เวทีระพีเสวนา : ๔ . การต่อยอดประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า (๒)


 

วิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อาจารย์วิจารณ์กล่าวถึง คือ การนำความคิดของตนไปทดลองปฏิบัติ แล้วมาสรุปใคร่ครวญถึงผลที่เกิดขึ้น

 

เมื่ออาจารย์มาทำสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้เห็นตัวอย่างจากการเรียนรู้ของสมาชิกโรงเรียนชาวนาของคุณเดชา ศิริภัทร์ มูลนิธิข้าวขวัญ ที่จ.สุพรรณบุรี ก็เห็นเลยว่าชาวบ้านไม่กล้าเรียนรู้ ถ้าไม่มีการรวมกลุ่ม ซึ่งตรงกับวิธีคิดของ สคส. ที่มองการเรียนรู้ว่าอยู่บนฐานของการปฏิบัติ และการเรียนรู้จะเกิดพลังได้ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกัน

 

ที่โรงเรียนชาวนาคนที่จะมาเข้าเรียนต้องทำนา ต้องมีนาของตัวเอง แล้วเอาเรื่องที่ได้เรียนรู้จากการทำนามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอาทิตย์ละครึ่งวัน ถ้าไม่มาถือว่าขาดเรียน แต่สามารถส่งสมาชิกในครอบครัวมาแทนได้  นอกจากภาคปฏิบัติแล้วยังมีเรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนด้วย กรณีโรงเรียนชาวนานี้ทำให้เราได้เห็นว่าชาวบ้านเรียนรู้อย่างไร

 

พอบอกว่าในการเรียนรู้ต้องจดบันทึกด้วย ในตอนแรกก็ไม่กล้าจดกัน แต่พอลุงสุข เชื้อหนองปรง ซึ่งอายุ ๕๐ ปี เริ่มบันทึก แล้วมีการเอาบันทึกการสังเกตมาแลกเปลี่ยนกัน มีการถ่ายภาพมาลงใน http://gotoknow.org/blog/ คนก็เริ่มเข้าใจว่าบันทึกที่ทำขึ้นเป็นการสื่อสารเรื่องที่ไปทดลองทำกันมา ผิดถูกไม่เป็นไร ก็เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่

 

พอมาถึงตรงนี้ ก็ได้ข้อสรุปอีกเรื่องหนึ่งว่า การเรียนรู้ต้องการความมั่นใจ การเรียนรู้ต้องมีการปฏิบัติ

 

หากจะเทียบกันไปแล้ว การครอบงำชาวบ้านยังไม่รุนแรงเท่ากับการครอบงำที่มีอยู่ในแวดวงการศึกษา ที่ครูตกอยู่ในอำนาจของผู้บริหาร และ ผู้บริหารก็อยู่ในอำนาจของระบบ ทำให้ครูขาดอิสระที่จะได้ทดลองเรียนรู้ ครูดีไม่ได้รับการชื่นชม ไม่มีการนำความสำเร็จที่ได้ไปขยายผลต่อ

 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ มี SSS – Success Story Sharing เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

 

การศึกษาต้องพัฒนาจากผลการดำเนินการของตัวเอง วิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องมาจากเขา การทำงานภายใต้วัฒนธรรมของอำนาจและการสั่งการเป็นสภาพที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้

 

ในจำนวนโรงเรียน ๔๐,๐๐๐ โรง ที่มีอยู่ทั่วประเทศ น่าจะมีโรงเรียนที่ทำอะไรได้ดีอยู่แล้วไม่น้อย แต่เรายังไม่มีวิธีที่จะขยายดีให้กว้างขวางออกไป การเอาเรื่องดีมาขยายผล เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เน้นการแก้ไข แต่เป็นการนำเอาความสุข ความสำเร็จ มาทำความเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

จะเกิดความเข้าใจได้ต้องมีการตีความอย่างเป็นอิสระ แต่ละคนก็จะเกิดความรู้แต่ละแบบ เพราะมองมาจากคนละบริบท หากมีทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การตีความ การทำความเข้าใจ ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่บริบทของตน แล้วมีนักทฤษฎีมาช่วยอธิบายเชิงลึก ถ้าอธิบายได้ด้วยหลายทฤษฎีก็จะยิ่งดี แต่ต้องไม่เป็นทฤษฎีที่ขัดแย้งกัน กระบวนการที่ว่านี้จะช่วยให้เกิดระดับความลึกของความเข้าใจที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตีความความรู้ของแต่ละบุคคล

 

เมื่อมีการนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้กลับไปปฏิบัติ แล้วนำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใหม่ การเรียนรู้ที่ได้ก็จะลึกและมีความต่อเนื่อง หากทำให้เป็นกิจวัตร ก็จะเกิดเป็นวิถีของการเรียนรู้ที่หมุนวนไปจนตลอดชีวิต

หมายเลขบันทึก: 223803เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท