลงตรงที่หมาย

ดอกไม้ผึ้งตื่นอกจิตตก อ๋าย!

กระต่ายเต้นขอบใจเพื่อนภุมรา

บทนี้คล้ายผู้แต่งจะรู้เรื่องเสียงคำท้ายวรรค แต่อาจจะจงใช้ แบบยอมผิดฉันทลักษณ์ก็ได้ นั่นคือคำว่า "อ๋าย" นี่เสียงจัตวา ไม่นิยมใช้ในคำท้ายวรรคสาม ครับ

  • ส่วนบทอื่นๆ อาจมีที่น่าพูดถึงบ้าง แต่เชื่อว่าเจ้าของจะดูแลและพัฒนาตามศักยภาพแห่งตนเองได้

  • ในห้องเรียนต่อไปวันพรุ่งนี้ ครูกานท์มีเรื่องสนุกมาให้สมาชิกมีส่วนร่วมแน่นอนครับ โปรดอดใจรอ...

  • แต่ขณะรอ จะร่วมกันแสดงความคิดเห็นใดในห้องเรียนนี้ก่อน ก็ขอเชิญนะครับ
  • ขอขอบคุณครับอาจารย์
  • จะพยายามตั้งใจต่อไป
  • ดีครับที่กรุณาชี้แนะ
  • ธุ ครูกานท์ค่ะ..

ขอขอบพระคุณสำหรับคำชี้แนะ  และจะพยายามในครั้งต่อไปให้มากกว่านี้ค่ะ ^^

ขอบพระคุณ...ครับครู

ผมจะพยายามต่อไปครับ

 เสียงดอกไม้ริมทางดอกหนึ่ง    

ตัดพ้อกับผึ้งน้อยน้อยว่า

เมื่อหิวนักหรือรักจึงได้มา        

ครั้นสมปรารถนาแล้วลาไกล

เสียงใบไม้ริมทางอีกข้างหนึ่ง      

สื่อสารถึงดอกไม้หวานหวามไหว

หมู่ภมรบินว่อนเร่ร่อนไป               

ตัดพ้อไซร้ฤๅมีวันผันเปลี่ยนแปลง

ยังไม่ได้หมายเลขประจำตัวนักเรียน ขอส่งการบ้านย้อนหลังหน่อยค่ะ คุณครูกานท์

  • ลงทะเบียนสมาชิกล่าสุด

หมายเลข 1 เนปาลี

หมายเลข 2 วิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 เพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 กวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 apple

หมายเลข 6 พรรณา ผิวเผือก

หมายเลข 7 แสงศรี

หมายเลข 8 พิมล มองจันทร์

หมายเลข 9 ศรีกมล

หมายเลข 10 บังหีม

หมายเลข 11 ฉัตร

หมายเลข 12 ภูสุภา

  • การบ้านของ คุณภูสุภา ใช้ได้ดีครับ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมเพียงบทที่สองวรรคสุดท้ายที่ใช้คำว่า "ไซร้" นั้น ในทางกลอนแล้วไม่นิยมครับคำนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งคำ ณ ที่แห่งใด และจะถูกมองว่าเชยบ้าง อับจนถ้อยคำบ้าง
  • ไซร้ มีใช้กันบ้างในคำประพันธ์ประเภท โคลง แต่ในโคลงรุ่นใหม่ (ร่วมสมัย) ก็มิใคร่จะนิยมเท่าไรนักแล้ว คงจะด้วยความรู้ (ร่วมกัน) เช่นเดียวกับการใช้ใน กลอน
  • ไม่ยากหรอกครับถ้าจะแก้ไข คุณภูสุภา ทำได้แน่นอน

 

แวะมาเยี่ยม ๆ มอง ๆ ครูกานท์สอน...ศิษย์ค่ะ

ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน...เลยลอยชายไปมา ยิ้ม ๆ แย้ม ๆ ค่ะ

ส่งแสงแรกของวันนี้....มาบูชาคุณครูค่ะ

ส่งการบ้านค่ะครู

เสียงบอกเล่าจากดอกไม้ดอกหนึ่ง
บอกเล่าถึงหมู่มวลดอกไม้สวย
ว่าน้อยนักชูช่อก้านจนล่วงโรย
จากดอกสวยสู่แจกันสะท้อนใจ

ต่างกันนักกับดอกไม้ที่คู่ต้น
ได้ร่วงหล่นเพราะเกษรสู่พันธุ์ใหม่
น้อยใจนักไม่ได้ไปเหมือนตั้งใจ
แต่อย่างไรก็ได้อยู่คู่แผ่นดิน

- อาจารย์คะไม่ทราบว่าจะพอได้ไหมคะ  แต่บทแรกที่แต่งเนี่ยนกมีความรู้สึกว่ามันหาคำมาคล้องยากเหลือเกินค่ะ บทต่อไปคงดีขึ้นเรื่อย ๆคะนกจะพยายามคะ คุณครู

  • ขอบคุณภาพ อรุโณทัยทอแสง จาก คุณคนไม่มีราก มากๆ ครับ สวยจริงๆ

 

  • ยินดีกับการบ้านของ คุณเพ็ญศรี (นก) สมาชิกหมายเลข 3 คุณนกคงเข้าใจแล้วว่าบทแรกเสียงสัมผัสผิด สวย กับ โรย สัมผัสกันไม่ได้ เพราะเสียง อวย กับ โอย ไม่คล้องจองกัน นี่เป็นข้อควรระวังของผู้ที่ยังไม่ค่อยชำนาญในการหาคำสัมผัส ไม่ควรใช้สัมผัสที่มีคำน้อยหรือสัมผัสที่ยากอย่างคำว่า สวย คำนี้สำหรับผู้ที่มีทักษะดีก็อาจไม่ยากนัก มีคำสัมผัสให้เลือกพอสมควร เช่น คำที่มีเสียงสามัญที่จะลงในวรรคสามได้คือ รวย/งงงวย/อำนวย/กระบวย/แพงพวย/มวย/หม้ออวย/คันทวย ฯลฯ ส่วนคำรับสัมผัสในวรรคที่สี่ซึ่งไม่จำกัดเสียงก็มีเพิ่มได้อีกคือ ส่วย/ช่วย/กล้วย/หวย/ป่วย/ม่วย/ผ้าผวย/ถ้วย/ฉวย/ด้วยฯลฯ

 

  • ขอแจ้งสมาชิกโรงเรียนกวีออนไลน์ว่า ขณะนี้ครูกานท์ได้เปิดบทเรียนใหม่ที่ ห้องเรียนกวี 2 แล้ว คลิกไปร่วมสนุกกันนะครับ เลือก เมนู krugarn - บล็อก - ทุ่งสักอาศรม : โรงเรียนกวีออนไลน์ - ห้องเรียนกวี 2 สิครับ

 

ตัดพ้อไซร้*ฤๅมีวันผันเปลี่ยนแปลง

**********************

ตัดพ้อไยฤๅมีวันผันเปลี่ยนแปลง พอได้..นะคะ

ขอบคุณค่ะ

"ตัดพ้อไยฤๅมีวันผันเปลี่ยนแปลง"

ดีครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

* อ๋าย  จงใจใช้ค่ะ แต่ไม่ทราบว่าผิดฉันทลักษณ์

* ขอบพระคุณที่ชี้แนะค่ะ

สวัสดีคะคุณครู

หนูมาเป็นนักเรียน เพียรเขียนอ่าน ค่ะ

มีแต่คนเก่งๆทั้งนั้นเลยนะคะ

ได้ความรู้มากเลย ขอบคุณครับคุณครู อยากทำการบ้านข้อต่อไปแล้วสิครับ

ขอเชิญ เทียนน้อย และ พิมล มองจันทร์ ไปที่ ห้องเรียนกวี 2 เลยครับ

มีโจทย์ให้ฝึกที่นั้นแล้ว...

231366

ครูครับ กลอนของ ด.ญ. ภูสุภา ที่ว่า

เสียงดอกไม้ริมทางดอกหนึ่ง       ตัดพ้อกับผึ้งน้อยน้อยว่า
เมื่อหิวนักหรือรักจึงได้ มา           ครั้นสมปรารถนาแล้วลาไกล
เสียงใบไม้ริมทางอีกข้างหนึ่ง      สื่อสารถึงดอกไม้หวานหวามไหว
หมู่ภมรบินว่อนเร่ร่อนไป             ตัดพ้อใยฤๅมีวันผันเปลี่ยนแปลง

1. ที่เด็กชายกวินเห็นจากกลอนของ ด.ญ.ภูสุภา ก็คือ มีการ ชิงสัมผัส ในกลอน เพราะคำว่า ไกล ส่ง สัมผัสระหว่างบท กับคำว่า ไหว แต่คำว่า ไม้ ดันมาชิงสัมผัสไปเสียก่อน เวลาอ่านออกเสียงจึงทำให้กลอนฟังแล้วแปล่งๆ หูนะครับ เอ๋ยเอิงเงิงเงย

2. ด.ญ.ภูสุภา ชี้นำผู้อ่าน (ไม่ควรทำ) คือ ในกลอนของ ด.ญ.ภูสุภานั้นใช้ คำว่า หิว เป็นสัญลักษณ์แทน ความรัก (ราคะ) จึงไม่น่าที่จะ เอ่ยชี้นำในกลอนอีกว่า  ความหิว นั่นน่ะหรือคือ ความรัก ยกตัวอย่างกลอนของ ด.ญ.ภูสุภา ท่อนที่ว่า "เมื่อหิวนักหรือรักจึงได้มา"

และ ด.ญ. ภูสุภา ควรใช้คำว่า ได้มา เป็น บินมา แทนนะครับ เพราะคำว่า ได้มา นั้น เด็กชายกวินอ่านแล้วเข้าใจผิด และคิดว่า คำว่า ได้มา มีความหมายเหมือนคำว่า ได้(รับ)มา ทำให้ตีความแล้วขัดแย้งกับบริบท (งงไปพักหนึ่ง) 

แต่ถ้าหาก ด.ญ.ภูสุภา ใช้คำว่า บินมา แทน ยกตัวอย่างเช่น "เมื่อหิวนักหรือรักจึงบินมา" ก็จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ว่าตัวละครในกลอนนั้นคือ ผึ้งตัวผู้  ได้บินมาเชยชมดอกไม้แล้วก็ บินไป

วกกลับมาพูดเรื่อง สัญลักษณ์ ที่ ด.ญ.ภูสุภา ใช้ โดยใช้ ความหิว เพื่อสื่อถึงความ ความรัก เด็กชายกวินเห็นว่า ความรักนั้น มีทั้งที่ทำให้ อิ่ม และที่ทำให้ หิว และที่ทำให้ ไม่อิ่มไม่หิว เหมือนที่คุณ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ร้องเพลง น้ำตาหอยทาก ท่อนที่ว่า "เธอบอกว่ารักนั้นกินไม่ได้ เธอไม่เข้าใจ ยามรักไม่กินก็อิ่ม ลองทบทวนดูสัมผัสอ่อนนิ่มไม่อิ่มไม่หิวพร่ำเพ้อรำพัน" การให้คำจัดกัดความคำว่ารัก ว่าคือ หิว "เมื่อหิวนักหรือรักจึงได้มา" เช่นนี้นั้น ทำให้พาลนึกถึง เปรต ผู้มีความ หิว ด้วย อาจทำให้กลอนขาด สุนทรียะ ได้นะครับอาจารย์ครับ

จากเด็กชายกวิน 

เอ้าเด็กๆ มาฟังเพื่อนเรา - ที่ปรึกษาของห้อง  ด.ช.กวิน เขาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยครูได้เข้มแข็งเหมือนเคย  ไม่เฉพาะ ด.ญ.ภูสุภา เท่านั้นที่พึงใคร่ครวญ เด็กๆ สมาชิกคนอื่นๆ ของโรงเรียนกวีออนไลน์ ก็ควรพิจารณาเรียนรู้นะครับ  หากมีอะไรอยากร่วมด้วยช่วยเสริมก็ได้เลย...

  • ส่วนครูกานท์ ขอเสริมดังนี้  (๑) คำว่า ไย ในที่นี้เป็น สระไอไม้มลาย ด.ช.กวิน เขาพิมพ์พลาดไปนิดหนึ่ง (๒) เรื่อง ชิงสัมผัส ครูกานท์เห็นแล้ว แต่ไม่ถือสา เป็นเรื่องสูญเสียความไพเราะเหมือนที่ ด.ช.กวิน ว่า แต่บางครั้งถ้าจำเป็นต้องเอาความแบบที่ไม่อาจเลี่ยงได้ก็ให้เลือกความหรือคุณค่าอย่างอื่นไว้ก่อนได้ เด็กๆ อย่ากังวลกับเรื่องนี้มากนักนะครับ (๓) ส่วนความเห็นและข้อแนะนำอื่นๆ ของ ด.ช.กวิน นั้นดีทีเดียว

มาเสริมอีกนิดครับครู

อนึ่งกลอนท่อนที่ว่า "เมื่อหิวนักหรือรักจึงได้มา" อาจเป็นไปได้ว่า ด.ญ. ภูสุภา ต้องการใช้คำว่า หรือ? ในเชิงตัดพ้อว่า  การที่คุณผึ้งบินมาหาคุณดอกไม้ นั้น เป็นเพราะว่าคุณผึ้ง มีความรัก+คิดถึง ต่อคุณดอกไม้ (บินด้วยความจริงใจ) หรือ เพราะว่าคุณผึ้ง หิว (หวังดื่มน้ำหวานจากเกสรดอกไม้) แล้วจึงบินมาหา คุณดอกไม้ (บินมาด้วยความไม่จริงใจ)

คิดมากเกินไปปวดขมอง ครับ แต่กลอน ด.ญ.ภูสุภา ก็ถือว่า แต่งดีนะครับ

ปล.ขอบคุณอาจารย์ครับสำหรับคำทักท้วงเรื่อง ใย(บัว) และ ไย?

  • แวะมาชื่นชมผลงานนักเรียนครูกานท์ค่ะ
  • โดยเฉพาะอารมณ์เธอ "มาจูบฉันสิ...ถ้าอยากมา...หากไม่เห็นคุณค่า..ก็จงไป"
  • และอารมณ์ธรรม "ชีวิตวันใหม่กำลังจะมา....ชีวิตเก่าของข้า...กำลังจะไป"
  • เยี่ยมมากค่ะ

เอื้องแซะ...สองอารมณ์ ชมชอบ

รักกอบ ลอบเก็บ เสพอักษร

วันหนึ่ง หากเรียน เขียนกลอน

เชื่อว่าเอื้องจะสะท้อน...อารมณ์เธอ

.

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท