"หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ" (๓)


 

เมื่อฉันทะมา  เรื่องยากๆ ก็ง่ายอย่างเหลือเชื่อ

 

คุณครูทุกท่านต่างรู้ดีว่าเรื่องที่เราตั้งใจจะให้เด็กๆ ชั้น ๓ ทำในการทำโครงงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และยากแม้กระทั่งกับผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะนี่คือการทำโครงงานที่มีการตั้งประเด็นคำถาม ตั้งสมมติฐาน และหาคำตอบ ในลักษณะเดียวกันกับการทำวิทยานิพนธ์สักเรื่องเลยทีเดียว 

 

แต่เมื่อฉันทะมา และมีการย่อยขั้นตอนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัย งานต่างๆ ที่ว่ายากนั้นก็กลับกลายเป็นง่ายได้อย่างเหลือเชื่อ

 

ก่อนไปภาคสนาม  คุณครูได้เตรียมตัวเด็กให้พร้อมด้วยการผลัดกันมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไปพบในระหว่างการไปสำรวจพื้นที่ชุมชนวัดจำปาให้เด็กๆ ฟัง  รวมถึงการบอกข้อสงสัยต่างๆ นานาที่ครูเกิดสงสัยขึ้นมา  ซึ่งบางครั้งก็เป็นการเล่าถึงข้อค้นพบแบบไม่คาดฝันของตัวครูเอง  ให้เด็ก ๆ ฟังในช่วงโฮมรูมเช้ารวมกันทั้ง ๔ ห้อง  รวมทั้งครูจะสอดแทรกในทุกเวลาที่มีจังหวะ  เป็นบรรยากาศที่ครูทุกคนร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นในระดับก่อนถึงวันจริง  เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กจะต้องเกิดขึ้นกับตัวครูก่อน

 

 

เมื่อถึงวันจริง ก็เป็นไปตามคาด  เด็กๆ สนใจใครรู้ในทุกฐานการเรียนรู้ที่คุณครูเตรียมไว้  และพยายามที่จะหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่คุณครูทิ้งเป็นปริศนาไว้ด้วยวิธีการต่างๆทั้งจากการถามวิทยาการ  รวมทั้งตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานากับเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง

 

ไม่น่าเชื่อเลยว่าเด็ก ชั้น ๓ ที่มีอายุเพียง ๘-๙ ขวบ จะสามารถนั่งฟังคุณตา คุณอา คุณลุงเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังได้นานถึง ๑ ชั่วโมงครึ่ง โดยที่มีน้อยคนมากที่หลับ หรือคุยกันเบาๆ  พวกเขารู้สึกว่าเวลาช่างหมดไปอย่างรวดเร็ว  รวมทั้งคุณลุง คุณป้า คุณตาคุณยายเองก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นเดียวกัน  และต่างก็บอกเล่าเรื่องราวให้ฟังกันจนลืมเวลาเลยทีเดียว 

 

ในฐานการทำเรือจำลองที่ต้องใช้กระดาษทรายขัดไม้สักให้เนียนและเรียบ  ซึ่งต้องใช้เวลา และความตั้งใจในการทำงานอย่างมาก แต่เด็ก ๆ ก็ทำอย่างตั้งใจทุกขั้นตอน  เมื่อถึงเวลากลับก็ไม่อยากกลับ  และเมื่อครูจะเก็บเรือไว้ให้  พวกเขาก็กลัวว่าครูจะทำหาย  หรือครูทำพัง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความรักและหวงแหนในงานที่ได้มาจากแรงกายแรงใจของตัวนั่นเอง

 

 

หลังจากที่เด็กๆ กลับมาจากภาคสนาม  ครูเริ่มด้วยการทบทวนเหตุการณ์ความประทับใจต่างๆ ที่ได้ไปพบไปเห็น หรือได้ลงมือทำเมื่อไปภาคสนาม  และแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้าง  ข้อสงสัยอะไรที่เด็กๆ สงสัยก่อนไป  คำตอบที่ได้คืออะไร

 

เมื่อทบทวนกันครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว  ครูก็ถามขึ้นว่า “แล้วเด็กๆ ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างที่ยังไม่ได้คำตอบ หรือใครมีข้อสงสัยใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อไปภาคสนามบ้าง” เด็กๆ เกือบทั้งห้องยกมือบอกคำถามของตัวเอง  ครูจึงให้เขียนข้อสงสัยนั้นไว้ในกระดาษ  พร้อมทั้งลองคาดเดาคำตอบ  และบอกวิธีการหาคำตอบมาให้ครูทราบด้วย  

 

แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่คิดคำถามไม่ออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ขี้อาย  ในตอนพักรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ  เด็กๆ กลุ่มนี้ก็มาห้อมล้อมกันที่โต๊ะทำงานของคุณครู  เล่าถึงความคับข้องใจที่ยังหาคำถามไม่ได้ ดิฉันจึงชวนเด็กๆ เปิดสมุดภาคสนามทีละหน้า  แล้วให้ผลัดกันเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นๆให้ครูฟัง โดยดูจากจากร่องรอยที่เด็กแต่ละคนบันทึกไว้ในสมุดภาคสนามของตัวเอง 

 

 

หมายเลขบันทึก: 407805เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท