ห้องเรียนกวี 2 บทเดียวโดน


ขอเชิญชวนสมาชิกเขียนบทกวี บทเดียวโดน ครับ หมายความว่าให้เขียนเพียงบทเดียวจบ โดยจะใช้คำประพันธ์ชนิดใดๆ ก็ได้ตามถนัด และเพื่อไม่ให้ประเด็นของเรื่องกระจัดกระจายไปมาก ครูกานท์ขอกำหนดให้ เขียนจากภาพที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจเป้าหมาย นะครับ ให้มองกันเองด้วยจินตนารมณ์อิสระ แล้วก็อย่าลืม ตั้งชื่อกวีด้วย ครับ

ห้องเรียนกวี 2

บทเดียวโดน

ครูกานท์

.

หลังจากโรงเรียนกวีออนไลน์ได้เปิด ห้องเรียนกวี 1 ชักชวนสมาชิกฝึกเขียน กลอนล้อบทครู กันไปแล้ว ครูกานท์รู้สึกได้ว่าสมาชิกแต่ละคนมีต้นทุนความรักในทางกาพย์กลอนกันอยู่มิใช่น้อย บางคนมีประสบการณ์การคิด การเขียน และการอ่านมามาก นับเป็นข้อดีอย่างยิ่งที่จะช่วยเฉลี่ยปันการเรียนรู้สู่การกระตุ้นการเดินทางของมวลน้องพี่สมาชิกให้กระตือรือร้น อย่างน้อยขณะนี้เราก็มี คุณกวิน ซึ่งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาที่เป็นกำลังสำคัญ เชื่อว่าเวทีนี้น่าจะเป็นประโยชน์กว้างขยายยิ่งๆ ขึ้นไปครับ

สมาชิกท่านใด หรือผู้อ่านท่านใดที่เพิ่งแวะเข้ามาที่หน้านี้ ยังไม่ได้อ่านกติกาแรกเปิดโรงเรียน ก็สามารถย้อนไปอ่านได้ หรือท่านใดยังไม่ได้ร่วมเรียนรู้หรือฝึกกิจกรรมในห้องเรียนกวี 1 ก็ย้อนไปอ่านไปทิ้งการบ้านไว้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ...เข้าที่ เมนู krugarn - บล็อก - ทุ่งสักอาศรม : โรงเรียนกวีออนไลน์ - (แล้วก็เลือกหน้าที่ต้องการ)

ห้องเรียนกวี 2 นี้ ขอเชิญชวนสมาชิกเขียนบทกวี บทเดียวโดน ครับ หมายความว่าให้เขียนเพียงบทเดียวจบ โดยจะใช้คำประพันธ์ชนิดใดๆ ก็ได้ตามถนัด และเพื่อไม่ให้ประเด็นของเรื่องกระจัดกระจายไปมาก ครูกานท์ขอกำหนดให้ เขียนจากภาพที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจเป้าหมาย นะครับ ให้มองกันเองด้วยจินตนารมณ์อิสระ แล้วก็อย่าลืม ตั้งชื่อกวีด้วย ครับ

เริ่มเลยครับ...

..........................................

...........................................

.........................................

..........................................

ภาพโดย ในดวงตา ปทุมสูติ

........................................................................

บันทึก...

  • ลงทะเบียนสมาชิกล่าสุด

หมายเลข 1 เนปาลี

หมายเลข 2 วิโรจน์ พูลสุข

หมายเลข 3 เพ็ญศรี (นก)

หมายเลข 4 กวิน - สมาชิกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา

หมายเลข 5 apple

หมายเลข 6 พรรณา ผิวเผือก

หมายเลข 7 แสงศรี

หมายเลข 8 พิมล มองจันทร์

หมายเลข 9 ศรีกมล

หมายเลข 10 บังหีม

หมายเลข 11 ฉัตร

หมายเลข 12 ภูสุภา

.

.

.

หมายเลขบันทึก: 231366เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (57)

เ้ป็นช่วงพักกลางวัน.... ครับครู

ขอส่งการบ้านเลยครับ....ครูช่วยชี้แนะข้อผิดพลาดด้วยครับ...

ขอตั้งชื่อบทกวีว่า....ย้อนคิด

หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

ความหวังสิ้น....เหลือเพียง....กายทรงตัว

สูญ

...ร้อนแรงแดงฉาน                  แหลกรานราพณาสูรย์
รุ่มร้อนพาอาดูร                       โหยหวนไห้..ทำลายล้าง

สวัสดีคะคุณครู

หนูมาอ่าน

ขอไปแอบแต่งก่อนนะคะ

สู้ๆค่ะ

แก้ไ้ขครับครู....ก่อนกลับบ้าน

"หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

หมดแรงดิ้น ....เหลือเพียง....กายทรงตัว "

แก้จาก ความหวังสิ้น เป็น ... หมดแรงดิ้น... ครับ

เนื่องจากน่าจะเป็นสัมผัสช้ำจากบทเรียนชุดก่อน ใช่มั้ยครับครู



หากพรุ่งนี้..ไม่มีเธอ

เปลวเพลิง....แผดเผา....จนเร่าร้อน
อกสะท้อน....ใจสะเทือน....เหมือนสลาย
พายุพัด.....โหมกระหน่ำ....ช้ำใจกาย
คงเดียวดาย..หากยืนต้น...จนลำพัง

ส่งการบ้านครูคะ..บทกลอนบทนี้นกพยายามแต่งขึ้นโดยอ่านคำแนะนำของครูตามไปด้วยแต่ก็ยังหนักใจเรื่องการดูและพยายามหาความหมายของภาพ...นกเองยังมีปัญหาเรื่องการหาคำที่พยายามมาเป็นสัมผัสในของบทและแค่บทเดียวก็ถือว่า"หิน"มากค่ะ..ไม่รู้ว่าจะพอได้ไหมคะ..นกจะพยายามต่อไปค่ะ



ส่งการบ้านครับ...แม้การบ้านที่ครูการท์ให้จะย้าก..ยาก

แต่ก็พยายามเต็มที่ที่สุดแล้วครับ กรุณาชี้แนะด้วยครับ

 

ข้าไม่อาจทน

 

เปลวเพลิงลามเลียกิ่งใบ

ราวร้าวใจ...รักสลายไปจากฉัน

ต้นไม้ถูกเปลวเพลิงผลาญชีวัน

หัวใจฉันถูกลงทัณฑ์...โดยเธอ

ขอโทษครับเมื่อกี้ลืมใส่ชื่อตัวเองตอนส่ง งั้นเอาใหม่นะครับ

 

ข้าไม่อาจทน..

 

เปลวเพลิงลามเลีย..กิ่งใบ

ราวร้าวใจ..รักสลายไปจากฉัน

ต้นไม้ถูกเปลวเพลิง..ผลาญชีวัน

หัวใจฉันถูกลงทัณฑ์..โดยเธอ

 

เรียบร้อยแล้วครับ

 

    แลทุ่งกว้างดงป่าถูกเผ่าผลาญ

   ต้นไม้งามโดดเด่นเห็นขุนเขา

   ไฟป่าลุกควันกระจายลายสีเทา

    มองขุนเขาเศร้าใจใครหนอทำ

ขอส่งการบ้านด้วยคนครับอาจารย์

ขอความกรุณาลบความคิดเห็นที่ 9 ด้วยค่ะ (พิมพ์ผิด แดง-แด)

 

  • ธุ  ครูกานท์ค่ะ..

 

เปลวเพลิงลามทั่วท้อง....................แผ่นดิน

ดั่งความโกรธทำลายชีวิน.................ผ่าวไหม้

ทุกสิ่งล้วนพังภิณฑ์.........................แดเดือด

มีแต่ขันติได้..................................ดับร้อนผ่อนทรวง

 

ขอส่งการบ้านค่ะ ^^    

ผมเข้ามาอ่าน ...

ได้อารมณ์ทุกกวีเลย...นะครับ

...อารมณ์...

คุณ..เนปาลี... มีธรรมะ มาช่วย ทำให้นิ่งและสงบ

คุณ..ศรีกมล.. มีอารมณ์เศร้า...ตัดพ้อ.....

คุณ..ฉัตร......เป็นอารมณ์ของการพลัดพรากจาก...ไป

คุณ..นก.......ใช้ความชอบช้ำของใจ..มากำหนด

คุณ..ภูสุภา.... เปรียบเปลวเพลิง..ดั่งความหายนะ

....อารมณ์..กวี

จุดประกายความคิดได้ดีจริงๆ เลยครับครู

  • กำลังแอบติดตามอยู่...นะครับ

ขอส่งการบ้านครับคุณครู

ผลาญใบให้มลาย

ผลาญภัยร้ายให้ชาวบ้าน

ผลาญทุกข์ที่บ่มนาน

ให้หอมหวานด้วยเม็ดเงิน

 

 

 

เปลวเพลิงลามทั่วท้อง             แผ่นดิน
ดั่งความโกรธทำลายชีวิน        ผ่าวไหม้
ทุกสิ่งล้วนพังภิณฑ์                 แดเดือด
มีแต่ขันติได้                           ดับร้อนผ่อนทรวง



ข้อ 1. ด.ญ.เนปาลี คำสีแดงคือคำที่ ด.ช.กวินคิดว่า ต้องใช้ คำเอก หรือถ้าหาคำเอก ไม่ได้ก็อนุโลมให้ใช้ คำตาย แทน (คำตาย คือคำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด)

ข้อ2. เปลวเพลิงลามทั่วท้อง-             แผ่นดิน
              ปพลทท-                           ผด

ด.ญ.เนปาลี ใช้ คำว่า แผ่นดิน นั้นก็ได้รสความดีแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนจากคำว่า แผ่นดิน เป็น ธรณิณ ความว่า

    เปลวเพลิงลามทั่วท้อง-             ธรณิณ
             ปพลทท-                       ธรณ

เห็นมั้ยว่า ด.ญ. เนปาลี ก็จะได้ เล่น สัมผัสอักษร ตกกระทบ (สัมผัสอักษรในที่นี้คือ อักษร ท/ธ ถึงสาม พยางค์)

เพราะว่าโคลง อ่านเอาความเพราะที่เสียงสูงเสียงต่ำของวรรณยุกต์ กวีสมัยก่อน (ยกเว้นสุนทรภู่เวลาแต่งโคลง) จะไม่นิยม ใช้ สัมผัสสระ แต่จะใช้ สัมผัสอักษร แทน

ลองแก้อีกที แล้วส่งครูใหม่ แก้เรื่องคำที่ หลุดเอกก่อนนะ


จาก ด.ช.กวิน
เพื่อนร่วมชั้นของเธอ

สัญลักษณ์ว่าด้วย ควัน และ ไฟ ที่กวีโบราณ นิยมใช้ มีดังนี้


โลกนิติคำโคลง


ห้ามเพลิงไว้อย่าให้   มีควัน
ห้ามสุริยะแสงจันทร์  ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน        คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้        จึ่งห้ามนินทา

-ห้าม กองเพลิงไม่ให้มีควันไฟ
-ห้ามดวงตะวัน ดวงจันทร์ ไม่ให้ส่องแสง
-ห้ามอายุ ไม่ให้ผ่านล่วงไป (ห้ามความแก่ชรา)
-ห้าม สามอย่างที่ว่ามานี้ได้ ก็ย่อม ห้ามการ นินทาว่าร้าย ได้

อนิรุทธิคำฉันท์
ตอนพระอนิรุทธิ์ ถูกเทวดาประจำต้นไทร อุ้มไปวางไว้ บนเตียง นางอุษา ผู้เป็นธิดา ยักษ์พานาสูณ นักสนมกำนัล รู้เรื่องเข้า ว่ามีหนุ่มแปลกหน้ามา แอบปล้ำ เจ้านายของตน กลัวความคิด จึงเอาเรื่องไปฟ้อง พระยายักษ์เจ้าเมือง เพราะพระยายักษ์ สั่งนักสั่งหนาว่า

คดีนี้ บดี                    นฤบดี บิดรปราม
ควันความ บ ควรความ  รึจะปิด จะป้องคง


พระยายักษ์ ปราม เรื่อง การคบผู้ชาย เมื่อเกิด คดี มีชายหน้าแปลกมาลอบปล้ำ พระนางอุษา หากเรื่องนี้รู้ถึงหูของพระยายักษ์ ผู้เป็นพระราชบิดาของ พระนางอุษา เหล่านักสนมกำนัลก็จะเดือดร้อน จึงตัดสินใจ นำข่าวไปบอกพระยายักษ์เสียก่อน ที่จะโดนหางเลข

กวีเล่นคำว่า  คดี บดี (บ่ดี) นฤบดี (เล่นคำว่า ดี) ได้อย่างไพเราะ และกวี เปรียบเทียบกับคดีชู้สาวว่า เหมือนกับ ควันไฟ ที่ไม่สามารถที่จะปกปิดให้มิดได้

ควันความ บ ควรความ (ควัน แห่งคดีความที่ถูกจุดขึ้นจาก การกระทำความ ไม่ถูกไม่ควร) ย่อมไม่สามารถที่จะปกปิดได้มิดชิด ย่อมแพร่งพรายไหลรั่ว ให้คนได้เห็น ว่า เพราะมีไฟ จึงมีควัน

ถ้าไม่อยากมีควัน ก็อย่า เล่นกับไฟ (หรือ นั่นคืออย่าปล่อยให้ใจ คุกรุ่นไปด้วยเพลิงราคะ นั่นเอง)

ครูกานท์กำลังสนุกอ่าน ชอบของแต่ละคน ในจุดดีที่ต่างกัน ยังไม่ตัดสิน และไม่วิจารณ์ ให้ ที่ปรึกษาของห้องช่วยทำหน้าที่ไปพลางก่อน ดีครับ น่ารับฟังมาก...

มีของบางคนที่น่าจะลองทบทวนแก้ไข หรือปรับปรุงบางจุดบางวรรคดูนะ บางทีคำคำเดียว หรือสองสามคำก็ตามในกลอนวรรคหนึ่ง ถ้าสามารถสรรคำให้เหมาะได้แท้จริง ก็อาจทำให้บทกวีบทนั้นๆ มีค่าขึ้นอีกมากมายทีเดียว จะลองหยิบวรรคที่น่าแก้ไขของใครบางคนมาวางไว้ให้เจ้าตัวพิจารณาดูต่อไปนี้ครับ...

  • ความหวังสิ้น....เหลือเพียง....กายทรงตัว
  • คงเดียวดาย..หากยืนต้น...จนลำพัง
  • แลทุ่งกว้างดงป่าถูกเผ่าผลาญ

    ต้นไม้งามโดดเด่นเห็นขุนเขา

    ไฟป่าลุกควันกระจายลายสีเทา

     มองขุนเขาเศร้าใจใครหนอทำ

  • เท่านี้ก่อนนะครับ

 

 

 

"หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

หมดแรงดิ้น ....เหลือเพียง....กายทรงตัว "

ครูกานท์ครับ... ถ้าแก้จาก

หมดแรงดิ้น ....เหลือเพียง....กายทรงตัว "

เป็น

ใจขาดวิ่น.....สูญสิ้น....กายอาดูลย์

พอได้มั้ย..ครับครู

  • ธุ  ครูกานท์กับคุณกวินค่ะ..

ก่อนอื่นขอส่งงานที่แก้แล้วก่อนนะคะ

เปลวเพลิงลามทั่วท้อง....................ธรณินทร์

ดั่งจิตโกรธทำลายชีวิน..................ผ่าวไหม้

ทุกสิ่งจักพังภิณฑ์.........................แดเดือด

มีแต่ขันติได้.................................ดับร้อนผ่อนทรวง

 

เรียนคุณกวิน.. ^^   ตอนแรกคำที่ปิ๊งขึ้นในหัวก็คือ "ธรณินทร์"  แต่ลังเลที่จะใช้    เพราะกลัวว่าจะดูมีความหมายลึกไปบ้าง    เพราะหลายๆ คนรู้ว่า "ธรณี" หมายถึงแผ่นดิน   แต่พอมาเป็น "ธรณินทร์" อาจจะไม่แน่ใจในความหมาย    จึงเลือกใช้คำว่า "แผ่นดิน"

และขอคำแนะนำสำหรับบทที่ได้ทำการแก้ไขไปแล้วด้วยค่ะ   ขอบพระคุณค่ะ  ^^

  • ใจขาดวิ่น.....สูญสิ้น....กายอาดูลย์  - ยังไม่ดีครับ (และ อาดูลย์ ก็ เขียนผิด นะครับ...ลองเปิดพจนานุกรมดู)

  • ดั่งจิตโกรธทำลายชีวิน - คำเกินครับ (บาทหน้าของโคลงมีได้แค่ ๕ คำพยางค์ และถ้าจำเป็นต้องเกิน ๕ ก็ควรเป็นคำ สั้นยาว เช่น วิถี, ฤดี, ตะปู, มนุษย์, คะเน ฯลฯ พวกนี้นับเป็น ๑ คำพยางค์ได้)

  • พังภิณฑ์ - คำนี้เขียนผิด...ลองเปิดพจนานุกรมดู

 

โคลงคุณ เนปาลี แต่งได้ดีแล้วนะครับมาเสริมท่านอาจารย์นะครับ

 ธรณินทร์=ธรณี(แผ่นดิน)+อินทร์(ผู้เป็นใหญ่)=ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน/พระเจ้าแผ่นดิน

ธรณี+อิน=ธรณิ=แผ่นดิน

โบราณท่านเรียกการแผลงคำในลักษณะนี้ว่า การเข้าลิลิต เช่น

กาย(ะ) แผลงเป็น กายา กายี กายิน กาเยน(ทร์) กายิน(ทร์) กาเยศ กายิศ

แต่ในสมัยปัจจุบัน การเข้าลิลิต ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ธรณิน หรือ ธรณินทร์ คนอ่านก็จะรู้และแปลได้อัตโนมัติว่าจะแปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน หรือ ผืนแผ่นดิน (โดยดูจากบริบทของโคลง)

แต่ถ้าให้ กวินเลือกใช้ กวินก็จะใช้ว่า ธรณิน เพื่อไม่ให้คนแปลสับสนครับ


โคลงของคุณเนปาลีที่มีพยางค์เกินก็แก้ได้ไม่ยาก โดยแก้โดยเน้น สัมผัสอักษร ก็ได้ เช่น

ดั่งจิต โกรธ กร่อน ชิวิน..................ผ่าวไหม้

1. ทำลาย อาจปรับแก้เป็น กร่อน เพื่อเล่นสัมผัสอักษร ก. กับคำว่า โกรธ

2.ชีวิน อาจปรับแก้เป็น ชิวิน (สระอี แผลงเป็นสระ อิ)
   she-win แก้เป็น shi-win
   เมื่อ ใช้ ชิวิน คำว่า ชิ ย่อมเป็น คำลหุ (เสียงแผ่วเบา รวดเร็ว) และย่อมอนุโลม เมื่ออ่านร่วมกับ ชิวิน ว่ามีเสียง 1 พยางค์ได้

ปล. กวิน ขอยืมใช้ ยูเซอร์เนมของ คุณน้อง ทิชา เข้ามาตอบครับ :)

"หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

อึม....

------------------------------------------

การตั้งอยู่....ดับสิ้น.... เหลือเพียงใจ

------------------------------------------

สงสัย...ต้องขอความกรุณาจากอาจารย์แล้วครับ

  •    
  • มีความสุขเจ้าคะทุกวันๆนะเจ้าคะ
  • สวัสดีคะอาจารย์..แต่ละท่านฝีมือล้ำเลิศ..แอบมาอ่านมาศึกษาเจ้าคะขอให้สขภาพแข็งแรงนะคะอย่าเจ็บอย่าไข้ตลอดปีและตลอดไปคะ..พิมญดา
    • ธุ  ครูกานท์กับคุณกวินค่ะ..

     

    1. ที่เลือก "ชีวิน" เพราะนับเป็น 1 คำพยางค์ค่ะ   ต่อไปจะแก้ไขเรื่องนี้นะคะ   และในตอนนี้ขอใช้วิธีของคุณกวิน คือ..ชิวิน ที่บอกว่าสามารถอนุโลมให้ได้

    2. ทีนี้มีคำว่า "พังภิณฑ์" ที่ต้อมลองเปิดพจนานุกรมฉบับนักเรียนเมื่อวานซึ่งก็ยังไม่เจอ   และพยายามเปิดตามเวบไซต์ก็ไม่มี    แต่ที่เลือกใช้เพราะเคยได้ยิน   เดี๋ยวจะกลับไปแก้ค่ะ ^^  (หรือคุณกวินช่วยด้วย..ย..ย ค่ะ อิอิ )

    ขอบพระคุณครูกานท์กับคุณกวินนะคะ ^^ 

     

    ป.ล.  คุณกวินแปลงร่าง..   เมื่อหลายปีก่อนต้อมชอบออนเอมด้วยรูปนี้ค่ะ  P  แบบว่าชอบมากๆๆ

    เปลวเพลิงลามทั่วท้อง....................ธรณิน

    ดั่งจิตโกรธกร่อนชิวิน..................ผ่าวไหม้

    ทุกสิ่งจักพังภิณฑ์.........................แดเดือด

    มีแต่ขันติได้.................................ดับร้อนผ่อนทรวง

    ครูกานท์ค่ะ ขอมาเป็นกองเชียร์ลูกศิษย์...และมาขนความรู้กลับบ้านด้วยนะคะ ลูกศิษย์ครูเก่งๆ ทั้งนั้นเลย  (โดยเฉพาะหมายเลขหนึ่งค่ะ เธอลืมเอากระปุกเต่ามาจากบ้านด้วยนะค่ะ)

    ขอบคุณครูกานท์และครูกวินค่ะ

    ผมขอหลบมุมห้องนั่งเรียนกวีด้วยคนครับ
    ถ้ามีการโหวต....เชียร์ V1 นะครับ..สู้ๆๆ

    :)

     

    แก้งานก่อนกลับบ้านครับครู

    "หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

    ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

    ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

    อึม....

    ------------------------------------------

    การตั้งอยู่....ดับสิ้น.... เหลือเพียงใจ

    การตั้งอยู่...ดับสิ้น.....มลายพลัน

    อึม...

    คงแดดิ้น...เหลือเพียง...แค่กลิ่นควัน

    ------------------------------------------

    พึ่งรู้นะครับ..ครู...การดิ้นคำโดยท่องบทครู ไม่ได้เนี่ย..ไม่ใช่เรื่องง่าย

    อึม..

    ครูครับ..ถ้าจะแต่งกลอนลักษณะนี้ให้คล่อง ควรคำนึงถึงอะไรบ้างครับ

    ขอบคุณครับครู

    ถึงสหายเนปาลี ครับ

    พัง=ภินท์

    ภินท–, ภินท์/ ภิทะ, [พินทะ–] ก. แตก, ทําลาย. (ป., ส.).

    http://rirs3.royin.go.th/
     

    • เรียนสมาชิก และท่านผู้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกท่านครับ ต่อไปนี้ครูกานท์ใคร่ขอเพิ่มกติกาบางประการ นั่นคือ

    ๑.การช่วยเหลือเกื้อกูลใดๆ ต่อสมาชิกด้วยกัน ให้ช่วยเหลือแบบ "เทวดากับคนขับเกวียน" คือคนขับเกวียนต้องช่วยเอาบ่าแบกท้ายเกวียนเพื่อช่วยแรงโคของตนเองด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว แม้เทวดาจะช่วยบันดาลให้เกวียนขึ้นจากหล่มได้โดยง่าย คนขับเกวียนก็อาจจะยังอ่อนแออยู่ต่อไป และอาจไม่เห็นคุณค่าของความพากเพียรอย่างแท้จริง ครูกานท์ต้องการให้สมาชิกแต่ละคนมีพัฒนาการอันเป็นความภาคภูมิใจของตนเองมากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราต่างจะช่วยเกื้อกูลแก่กันก็จะยังปฏิบัติดำเนินต่อไป โดยจะเหลือพื้นที่เกียรติยศที่ยากลำบากบ้างให้สมาชิกขบคิด เสาะหา และค้นหาด้วยตัวของตัวเองนะครับ

    ๒.สมาชิกที่อยากเรียนรู้และการเขียนกาพย์กลอนอย่างแท้จริง ควรมี ๓ สิ่งต่อไปนี้อยู่ใกล้ตัวเสมอ คือ  (๑) พจนานุกรม  (๒) หนังสือกวีนิพนธ์อาจเป็นวรรณคดีมรดกหรือวรรณกรรมร่วมสมัยก็ได้  (๓) ตำราฉันทลักษณ์ที่เชื่อถือได้-ข้อนี้ให้ไว้เปิดดูเมื่อจำเป็นเท่านั้น

    .

    เชิญร่วมสนุกกันต่อ...อ่านบทกวีดีๆ ด้วยการอ่านออกเสียงให้มากๆ แล้วจะรู้ในภายหลังว่าให้ประโยชน์ต่อการแต่งกาพย์กลอนเป็นอย่างมาก ทั้งประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อม...

    เชื่อเถอะครับว่า...

    "กินครูเป็นอาหารวันละบท

    เล่นล้ออรรถรสวันละหน

    อ่านเขียนวันละครั้งอย่างแยบยล

    ผลิดอกออกผลจากต้นรัก"

    นั้นมีค่าจริงๆ....

    กินครูแบบดื่มด่ำ สัมผัสจิตสัมผัสใจ นิ่ง แต่ก็ไหวในรู้สึกรู้สา...เดินทางสร้างสรรค์ต่อไปด้วยปีติสุขของแต่ย่างละก้าว...

    ครูกานท์

    ทุ่งสักอาศรม

     

    ครูกานท์ขอเชิญชวนสมาชิกโรงเรียนกวีที่ยังไม่มีหนังสือกวีนิพนธ์อยู่ใกล้ตัว ให้หมั่นแวะเวียนไปเลือกอ่านบทกวีในบล็อก บทกวีคัดสรร http://gotoknow.org/blog/krugarn6 ของครูกานท์พลางๆ ไปก่อนก็ได้ จะพยายามคัดสรรมาแบ่งปันกันอ่านเนืองๆ ครับ  รวมทั้งในหน้า ชวนเด็กๆ อ่านบทกวี และหน้า บทอาขยาน

    การอ่านบทกวีเพื่อซึมซับอรรถรสจนได้ทักษะสั่งสม ไม่ใช่อ่านแบบเอาเรื่องอย่างรีบร้อนนะครับ อ่านช้าๆ ด้วยความรู้สึกรู้สาตามอารมณ์ของคำและความในบทกวีนั้นๆ  นี่เป็นเคล็ดลับของการเสพงานศิลปะทุกแขนง...

    คุณดาวลูกไก่

    คุณพิทักษ์

    อย่ามัวแต่เชียร์อย่างเดียวซิครับ...

    คุณแสงศรี หายไปไหนหนอ...

    "ใจขาดวิ่น.....สูญสิ้น....กายอาดูลย์"  - ยังมีทางเลือก ทางลง อีกมากมายนะครับ เชื่อว่าคุณจะต้องทำได้...(อาดูลย์ ลองเปิดพจนานุกรม ดูสักหน่อย)



    เพลิงไหม้ ไร่อ้อย? (คนวางเพลิงคือคนสวมเสื้อแขนยาวในภาพ)

    อันอ้อยอัคนิเกื้อ-         กูนหวาน
    ไฟลุกไล่งูคลาน-         เคลื่อนลี้
    ใบอ้อยที่คมปาน-        เปรียบมีด
    ไหม้มอดหมดฉะนี้       ตัดต้นสะดวกแสน

    -อันว่า (ชาวไร่) อ้อย เผาด้วยไฟ เพื่อ เพิ่ม/เกื้อกูล ความหวาน?
    - (การเผาป่าอ้อย ก่อนที่จะตัดก็เพื่อไล่งู) เมื่อไฟไหม้ งูเห่า งูจงอางก็จะเลื้อยหนี
    -(การเผาป่าอ้อย ก่อนที่จะตัดก็เพื่อเวลาตัด้อยจะได้ไม่โดนใบอ้อยบาด) ใบอ้อยคมเหมือนใบมีด
    -(พอใบอ้อยถูกไฟ)มอดไหม้ (จนหมดไม่เหลือ เหลือแต่ต้นอ้อย อีกทั้งไม่ต้องกังวลว่างูจะกัด) การตัดอ้อยก็ง่ายขึ้น



    สวัสดีครับอาจารย์ มาส่งการบ้านครับ และสรุป สัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับไฟ ไว้เป็นอีกบันทึกหนึ่งนะครับ (แตกประเด็น)

    »  สัญลักษณ์ว่าด้วย ควัน และ เพลิง/ไฟ ที่กวีโบราณ นิยมใช้


    อ่านโคลงคุณกวินแล้วอิ่มใจจัง...

    ทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งกับลูกๆ ที่ช่วยกันเล่นกับความร้อน...

    ...........................................

    รักลูก หัดลูก เล่นไฟ

    ฟาดไม้ ด้วยมือ ลูกพ่อ

    ไฟดับ ไฟดุ ปะทุรอ

    ถักทอ บทเรียน เขียนรัก

    .

    กวิน(ไม่ได้ล็อกอิน)

    *แก้คำผิดนิดหนึ่งครับ เกื้อกูน -> เกื้อกูล

    เกื้อกูหวา(แต่ใช้ สะกดนี่ก็ทำให้นึกถึงยุค อักษรวิบัติ นะครับ) ในภาพคือไร่อ้อยใช่มั้ยครับอาจารย์?

    ปล. โคลงกวินใช้ บรรยายภาพ จึงไม่ได้ใช้สัญลักษณ์ ความร้อน เพลิง ควัน

    สมัยก่อนแถวบ้านกวินก็เคยช่วย แม่ยายๆ ทำแนวป้องกันไฟป่า เหมือนกันครับ คือจุดเผาหญ้าแห้ง รอบๆ บ้านไว้ก่อน (ในระยะไกลๆ) เพื่อเวลามีไฟป่าไหม้ลามมา เจอแนวป้องกันไฟก็จะดับ :)

    ใช่แล้วครับคุณกวิน เป็นภาพคนจุดไฟเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน สาเหตุที่ต้องจุดไฟเผาก่อนตัดก็เพราะว่าจะทำให้ตัดได้สะดวก ไม่ต้องคายคันและไม่ต้องฟันฝ่ากับคมใบอ้อย แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้น้ำหนักอ้อยลดลง แต่ชาวไร่ก็ต้องจำยอม ด้วยว่าคนงานตัดอ้อยก็ต้องการตัดสบาย

    เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ โรงงานจะหักค่าความหวานลดลงอีกด้วย เท่ากับชาวไร่ถูกหักสองรายการ คือถูกลดน้ำหนักโดยไฟ และถูกลดราคาค่าความหวานต่อตันโดยโรงงาน ครั้งกระนั้น ถ้าอ้อยของใครโดนไฟไหม้ พ่อแม่ลูก และญาติมิตรจะต้องไปช่วยกันดับ ด้วยการหักกิ่งไม้ชายรั้วชายทางเท่าที่หาได้ไปฟาดไปตีไฟแบบที่หน่วยพิทักษ์ป่ากระทำกับการดับป่า ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่หลายครั้งก็ช่วยให้ไม่ลุกลามไปไร่อื่นๆ ...จำได้ว่าห้วงเวลานั้น ถ้าจับได้ว่าใครเป็นคนจุดไฟเผาอ้อย จะโดยเหตุคึกคะนองหรือแกล้งกันก็ตาม จะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตทีเดียว

    วันนี้กับวันนั้นต่างกัน เพราะวันนี้เป็นการสมัครใจจุดเผาเพื่อประโยชน์ความสะดวกของการตัดอ้อยครับ ถ้าจะดูแล ก็เพียงกันไฟไม่ให้ลามไปไร่อื่นๆ ที่ยังไม่สามารถหาคนงานที่พร้อมจะตัดได้

    สำหรับคำ เกื้อกูน ของคุณกวินนั้น ตอนแรกผมเข้าใจว่าคุณกวินเจตนาใช้ เพราะว่า กูน เป็นภาษาเขมร หมายถึง ลูก ไทยนำมาใช้ แต่เป็นคำเก่า ไม่ม่ค่อยพบเห็นเท่าไรนัก

    ในโคลงของคุณกวิน แม้จะไม่เปลี่ยน กูน เป็น กูล ผมก็คิดว่าไม่ได้เสียความ แต่กลับจะได้ความลึกซึ้งไปอีกคนละอย่างครับ

    ดังนั้นเมื่อเชื่อมโยงเรื่องไฟไหม้อ้อย การช่วยกันดับไฟ เด็กๆ ได้เรียนรู้โลกและชีวิตวิถีไปพร้อมๆ กับครอบครัวและชุมชน ผมจึงพูดว่าอ่านโคลงบทนี้แล้วอิ่มใจ...

    .

    ครูกานท์

    ขอคารวะ ครับได้ความรู้ใหม่ เรื่อง คำว่า กูน และเรื่อง การเผาอ้อย ว่า จะโดนตัดค่าความหวาน จากโรงงานด้วย แถวที่บ้าน กวิน ทำนาข้าว ไม่ได้ทำไร่อ้อย แต่เคยได้ยินเรื่องการทำไร่อ้อยมาบ้าน กวิน กับแม่+ยาย เคยปลูกมันสำปะหลัง ที่หลังบ้าน ด้วยครับ :) แต่ต้องรบกับหนู นา ที่จะคอยมากินหัวมัน ไฟนี่ก็มีส่วน เกื้อ  ความหวานของอ้อย  นะครับ ขอบพระคุณมากๆ ครับ ได้ความรู้ และได้รู้วิถีชาวบ้าน เพิ่มเติม ครับ

    ผมคนหนึ่งส่งใจคารวะ

    ขอคุณพระคุ้มครองครูของผม

    ให้กอบปรด้วยสุขพ้นทุกข์ตรม

    ใจสุขสมในวันปีใหม่เอย

    ผมขอลาครูไปชลบุรี...1 อาทิตย์ครับ

    ไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสเปิด net.หรือเปล่า

    กลับมาทำงาน...จะมารายงานตัวครับครู

    ส่งความสุข ....ถึงเพื่อนร่วมห้องเรียนทุกท่านครับ

    ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย...ช่วยดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว

    ประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดปี 2552 ครับ

    สวัสดีปีใหม่ 2552

    แสงศรี

    บุญรักษา แสงศรี สวัสดิศรี

    ไปดี มาสะดวก ไม่เจอด่าน

    เก็บหิน เก็บหอย ร้อยกลอนกานท์

    เอามาอ่าน สู่กัน วันกลับเว็บ

    ...

    • ระหกระเหินเงอะเงอะเงิ่นเงิ่นหลงเดินทางไป
    • กระเสือกกระสนทุกข์ทนหัวใจ
    • เมื่อไหร่หนอได้ครูให้วิชา
    • ระส่ำระส่ายกระหายความรู้
    • ครูกาญจ์ยอดครูเร่งชี้เร่งแก้
    • ปิดปิดเปิดเปิดเหนื่อยใจแท้ๆ
    • หรือครูเบื่อแย่ไม่เป็นสักที

     

    • สวัสดีค่ะครูกานท์
    • ตามมาเชียร์...อีกรอบค่ะ    นักเรียนเก่งๆๆทั้งน้าน.....
    • โดยเฉพาะ...นีปาเล...เนปาลี ให้   98.5 อิ อิ

    แบบที่คุณ เพ็ญศรี(นก) ส่งการบ้าน

    ร้อยเป็น ร่ายโบราณ ไปเรื่อยร่ำ

    สัมผัส อำเภอใจ จังหวัดคำ

    ถ้าอยากทำเป็นกลอน...ก็แบบนี้

    ...

     

     

    ครูกานท์เขียนกลอนตอบ เอื้องแซะ ไว้ที่ห้องเรียนกวี 1

    อ่านหรือยังครับ...

     

    • สรุป ห้องเรียนกวี 2

    (1) "หนึ่งชีวิต .....ย้อนคิด.......ถึงวันเก่า

    ใครกันเล่า....ผลาญเผา.....ไปหมดสิ้น

    ทั้งไฟร้อน.....ไฟเย็น.......เข็ญชีวิน

    หมดแรงดิ้น ....เหลือเพียง....กายทรงตัว "

    แสงศรี

    กลอนของคุณแสงศรีใช้ได้นะครับ ให้ความหมายในเชิงจินตนาการย้อนรอยชีวิตที่ฟันฝ่าและถูกกระทำ เพียงแต่วรรคสุดท้ายที่ว่า "หมดแรงดิ้นเหลือเพียงกายทรงตัว" นั้นยังไม่ลงตัวนักเพราะ "หมดแรงดิ้น" กับ "เหลือเพียง-กายทรงตัว" ดูจะไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก ภาพขัดแย้งกันอยู่

    (2) สูญ

    ...ร้อนแรงแดงฉาน                  แหลกรานราพณาสูรย์
    รุ่มร้อนพาอาดูร                       โหยหวนไห้..ทำลายล้าง

    ภูสุภา

    คุณภูสุภา เขียนเป็นคำประพันธ์อิสระในวรรคแรก แต่ต่อมาอีกสามวรรคเป็นกาพย์ยานี ก็พออ่านได้ไม่สะดุดครับ ความหมายให้ภาพเชิงพรรณนาได้ดี เพียงแต่ยังไม่เด่นชัดว่าจะสื่ออะไรเป็นเป้าหมายปลายเจตนา 

    คำ "ราพณาสูร" ไม่มี การันต์นะครับ มาจาก "ราพณ์" (ยักษ์) + อสูร (ยักษ์) เป็นคำซ้อน ราพณาสูร ใช้ความหมายในความเป็น ภาษาปาก หมายถึง แหลกลาญสูญราบ

  • สรุป ห้องเรียนกวี 2 (ต่อ)
  • (3) เปลวเพลิงลามเลียกิ่งใบ

    ราวร้าวใจ...รักสลายไปจากฉัน

    ต้นไม้ถูกเปลวเพลิงผลาญชีวัน

    หัวใจฉันถูกลงทัณฑ์...โดยเธอ

    ฉัตร

    คุณฉัตร เขียนสบายๆ ภาษาเป็นธรรมชาติดี มีเล่นอักษรสัมผัส เพลิง/ผลาญ และที่มีเสน่ห์คือวรรคสุดท้าย "หัวใจฉันถูกลงทัณฑ์...โดยเธอ" แม้ฉันจะเป็นตัวชิงสัมผัสก่อน ทัณฑ์ ตรงนี้เป็นความจำเป็นที่ต้องใช้ฉัน เพราะมีเธอ เป็นเป้าหมายปฏิสัมพันธ์ครับ

    (4) แลทุ่งกว้างดงป่าถูกเผ่าผลาญ

       ต้นไม้งามโดดเด่นเห็นขุนเขา

       ไฟป่าลุกควันกระจายลายสีเทา

        มองขุนเขาเศร้าใจใครหนอทำ

    ศรีกมล

    กลอนของคุณ ศรีกมล มองภาพที่กำหนดแล้วจินตนาการไปถึงภาพอีกภาพหนึ่งที่กัน ที่กำลังอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เป็นความรำพึงซ่อนเศร้า 

    กลอนบทนี้พลาดสัมผัสนะครับ ระหว่างวรรคหนึ่งกับวรรคสอง ไม่สัมผัสกัน เข้าใจว่าผู้แต่งอาจเผลอ... หลังจากทิ้งเวลาให้กลับมาแก้ไข แล้วไม่แก้ ก็แสดงว่ายืนยันใช้ตามนี้ (หรืออาจมัวไปเที่ยวอยู่กระมัง) ส่วน เผ่า นั้นคงผิดโดยไม่เจตนา เข้าใจได้ครับ

    • สรุป ห้องเรียนกวี 2 (ต่อ)

     (5) เปลวเพลิงลามทั่วท้อง....................ธรณินทร์

    ดั่งจิตโกรธทำลายชีวิน..................ผ่าวไหม้

    ทุกสิ่งจักพังภิณฑ์.........................แดเดือด

    มีแต่ขันติได้.................................ดับร้อนผ่อนทรวง

    เนปาลี

    คุณเนปาลี นำเสนอเป็นโคลงสี่สุภาพ ความหมายดีมาก สามารถใช้ภาพเป็นสื่อสะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง สามารถใช้ ไฟ เป็นสัญลักษณ์ของ ความโกรธ ได้เหมาะกับบริบท

    ส่วนคำผิด และ คำเกิน ดังที่กล่าวกันไปแล้วนั้น แก้ไขไม่ยากหรอกครับถ้าชำนาญโคลงอีกสักหน่อย แต่ครูกานท์จะไม่แก้ไขให้นะครับ ต้องการให้เจ้าตัวแก้ไขเองและภูมิใจในตนเอง  แต่อย่างน้อยหลังจากที่ คุณกวิน ช่วยวิจารณ์ คุณเนปาลี ก็กลับมาแก้ให้กระชับขึ้นกว่าเดิมได้ในระดับหนึ่งแล้ว

    • สรุป ห้องเรียนกวี 2 (ต่อ)

    (6) ผลาญใบให้มลาย

    ผลาญภัยร้ายให้ชาวบ้าน

    ผลาญทุกข์ที่บ่มนาน

    ให้หอมหวานด้วยเม็ดเงิน

    พิมล มองจันทร์

    คุณพิมล เขียนเป็นกาพย์ยานี ลงตัวดีครับบทนี้ ความหมายก็ดีมากทีเดียว โดยเฉพาะ "ผลาญทุกข์ที่บ่มนาน" ผมชอบมาก อาจจะตะขิดตะขวงอยูที่วรรคสุดท้ายนิดหน่อย "ให้หอมหวานด้วยเม็ดเงิน" นั้น ในทางปรัชญาแห่งการใช้ชีวิตที่สันติสุขแท้จริง เงิน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

    • สรุป ห้องเรียนกวี 2 (ต่อ)

    (7) หากพรุ่งนี้..ไม่มีเธอ

    เปลวเพลิง....แผดเผา....จนเร่าร้อน
    อกสะท้อน....ใจสะเทือน....เหมือนสลาย
    พายุพัด.....โหมกระหน่ำ....ช้ำใจกาย
    คงเดียวดาย..หากยืนต้น...จนลำพัง
    เพ็ญศรี (นก)

    คุณเพ็ญศรี ทำได้ดีนะครับสำหรับกลอนบทนี้ สะท้อนอารมณ์ตนกับภาพ แทนตัวละครชีวิตที่อาจมีความเดียวดายร่วม วรรคที่สองเล่นคำได้ดีที่สุด อกสะท้อน....ใจสะเทือน....เหมือนสลาย

    สามคำสุดท้าย ของวรรคที่สี่เท่านั้นที่ยังไม่ลงตัว คำว่า จน เป็นจุดอ่อน ที่น่าจะเปลี่ยนเป็นคำอื่น ถ้าไม่สามารถหาคำสัมผัสได้ก็อาจทิ้งสัมผัส แล้วเลือกคำที่สัมผัสใจหรือได้ความกินใจแทน

     

     

    • สรุป ห้องเรียนกวี 2 (ต่อ)

    (8) อันอ้อยอัคนิเกื้อ-   กูนหวาน
    ไฟลุกไล่งูคลาน-        เคลื่อนลี้
    ใบอ้อยที่คมปาน-        เปรียบมีด
    ไหม้มอดหมดฉะนี้       ตัดต้นสะดวกแสน
    กวิน

    คุณกวิน ใช้โคลงสี่สุภาพเช่นเดียวกับคุณ เนปาลี  โคลงของคุณกวินเรียกได้ว่าฝีมือชั้นครู  มีการเล่นล้อสัมผัสอักษร ที่งดงาม เช่น อัน/อ้อย/อัคนิ...เกื้อ-/กูน...ลุก/ไล่....คลาน-/เคลื่อน...ปาน-/เปรียบ... ไหม้/มอด/หมด...ตัด/ต้น...

    การเลือก อ้อย กับ อัคนิ มาเรียงกันได้เหมาะเจาะกับ ภาพ และ เสียง และยังได้รสรู้สึกขณะอ่านยิ่ง (ต้องลองออกเสียงอ่านดู) ซึ่งคำ อัคนิ ที่แผลง อี เป็น อิ เพื่อให้ลงฉันทลักษณ์โคลงในที่บังคับ เอก นั้น มิใช่เป็นการลากเข้าฉันทลักษณ์ แต่เป็นการสรรคำกับความและเสียงที่ทำไปในขณะเดียวกัน 

    เชิงอุปมาในบาทที่สาม

    "ใบอ้อยที่คมปาน-        เปรียบมีด"
    ไม่เปรียบจนไกลเกินกว่าที่จะประหวัดคิด เพราะชาวบ้านเขาตัดอ้อยด้วย มีด ประการหนึ่ง และ มีด ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความ คม ที่บาดใจกินใจได้ฉับพลันทันทีในโคลงบาทนี้

    ดังนั้น ไฟ ซึ่งเป็นผู้กระทำการ "เกื้อกูนหวาน"..."ลุกไล่งูคลาน-เคลื่อนลี้"...และ "เผาไหม้คม" จนไหม้มอดหมดฉะนี้...จึงทำให้ตัดอ้อยได้สะดวกยิ่ง  รับความหมายของ "เกื้อกูนหวาน" ได้ลงตัวในที่สุด  ซึ่งคำว่า กูน ในความหมายถึง ลูก หรือตีความโดยนัยให้หมายถึง สายธาร (ความหวาน) หรือ เลือดเนื้อ (เพื่อลูก) ในความหมายที่ครูกานท์ชอบ...แต่ถ้าจะแก้ กูน เป็น กูล ใช้ความหมายแค่ เกื้อกูล ก็ได้...   

     

    • สรุปว่าในโจทย์ของ ห้องเรียนกวี 2 นี้ บทประพันธ์ที่ควรได้รับการประทับตราทุ่งสักอาศรม ได้แก่...

     

    (8) อันอ้อยอัคนิเกื้อ-   กูนหวาน
    ไฟลุกไล่งูคลาน-        เคลื่อนลี้
    ใบอ้อยที่คมปาน-        เปรียบมีด
    ไหม้มอดหมดฉะนี้       ตัดต้นสะดวกแสน
    กวิน

    (5) เปลวเพลิงลามทั่วท้อง........ธรณินทร์

    ดั่งจิตโกรธทำลายชีวิน.............ผ่าวไหม้

    ทุกสิ่งจักพังภิณฑ์....................แดเดือด

    มีแต่ขันติได้.............................ดับร้อนผ่อนทรวง

    เนปาลี

     

     

    (3) เปลวเพลิงลามเลียกิ่งใบ

    ราวร้าวใจ...รักสลายไปจากฉัน

    ต้นไม้ถูกเปลวเพลิงผลาญชีวัน

    หัวใจฉันถูกลงทัณฑ์...โดยเธอ

    ฉัตร

    (6) ผลาญใบให้มลาย

    ผลาญภัยร้ายให้ชาวบ้าน

    ผลาญทุกข์ที่บ่มนาน

    ให้หอมหวานด้วยเม็ดเงิน

    พิมล มองจันทร์

    .

    ขอบคุณคุณครูมาก ๆ ค่ะ

    มาฝากภาพอวยพรปีใหม่ และคุณครูจะตรวจการบ้าน ยิ่งดีค่ะ

    Life is not long. 

    Open mind to see all with real love.

    All is alive, isn’t it?    

    Even though the stars are blind.

    We can find the real life inside.

     

    ชีวิตใช่ยืนยาว      ใจดวงร้าวปั่นป่วนผวา

    รักแท้เติมวิญญา   คิดแค่ให้..สุขนิรันดร์

     

     

    200733

    ชีวิตใช่ยืนยาว

    ใจดวงร้าวจงก้าวฝัน

    ศรัทธาที่ฝ่าฟัน

    คือรางวัลแห่งชีวิต

    ...

    อายุบวร ครูปู

    หน้าตาดี (natadee t'ซู๊ด) ยิ่งๆ ขึ้น

    ตลอดปี...ตลอดไป...

    • ขอบคุณครับ
    • ขอให้คุณครูมีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุมั่นขวัญยืน สุขสดชื่นสมหวัง มีพลังใจ ตลอดปี 2552
    • วาระศกดิถีขึ้นปีใหม่         จตุรพรใดใดในแหล่งหล้า
    • บันดาลดลพรประเสริฐในโลกา  ทั่วแหล่งหล้าน้อมอวยพรกลอนแด่ครู

                   ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อพุทธชินราช  ดวงพระวิญญาณองค์สมเด็จพระนเรศวร  และดวงพระวิญญาณพระพี่นางแก้วกัลยาฯ อันสิงสถิตย์ปกปักรักษาเมืองสองแควโปรดดลบันดาลให้ครูของนกประบความสำเร็จในหน้าที่การงานและคิดสิ่งใดก็ขอให้สมความปราถนาทุกประการ สาธุ ค่ะ

    บุญรักษา ศรีกมล และครูนก

    อายุบวร...

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท