เวทีระพีเสวนา : ๓ . การต่อยอดประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า (๑)


 

เช้าวันนี้ดิฉันมีโอกาสกลับไปเยือน สคส.อีกครั้ง และกลับออกมาพร้อมกับความชื่นใจจากการได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ที่ให้บทเรียนอันล้ำค่าจากเรื่องเล่าของอาจารย์วิจารณ์

 

เวลา ๐๗.๑๕ น. ดิฉันขึ้นไปถึงชั้น ๒๓ อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ สคส.เปิดไฟสว่าง หลายคนนั่งง่วนกับงานอยู่ที่โต๊ะของตน อาจารย์วิจารณ์กำลังคุยงานอยู่กับพี่ธวัช

 

เมื่อถึงเวลา ๐๗.๓๐ น.ที่นัดหมายไว้อาจารย์ก็เดินเข้ามาที่ห้องประชุม วันนี้อาจารย์มีเวลาให้พวกเราหนึ่งชั่วโมงสำหรับการสนทนา เนื่องจากเป้าหมายของเวทีระพีเสวนา คือการตามหาการเรียนรู้ในเรื่องความดี ความงาม และความจริง เพื่อพัฒนาสู่จิตใจ และปัญญา ที่มีอยู่ในบ้านเมืองเรา เพื่อมาถอดประสบการณ์การเรียนรู้ และหลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไท

 

คณะของเราในเช้าวันนี้ นำโดยอาจารย์ประภาภัทร นิยม จึงได้พากันมาขอฟังประสบการณ์ของท่าน เพื่อใช้เป็นฐานความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผ่านสายตาของ สกว. ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้มีการสร้าง -ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทย และ สคส. ที่สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักปฏิบัติด้วยกัน จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายนักจัดการความรู้ขึ้นทั่วประเทศ

 

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ สกว.ครบ ๕ ปี ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับและถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่คณะทำงานเริ่มตั้งคำถามว่า ชาวบ้านได้ประโยชน์จากงานที่เราทำจริงหรือ แล้วก็ได้คำตอบว่า...ถ้าจะเกิดประโยชน์จริงตัวระบบความรู้ต้องเข้าไปอยู่ในท้องถิ่น

 

อาจารย์ปิยวัฒน์ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว.คนปัจจุบัน จึงได้พัฒนาระบบงานวิจัยชาวบ้านขึ้น ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างไปจากการวิจัยเชิงวิชาการ และการวิจัยเพื่อพัฒนา

งานวิจัยท้องถิ่นหรืองานวิจัยชาวบ้านที่ว่านี้จะต่างออกไปตรงที่เน้นให้เกิดการสร้างและใช้ความรู้อยู่ในชีวิตของชาวบ้าน

 

โจทย์ที่ตั้งไว้ คือการไปทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริง ต่อยอดจากของจริง ทำให้ได้ผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริง และตั้งอยู่บนฐานของความรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน ในหมู่บ้าน

 

งานเรียนรู้จากงานวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน พบว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยของความเข้มแข็ง แม้ปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านจะมีผู้ช่วยหลักเป็นครู แต่ครูไม่ได้ใช้โรงเรียนเป็นฐานในการสร้างการเรียนรู้ ครูเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ดี แต่เรียบเรียงออกมาเป็นภาษาเขียนไม่ได้

 

ปรากฏการณ์ที่พบ นำไปสู่ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในมุมหนึ่งสังคมไทยมีวัฒนธรรมของการครอบงำการเรียนรู้ ทำให้คนไม่กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 223632เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะวิมลศรี ศุษิลวรณ์

  • แวะมาลับสมอง อ่านแล้วได้ประโยชน์ดีค่ะ
  • เขียนอีกนะค่ะ เดี๋ยวมีเวลาจะแวะเข้ามาอ่าน ขอบคุณมากค่ะ

 

ได้เลยค่ะ ถ้าวันนี้มีเวลาจะลงตอนต่อไปให้อ่านนะคะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท