"หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ" (๔)


 

ข้าวฟ่าง เป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ในห้องเรียนจะเป็นเด็กขี้อายไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออกเท่าใดนัก  เมื่อเปิดสมุดภาคสนามถึงหน้าที่เขียนบันทึกเรื่องอาหารท้องถิ่นที่ทำมาจากสายบัว  ดิฉันได้ถามข้าวฟ่างว่า นอกจากอาหารที่คุณตาเล่าให้ฟัง  บัวเอามาทำอาหารอะไรได้อีกบ้าง... เจ้าขา เพื่อนที่ยืนอยู่ข้างๆ ทำหน้าสนใจคำถามนี้  ดิฉันจึงบอกว่า “ถ้าหนูสนใจเรื่องนี้ก็จดไว้เลย”  แล้วครูแคทก็ถามต่อไปอีกว่า “แล้วบัวเอามาทำอะไรได้อีก” ข้าวฟ่างตอบว่า “เอามาไหว้พระค่ะ”  “แล้วทำไมคนจึงมักจะเอาดอกบัวมาไหว้พระล่ะคะ”  ข้าวฟ่างส่ายหน้า  ดิฉันจึงถามต่อว่า “แล้วหนูอยากรู้ไหมคะ” ข้าวฟ่างพยักหน้า  แล้วรีบจดไว้

 

เช้าวันจันทร์หลังจากที่เด็กๆ ได้คำถามกลับไปบ้านเสาร์อาทิตย์  และไปค้นคว้าหาคำตอบมาเรียบร้อย

 

เด็กๆ ส่วนใหญ่พบคำตอบแล้ว  ยังมีข้าวฟ่างที่ดิฉันก็แอบกังวลเล็กน้อยว่าจะสนใจโจทย์ที่คุยกันเอาไว้หรือเปล่า หรือจะเพียงทำทุกอย่างไปตามขั้นตอนด้วยความรับผิดชอบที่มี

 

แล้วข้าวฟ่างเรียกดิฉันเข้าไปใกล้ๆ ในขณะที่ครูท่านหนึ่งกำลังรวมเด็กๆ แล้วบอกออกมาว่า“หนูได้คำตอบแล้ว” ดิฉันจึงถามกลับไปด้วยความตื่นเต้นว่า “จริงเหรอคะ  แล้วคำตอบหนูคืออะไรคะ” ข้าวฟ่างเล่าเรื่องบัวสี่เหล่า  รวมทั้งพุทธประวัติในช่วงเวลาต่างๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับดอกบัวอย่างไร  ซึ่งข้าวฟ่างได้ไปถามคุณป้าด้วยสีหน้า  ท่าทางภาคภูมิใจ และจำได้อย่างขึ้นใจทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาว และยังเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน

 

หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการเขียนประเด็นคำถามของแต่ละคน  และการแสดงวิธีการหาคำตอบ จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย

 

ในการเตรียมการนำเสนอ  ข้าวฟ่างได้คู่กับบิ๊ก  เพื่อนที่มีความสนใจในเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และมีวิธีการหาข้อมูลคล้ายกัน  เด็กทั้งสองคนไม่ต้องการความช่วยเหลือจากครูเลย  และสามารถเขียนบทในการนำเสนอเอง  ฝึกซ้อมการนำเสนอเอง  และเมื่อพร้อม  จึงมาเชิญดิฉันไปนั่งฟังเรื่องราวที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าของตนเอง

 

 

การนำเสนอที่ทั้งสองคิดขึ้น อยู่ในรูปของการสนทนาถามตอบ  เป็นเรื่องของเด็ก ๒ คนที่มาเจอกันแล้วเล่าเรื่องที่ตัวเองสงสัย  แล้วเล่าคำตอบให้กันและกันฟัง  ดิฉันนั่งฟังอย่างชื่นชม และได้แต่ทึ่งในความตั้งใจและความพยายามของทั้งคู่

 

 

ในภาคเรียนจิตตะซึ่งเป็นภาคเรียนถัดมา ทางช่วงชั้นที่ ๑ มีโครงการนิมนต์พระอาจารย์มาสอนธรรมะให้กับเด็กๆ ทุกวันอังคาร ในสัปดาห์นี้พระอาจารย์เทศน์เรื่องพุทธประวัติให้เด็กๆ ฟัง และเทศน์เรื่องบัว ๔ เหล่า และเหตุผลที่เรานำบัวมาบูชาพระด้วย  ดิฉันนั่งอยู่ข้างหน้าจึงได้  เห็นข้าวฟ่างแอบยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ

 

เป็นยิ้มของความภาคภูมิใจที่ได้รู้ว่าความรู้ที่เขามีสามารถเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันได้ และสามารถนำไปใช้อธิบายให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้  รวมทั้งไปปรากฏในบริบทอื่นๆ ที่พาให้เขาเห็นคุณค่าของความรู้ที่ตัวเองค้นคว้าหามาได้อย่างชัดเจน

 

แล้วคาถา “หนูทำได้  หนูทำเป็น  หนูอยากทำ” ก็จะค่อยๆ ประทับลงไปในใจเด็กตัวเล็กๆ อย่างแนบแน่น เกิดเป็นความมั่นคงที่จะเรียนไปในโลกกว้างอย่างมั่นใจ

 

 

ในภาคเรียนฉันทะ เราก็ได้สร้างให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ได้สำเร็จ  ทำให้ได้เห็นพลังของ วิริยะ ในภาคเรียนที่สองว่าพวกเขามีความพากเพียร และสนใจใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก  และในภาคเรียนนี้ คือ จิตตะ หรือ การมีจิตที่ตั้งมั่นอย่างไม่ลดละนี้ จะพาให้ครูได้พบเห็นอะไรอีก....

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 407807เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท