เวทีระพีเสวนา : ๑๖ . เวทีเสวนากัลยาณมิตร (๔)


อาจารย์วัฒนา เด็กจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าครูยังมีความทุกข์ จำเป็นไหมว่าความสุขของเด็กกับความสุขของครูต้องอยู่คนละข้างกัน

 

อาจารย์เอกวิทย์ ที่ครูทุกข์เพราะมีความรับผิดชอบสูง แต่ที่จริงแล้วก็มีสุขที่ได้ทำให้กับเด็ก เมื่อเห็นเด็กได้เรียนรู้ครูก็เกิดปิติ เวลามีคนมาดูงานที่โรงเรียนก็ต้องรู้จักวางอุเบกขา เพราะจะมีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ

 

พระไพศาล ให้เรามีความสุขในขณะที่กำลังทำ ไม่ต้องรอผลสำเร็จปลายทางจะได้ไหม ถึงกายจะเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย ต้องรู้จักวางใจอย่างแยบคาย รู้จัก enjoy suffering แยกแยะให้ได้ว่าทุกขเวทนาเป็นเรื่องทางกาย แต่ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องทางใจ

 

อาจารย์ประภาภัทร ครูต้องเห็นเด็กเป็นครูได้ ไม่ต้องเล่นบทครูตลอด เห็นการเตรียมการสอนเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตัวเรา อาชีพครูโชคดีตรงที่มีโอกาสเรียนรู้ตลอดเวลา และมีคนจ้างให้เราเรียนรู้ เป็นครูแล้วเป็นคนมากขึ้น ทุกคนต้องเรียนรู้กันหมด ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเป็นนักเรียนก็ตาม

 

อาจารย์ศีลวัต ทันทีที่ลงมือสอนเด็กเราก็ได้เรียนว่าหมวกของครูไม่ต้องใส่ตลอดเวลาก็ได้ ยิ่งเราเป็นคนเสมอกับเขา การเรียนรู้ก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก การเรียนรู้จะยิ่งแรงถ้าเราใช้ความเป็นมนุษย์ไปสัมผัสกัน

 

ที่เพลินพัฒนาผมต้องไปเป็นพี่ของครู ต้องแบกภาระใส่หมวกอยู่เกือบทุกวินาที พอตอนนี้เปิดสภาวะของเราให้เท่ากับน้องได้ เราก็เยียวยากันและกันได้ เราไม่ต้องเตรียมเรื่องที่ดีที่สุดเอาไว้ให้เขา แต่เราเรียนรู้จากกันและกัน เมื่อเราทำแบบนี้ น้องก็ดูสดชื่นขึ้น ถ้าเราใช้วิธีนี้บริหารองค์กรด้วย ดูแลชั้นเรียนด้วย อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น

 

อาจารย์ระพี เรื่องทุกข์กาย เคยเกิดกับผมเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ผมเป็นมะเร็ง แต่ก็อยู่อย่างไม่ทุกข์ เป็นครูของใจตัวเอง พอหมอมาตรวจอีกครั้ง หมอบอกว่ามะเร็งหายไปแล้ว

 

อาจารย์กรองทอง การเป็นครูทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับการได้เรียนรู้ ทำให้เราพบความสุข ได้อยู่ในหลายบทบาท ได้อยู่ในหลายบทบาท มีความสุขจากการได้เห็นความหลากหลายของผู้คน ได้เห็นความธรรมดาของความเป็นมนุษย์

 

ขณะที่เราตั้งใจจะพัฒนาเขา เรากลับได้พัฒนา ขณะที่เราตั้งใจจะเป็นผู้ให้ เรากลับเป็นผู้รับ

 

อาจารย์ระพี เรามักเอาความหมายของรูปธรรมกับรูปแบบมาปนกัน เรื่องที่ได้จากตัวเองต้องเป็นรูปธรรม ที่ได้มาจากคนอื่นจะได้เป็นรูปแบบที่ให้ไปทำตาม

 

ต้องเอาใจเขาใส่ใจเราแล้วเราจะได้ความรู้ ที่ญี่ปุ่นตามป้ายต่างๆ จะไม่มีภาษาอังกฤษเลย ถ้าเราคิดแบบที่คนญี่ปุ่นคิดเราก็จะรู้ว่าเป็นเพราะเขาทำไว้ให้คนของเขา ไม่ได้ทำเอาไว้บริการนักท่องเที่ยว

 

ความเป็นไท ไม่ใช่เฉพาะของคนไทย แต่เป็นของทุกคนบนโลก คนทั้งโลกดีทั้งนั้น ถ้าเรามีใจดี เราก็จะเห็นดีในคนอื่น

ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนไทยไทที่ร่วมในเวทีเสวนากัลยาณมิตร มีดังนี้

มิสเตอร์เดวิด ลอง  โรงเรียนนานาชาติเมธา

อาจารย์กรองทอง บุญประคอง  โรงเรียนจิตตเมตต์

อาจารย์ประภาภัทร นิยม  โรงเรียนรุ่งอรุณ

อาจารย์ม.ล.ผกามาลย์ เกษมศรี  โรงเรียนสยามสามไตร

อาจารย์วัฒนา มัคคสมัน  โรงเรียนวรรณสว่างจิต

อาจารย์ศีลวัต ศุษิลวรณ์  โรงเรียนเพลินพัฒนา

อาจารย์อภิสิรี จรัลชวนะเพท โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก

อาจารย์อรุณี บุญโย  โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

อาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา  โรงเรียนสัตยาไส

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท