อยากรู้ไหม?ว่า.......หมอสั่งเจาะเลือดไปทำไม?.....


ห้อง labกับการตรวจสุภาพ

              คุณเคยอยากรู้.....ไหม?ว่า.....เวลาคุณไปโรงพยาบาลหมอมักจะสั่งเจาะเลือดคุณไปทำไม? ....และรู้สึกแปลกใจ...ว่าเจาะเลือดไปทำไมตั้งหลายหลอดหลายสีหลายขนาด....เลือดจะหมดตัวไหมเนียะ และเอาเลือดคุณไปทำอะไรบ้าง?ห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์มีคำตอบในเรื่องที่คุณอยากรู้....                      

                                              

                                                                                     

          เทคนิคการแพทย์เป็นหนึ่งในทีมงานสาธารณสุขของประเทศ  เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้ส่งตัวอย่างทางการแพทย์และดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการตรวจ การทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยและการรายงานผล การตรวจเพื่อการวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรคและการป้องกันโรค หรือเพื่อการประเมินภาวะสุขภาพ และยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานทางด้านห้องปฏิบัติการการแพทย์ให้มีระบบการตรวจที่ทันสมัย ถูกต้องและมีมาตรฐานสูงและมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการทดสอบใหม่ๆ ออกมาเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

                                           

          สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้จัด KM Sharing ครั้งที่ 6 เรื่องเทคนิคการแพทย์กับสุขภาพประชาชน ในวันที่ 14 สิงหาคม 51 โดยทางห้องปฏิบัติการมีคุณพิกุล คุณอารีย์ คุณอนุพงษ์ คุณวรุณยุพา คุณสมมาตย์ และคุณญานิณี เป็นผู้ร่วมเสวนาแบ่งปันความรู้ กลุ่มงานพยาธิวิทยาโดยคุณญานิณี จรัสวิศรุตพรและคุณอารีย์ ประสิทธิพยงค์ เป็นตัวแทนในการแนะนำห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ว่าประกอบด้วยห้องปฏิบัติการต่างๆคือ

                                           

          ห้องเจาะเลือด ซึ่งเป็นด่านหน้าในการที่จะเจาะเลือดของท่านเพื่อห้องปฏิบัติการต่างๆนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป

                                                     

           ห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยา จะทำการตรวจเพื่อช่วยการวินิจฉัยว่าคนไข้มีภาวะความซีดรุนแรงเท่าใด จำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาว ลักษณะเม็ดเลือดแดง จำนวนเกล็ดเลือด มีความปกติหรือไม่ ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

                                                        

          ห้องปฏิบัติการจุลทัศน์วิทยา เป็นการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุที่อาจมาจากไตหรือระบบขับถ่ายปัสสาวะ และยังตรวจสารเคมีบางชนิดในปัสสาวะเพื่อช่วยบอกโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ เช่นเบาหวาน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว เป็นต้น ส่วนการตรวจอุจจาระ(ทำให้บางคนอาจจะรู้สึกลำบากใจในการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ) แต่อย่ามองข้ามความสำคัญในการตรวจซึ่งการตรวจอุจจาระสามารถบ่งบอกถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติ เช่นภาวะที่ผู้ป่วยมีการถ่ายเหลวหรือมีการปวดท้องร่วมกับถ่ายเหลวหรือมีพยาธิที่สามารถทำให้บ่งบอกโรคได้เช่นพยาธิใบไม้ในตับ พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม ตัวตืด หรือมีเลือดออกทางอุจจาระก็บ่งบอกความผิดปกติอาจสงสัยภาวะมะเร็งลำไส้ ก็ได้ ซึ่งการตรวจก็เป็นการบ่งชี้ในขั้นต้นในการหาสาเหตุการผิดปกติ

                                                    

          ห้องปฏิบัติการชีวเคมี เป็นการตรวจโดยใช้น้ำเหลืองหรือซีรั่ม เพื่อการตรวจหาสารเคมีซึ่งอยู่ในกระแสเลือด สามารถบ่งบอกการทำงานด้านต่างๆของร่างกายว่าปกติหรือไม่ เช่นการทำงานของตับ ไต หัวใจ เบาหวาน โรคเกาท์ ไขมันในเลือดซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและการตรวจสารเคมีต่างๆในเลือดของห้องปฏิบัติการ จะช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคได้

                                                   

          ห้องปฏิบัติการอิมมูโนวิทยา เป็นการตรวจวิเคราะห์เลือดโดยใช้ซีรั่มหรือน้ำเหลืองมาตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ซึ่งในภาวะปกติร่างกายของคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เช่นเชื้อโรคต่างๆเป็นต้น  การตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ(ชนิด B,C )ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ตับและการตรวจหาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ โรคซิฟิลิส การตรวจหาตัวบ่งชี้ของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งที่ตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น และติดตามผลการรักษารวมทั้งร่องรอยของโรค และยังตรวจหาภาวะการตั้งครรภ์ ซึ่งการตรวจแต่ละชนิดมีผลต่อแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์

                                          

          ห้องปฏิบัติการธนาคารเลือด เป็นห้องปฏิบัติการที่สำคัญในการทีผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดและสาเหตุต่างๆ ซึ่งห้องปฏิบัติการมีหน้าที่จัดหาเลือดและส่วนประกอบของเลือดให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งเลือดที่ได้จากการรับบริจาคนั้นยังไม่สามารถนำไปให้ผู้ป่วยได้ ต้องนำไปตรวจหาโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อจากการรับเลือดก่อนเช่นโรคเอดส์ เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อซิฟิลิสเป็นต้น เมื่อต้องการใช้เลือดจะต้องนำเลือดนี้ไปตรวจเพื่อหาความเข้ากันได้กับเลือดของผู้ป่วยก่อนจึงจะสามารถนำไปให้ผู้ป่วยได้

                                                

          ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาหรือห้องแบคทีเรีย  จะทำหน้าที่ในการเพาะเชื้อจากสิ่งส่งตรวจที่แพทย์สงสัยเช่น หนองจากแผล น้ำในช่องท้อง เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ เป็นต้น ห้องปฏิบัติการจะช่วยวิเคราะห์ว่าเป็นเชื้ออะไรและมีการดื้อต่อยาหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้เลือกยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการรักษา

                                                        

          ส่วนคุณศิริรัตน์ ตันสกุล ได้พูดสรุปถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพ ตั้งแต่แรกเกิดจนตายได้อย่างน่าฟังว่า

ก่อนเกิด เมื่อจะมีการตั้งครรภ์ คนเป็นพ่อแม่ต้องเจาะเลือดตรวจ เพื่อหาโรคต่างๆที่อาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่อาจจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของคู่สมรสและบุตรที่จะเกิดมาได้ เช่น โรคธาลาสซีเมีย โรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือโรคที่จะมีผลกระทบอื่นๆ เป็นต้น

ตอนตั้งครรภ์ เมื่อไปหาหมอก็ต้องถูกเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจความพร้อมและเพื่อหาภาวะการตั้งครรภ์เป็นพิษหรือหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะมีอันตรายกับเด็กในครรภ์ได้

ตอนเด็ก ต้องเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันของโรคต่างๆ ฉีดวัคซีน หาพยาธิหรือเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเจาะเลือดหาสาเหตุของโรค เป็นต้น

ตอนวัยรุ่น การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคต่างๆ เช่นโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อ เป็นต้น

ตอนวัยทำงาน พอจะเริ่มทำงานคุณต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบกับการสมัครงาน เพื่อดูว่ามีโรคติดต่อที่ร้ายแรงหรือไม่ ก็ต้องดูจากการเจาะเลือดร่วมกันกับการตรวจอย่างอื่น

ตอนอายุมากขึ้น ก็ควรต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งอายุ 35 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจโรคอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากประสิทธิภาพของร่างกายเริ่มเสื่อมลง ก็มักจะมีโรคมาเยือนจึงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคเกาต์ เบาหวาน ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต การตรวจหาระดับของฮอร์โมนในวัยทอง หรือการตรวจหาการบ่งชี้เพื่อหามะเร็งในระยะเริ่มแรกหรืออื่นๆ โดยเจาะเลือด ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ X-rayปอด ตรวจหัวใจ ซึ่งพอแก่มาก็มักจะมีโรคประจำตัวซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกเจาะเลือด เพื่อดูความเคลื่อนไหวว่าดีขึ้นหรือแย่ลง ห้องปฏิบัติการจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจและวินิฉัยโรคตั้งแต่เกิดจนตายทั้งเพื่อการรักษาหรือติดตามร่องรอยของโรคหรือป้องกันหรือแม้แต่ในบัตรประชาชนก็ต้องระบุหมู่เลือดว่าคุณหมู่เลือดอะไร ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่ทราบเลยว่าตัวเองหมู่เลือดอะไร ก็จะทราบจากการเจาะเลือดตรวจ

คุณพิกุล ใหลศุภสิน เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ได้กระตุ้นคำถามเพื่อให้ทุกคนได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ส่วนมากคนจะสนใจในการแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องคลอเลสเตอรอล ไตรกรีเซอร์ไรด์ และโรคเบาหวาน รวมทั้งอาหารการกินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีนักโภชนาการคุณสายสุวรรณ ได้ร่วมให้ความรู้เรื่องของอาหารและสุดท้ายก็มาลงความเห็นในเรื่องการออกกำลังกายในการควบคู่ไปด้วยกับการเลือกทานผักและผลไม้ที่มีกากใยจะช่วยให้มีสุขภาพดีและทำให้เพิ่มไขมันตัวดี คุณศิริรัตน์ บอกว่าอยากจะให้เจ้าหน้าที่เองดูแลสุขภาพด้วยและจากการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่เองก็มีการละเลยเหมือนกัน จึงอยากจัดให้มีการจัดกลุ่มสุขภาพให้คนโรคเหมือนกันเช่นเบาหวาน ไขมันสูงเป็นต้น มาดูแลสุขภาพด้วยกันและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากร

                       

ดังนั้นจะเห็นว่าไม่ว่าคนไข้หรือเจ้าหน้าที่เองก็ต้องหันมาดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญในการตรวจเลือดและสิ่งส่งตรวจต่างๆ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและติดตามการรักษาและหาร่องรอยของโรค ซึ่งตอนนี้...ท่านคงพอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า...หมอสั่งเจาะเลือดคุณไปทำไม?...เลือดคุณสามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้มากมาย ดังนั้นอย่ากลัวการเจาะเลือดเลยนะคะ จำนวนเลือดที่นำไปตรวจจำนวนเล็กน้อย(10-15 ซีซี)ไม่มีผลต่อร่างกายแต่อย่างใด....ปีนี้คุณตรวจสุขภาพแล้วหรือยัง?

              

                                                                                          >>>IMM2...Post.....<<<<

                                                   



ความเห็น (17)

ครับ ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ขอชมว่าน่าสนใจมากๆๆๆครับ

สวัสดีค่ะคุณชรินทร์ อักษร

  • ยินดีที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
  • อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปี บ้างนะคะเพื่อความไม่ประมาทในการดูแลสุขภาพค่ะ.
  • การตรวจจากเลือดสามารถบอกหรือทำนายความเป็นมาของร่องรอยโรคได้อย่างดี ...ทั้งๆที่มั่นใจในสุขภาพ..ผลเลือดอาจจะฟ้องพฤติกรรมการทานอาหารและการรักษาสุขภาพว่าเป็นอย่างไร
  • ขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ.

ใช่

คุณหมอจะเจาะเลือดเราไปเยอะเลย

วันก่อนได้มีโอกาสไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลศิครินท์หาดใหญ่เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ดีใจไม่โรคอะไรเลย

เจริญพร

กราบนมัสการท่านP พระ มงคล มงคล ถีราวุฒิ

  • ขออวยพรให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ.
  • จำนวนเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเองค่ะ ไม่ต้องกังวลค่ะไม่มีผลต่อร่างกายแต่อย่างใดค่ะ.

เมื่อเจาะเลือดแล้วมีรอยเขียวจ้ำ....?

          เมื่อเจาะเลือดทุกครั้ง ท่านมีโอกาสจะเกิดรอยจ้ำเห็นเป็นรอยเขียวๆได้เสมอ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุอาจเกิดจากเส้นเลือดของท่านเองเปราะง่ายหรือจากเทคนิคการเจาะเลือด บางคนเป็นมากจนเป็นสีม่วงคล้ำและอาจขยายใหญ่ขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการของการซ่อมแซมของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากทีมีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งเราเห็นเป็นรอยเขียวๆนั่นเอง ท่านไม่ต้องตกใจ

การดูแลรักษาและวิธีแก้ไข

1.      มีคำแนะนำ เมื่อท่านเจาะเลือดแล้วควรพับแขนไว้นิ่งๆหรือกดแผลไว้ประมาณ 5-10 นาที ให้เลือดหยุดไหลก่อนแล้วค่อยทำกิจกรรมอื่น ไม่ควรคลึงหรือนวดบริเวณที่เจาะเลือด จะทำให้เกิดรอยจ้ำเขียวได้ (เนื่องจากเลือดจะรั่วออกมานอกเส้นเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง กลายเป็นรอยจ้ำเขียวนั่นเอง)

2.      วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้หายเอง รอยซ้ำจะค่อยๆจางหายไปในเวลา 1-2 สัปดาห์ บางคนอาจจะใช้เวลาถึง 2-4 สัปดาห์

3.      ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการเจาะเลือด หากมีรอยซ้ำเขียวหรือบวมแล้วให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือความเย็น หลังจากนั้นเมื่อยุบบวมแล้วให้เปลี่ยนเป็นประคบร้อน ความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว รอยซ้ำจะจางหายไปเร็วขึ้น

4.      ถ้าปวดหรือเจ็บที่รอยช้ำ อาจจะรับประทานยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล 1-2 เม็ดเมื่อมีอาการปวด

(ขอขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์จาก คุณศิริรัตน์ ตันสกุล งานชีวเคมีกลุ่มงานพยาธิวิทยา)

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อขณะที่ท่านจะทำการเจาะเลือดนั้นหากท่านเกิดอาการ ดังนี้ คือ อาการกลัว(เข็ม) มือเท้าเย็นเหมือนจะเป็นลม หน้ามืด อาการเกร็งหรือเคยเป็นลมชักกระตุก  ตัดเต้านม ท่านต้องบอกกับผู้ที่เจาะเลือดให้รับทราบด้วย เพราะจะได้หาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้าได้
  • การที่ท่านเกิดอาการกลัวมากๆ จะทำให้ร่างกายสั่งให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดเกิดการหดตัว ทำให้เจาะเลือดยาก ต้องให้เกิดอาการผ่อนคลายก่อน
  • และเลือดที่เจาะไปเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด ต่อไปนี้ท่านจะได้ไม่ต้องกลัวและกังวลค่ะ

ให้รายละเอียดได้ดีเยี่ยมเลยนะคะ ขอชื่นชมในฐานะเทคนิคการแพทย์คนหนึ่งด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ โอ๋-อโณ P

  • ขอบคุณที่อาจารย์ให้กำลังใจและแวะมาเยี่ยมค่ะ
  • วิชาชีพของเทคนิคการแพทย์ มักถูกคนมองว่าเป็นอาชีพที่ปิดทองหลังพระ ซึ่งพวกเราก็เต็มใจที่จะทำงานเบื้องหลังอยู่ดี
  • การที่วิชาชีพเดียวกันแวะมาเยี่ยมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้สึกเป็นเกียรติมากค่ะ ขอบคุณค่ะ.

เป็น topic การประชาสัมพันธ์วิชาชีพเทคนิคการแพทย์

ดีครับๆ ดี promote วิชาชีพ คนจะได้รู้จัก (มากขึ้น)

ปกติเวลาหนูโดนเจาะเลือดทีไรจะเขียวเป็นวงจ้ำทุกทีเลยค่ะ อยากสอบถามว่าเกี่ยวกับการปลดสายรัดช้าไปรึเปล่าคะ

สวัสดีค่ะคุณอิสรา

·       วิชาชีพทางเทคนิคการแพทย์อย่างเราๆ คนไม่ค่อยรู้จักมากนัก

·       จึงมักจะโดนเปรียบเปรยว่า...ปิดทองหลังพระ...

·       ดีใจที่คนวิชาชีพเดียวกันแวะมาให้กำลังใจและมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณMoo Yong

·       การเขียวเป็นวงจ้ำ เกิดได้หลายสาเหตุ

·       ถ้าเป็นทุกครั้งของการเจาะเลือด อาจจะเกิดจากเส้นเลือดของคุณเปราะง่ายหรือเส้นเลือดหายากทำให้มีการควานหาเส้น

·       ถ้าไม่ได้เป็นทุกครั้ง อาจเกิดจาก เผลอคลึงแขนหลังการเจาะเลือด หรืออาจเกิดจากเทคนิคการเจาะเลือดก็เป็นได้ และการปลดสายรัดช้าไปก็มีส่วนทำให้เลือดซึมรั่วออกมาใต้ผิวหนัง กลายเป็นรอยจ้ำเขียวได้

·       ถ้าผิวขาวอย่างคุณอาจทำให้เห็นได้ชัด ไม่ต้องตกใจค่ะ รอยจ้ำดังกล่าวจะค่อยๆหายไปเองแต่อาจจะนานประมาณสองอาทิตย์

·       ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ.

สวัสดีค่ะ

ได้รับความรู้มากเลยค่ะ และได้รู้จักหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเลือด รวมถึงการปฏิบัติตัวและเข้าใจเมื่อเจาะเลือดแล้วมีรอยเขียวจ้ำ ซึ้งก็สงสัยเหมือนกันว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า? ตอนนี้รู้แล้วไม่กังวลแล้วค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวที่มีประโยชน์ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

สวัสดีค่ะคุณดอกไม้

  • การที่เรารู้ว่า...หมอสั่งเจาะเลือดเราไปทำไม? ทำให้เราเข้าใจและต้องปฏิบัติตัวหรือเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?จึงจะเหมาะสม
  • ส่วนรอยเขียวจ้ำนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อรู้แล้วจะได้เลิกกังวลค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมหน่วยงานของเราค่ะ.

มารับความรู้ครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะคุณบวรIco32

  • อยากให้เห็นประโยชน์จากการเจาะเลือดตรวจค่ะ
  • ร่างกายเราสามารถบ่งบอกความผิดปกติได้จากผลเลือดมากมายจนเราคาดไม่ถึง
  • หวังว่าคุณคงได้รับความรู้กลับไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
  • ขอบคุณทีค่แวะมาเยี่ยมค่ะ.

ถ้าผลเลือดเราที่เจาะผลออกมาผิดปกติหมอจะโทรบอกเราก่อนมั้ยก่อนวันฟังผลนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท