ครูอ่อย
นาง ประไพศรี ครูอ่อย ปานเพ็ชร

เด็กปฐมวัยกับศิลปะ


การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยศิลปะ

การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรมศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมอง หรือที่เรียกว่า  Brain Base Learning (BBL) อีกด้วย เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด

     กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง  ในการจัดกิจกรรมศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์  ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย 
     หากย้อนอดีต สะท้อนประสบการณ์เดิมด้านการเรียนการสอนศิลปะ คุณครูจะให้นักเรียนวาดภาพทิวทัศน์ในกระดาษวาดเขียน แนวคิดเดิม ๆ คือ ภาพทิวทัศน์จะมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขา มีก้อนเมฆ มีต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น มีน้ำทะเล  มีเรือใบ  มีนกบิน  ฯลฯ 
     แต่ยุคปัจจุบันการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างหลากหลายรูปแบบนะครับ เช่น
     - กิจกรรมวาดภาพระบายสี
     - กิจกรรมเล่นกับสีน้ำ  เช่น เป่าสี หยดสี พับสี ระบายสีด้วยนิ้วมือ ฝ่ามือ
     - กิจกรรมการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและวัสดุต่าง ๆ
     - กิจกรรมการปั้น ขยำดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด กระดาษ ฯลฯ
     - กิจกรรมการพับ ฉีก ตัด ปะ
     - กิจกรรมการร้อย สาน และการออกแบบ
     - กิจกรรมการฝนสีด้วยกระดาษทราย
       ฯ ล ฯ
     ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ครูสามารถส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มจุดเชื่อมต่อของใยประสาท  โดยส่งเสริมให้เด็กสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา การพัฒนาระบบกายสัมผัสโดยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์  เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าสักหลาด กำมะหยี่ กระดาษทราย กระดาษที่มีผิวสัมผัสต่างกัน  ฯลฯ
     ระหว่างทำกิจกรรมศิลปะ  ครูต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  เช่น แสงสว่างพอเหมาะ มีเสียงดนตรีเบา ๆ บรรยากาศผ่อนคลาย  ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสมองส่วนประสาทสัมผัสกับสมองส่วนที่คุมกล้ามเนื้อพร้อม ๆ กัน การเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายเข้ากับซีกขวาที่เป็นด้านจินตนาการ  ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบหรือต้องทำให้เหมือนจริง รวมทั้งไม่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน  แต่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสนุกสนาน ซึมซับความงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในผลงานของตน ควบคู่กับความสามารถถ่ายทอดการรับรู้ภายในด้านมิติ รูปทรง ขนาด ระยะ ฯลฯ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก
(ที่มา : ชุดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมองของเด็ก
         ปฐมวัย)

หมายเลขบันทึก: 210983เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชวนไปดู การพัฒนาเด็กโดยใช้ศิลปะ ที่นี่ บ้าง เจ๊า

ขยันจังเลย ครูอ๋อยคนเก่ง

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ที่ได้รับ

ขอบคุณมากที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

สวัสดีค่ะ...หนูอยากทราบข้อมูลภาพตัดปะเพื่อระบายสี หาซื้อได้ที่ไหนค่ะ อยากเอาไว้ให้เด็กบ้าง ครูใหม่ค่ะ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท