การจัดการความรู้กับห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์


การนำKMมาพัฒนางานในห้องปฏิบัติการ

           กลุ่มงานพยาธิวิทยาได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง การจัดการความรู้กับห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้

             

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานKMของบุคลากรทางสายงานเทคนิคการแพทย์(พยาธิวิทยาคลินิก) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำมาพัฒนาหน่วยงานได้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ธำรงค์ อุดมไพจิตรกุล ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความรู้(KM) มาให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของKMให้บุคลากรในห้องปฏิบัติการได้เข้าใจเกี่ยวกับKM และงานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการความรู้เพื่อพัฒนางานในห้องปฏิบัติการ กลุ่มงานพยาธิคลินิกสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งคุณผ่องพรรณ รมหิรัญ เป็นคนในกลุ่มงานได้ทำการศึกษาและนำสิ่งที่ได้จากการวิจัยมาเล่าสู่กันฟัง

          เริ่มแรกคุณผ่องพรรณได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ ความสำคัญและความเป็นมาในการมาศึกษาต่อด้านการจัดการความรู้ ทำให้รู้ว่าKMเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่นำมาใช้ในการพัฒนางาน ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งเห็นถึงความสำคัญในการนำความรู้มาพัฒนางานและKMยังเป็นตัวชี้วัดในPMQA(Pubic sector Management Quality Award )หมวด4 ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องทำเพื่อพัฒนางาน

          ส่วนอ.ธำรางค์ได้พูดถึงธรรมชาติของKM ได้อย่างน่าฟังว่า การจัดการความรู้ หมายถึงความรู้ใหม่หรือวิธีการทำงานใหม่หรือเมื่อทำงานใหม่ที่นำไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานที่ทำอยู่ ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยคนทำงาน ณ จุดทำงาน และได้นำเสนอ4 ข้อคือ เรื่องเล่า เรื่องจริง เรื่องที่ทำได้ ทักษะปฏิบัติ

                      

1.      เรื่องเล่า  ....จานข้าว....ทำไมคนโบราณจึงสอนให้กินข้าวมากๆกินเนื้อน้อยๆ เนื่องจากสัตว์กว่าจะโตต้องใช้เวลานาน ซึ่งคนกินทุกวันก็โตไม่ทัน อาหารถ้ากินตามฤดูกาลก็จะพอเพียงตามธรรมชาติ ร่างกายต้องการใช้พลังงานจากข้าวมากว่าจากเนื้อสัตว์ สิ่งที่มีมากอายุจะสั้น สิ่งที่มีน้อยอายุจะยาวนาน ทำให้ธรรมชาติสมดุล

                         

....การเข้าเรียน...อาจารย์เล่าว่าตอนเรียนต่อป.เอกในต่างประเทศนั้น สอบภาษาอังกฤษได้คะแนนน้อย จึงได้เข้าพบอ.ฝรั่งผู้สอนเพื่อขอโอกาสได้เข้าเรียน เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ถนัดจึงได้คะแนนน้อย ขณะเข้าพบอาจารย์ฝรั่งก็มองเห็นอีกาจับอยู่บนต้นไม้ข้างหน้าต่าง จึงถามอาจารย์ว่า บ้านคุณเรียกอีกาว่าอะไร? และมันร้องอย่างไง? อาจารย์ตอบว่ามันชื่อ Crow และก็ร้องว่า Crow...ๆ.. อ.ธำรงค์บอกว่าแต่อีกาบ้านฉันมันร้องว่า..กา..ๆๆ...ถ้ายูให้โอกาสไอ สักวันไอก็จะสามารถเปลี่ยนเสียงร้องของอีกาจากที่มันร้องว่า..กา..ๆๆ...มาเป็น Crow...ๆ..ได้เหมือนกัน พออาจารย์ฝรั่งได้ฟังดังนั้น จึงรู้ว่าคนๆนี้มีปัญญาเรียนได้ จึงบอก O.K. ไออนุญาตให้ยูเข้ามาเรียนได้เลย

                               

2.. เรื่องจริง ....โบนัส...มีบริษัทแห่งหนึ่งเชิญอ.ไปฝึกอบรมเพื่อที่จะให้พนักงานช่วยกันลดรายจ่ายให้บริษัท ว่าจะทำอย่างไร? พอไปถึงก็ได้พบของที่เบิกมาเกินและกองของที่ไม่ได้ใช้มากมาย จึงถามพนักงานว่าของที่กองๆนี้ใช้เงินจากส่วนไหนซื้อ(บริษัท) แล้วถ้าบริษัทต้องจ่ายสิ่งที่สิ้นเปลื้องเหล่านี้เป็นต้นทุนหรือกำไร?(ต้นทุน) แล้วถ้าบริษัทมีรายจ่ายน้อยลงจะทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลง(เพิ่มขึ้น) แล้วโบนัสคิดจากกำไรหรือต้นทุน(กำไร) ดังนั้นถ้าทุกคนช่วยกันประหยัดและดูแลซึ่งกันและกัน ค่าใช้จ่ายหรือต้นทนก็จะลดลง ก็จะส่งผลถึงกำไรมากขึ้น ดังนั้นโบนัสก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งคำตอบนี้ทุกคนก็เห็นด้วย

                        

....วงเหล้า...มีสำนักงานแห่งหนึ่งบอกอาจารย์ช่วยทำให้ลูกน้องของผมเลิกเหล้าหน่อยเถอะทำให้เสียการเสียงานด้วย วิธีที่น่าสนใจที่อาจารย์นำมาใช้คือการเปลี่ยนวงเหล้าให้เป็นวงเล่าแทน โดยการเข้าไปคลุกวงในกับวงเหล้า และได้สังเกตเห็นการกินเหล้าจะมีการกินไปคุยกันไป สัพเพเหระ บางทีก็เรื่องเดิมๆนำมาเล่าใหม่ จึงบอกว่าเราน่าจะลองหาเรื่องใหม่ๆมาคุยกันดีไหม?เบื่อเรื่องเก่าๆแล้ว จะได้ความรู้ด้วย คราวหน้าเราลองนำมาคนละเรื่องกินไปเล่าไป(ขณะฟังเพื่อนๆพูด ก็ต้องคอยจังหวะที่จะพูดเรื่องของตนเองบ้าง ก็เลยพลอยทำให้ความถี่ในการยกแก้วเหล้าช้าลง ๆ ๆ จนในครั้งต่อๆไปก็กลายจากสัพเพเหระ(ซึ่งไร้สาระ)มาเป็นสัพเพสาระ(ได้ความรู้มีสาระ) รวมตัวกันทำสิ่งที่มีประโยชน์ พูดแต่สิ่งที่เป็นสาระ ทำให้แก้วเหล้าก็ยกขึ้นจิบนานๆที จนหยุดกินเหล้ากันแล้วหันมาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และพัฒนางานและมีแต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาแทนที่ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนจากวงเหล้าให้เป็นวงเล่านั่นเอง

3. เรื่องที่ทำได้  เปลี่ยนจาก....สุมหัวนินทา...มาเป็น...การสุมหัวพัฒนา...แทน คนทำงานสำนักงาน...มีใครเคยตั้งวงนินทาไหม?...การจะนินทาใครก็ต้องหาข้อมูลมามากมายเพื่อชักจูงให้เพื่อนฟัง สารพัดวิธี การพูดคุย การสุมหัวกันนินทา ก็ไม่เกิดประโยชน์ ควรเปลี่ยนมาเป็นการสุมหัวกันคิดเพื่อพัฒนาก็จะเกิดประโยชน์

อาจารย์ตั้งคำถามโดยใช้เทคนิคการถามเร็วตอบเร็ว สั้นๆว่า คุณคิดว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จคืออะไร? คุณมีวิธีที่จะปฏิบัติต่อคนไข้ให้ประทับใจอย่างไร? เขียนคนละ 1 ประโยค ถ้ามี 60 คนก็จะได้คำตอบ 60 คำตอบเช่นกัน แล้วดูว่าแต่ละข้อแยกประเด็นเป็นหมวดหมู่ ก็จะได้วิธีที่ทำให้คนไข้ประทับใจ เช่น คุณผ่องพรรณ (บริการด้วยใจ/เริ่มที่ตนเอง) คุณวรุณยุพา(ทำงานด้วยความเต็มใจ/เริ่มที่ตนเอง) คุณสุพัตรา(ทำด้วยความถูกต้อง/เริ่มที่ตนเอง) จากตัวอย่างเป็นการปรับจากตัวเอง (บุคคล)เป็นต้นเรื่องอื่นๆก็เช่นกัน เป็นวิธีการที่นำเอาความรู้แบบแฝงในตัวคน(ฝักลึกในตัวคน)ออกมาแล้วนำมารวมกัน ค่อยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ทำให้เห็นว่าแต่ละคนมีความรู้แบบแฝงเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง เป็นการดึงความรู้ที่มีอยู่ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วสรุปเป็นความรู้ใหม่ออกมา

4. ทักษะปฏิบัติ  ถามว่าอยากพัฒนาเรื่องอะไร? (ปัญหาที่พบ) แล้วคิดว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคืออะไร? ให้ทุกคนตอบแล้วนำมารวมกัน แล้วนำมาทำSWOT ต่อด้วย Action plan

          สุดท้ายอาจารย์ถามว่า เราทำงานเพื่อใคร? ให้ทุกคนลองตอบตัวเองในใจ 3 ข้อ ดังนี้

1.      คุณทำงานเพื่อตนเองหรือคนอื่น?

2.      ความสุขจากการทำงานเพื่อตนเองหรือคนอื่น?

3.      ที่ทำงานคุณ จ้างคุณมาทำงานเพื่อตนเองหรือคนอื่น?

( เมื่อคุณได้คำตอบแล้วคุณจะรู้ว่า คุณทำงานเพื่อใคร? ...จะได้ไม่สับสนเวลาปฏิบัติงาน)

          จากนั้นคุณผ่องพรรณได้เล่าต่อถึงงานวิจัยที่ได้ศึกษาโดยใช้แบบสอบถามและการทำFocus group หรือการสนทนากลุ่มกรณีศึกษา 3 งานคืองานอิมมูโนวิทยา งานจุลทรรศน์วิทยา และงานชีวเคมี จากการศึกษาพบว่ากลุ่มงานพยาธิวิทยามี การจัดการความรู้อยู่ในระดับปานกลางและได้โมเดลหรือรูปแบบการจัดการความรู้ชื่อ Crab Model หรือโมเดลปู ซึ่งประกอบด้วย การสำรวจความรู้(Survey Knowledge) การพัฒนาบุคลากร(Human Development) การบริหารจัดการเทคโนโลยี(Technology Management) การบริหารจัดการข้อมูล(Data Management) การใช้ความรู้(Use) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้(Knowledge Sharing) การเรียนรู้(Learning)

สิ่งที่พบจากการสนทนากลุ่ม

1.      โครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากากรมีส่วนร่วมของทุกคน

2.      มีแนวทางในการคิดร่วมกันแก้ปัญหาและช่องทางในการพัฒนา

3.      มองเห็นการไหลของความรู้ที่จะเกิดขึ้นในงาน

4.      พร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคแห่งการแข่งขัน โดยมีแนวทางแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานและความพร้อมที่จะเป็นห้องปฏิบัติการยุค IT ในอนาคต

5.      ไม่ปิดกั้นตัวเองในการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับงานอื่นๆ

6.      จากการค้นพบตัวเองจากการทำสนทนากลุ่มในครั้งนี้ ทำให้มีความมั่นใจในการให้บริการและไม่ละเลยจุดอ่อนที่ค้นพบเช่นกันและยังคิดมุ่งมั่นในการหาแนวทางจะแก้ไข ปรับปรุงและเป็นTeam Work ที่เข้มแข็งและทำงานด้วยใจ

7.      พบแนวทางการพัฒนางานที่คิดร่วมกัน

8.      ปัญหาบางส่วนที่พบเป็นของกลุ่มงาน แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน จึงขาดคนประสานงานในเรื่องนั้นๆ

สิ่งที่พบจากการวิจัย ด้านที่มากที่สุดคือด้านการเรียนรู้ และด้านที่น้อยที่สุดคือด้านการเข้าถึงความรู้ (พบว่าบางคนไม่เคยใช้ห้องสมุดเลย) พบว่าควรแก้ไขปรับปรุงด้านคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์ไม่เพียงพอ ขาดการอบรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ บุคลากรไม่สามารถประมวลและกลั่นกรองความรู้ที่มีอยู่ไปปรับใช้กับงาน ขาดแรงจูงใจในการพัฒนางาน

การเผยแพร่ผ่านเว็บ(Web) http://gotoknow.org

โดยผ่านบล็อกของงานอิมมูโนวิทยา ชื่อ http://gotoknow.org/blog/labcancer มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.      สร้างภาพลักษณ์ขององค์กร โดยให้ความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ

2.      สร้างชุมชนที่สนใจเรื่องเดียวกันและเกิดเครือข่ายทางวิชาการ (planet : รวมพลคน Lab)

3.      ทำให้เกิดพันธมิตรในสาขาวิชาชีพและสหวิชาชีพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

4.      นำเสนอความรู้หรือกิจกรรมของกลุ่มงานและ K-Sharing

5.      blog เปรียบเสมือนคลังความรู้ที่มีขนาดใหญ่และทุกคนร่วมกันทำให้เกิดการไหลของความรู้และเกิดมุมมองในด้านต่างๆ ทำให้เกิดแนวคิดในการนำมาพัฒนาตนเองและหน่วยงาน

คุณผ่องพรรณได้เล่าถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในกลุ่มงานว่า

1.      อยากให้มีมุมสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดกว้างที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้งานร่วมกันได้

2.      ใครสนใจเรื่องอะไร? ก็มาพูดคุยเล่าสู่กันฟัง อาจจะรวมกันตั้งเป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มว่างเมื่อไหร่?...ก็เจอกัน.. สอนการเรียนรุ้หรือสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

3.      มีโครงการสอนบุคลากรในกลุ่มงาน ในการเรียนรู้วิธีการใช้บล็อก โดยใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

4.      จากศักยภาพที่เรามีอยู่ แต่ยังขาดเวทีและประสบการณ์ ปัจจัยที่ส่งเสริมหรือ ที่จะฝึกคนของเราให้กล้าแสดงออกทางความคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ

5.      มีบอร์ด แผนที่ความรู้หรือทำเนียบผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มงาน ซึ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของบุคลากรในงาน รวมทั้งที่อยู่ เบอร์โทร ที่สามารถติดต่อได้

คุณผ่องพรรณได้ทิ้งท้ายที่รูปภูเขาน้ำแข็ง โดยชี้ให้เห็นถึงความรู้ที่โผล่จากน้ำนิดเดียว เปรียบเหมือนความรู้แบบชัดแจ้งที่มีน้อยมาก ส่วนความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปความรู้แบบฝังลึก เปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งย้ำถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ถือว่าเป็นหัวใจของการจัดการความรู้ ซึ่งจะขาดไม่ได้

....หนทางหมื่นลี้...ก็ต้องเริ่มจากก้าวแรก...ได้แต่หวังว่า...เราคงจะมีโอกาสนั้นร่วมกัน โดยใช้สมองของคนในองค์กร...เพื่อพัฒนาองค์กร...ให้ฝันนั้นเป็นจริงร่วมกัน...

>>>> IMM 2 …Post…

หมายเลขบันทึก: 271506เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท