เพื่อนเรียนรู้จากหนองบัวลำภู


ในตอนสายของวันศุกร์ที่ ๑๕ ก.พ. ๔๑ คณะครูจากโรงเรียนโนนสังวิทยาคาร ๕๒ ท่าน เดินทางจากจังหวัดหนองบัวลำภู มาเยือนโรงเรียนเพลินพัฒนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องการทำโรงเรียนจัดการความรู้

   รู้จักกับโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นวีดิทัศน์เรื่องแรกที่เปิดให้คณะฯรับชมเพื่อช่วยในการปูพื้นความเข้าใจในความเป็นมา และหลักคิด ตลอดจนภาพรวมของของโรงเรียนทั้งหมด หลังจากนั้นก็นำคณะผู้มาเยือนเดินชมโรงเรียน การเดินชมแบ่งออกเป็น ๒ เส้นทาง   กลุ่มที่กลับมาถึงห้องประชุมก่อน ก็เดินชมชมนิทรรศการจัดการความรู้ของช่วงชั้นต่างๆไปพลาง  ซักถามประเด็นที่สนอกสนใจกันไปพลาง  

เมื่อเก็บข้อมูลกันจนจุใจแล้วก็เข้าไปรับชม วีดิทัศน์ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่ทาง สคส.จัดทำขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้อย่างเชื่อมโยงในหลากหลายบริบท ทั้งที่เป็นภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีการนำเสนอเรื่องราวของการจัดการความรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา  

การไหลลื่นของคลื่นความรู้

 เมื่อวีดิทัศน์จบลง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องเล่าของคุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลายของโรงเรียนหนองบัวลำภูว่าท่านหนึ่งเกิดอาการปิ๊ง ! เมื่อได้เหลือบไปเห็นกระดานหมากฮอสพาเพลิน ที่เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่คุณครูอนุบาล ๓ คิดขึ้น ให้นักเรียนได้คุ้นเคยกับคำศัพท์ต่างๆ ผ่านการเล่น 

คุณครูท่านนั้นจึงคิดต่อไปว่า ทั้งรูปแบบและวิธีการเล่นอย่างนี้สามารถนำกลับไปใช้เรียนรู้เรื่องห่วงโซ่อาหารของนักเรียนมัธยมปลายได้ เพียงแค่เปลี่ยนโจทย์ให้เป็นชื่อของสัตว์ชนิดต่างๆในห่วงโซ่อาหาร

จากนั้นคุณครูอีก ๕ ท่านจากทีมเยือนก็ผลัดกันมาเล่าให้ฟังว่า กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติที่โรงเรียนของท่านทำกิจกรรมอะไรกันบ้างในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผ่านมา  

ทีมเหย้าเข้ามาแลกเปลี่ยน 

กระบวนทัศน์ครูของครู เป็นเรื่องเล่าเรื่องแรกจากโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ดิฉันนำเสนอเรื่องของการทำงานให้เป็นการเรียนรู้ด้วยท่าทีของครู ที่มองลูกทีมเป็นดั่งลูกศิษย์  ไม่คาดคั้นที่ผลแต่เน้นไปที่การสร้างเหตุและปัจจัย ช่วยเขาให้ทำเรื่องที่ทำอยู่ให้สำเร็จ เพื่อให้เขาไปใช้ท่าทีเดียวกันนี้กับลูกศิษย์ของตนเช่นเดียวกัน

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องทีมร่วมเรียนรู้ ที่ใช้ชื่อว่า 2T 2U ที่คุณครูแอน สุธนา  สิริธนดีพันธ์ มานำเสนอเคล็ดวิชาในการทำงานจัดกระบวนการเรียนรู้ภาคสนามให้สำเร็จด้วยการประสานพลังกลุ่ม ที่ต้องอาศัยทั้ง team  trust  unity และ understanding แล้วคั่นรายการด้วยการนำให้ผู้ฟังได้รู้จักกับภาวะพร้อมเรียนรู้ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของทั้งครูและเด็ก  

ถัดมาก็เป็นการเล่าถึงการใช้สื่อและกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ของคุณครูโน้ต สุมนา  แทนบุญช่วย  ในเรื่องของพหุนามที่ผู้เรียนต้องทำการวิเคราะห์ตัวรากฐานของความเข้าใจอย่างเป็นลำดับขั้นว่า กว่าจะเข้าใจเรื่องพหุนามได้นั้นต้องมีความเข้าใจในเรื่องใดมาก่อน รวมถึงการแสดงวืธีทำโจทย์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องด้วย  

กระบวนการเรียนรู้ของครูมัธยม เป็นเรื่องเล่าเรื่องสุดท้าย ที่คุณครูแคท คัทลียา รัตนวงศ์ ออกมาเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ดีขึ้นตามลำดับ จากการนำกิจกรรมภาวะพร้อมเรียนรู้เข้าไปใช้ พร้อมๆกับการสร้างให้เด็กพบความสงบในใจด้วยการอ่านหนังสือที่ชื่อ เต๋าเต๊กเก็ง 

แล้วเวลาของอาหารเที่ยงก็มาถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มครูทั้งสองโรงเรียนจึงจำเป็นต้องเลิกราไปแต่เพียงเท่านี้ ... เพื่อนครูจากโรงเรียนโนนสังวิทยาคารเดินทางต่อไปยังจังหวัดเพชรบุรี ส่วนเพื่อนครูทางนี้ก็มีคณะนิสิตศึกษาจาก มศว.ประสานมิตร ที่เดินทางจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มารอแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เช่นกัน   

หมายเลขบันทึก: 165991เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท