เล่าเรื่องประสบการณ์ดูงานKM...NOK ฉายา“อยู่บ้านนอก...แต่...หัวใจเซ็นเตอร์พอยด์”


จากเวที K- Sharing day (การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ ) ครั้งที่ 9 / 2552 วันที่ 26 สิงหาคม 2552 เวลา13.30–15.00 น.ห้องประชุมสมชาย สมบูรณ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

            คุณผ่องพรรณ รมหิรัญ กลุ่มงานพยาธิวิทยา ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการไปดูงานKMที่NOK มาเล่าสู่กันฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งNOK เป็นBest Practies มีหน่วยงานมากมายเลือกมาดูงานที่นี่ ทำให้ได้ความรู้และแนวคิดมากมายที่สามารถจะนำมาปรับใช้กับหน่วยงานได้

 

 

  ประวัติและจุดเด่นของ NOK  บริษัทเอ็นโอเค พรีซิซั่น คอมโพเนนท์(ประเทศไทย)จำกัด เป็นบริษัทของประเทศญี่ปุ่นแต่มีคนไทยเป็นผู้บริหาร ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา NOK เป็นโรงงานที่ผลิตส่วนประกอบของ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งมีพนักงาน 896 คน มีวิสัยทัศน์ว่า ”จะก้าวไปสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ในธุรกิจการผลิตในส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ที่มีความเที่ยงตรงสูง” เป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลมากมายทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นbest practice มีหน่วยงานจำนวนมากเลือกมาดูงาน ทำKM ได้ประสิทธิภาพโดยการนำเอากิจกรรมคุณภาพมาผสมผสานกันเช่น 5ส.การจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ไคเซ็น การลดต้นทุน เป็นต้น โดยผ่าน SGA (Small Group Activityหรือกิจกรรมกลุ่มย่อย) โดยพนักงานทุกคนต้องเป็นสมาชิก ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือ 4 ศูนย์ อุบัติเหตุเป็นศูนย์ การหยุดงานของเครื่องจักร์เป็นศูนย์ ข้อร้องเรียนจากลูกค้าเป็นศูนย์ ของเสียจากการผลิตป็นศูนย์ และมีการประกาศวัฒนธรรมองค์กร 10 ข้อ ชัดเจนให้ทุกคนปฏิบัติ

 

การเยี่ยมชมสถานที่ภายนอก บริเวณโดยรอบจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่พนักงานทุกรูปแบบ ทั้งตามทางเดิน ห้องอาหาร แม้กระทั่งในห้องน้ำจะมีสาระน่ารู้ติดทั่วบริเวณ เมื่อเดินเข้ามาจะเห็นมีป้ายหน้าโรงงานโชว์ชั่วโมงการปฏิบัติงาน 9,000,000 ชั่วโมง(เก้าล้านชั่วโมง)การทำงานติดต่อกันโดยไม่เกิดอุบัติเหตุ เป็นการเน้นเรื่องความปลอดภัย ได้รับรางวัล“Zero Accident Campaign”และบริเวณโดยรอบจะเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงานเช่น คนสวนเป็นตัวอย่างของคนทำงาน KM การนำความรู้ที่มีอยู่(มาทำน้ำจุลินทรีย์เองจากขยะสด)มาพัฒนางาน ณ จุดทำงานให้เกิดความรู้สิ่งใหม่ ปัจจุบันโรงงานก็ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

 

การเยี่ยมชมบรรยากาศภายใน  ภายในตัวอาคารแทบจะไม่เห็นการใช้กระดาษในการติดข่าวสารประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีนโยบายการลดใช้กระดาษ ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้บอร์ดอัจฉริยะที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด มีทั้งระบบสัมผัสและOnline หน้าห้องประชุมก็จะใช้จอ LCD แทนป้ายต้อนรับซึ่งสามารถดูข้อมูลการใช้ห้องประชุม เรื่อง เวลา การจอง ผ่านระบบOnline ส่วนบริเวณทางเดินจะมีป้ายวิสัยทัศน์ตัวใหญ่มาก โดยเน้นให้สะดุดตาทั้งคนภายนอกและคนภายในเพื่อเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ที่ชัดแจ้ง ส่วนบัตรพนักงาน จะสามารถใช้กับตู้ ATM ซึ่งตั้งอยู่ในโรงอาหารเพื่อให้พนักงานใช้รูดบัตร ซึ่งจะแสดงถึงข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด ทั้งค่าอาหาร การลา ประวัติการทำงาน สิทธิ์ต่างๆของพนักงาน เป็นต้น ทีโรงอาหารมีห้องคาราโอเกะให้พนักงานคลายเครียดด้วย

 

การเยี่ยมชมภายในส่วนของโรงงาน จะต้องแต่งกายให้สะอาดรัดกุม เนื่องจากเป็นเขตปลอดฝุ่น จะเน้นเรื่องความสะอาดเทียบเท่าห้องผ่าตัดและพนักงานห้ามแต่งหน้าทาแป้งทำงานเป็นระเบียบเพราะว่าฝุ่นจากแป้งจะมีผลต่อชิ้นส่วนอุปกรณ์อเล็คทรอนิกส์เล็กๆเหล่านี้ให้เกิดความเสียหายได้ ด้านห้องปฏิบัติการ ใช้ 5ส.อย่างลงตัว อุปกรณ์ทุกชนิดมีวิธีใช้พร้อมติดรูปผู้รับผิดชอบ มีภาพถ่ายกำกับ มีการใช้ป้าย สัญลักษณ์ การใช้สี ตีเส้นต่างๆ เพื่อเน้นความปลอดภัยหรือระมัดระวังในจุดต่างๆ

 

 

จุดดับเพลิง จะมีทุกห้องให้เห็นเด่นชัดและกำหนดผู้นำกลุ่มตามสีของธง ตู้เก็บเอกสาร มีเพียง 2 ใบเท่านั้น กระดาษหรือแฟ้มบนโต๊ะไม่มี ทุกอย่างใช้คอมพิวเตอร์อยู่ในระบบOnline ทั้งหมด ทั้งใบสมัคร ใบลา เอกสารต่างๆ พนักงานทุกคนได้รับการฝึกใช้คอมพิวเตอร์และสามารถใช้งานเป็นทุกคน ระดับหัวหน้าจะมีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กให้ทุกคน

 

 

อุปกรณ์เครื่องเขียนสำนักงาน มีวางไว้ใช้ส่วนกลาง 1 ชุดใช้ด้วยกันถ้าใครนำไปใช้ ให้นำป้ายรูปติดไว้ที่ตำแหน่งของอุปกรณ์ที่หยิบไป แฟ้มเอกสารก็ทำเช่นเดียวกัน จะสามารถรู้ได้ทันทีว่าใครนำไปใช้ ห้องพัสดุ เป้นระเบียบมากและของก็ไม่เยอะเกินความจำเป็น วางจัดเหมือนห้างสรรพสินค้า วัสดุทุกชิ้นจะมี Barcode ติด ใช้ระบบมาก่อนใช้ก่อน เบิกและตัดจ่ายโดยใช้ระบบOnline ซึ่งสามารถรู้ได้ทันทีว่าของชิ้นไหนเหลือเท่าไหร่ จะเพิ่มหรือสั่งซื้อได้ทันที ไม่ต้องเปลืองพื้นที่สต็อก ห้องควบคุมคอมพิวเตอร์ มีขนาดไม่ใหญ่แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก มีเชิพเวอร์ถึง 30 ตัว เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเกือบทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการวางแผนการใช้งานอย่างดี มีระบบกันเครือข่ายล่ม มีชุดสำรองการทำงาน 1,2 พร้อมทำงานต่อเนื่องได้ทันที ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วโรงงาน ระดับหัวหน้างานสามารถเช็คดูการทำงานจากหน้าจอได้ทุกจุด ว่าทำงานกันอย่างไร มีปัญหาอะไรก็สามารถเห็นภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าไปในที่เกิดเหตุ ทำให้สามารถสั่งการแก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งทันสมัยมากๆ

 

 

โครงสร้าง KM ของ NOK กลยุทธ์เพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ 1. Smart System – เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า บริหารงานด้วยความโปร่งใส สร้างความสมดุลระหว่างคนกับระบบ 2. Small Group Activity (กิจกรรมกลุ่มย่อย) ปัจจุบันมี 65 กลุ่มครอบคลุมพื้นที่ทั้งองค์กร สมาชิกในกลุ่มจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งละ10-30 นาที จะทำการสำรวจสิ่งที่ต้องปรับปรุงของทุกกิจกรรมเดือนละครั้งและถ่ายทอดความรู้เรื่องงานโดยการสร้างบทเรียน One point lesson(OPL) ซึ่งหมายถึงขบวนการถ่ายทอดความรู้ของNOK ที่ใครเห็นอะไร รู้อะไร ใครเจออะไรดีๆ แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นการสอนแบบสั้นๆโดยผู้รู้จะเขียนลงบนกระดาษแผ่นเดียว NOK ทำKMตามแนวของ PQCDSMEเพื่อ เพิ่มผลผลิต(P) เพิ่มคุณภาพ(Q) ลดต้นทุน(C) การแก้ปัญหาส่งมอบของได้ทันเวลา(D) มีความปลอดภัย(S) มีความรู้และทัศนคติที่ดี(M) รักษาสิ่งแวดล้อม(E) การวัดผล KM –ค่าที่พนักงานทำได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ข้อทักท้วงจากลูกค้าลดลง ลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ส่งของลูกค้าทันเวลา พนักงานลาออกน้อยลง

 

แหล่งความรู้  จากการวิจัย ห้องสมุด อินทราเน็ต อินเตอร์เน็ต ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม เรียนรู้ด้วยตนเองผ่าน e-Leaning  ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา สอนภาษาต่างประเทศ(อังกฤษและญี่ปุ่น) ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ข้อมูลด้วยกันได้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเดียวกันและเป็นปัจจุบัน(Real time) เช่นเวลาประชุมจะใช้ข้อมูลกลาง ซึงจะลดปัญหาแต่ละฝ่ายมีข้อมูลไม่ตรงกัน

 

การจัดเก็บความรู้จากงาน (Knowledge Asset) ใช้หลัก 4S ; Select : เลือกเฉพาะสารสนเทศที่มีค่าและควรจัดเก็บเท่านั้นและต้องง่ายต่อการใช้และเข้าถึง Share : สามารถแบ่งปันกันได้กับคนในองค์กร ใช้สื่อ Team room ,Web Portal ในการแชร์สารสนเทศ Show : ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ทุกประเภทตามที่มีสิทธิ์และมีเวทีมีโอกาสในการนำเสนอผลงาน Search : การค้นหาได้สะดวกรวดเร็ว(เพียง 30 วินาที)และมีประสิทธิภาพ

 

จุดแข็งของ NOK การจัดการบริหารด้านวิสัยทัศน์ชัดเจนและสามารถกระตุ้นการทำงานของพนักงานในทุกรูปแบบ ทั้งความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านภาษา ด้านทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน การคิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ โดยแต่ละกลุ่มจะมีการคิดหาวิธีลดพลังงานหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อนำเสนอโดยมีรางวัลเป็นแรงจูงใจ การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมาก พนักงานทุกคนสามารถให้ข้อมูลข่าวสารและนำเสนอได้และพร้อมในการให้บริการ สามารถใช้ KM ได้อย่างผสมผสานกับเครื่องมือคุณภาพอื่นๆ

 

จุดอ่อนของ NOK ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่จะพบปะพูดคุยกันมีน้อยมาก เนื่องจากใช้แต่คอมพิวเตอร์ติดต่อกันทุกเรื่องแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ จนลืมไปว่าเราไม่ใช่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การใช้ระบบไคเซ็นเผ็นการลดการสูญเสีย เน้นเพิ่มผลผลิตเป็นการได้ประโยชน์ของโรงงาน แต่คงลืดูคนที่ทำงานเคร่งเครียดอยู่หน้างานตลอดเวลาทุกคนต้องกระตือรือล้น มิฉนั้นก็อยู่ไม่ได้ ส่วนคนเก่าแก่ที่ทำประโยชน์ให้มามากและทำงานมานานไปอยู่ที่ไหน เมื่อองค์กรต้องการแต่วัยหนุ่มสาวทำงาน เพื่อให้ทันต่อการผลิตชิ้นงาน

 

สิ่งที่ได้รับจาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. ทำให้เห็นตัวอย่างของหน่วนงานที่เป็นเลิศว่าเขาทำงานกันอย่างไร และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้แทนกระดาษเพื่อลดพลังงานจนได้รับรางวัลและมีข้อมูลที่ Real time

  2. การใช้ 5 ส. และสัญลักษณ์ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการ น่านำมาเป็นแบบอย่างและนำมาใช้ในการทำงาน

  3. สามารถนำ SGA หรือกิจกรรมกลุ่มย่อย จากตัวอย่างทีเห็นและบทเรียนหนึ่งหน้า(One Point Lesson) มาลองวางแผนและปรับใช้กับงานที่ทำ

  4. การชูประเด็น”ชั่งโมงการทำงาน 9 ล้านชั่วโมง อุบัติหตุเป็นศูนย์”และมีการตั้งเป้าไว้ในอนาคต 10 ล้านชั่วโมงการทำงาน เป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วในหน่วยงานเราจะสามารถนำประเด็นคล้ายๆกันมาลองตั้งเป้าในเรื่องอื่นๆดูบ้างเพื่อชูจุดเด่นในการทำงาน

  5. จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้

                 

       จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้เห็นตัวอย่างที่เป็นเลิศว่าเขาทำกันอย่างไร สิ่งไหนที่นำมาปรับใช้ได้กับองค์กรเราก็ลองทำดู และต้องทำงานเป็นทีมจะทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพ มีคนเปรียบเรื่องKMว่า ถึงแม้ว่าเราจะให้ช่างตัดเสื้อฝีมือดีเยี่ยมขนาดไหนก็ตาม คงไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวที่สามารถใส่ได้พอดีกับทุกคนได้ ถึงแม้ว่ามันจะสวยและอยากจะใส่ก็ตาม KMก็เช่นกัน เราไม่สามารถนำทุกอย่างที่เป็นเลิศของเขามาทำได้ แต่เราสามารถเลือกสิ่งที่เป็นเลิศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา ซึ่งสิ่งที่เหมาะสมกับองค์กรหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับอีกองค์กรหนึ่งก็ได้ ดังนั้นจงนำมาปรับใช้กับองค์กรให้เหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด...

                                                 >>>> IMM2...Post....>>>>

คำสำคัญ (Tags): #การดูงานที่nok
หมายเลขบันทึก: 312438เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2009 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท